ตอนที่แล้วจบลงตรงคำตอบที่คุรุฤาษีสรภังคะโพธิสัตว์ได้ตอบปัญหาในข้อที่สาม ที่องค์อินทราธิราชทรงถามว่า
บุคคลที่เสมอกันย่อมอดทน อดกลั้นต่อคำเหยียดหยาม ดูหมิ่นได้นั้นเป็นเพราะเหตุใด
คุรุพระโพธิสัตว์ได้ตอบว่า
บุคคลที่มีชาติตระกูลเสมอกัน มีฐานะเสมอกัน มีความรู้เสมอกัน ย่อมอดทนอดกลั้นต่อคำดูหมิ่นเหยียดหยามได้ ก็เพราะต้องการเอาชนะ
องค์อินทราจึงถามว่า บุคคลอดทนอดกลั้นต่อคำดูถูก เหยียดหยามจากผู้ที่มีชาติตระกูลที่สูงกว่า ฐานะสูงกว่า ความรู้ที่สูงกว่า นั้นเป็นเพราะเหตุใด
คุรุฤาษีสรภังคะโพธิสัตว์ จึงตอบว่า บุคคลอดทนอดกลั้นต่อคำดูถูก เหยียดหยามจากผู้มีชาติตระกูลที่สูงกว่า ฐานะสูงกว่า ความรู้ที่สูงกว่า เป็นเพราะบุคคลผู้นั้นมีความเกรงกลัว ไม่กล้าตอบโต้
องค์อินทราธิราชจึงได้ถามต่อว่า แล้วบุคคลผู้ที่มีความอดทนต่อผู้มีความประพฤติและคุณธรรมที่เลวกว่าได้เป็นเพราะเหตุอันใด
คุรุฤาษีสรภังคะโพธิสัตว์ จึงทูลตอบว่า
บุคคลที่สามารถอดทนอดกลั้นต่อกิริยา อาการถ้อยคำที่ดูหมิ่น เหยียดหยามจากผู้ที่มีคุณธรรมต่ำกว่าตนได้นั้น บุคคลนั้นนับว่าเป็นผู้ประเสริฐกว่า เป็นบัณฑิต เป็นผู้ยอดเยี่ยม
(คำถามและคำตอบในข้อนี้ ขอให้ท่านทั้งหลายได้เพียรพยายามจดจำแล้วนำเอาไปฝึกหัด ปฏิบัติ กระทำให้เชี่ยวชาญ ชำนาญ จักเป็นผู้ดำรงชีวิตอยู่อย่างเป็นสุขได้ทั้งโลกนี้และโลกหน้า)
กาลต่อมาองค์อินทรา และคุรุฤาษีสรภังคะโพธิสัตว์ เพื่อจะคลายข้อสงสัยในหมู่มหาชนที่มาชุมนุมกันด้วยเพราะ สงสัยต่อเหตุการณ์วิบัติ เสียหายจนนครล่มสลาย มูลเหตุที่เกิดในนครพาราณสีในสมัยนั้น ล้วนเกิดมาจากการที่ชาวพระนครพาราณสี เห็นการดำรงชีพของบุคคลที่แตกต่างไปจากตน ก็ดูหมิ่น เหยียดหยามว่าเป็นตัวกาลกิณี
ดังเช่นองค์ราชาพร้อมชาวพระนครทำกิริยาอาการดูหมิ่น เหยียดหยามฤาษีกีสวัจฉผู้เป็นศิษย์เรา จนเทพยดาผู้อภิบาลรักษาอดทนอยู่ไม่ได้ จึงบันดาลให้ฝนวิบัติทั้ง ๗ ประการตกลงมาดังที่มีมาแล้วในอดีต
องค์อินทราธิราช เมื่อได้สดับมธุรสวาจาภาษิตขององค์คุรุฤาษีสรภังคะโพธิสัตว์ จบลง ก็บังเกิดความกระจ่างแจ้งหมดข้อสงสัยเฉพาะของพระองค์ และเพื่อให้มหาชนทั้งหลายที่มาชุมนุมกัน ณ ที่นี้ได้หายสงสัยไปด้วย
องค์อินทราธิราชจอมราชันแห่งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย จึงได้ทรงตรัสมธุรสวาจาเป็นคาถาที่พระองค์เข้าใจและถามปัญหาในส่วนของมนุษย์ ความว่า
บุคคลผู้เป็นบัณฑิต เป็นปราชญ์ผู้มีธรรม ย่อมมีปกติสำเหนียก แง้มหูฟังคำตักเตือนของผู้มีธรรม มีปัญญา จึงได้รอดพ้นจากมหาวิบัติไปได้
(หมายถึง อำมาตย์ผู้ทรงธรรมที่มิได้กระทำกิริยาดูหมิ่นแก่ฤาษีกีสวัจฉ ทั้งยังรับฟังคำตักเตือนที่มหาฤาษีกีสวัจฉแนะนำ ให้หนีไปเสียจากนครพาราณสีภายใน ๗ วัน ก่อนที่อำมาตย์ผู้ทรงธรรมจักไป ก็ยังเข้าไปเฝ้าองค์ราชาทัณฑกีราช ทูลเตือนว่าอีก ๗ วัน จะเกิดมหาวิบัติ ด้วยเหตุที่พระองค์ไปทำกิริยาดูหมิ่น เหยียดหยามต่อฤาษีกีสวัจฉ
แทนที่องค์ราชาจะเชื่อกลับขับไล่อำมาตย์ผู้ทรงธรรม แล้วปรามาสว่าเลอะเลือน ๗ วันต่อมานครพาราณสีจึงล่มสลาย ผู้คนล้มตายจนเกลี้ยงพระนคร เหลือแต่อำมาตย์ผู้ทรงธรรมและบริวารเท่านั้นที่เชื่อคำตักเตือน ของฤาษีกีสวัจฉ)
องค์อินทราธิราชจึงทรงตรัสมธุรสคาถาต่อไปว่า
หากองค์ราชาผุ้มีชัยชนะต่อข้าศึกยอมเชื่อฟังผู้ทรงธรรม เวรกรรมทั้งหลายย่อมมิอาจมาทำร้ายชาวพระนครพาราณสีได้เป็นแน่
แม้ที่สุดวิบากกรรมเหล่านั้นก็หาได้เกิดจากฤาษีผู้มีตบะ มีขันติบารมีไม่ แต่เกิดจากวิบากกรรมของชาวนครพาราณสีเองทั้งนั้น
ฝ่ายมหาชนทั้งหลายพอได้ฟังมธุรสวาจาในการตอบปัญหาของคุรุฤาษีสรภังคะโพธิสัตว์ จิตใจก็แช่มชื่นเบิกบาน เมื่อได้ฟังคำกล่าวมธุรสคาถาขององค์อินทราธิราช ยืนยันว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแก่ชาวนครพาราณสีในอดีตล้วนเกิดจากวิบากกรรมของตนทั้งนั้น
มหาชนทั้งหลายก็เริ่มเข้าใจว่า หาได้เป็นความผิดของฤาษีกีสวัจฉไม่
องค์อินทราธิราชจึงสรุปคาถาของพระองค์ว่า
ผู้เป็นสัตบุรุษย่อมประเสริฐได้ด้วยขันติธรรม แล้วจึงทรงตรัสถามปัญหาในส่วนของมหาชนที่ยังสงสัยว่า
มหาชนทั้งหลายต้องการจะรู้ว่า วิบากกรรมขององค์ราชาทัณฑกีราช เจ้านครพาราณสีในอดีต หลังจากตายแล้วไปเกิดในที่ใด
คุรุฤาษีสรภังคะโพธิสัตว์ จึงทูลตอบปัญหานั้นแก่องค์อินทราว่า องค์ราชาทัณฑกีราช ขณะที่ทรงมีชีวิตได้ทำกรรมอันเลวแก่ผู้ทรงธรรม ผู้ไม่มีจิตคิดจะเบียดเบียนแก่ผู้ที่คิดจะเบียดเบียน
บัดนี้ยังหมกไหม้อยู่ในนรกถ่านเพลิง ที่ปราศจากเปลวไฟและควัน หมกไหม้ไปพร้อมกับชาวพระนครพาราณสี และเมื่อพ้นจากนรกขุมที่ชื่อว่า กุกกุฬะ นั้นมาแล้ว ก็จักต้องไปเกิดในนรกที่มีทุ่งสุนัขใหญ่คอยวิ่งไล่กัดกินเนื้อ
องค์ราชาและชาวนครพาราณสี ผู้ร่วมกระทำกรรมก็จะพากันวิ่งหนีไปชั่วอายุขัยของนรกขุมที่ชื่อว่า สุนขะนรก
หลังจากพ้นจากนรกขุมนั้นแล้ว ก็จักไปบังเกิดในมหานรกที่มีภาพมายาปรากฏจริงตามที่สัตว์ตนนั้นๆ จะนึกคิดให้เป็นไปเข้ารุมทำร้ายจนสัตว์ทั้งหลายในนรกขุมนี้ทุกข์ทรมานทุรนทุรายอยู่ตลอดทั้งวันทั้งคืน ไม่จบไม่สิ้น
โดยที่สัตว์ทั้งหลายที่เกิดในนรกขุมนี้ จักมีอายุขัยที่ยืนยาวนานมากเป็นอสงขัย
เมื่อพ้นจากนรกที่ชื่อว่า มายากาล แล้วก็จักไปบังเกิดเป็นไปตามอัตภาพของเศษวิบากกรรมที่ยังหลงเหลืออยู่
คุรุฤาษีสรภังคะโพธิสัตว์ จึงได้กล่าวมธุรสคาถาต่อไปว่า
ผู้มีปัญญาครั้นได้สดับถึงวิบากกรรมของราชาทัณฑกีราช และชาวนครพาราณสีในอดีตแล้ว จึงควรตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท ย่อมสะดุ้งหวาดกลัวต่อผลแห่งการกระทำของตนที่เลวร้าย
จงไม่พยาบาท เบียดเบียนต่อผู้ที่ไม่มีจิตคิดจักเบียดเบียน
จงไม่ดูหมิ่นเหยียดหยามต่อบุคคลที่มีชีวิตที่แตกต่างจากตน
จงประพฤติตามในธรรมแห่งสมณะ ผู้มีสติปัญญาเจริญ
เมื่อถึงคราวแตกกาย ทำลายขันธ์ จักได้บังเกิดในสวรรค์ดุจดังองค์อินทราธิราช และเทวดาบริวาร ดังที่ปรากฏ
 
จบแค่นี้ก่อนนะจ๊ะ วันหน้าจะมาเขียนสู่กันอ่านใหม่
เจริญธรรม
 
พุทธะอิสระ