ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิในครรภ์ของนางพราหมณี ภรรยาของปุโรหิตได้สิบเดือนก็คลอดจากครรภ์มารดาในเวลาใกล้รุ่ง
ขณะนั้น อาวุธทั้งปวงในพระนครพาราณสีมีอาณาเขต ๑๒ โยชน์ก็ลุกโพลงขึ้น.
ในขณะที่บุตรคลอด ปุโรหิตออกมาภายนอกแลดูอากาศ เห็นนิมิตเครื่องประกอบนักษัตร ก็รู้ว่า กุมารนี้จักเป็นผู้เลิศกว่านายขมังธนูทั้งปวงในชมพูทวีป เพราะเป็นผู้ที่เกิดโดยนักษัตรนี้ จึงไปยังราชตระกูลแต่เช้าตรู่
กราบทูลถามว่า เมื่อคืนทรงพระบรรทมเป็นสุขอยู่หรือไม่พระเจ้าข้า
พระราชาจึงทรงตรัสตอบว่า
ดูก่อนท่านอาจารย์ ความสุขจะมีมาแต่ไหน ในวันนี้อาวุธในพระราชวังทั้งหมดโพลงกระทบกันส่งเสียงกึกก้องกัมปนาไปทั่วทั้งพระนครไปหมด
ปุโรหิตจึงกราบทูลว่า ขอเดชะ พระองค์อย่าตกพระทัยกลัว ใช่ว่าอาวุธจะแสดงเดชเฉพาะในพระราชวังก็หามิได้ แม้รอบๆ ภายนอกพระนครก็แสดงเดชไปสิ้นทุกหนแห่งเช่นกัน ที่เป็นอย่างนี้ เพราะวันนี้มีกุมารเกิดในเรือนของข้าพระพุทธเจ้า
พระราชาตรัสว่า ท่านอาจารย์กุมารที่เกิดแล้วอย่างนี้ จักเป็นอย่างไร?
ปุโรหิตกราบทูลว่า ขอเดชะ ข้าแต่มหาราชเจ้า ไม่มีอะไรดอกพระพุทธเจ้าข้า แต่ว่ากุมารนั้นจักได้เป็นยอดแห่งนายขมังธนู ในชมพูทวีปทั้งสิ้น
พระราชาตรัสว่า ดีละท่านอาจารย์ ถ้าเช่นนั้นท่านจงประคบประหงมกุมารนั้น แล้วยกให้เราในเวลาที่เขาเจริญวัยแล้ว ตรัสสั่งให้พระราชทานทรัพย์พันหนึ่งเป็นค่าน้ำนมเลี้ยงดูกุมารนั้น
ปุโรหิตนั้นรับทรัพย์กลับไปเรือน แล้วมอบให้นางพราหมณี ทั้งยังชื่อลูกชายนามว่า โชติปาละ โดยเอานิมิตที่ในขณะที่คลอดมาแล้วอาวุธแสดงเดช
โชติปาลกุมารเจริญวัย ได้รับความรักความอบอุ่นจากมารดา บิดา ซึ่งได้จัดหาบริวารจำนวนมากมาเป็นเพื่อนเล่น และคอยรับใช้จนเวลาล่วงเวลาไป กุมารนั้นได้อายุครบ ๑๖ ปี เป็นผู้มีรูปทรงสง่างาม อุดมได้ส่วนสัดสมเป็นชายชาตรี
ปุโรหิตบิดาของโชติปาลกุมาร มองดูรูปสมบัติของลูกชาย จึงมอบทรัพย์ให้พันหนึ่ง บอกว่า ลูกเอ๋ย เจ้าจงไปเมืองตักกสิลา เรียนศิลปศาสตร์ในสำนักของอาจารย์ทิศาปาโมกข์เถิด
โชติปาลกุมารรับคำแล้ว ถือเอาทรัพย์นั้นไปเป็นค่าเล่าเรียนแล้ว ไหว้มารดาบิดา ลาไปในเมืองตักกสิลา เลือกหาครูอาจารย์ผู้ชำนาญในศิลปวิทยาทุกแขนงแล้ว มอบทรัพย์ให้อาจารย์พันหนึ่ง เพื่อขอเรียนศิลปวิทยา
ใช้เวลาเพียงแค่สัปดาห์เดียว โชติปาลก็สำเร็จวิทยาการทั้งปวง
เป็นเหตุให้อาจารย์ก็ยินดียิ่งนัก จึงมอบพระขรรค์ ธนูเขาแพะ แล่งธนูอันประกอบต่อกันซึ่งเป็นของตน กับเสื้อเกราะ และกรอบหน้าของผู้เป็นอาจารย์ ทั้งยังมอบมาณพทั้งห้าร้อยแก่โชติปาลกุมารนั้นพร้อมกล่าวว่า พ่อโชติปาละ อาจารย์แก่แล้ว บัดนี้เธอจงช่วยฝึกสอนมาณพเหล่านี้แทนอาจารย์ด้วยเถิด
โชติปาลโพธิสัตว์เมื่อรับเครื่องอุปกรณ์ยุทธทุกอย่างแล้วกล่าวว่า ข้าแต่ท่านอาจารย์ ลูกได้จากบ้านจากเมืองมาก็หลายวันแล้ว จึงอยากกลับไปรายงานผลการเรียนให้แก่มารดาบิดาได้รับรู้เสียก่อน
แล้วจึงกราบลาอาจารย์ เดินทางมุ่งมายังพระนครพาราณสี ตรงเข้าไปกราบมารดาบิดา
ลำดับนั้น ปุโรหิตผู้บิดาจึงถามโชติปาลกุมารด้วยความแปลกใจว่า ลูกรัก เจ้าเรียนศิลปวิทยาจบแล้วหรือ ?
โชติปาลจึงตอบว่า ขอรับคุณพ่อ
ปุโรหิตบิดาฟังคำตอบแล้ว ก็ให้สงสัยยิ่งนักว่า ลูกเราพึงจะจากบ้านไปไม่กี่วัน ก็กลับมาแล้วเช่นนี้จักเรียนอะไรสำเร็จได้ แต่ด้วยความวางใจที่ว่า บุตรของเรามิเคยได้กล่าววาจามุสา เหลวไหล เอาเป็นว่าไม่ว่าลูกเราจักสำเร็จวิชาใดมา เราก็ควรไปกราบทูลแก่องค์ราชาให้ได้ทรงทราบ
ปุโรหิต นั้นจึงตรงไปเข้าเฝ้าแล้วจึงกราบทูลว่า ขอเดชะ บุตรของข้าพระพุทธเจ้าเรียนศิลปวิทยากลับมาแล้ว พระองค์จักให้เขาจะทำอะไร พระพุทธเจ้าข้า?
พระราชาตรัสว่า ท่านอาจารย์ เราได้ยินมาว่า บุตรท่านพึงจะไปเรียนได้ไม่กี่วัน มิใช่หรือ เขาจะได้ความรู้อะไรมาเล่า เช่นนี้ก็ทำหน้าที่คอยรับใช้เราก็แล้วกัน
ปุโรหิตจึงทูลว่า ขอเดชะพระอาญามิพ้นเกล้า เมื่อพระองค์ทรงให้บุตรชายของข้าพระองค์เป็นข้าราชบริพารแล้ว จักให้ค่าตอบแทนสิ่งใดแก่ลูกของข้าพระองค์เล่า
องค์ราชาพรหมทัตจึงตรัสว่า เราจักจ่ายเงินเบี้ยเลี้ยงแก่เขาวันละหนึ่งพันคหาปนะก็แล้วกัน
ปุโรหิตพอได้ฟังดังนั้น จึงรีบกลับมายังเรือนของตน เรียกโชติปาลบุตรชายมากล่าวว่า ลูกเอ่ยเป็นลาภของเจ้าแล้ว องค์มหาราชพรหมทัตทรงมีพระเมตตาจ้างเจ้าให้ไปเป็นข้าราชบริพาร โดยจะจ่ายเงินให้เจ้าเป็นค่าจ้างวันละ ๑ พันคหาปนะ
โชติปาลโพธิสัตว์ครั้งเมื่อได้ฟังเช่นนั้น จึงกล่าวว่า คุณพ่อจ้า อาจาร์ของลูกได้ฝากมานพให้ลูกอบรมสั่งสอนศิลปวิทยาถึง ๕๐๐ คน แบบนี้แล้วลูกจักทำเช่นไรเล่า
ปุโรหิต ผู้เป็นบิดา จึงกล่าวว่า แล้วเจ้าได้รับปากแก่อาจารย์ผู้สั่งสอนวิชาให้เจ้าแล้วหรือยัง
โชติปาลผู้บุตร จึงตอบว่า ลูกยังมิได้รับปากใดๆ เลยจ๊ะ
ปุโรหิต ผู้พ่อจึงกล่าวว่า เช่นนั้น เจ้าก็ไม่ต้องกังวลใดๆ เจ้าจงเขียนหนังสือแจ้งความจำเป็นที่ต้องเข้ารับราชการสนองงานองค์มหาราชพรหมทัตไปก็แล้วกัน
 
วันนี้ขอจบแค่นี้ก่อนนะจ๊ะ รู้สึกเพลียกายเพลียใจจริงๆ
 
พุทธะอิสระ