ก่อนอื่นต้องอธิบายให้ท่านทั้งหลายได้เข้าใจเสียแต่ต้นก่อนว่า การที่อารัมภบทตอกย้ำซ้ำข้อความเดิมเป็นหน้าๆ หรือหลายๆ บรรทัดก็เพื่อให้ท่านได้ทบทวนความรู้ความทรงจำเก่าที่ได้ยิน ได้ฟัง ได้รับมาแล้ว ท่านจะได้เข้าใจให้ลึกซึ้ง แจ่มชัดได้มากขึ้น
ในส่วนของความรู้ ความทรงจำที่เป็นข้อความภาษิต ซึ่งเป็นข้อความที่ผู้ฟัง ฟังแล้วจักทำให้เป็นผู้เจริญ ผู้พัฒนาตนเองได้ หากนำไปลงมือฝึกหัดปฏิบัติ
การฟัง อ่าน เขียน เรียนศึกษาข้อความหรือวาจาสุภาษิตบ่อยๆ มันจักทำให้กระตุ้นจิตสำนึกในการพัฒนากาย วาจา จิตใจ ให้เป็นผู้เจริญได้
ดุจดังที่เราท่านทั้งหลายอ่าน เขียน เรียน ฟัง เจรจาแต่วาจา ข้อความทุพภาษิตอันเป็นวาจาหรือข้อความที่ทำให้กาย วาจา ใจ ไม่หลงอยู่ในความประมาท มัวเมา ขลาดเขลา เศร้าหมอง
ซึ่งทุกวันนี้สิ่งที่เป็นทุพภาษิต เราท่านทั้งหลายก็รับฟัง รับรู้ ซ่องเสพกันอยู่อย่างต่อเนื่องทุกวี่ทุกวันอย่าไม่เหน็ดไม่เหนื่อย
ทั้งที่มันให้ผลเป็นความผิดพลาด ประมาท เศร้าหมองเป็นทุกข์ แต่เราท่านทั้งหลาย ก็ดูจะยินดีปรีดา เพลิดเพลิน สนุกสนานเมามันในอารมณ์ไปกับการได้รู้ ได้รับ ได้จำ ได้คิด ในสิ่งที่เป็นทุพภาษิตนั้นๆ กันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
จะมีสักกี่เวลาที่พวเราได้เห็นโทษ เห็นภัย รู้สึกเบื่อหน่ายต่อทุพภาษิตนั้นๆ ทั้งที่มันให้ผลเป็นทุกข์
การที่ฉันพยายามพูด พยายามเขียน พยายามสอน พยายามนำเสนอสุภาษิต ก็ด้วยจิตที่มุ่งหวังว่ามันจะเป็นแรงบันดาลใจเล็กๆ ที่เข้าไปสอดแทรกอยู่ในกายใจท่านทั้งหลาย
เผื่อว่าวันหนึ่ง เวลาหนึ่งข้างหน้า หากท่านเบื่อหน่ายเห็นโทษ เห็นภัยในทุพภาษิตทั้งหลายที่พวกท่านจมปลักอยู่
แล้วไม่รู้ว่าจะหลุดรอดพ้นจากมันมาได้อย่างไร
สุภาษิตดังที่กล่าวมานี้ อาจจะเป็นแรงบันดาลกายใจให้ท่านมุมานะ พาตนเองออกมาจากสภาพแวดล้อมอันขมุกขมัว มัวหมองที่ครอบงำฉุดรั้งท่านอยู่ ให้หลุดพ้นออกมาจากความล่าช้า ล้าหลัง และมีผลอันเลวร้ายเหล่านั้นขึ้นมาได้
สุภาษิตและทุพภาษิต ก็เป็นดุจดังอาหาร เครื่องดื่ม หรือสิ่งของที่ซ่องเสพ แต่ให้ผลที่แตกต่างกัน
บุคคลที่ชื่นชอบทุพภาษิตก็เพราะมันเป็นรสชาติที่คุ้นชินหอมหวาน รื่นรมย์ชวนให้ชมชอบ ตั้งแต่เริ่มเสพ แต่พอเสพไปนานๆ ผลที่ได้มันจะเลวร้ายสุดจะบรรยาย ดังที่เสพติดน้ำตาล ขึ้นอยู่กับท่านผู้นั้นเสพไปมากหรือน้อย
ส่วนสุภาษิตนั้นมันมักจะให้รสชาติที่ฝืดขม ฝาดเฝื่อน ไม่ถูกปาก ไม่ถูกใจ หรือรู้สึกเฉยๆ แต่แรกเสพ
แต่พอเสพไปบ่อยๆ เสพไปนานๆ มันจะทำให้เราเห็นทางและมีทางหนีทีไล่ ชีวิตที่จะได้ไม่ต้องมาจมอยู่ในปลักแห่งความผิดพลาด เลวร้าย ล่าช้า ทุกข์ระทม
ทั้งยังมีศักยภาพที่จะพัฒนาให้เจริญได้จนถึงขีดสุด ในทุกด้าน
เหล่านี้แหละเลยเป็นที่มาว่า ทำไมพุทธะอิสระถึงต้องสาละวน ตอกย้ำอยู่กับข้อความสุภาษิตเดิมๆ ซ้ำๆ
เอาหละบ่นมาเสียหลายบรรทัด เรามาทบทวนภาษิตเดิมกันเสียเล็กน้อย เพื่อให้สุภาษิตนั้นดำเนินต่อกันไปอย่างถูกต้อง ราบรื่น เจริญ
ตอนที่แล้วจบลงตรงที่
องค์อินทราธิราชจอมกษัตริย์ของมนุษย์และเทวดา ได้คิดผูกปัญหาขึ้นเพื่อแก้บ่มของสงสัยของหมู่มนุษย์และเทวดาผู้มาชุมนุมกันอยู่ ณ ริมฝั่งแม่น้ำโคธาวรีนั้น อันเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของคุรุฤาษีสรภังคะ และบริวารฤาษีทั้งปวง
ปัญหาที่องค์อินทราธิราช ท่านได้ตรัสถามแก่ฤาษีพระโพธิสัตว์ คืออะไรชื่อว่า อัปมงคล อย่างไรชื่อว่ากาลกิณี
คุรุฤาษีสรภังคะโพธิสัตว์ จึงได้ทูลวิสัชนาว่า
กาลใดที่มนุษย์ทั้งหลายไม่มีจิตเมตตา ปฏิเสธในการให้ทาน ไม่ฉลาดในการให้ทาน กาลนั้นชื่อว่าเป็นอัปมงคล เป็นกาลกิณี
กาลใดที่เทวดาและมนุษย์ไม่เกรงกลัวต่อการละเมิดศีล ไม่ละอายชั่วกลัวบาป ไม่ปฏิบัติในศีล ไม่ฉลาดในการรักษาศีล กาลนั้นชื่อว่าอัปมงคลเป็นกาลกิณี
กาลใดที่เทวดาและมนุษย์ไม่มุ่งมั่นตั้งใจทำในหน้าที่การงาน มีจิตอันสับส่าย สับสน เกียจคร้าน เชื่อมซึม ท้อแท้ ลังเล มีจิตอันประกอบด้วยอารมณ์หลายชนิด ไม่มีจิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียวอย่างชาญฉลาด กาลนั้นชื่อว่าอัปมงคลเป็นกาลกิณี
และกาลใดที่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ไม่ใช้ปัญญานำพาชีวิต ปล่อยให้ชีวิตดำเนินไปด้วยการขับเคลื่อนจากความโง่เขลา จนก่อให้เกิดอกุศลกรรม กาลนั้นชื่อว่า อัปมงคลเป็นกาลกิณี
อีกทั้งกาลใดที่เทวดาและมนุษย์ไม่ระลึกรู้ถึงบุญคุณของท่านผู้มีคุณ ไม่ทดแทนสนองคุณท่าน ด้วยความชาญฉลาดกาลนั้นชื่อว่า อัปมงคลเป็นกาลกิณี
องค์อินทราธิราช จึงได้ตรัสถามปัญหาต่อไปว่า
อย่างไรจึงได้ชื่อว่า เป็นผู้มีสิริ เล่าพระคุณเจ้าข้า
คุรุฤาษีสรภังคะโพธิสัตว์ จึงได้ทูลตอบปัญหาด้วยมธุรสคาถาภาษิตว่า
ดูก่อนผู้มีศรัทธา
ให้ทานด้วยจิตเมตตาอย่างชาญฉลาด
ประพฤติปฏิบัติ รักษาศีลอย่างฉลาด
มีจิตตั้งมั่นในอารมณ์เดียวอย่างฉลาด
ใช้ปัญญาเป็นเครื่องนำพาชีวิต
รู้จักปฏิบัติตนให้อ่อนน้อมถ่อมตน
รู้คุณท่าน และตอบแทนพระคุณอย่างมีสติปัญญา
เช่นนี้ชื่อว่า เป็นผู้มีสิริ คือ การมีชีวิตที่เป็นมงคล เจริญธรรม
 
โปรดติดตามตอนต่อไป
 
พุทธะอิสระ