ถาม:
กรณีการประพฤติละเมิดพระธรรมวินัย ดังที่เป็นข่าวดังๆ หรือไม่ได้เป็นข่าว ควรจะเป็นหน้าที่ของใครที่จะจัดการ
ตอบ:
หากจะถือเอาตามพุทธโอวาทขององค์สมเด็จพระบรมศาสดาก็ต้องใช้หลักที่ทรงวางไว้แต่เริ่มแรกว่า
 
โย โว อานนฺท มยา ธมฺโม จ วินโย จ เทสิโต ปญฺญตฺโต โส โว มมจุจเยน สตฺถา
ดูก่อนอานนท์ ธรรมและวินัยอันใดที่เราตถาคตแสดงไว้ดีแล้ว และบัญญัติไว้แล้วแก่เธอทั้งหลาย ธรรมและวินัยอันนั้นจักเป็นศาสดาของพวกเธอทั้งหลาย เมื่อเราตถาคตล่วงลับไปแล้ว
 
ทีนี้เราท่านทั้งหลายก็ลองมาทำความเข้าใจกับพระพุทธโอวาทที่ทรงแสดงไว้กับพระอานนท์ พุทธอุปัฏฐาก ที่ละวรรคอย่างละเอียดว่าทรงหมายความว่าอย่างไร
อธิบายคำว่า พระธรรมวินัยใด หมายถึง ปิฎกทั้ง ๓ ที่ใช้เรียกกันอยู่ในปัจจุบันซึ่งหมายถึงตะกร้าทั้ง ๓ อันมี
พระวินัยปิฎก มี ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
พระสุตตันตปิฎก มี ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
พระอภิธรรมปิฎก มี ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
แม้เมื่อครั้งองค์พระบรมศาสดายังมิได้ทรงแยกหมวดหมู่เป็นปิฎกก็ตาม
แต่ต่อมามหาสาวกผู้เป็นอรหันต์ผู้ได้สดับพระสัทธรรมเหล่านั้นก็ได้ประชุมพร้อมกัน หลังจากพระบรมศาสดาทรงปรินิพพานไปแล้ว ๓ เดือน เพื่อจะรวบรวมคำสอนที่ทรงแสดงไว้ดีแล้วถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แยกเป็นหมวดหมู่ได้ถึง ๓ ปิฎกหรือสามตะกร้าใหญ่
อธิบายคำว่า ได้แสดงไว้ดีแล้ว หมายถึง พระสัทธรรมที่แบ่งออกเป็น พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก ที่ทรงแสดงแก่บุคคล คณะบุคคล หรือกลุ่มมหาชนเมื่อได้สดับพระสัทธรรมนั้น
ได้ผลอันเป็นที่น่าอัศจรรย์ ทำให้ผู้สดับพระสัทธรรมนั้นๆ ได้มีดวงตาเห็นธรรม บรรลุธรรมาพิสัยกันถ้วนทั่ว
อธิบายคำว่า บัญญัติไว้แล้ว หมายถึง ข้อห้ามใดๆ รวมทั้งข้ออนุญาตใดๆ ซึ่งทั้งสองกรณีล้วนปรากฏอยู่ในพระวินัยปิฎกทั้ง ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
อธิบายคำว่า แก่เธอทั้งหลาย หมายถึง หมู่ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา ผู้เข้าถึงธรรม
อธิบายคำว่า ธรรมวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย ในเมื่อเราล่วงลับไปแล้ว
พุทธโอวาทนี้ชัดเจนว่า พระบรมศาสดามิได้ปรารถนาให้บุคคลใดเป็นผู้ทำการแทนพระองค์ แต่ทรงยกย่องพระธรรมวินัยให้มีความสำคัญเทียบชั้นเท่ากับพระองค์หรือบางครั้งท่านผู้ศึกษาจะได้รับรู้ว่า
เมื่อครั้งที่พระองค์ทรงตรัสรู้ใหม่ๆ ทรงรำพึงว่า บุคคลจะขาดที่พึ่งไม่ได้แม้เราตถาคตก็จะพึ่งพระธรรมซึ่งตามประเพณีของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ที่มีมาแล้ว
เช่นนี้พระธรรมและวินัยจึงมีความสำคัญยิ่งยวดดุจดังพุทธโอวาทที่ได้ให้ไว้กับพระวักกลิความว่า
“ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเราตถาคต”
ฉะนั้นหากจะว่ากันตามพุทธโอวาทดังกล่าว ในประเด็นที่คุณถามฉันว่า ใครจะจัดการกับผู้ล่วงละเมิดต่อพระธรรมวินัย
ก็ต้องตอบว่า พุทธบริษัททั้ง ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา ผู้เข้าถึงธรรม นั่นแหละเป็นผู้เข้าไปจัดการ โดยมีพุทธโอวาทแห่งองค์พระบรมศาสดายืนยันความว่า
ดูก่อนอานนท์ธรรมและวินัยใดที่เราได้แสดงไว้ดีแล้ว และบัญญัติไว้แก่เธอทั้งหลาย
นี่ก็หมายความว่า พระบรมศาสดาทรงมอบพระธรรมวินัยนี้ให้อยู่ในความดูแลของพุทธบริษัททั้ง ๔ ดังกล่าว
รวมความว่า เมื่อมีเรื่องราวใดๆ เกิดขึ้นต่อพระธรรมวินัยและในสังฆมณฑลย่อมเป็นหน้าที่ของพุทธบริษัททั้ง ๔ ที่จะเข้าไประงับ ยับยั้ง จัดการ คลี่คลาย อธิกรณ์หรือเรื่องราวเหล่านั้นให้หมดไป
โดยมีหลักการที่เป็นวิธีปฏิบัติที่ทรงวางไว้ดังต่อไปนี้
โปรดติดตามตอนต่อไป
 
พุทธะอิสระ