เมื่อพระนางมีพระวรกายแข็งแรงดีแล้ว มีพระประสงค์ที่จะถวายมหาทานติดต่อกันเป็นเวลา ๗ วัน จึงแจ้งความประสงค์แก่พระสวามีให้กราบทูลอาราธนาพระบรมศาสดาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ มารับมหาทานอาหารบิณฑบาตในพระราชนิเวสน์ ตลอด ๗ วัน
ในวันถวายมหาทานนั้น สีวลีกุมาร มีพระวรกายเข้มแข็งดุจกุมารผู้มีพระชนม์ ๗ พรรษา ได้ช่วยพระบิดาและพระมารดาจัดแจงกิจต่าง ๆ มีการนำธมกรก (ธะมะกะหรก =กระบอกกรองน้ำ) มากรองน้ำดื่มและอังคาสพระบรมศาสดาและหมู่พระภิกษุสงฆ์
ในขณะที่สีวลีกุมาร ช่วยพระบิดาและพระมารดาอยู่นั้น ท่านพระสารีบุตรเถระได้สังเกตดูอยู่ตลอดเวลาและเกิดความรู้สึกพอใจในพระราชกุมารน้อยเป็นอย่างมาก
ครั้นถึงวันที่ ๗ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายพระศาสดาได้ทรงภาษิตคาถาในธรรมบทว่า
 
โย อิมํ ปลิปถํ ทุคฺคํ สํสารํ โมหมจฺจคา
ติณฺโณ ปารคโต ฌายี อเนญฺโช อกถํกถี
อนุปาทาย นิพฺพุตํ ตมหํ พฺรูมิ พฺราหฺมณํ
 
ผู้ใดข้ามทางอันตรายคือสงสารอันข้ามได้ยากนี้
ถึงฝั่งแล้ว เป็นผู้มีอันเพ่งฌาน ก้าวล่วงโอฆะ
ไม่หวั่นไหว ไม่มีความสงสัย เราเรียกผู้นั้นว่า
เป็นพราหมณ์ ดังนี้.
 
คราวนั้น พระสารีบุตรเถระกล่าวกะสีวลีทารกนั้นอย่างนี้ว่า ดูก่อนกุมารที่เธอได้เสวยกองทุกข์อยู่ในครรภ์มารดาตลอด ๗ ปีเห็นปานนี้ แล้วทำไมจึงไม่มาบวชเสียเล่ากุมารสีวลี
สีวลีกุมารตอบว่า กระผมก็ปรารถนาเช่นนั้นแหละ ท่านผู้เจริญ.
 
พระนางสุปปวาสาเห็นทารกนั้น พูดอยู่กับพระพระสารีบุตรเถระ คิดว่า บุตรของเราพูดอะไรหนอกับพระธรรมเสนาบดี จึงเข้าไปหาพระพระสารีบุตรเถระถามว่า บุตรของดิฉันพูดอะไรกับ พระคุณเจ้า เจ้าค่ะ.
พระพระสารีบุตรเถระกล่าวว่า บุตรของท่านพูดถึงความทุกข์ที่อยู่ในครรภ์ที่ตนเสวยแล้วกล่าวว่า หากท่านอนุญาตแล้วเขาจักออกบวช.
พระนางสุปปวาสาตรัสว่า ดีละเจ้าข้า โปรดให้เขาบรรพชาเถิด.
 
พระสารีบุตรเถระนำทารกนั้นไปวิหาร ให้ตจปัญจกกัมมัฏฐาน เมื่อจะให้บรรพชา กล่าวว่า สีวลี เราไม่จำต้องให้โอวาทดอก เธอจงพิจารณาทุกข์ที่เธอเสวยมาถึง ๗ ปีนั่นแหละ.
สีวลีกล่าวว่า การให้บวชเท่านั้น เป็นหน้าที่ของท่าน ส่วนผมจักรู้กิจที่ผมพึงกระทำได้.
สีวลีนั้นตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลในขณะที่โกนผมปอยแรกที่เขาโกนแล้วนั่นเอง
 
ขณะโกนปอยที่ ๒ ตั้งอยู่ในสกทาคามิผล
ในขณะโกนผมปอยที่ ๓ ตั้งอยู่ในอนาคามิผล ก็การโกนผมหมดและการกระทำให้แจ้งพระอรหันต์ได้มีขึ้น
ตั้งแต่วันที่ท่านบวชแล้ว ปัจจัย ๔ ก็เกิดขึ้นแก่หมู่ภิกษุสงฆ์พอแก่ความต้องการอย่างสมบูรณ์
 
สมัยหนึ่ง พระบรมศาสดาเสด็จพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ จำนวน ๕๐๐ รูปไปเยี่ยมพระเรวตะผู้เป็นน้องชายของพระสารีบุตรเถระ ซึ่งจำพรรษาอยู่ ณ ป่าไม้ตะเคียน
เมื่อเสด็จมาถึงทาง ๒ แพร่ง พระอานนท์เถระได้กราบทูลสภาพหนทางให้ได้ทรงทราบว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าเสด็จไปทางอ้อม ระยะทางไกล ๖๐ โยชน์ มีประชาชนอยู่อาศัยมาก พระภิกษุไม่ลำบากด้วยภิกขาจาร แต่ถ้าเสด็จไปทางลัดระยะทางประมาณ ๓๐ โยชน์ ไม่มีประชาชนอยู่อาศัย มีสภาพเป็นป่าใหญ่ มีแต่อมนุษย์อยู่อาศัย พระภิกษุสงฆ์จะลำบากด้วยภิกขาจาร”
 
พระพุทธองค์ ตรัสถามว่า
“ดูก่อนอานนท์ พระสีวลีมากับเราด้วยหรือไม่?”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระสีวลีมากับเราด้วย พระเจ้าข้า”
 
พระพุทธองค์ ตรัสว่า
“ดูก่อนอานนท์ ถ้าอย่างนั้นเธอจงแจ้งแก่หมู่สงฆ์ว่า เราจะไปทางลัด ไม่ต้องห่วง ไม่ต้องกังวลด้วยอาหารบิณฑบาต เพราะเทวดาทั้งหลายที่สิงสถิตอยู่ในป่าระหว่างทาง จะจัดสถานที่พักและอาหารบิณฑบาตไว้ถวายพระสีวลีผู้เป็นที่เคารพนับถือของพวกเขา เราทั้งหลายก็จะได้อาศัยบุญของพระสีวลี นั้นด้วย”
 
ด้วยอำนาจบุญที่ท่านพระสีวลี ได้บำเพ็ญสั่งสมอบรมมาตั้งแต่อดีตชาติ เป็นปัจจัยส่งผลให้ท่านเจริญด้วยลาภสักการะ โดยมีเทพยดา นาค ครุฑ และมนุษย์ทั้งหลาย นำมาถวายโดยมิขาดตกบกพร่อง ไม่ว่าท่านจะอยู่ในที่ใด ๆ ในป่า ในบ้าน ในน้ำ หรือบนบก เป็นต้น
 
ด้วยเหตุนี้ พระพุทธองค์ จึงทรงประกาศให้ปรากฏในหมู่พุทธบริษัทตรัสยกย่องท่านในตำแหน่ง เอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทาง ผู้มีลาภมาก
ทีนี้เรามารู้ถึงบุพกรรมของท่านพระสีวลีว่า เหตุใดท่านถึงได้อยู่ในครรภ์มารดาถึง ๗ ปี ๗ วัน
 
ในสมัยหนึ่งท่านได้จุติจากเทวโลก บังเกิดเป็นราชโอรสแห่งพระเจ้ากาสี ผู้ครองกรุงพาราณสี ต่อมาพระเจ้าโกศลทรงกรีธากองพลยึดกรุงพาราณสี ทรงปลงพระชนม์พระเจ้ากาสีและได้สถาปนาพระอัครมเหสีของพระราชานั้นให้เป็นอัครมเหสีของพระองค์ ฝ่ายพระราชโอรสของพระเจ้าพาราณสี ทรงหนีออกทางประตูระบายน้ำ รวบรวมญาติมิตรและพวกพ้องของพระองค์ไว้เป็นอันเดียวกัน เสด็จมายังกรุงพาราณสี ตั้งค่ายใหญ่ไว้ในที่ไม่ไกล ทรงส่งพระราชสาสน์ถึงพระราชาองค์นั้นว่า จะคืนราชสมบัติหรือจะรบ
 
พระมารดาได้สดับสาสน์ของพระราชกุมารแล้ว จึงส่งพระราชสาสน์ลับแนะนำไปว่า ให้ปิดล้อมกรุงพาราณสีไว้ พวกคนในกรุงก็จะพากันลำบากเพราะขาดอาหาร จะจับพระราชามาถวายเอง
พระราชกุมารจึงล้อมประตูใหญ่ทั้ง ๔ ด้านไว้ ๗ ปี พวกคนในกรุงพากันออกทางประตูเล็ก นำเอาไม้และน้ำเป็นต้น มาทำกิจทุกอย่าง
พระมารดาทราบ จึงแนะให้ปิดประตูเล็กเสีย
 
พระราชกุมาร จึงปิดประตูเล็กไว้ ชาวพระนครเมื่อออกไปข้างนอกไม่ได้ วันที่ ๗ จึงได้เอาพระเศียรของพระราชานั้นไปมอบแต่พระราชกุมาร พระราชกุมารได้เสด็จเข้ากรุงยึดราชสมบัติ
เพราะผลกรรมที่ล้อมพระนครไว้ถึง ๗ ปีพระองค์จึงอยู่ในโลหิตกุมภีถึง ๗ ปีและเพราะล้อมกรุงไว้ถึง ๗ วันโดยเด็ดขาด จึงถึงความเป็นผู้หลงครรภ์ถึง ๗ วัน ฝ่ายพระนางสุปปวาสา อุ้มครรภ์อยู่ถึง ๗ ปี ทรงครรภ์อยู่ถึง ๗ วัน เพราะที่ส่งสาสน์ไปว่า พ่อจงล้อมพระนครยึดไว้ พระมารดาและบุตรเหล่านั้น ได้เสวยทุกข์เช่นนี้อันสมควรแก่กรรมของตน ด้วยประการฉะนี้
พระสีวลีเถระเมื่อได้ชดใช้เวรกรรมจนหมดสิ้นในชาติสุดท้าย พร้อมทั้งบรรลุอรหันต์ปฏิสัมภิทาญาณ
ท่านได้ทำคุณประโยชน์แก่พระธรรมวินัยจวบจนถึงอายุขัย แล้วจึงดับขันธปรินิพพาน
 
พุทธะอิสระ