14 ต ค 2555 14.50 น. ระหว่างปฏิบัติธรรม โดย องค์หลวงปู่พุทธะอิสระ
• ท่านั่ง ยืน เดิน ยืน กายในกาย
(กราบ)
หาที่นั่งให้เหมาะ....
ไม่ต้องระลึกอะไร รู้แต่เพียงภายในกายตน
..............
รู้อยู่เฉยๆ อย่าสนใจลมหายใจ
พอรู้ในกายปุ๊บนี่ มันจะจับลมหายใจ
เพราะลมหายใจ เป็นตัวกระเพื่อมของกาย
ด้วยความคุ้นเคย เราก็จะไปอยู่กับลมหายใจ
พอมีสติปุ๊บ จะรู้ลมทันที
แต่สิ่งเราต้องการรู้ ไม่ใช่แค่ลม
เราจะต้องรู้ให้ลึกกว่าลม ก็คือ รู้ภายในกาย
..............
รู้อะไร ก็รู้ ว่าง, รู้ วาง, รู้แล้ว ว่าง, รู้แล้ว วาง,
รู้ ว่าง วาง, รู้อยู่ว่า ว่างๆ วางลงเฉยๆ
...............
ไม่ต้องคิดอะไร ไม่ต้องวิเคราะห์อะไร
ไม่ต้องใคร่ครวญอะไร ไม่ต้องไตร่ตรองในสิ่งใดๆ
รู้แค่ ว่าง กับ วาง
................
อย่าหลับตา
หลับตาแล้วเดี๋ยว ง่วง
..................
ไม่หลับตา ก็ไม่ต้องเบิ่งตา
เพราะการเบิ่งตา จะทำให้เจ็บปวด
..................
เมื่อยตา ปวดตา ประสาทตาล้า
.................
ไม่คิดอะไร ไม่วิเคราะห์อะไร ไม่วิตกกังวลอะไร
เฉยๆ รู้อยู่เฉยๆ
..................
อยู่กับความว่างและความเฉย
................
ไม่มีอะไรห่อหุ้มจิต
รักไม่ห่อหุ้ม โกรธไม่ห่อหุ้ม หลงไม่ห่อหุ้ม โลภไม่ห่อหุ้ม
จิตใสสะอาดหมดจด จากเครื่องร้อยรัดและการห่อหุ้มทั้งปวง
ไม่ต้องปรุงแต่ง เรียกว่า ไม่ปรุงในกายสังขาร
วิญญาณ การรับรู้ ก็ผ่องแผ้ว ผ่องใส
รู้เฉพาะ ภายในกายตน
................
ไม่ใช่รู้เพราะอวิชชา ไม่ใช่รู้เพราะตัณหา ไม่ใช่รู้เพราะอุปาทาน
รู้อย่างมีสติรู้
....................
ค่อยๆ ลุกขึ้นยืนด้วยความว่าง
รักษาความว่างเอาไว้กับตัว แล้วยืน
.................
ยังว่างอยู่ เพ่งความว่างเป็นอารมณ์ เรียกว่า สุญญตสมาธิ
....................
ยังอยู่กับความว่าง
.................
ถ้าว่าตามปฏิจสมุปบาท เรากำลังตัดช่องต่อแดนอารมณ์ทั้งปวง
เรียกว่า ตัดช่องต่อสืบพฤติกรรม ภพ ชาติ ชรา มรณะ อยู่ด้วยความว่าง
คือ ไม่มีอวิชชา
เพราะอวิชชา ทำให้เกิดสังขาร การปรุง
งั้น เมื่อไม่มีอวิชชา มันก็ไม่มีสังขาร การปรุง
สังขาร การปรุง เมื่อไม่มี
วิญญาณ การรับรู้ ก็ผ่องแผ้ว ผ่องใส
วิญญาณยังมีอยู่ ไม่ใช่ไม่มี
แต่มีอย่างผ่องแผ้ว และผ่องใส
แต่ไม่มี นาม รูป, ไม่ปรากฏ นาม รูป
เพราะมันกลายเป็น ว่าง
................
เมื่อ นาม รูป ไม่มี สฬายตนะ คือ แดนสืบต่อ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ไม่กระทบสัมผัสใดๆ ด้วยเหตุผลว่า
มีตา ก็สักแต่ว่า มี, มีหู ก็สักแต่ว่า มี
เสียงที่ปรากฏกับหู ก็สักแต่ว่า ฟังเฉยๆ แต่ไม่ปรุงเป็นอารมณ์
ไม่มีเวทนาปรากฏ คือ ไม่สุข ไม่ทุกข์ ไม่ไตร่ตรอง ไม่วิเคราะห์ ไม่ตรึก
ฟัง ก็สักแต่ว่า ฟังเฉยๆ, จมูกได้กลิ่น ก็สักแต่ว่า ได้กลิ่นเฉยๆ ไม่ปรุง
ลิ้นก็จะรับ ก็สักแต่ว่า รับ
................
แต่ถ้าอยู่ในความว่าง มันแทบจะไม่มีจมูก ไม่มีลิ้น ไม่มีตา ไม่มีหู ไม่มีกลิ่นใดๆ
เพราะ เราว่าง
...............
ผัสสะ เมื่อไม่ปรากฏต่อตาเห็น เวทนาก็ไม่เกิด
......................
สุข ทุกข์ ไม่ต้องถามหา มีแต่คำว่า เฉยๆ
...................
ความอยาก ก็ไม่ตามมา ตัณหาที่มี ร้อยรัดเราอยู่ อุปาทาน ความยึดถือ ก็ไม่ปรากฏ
ชาติภพ ก็จะหยุดลงทันที
...................
เพราะเราอยู่กับความว่าง
...................
การสืบต่อของจิต ปฏิสนธิในอารมณ์ทั้งปวง ก็ไม่เกิด
เพราะเมื่อใดที่เกิดราคะ ก็เกิดปฏิสนธิจิตแล้ว, เมื่อใดที่เกิดโทสะ ก็เกิดปฏิสนธิจิตแล้ว
เมื่อใดที่เกิดโมหะ ก็เกิดปฏิสนธิจิตแล้ว
แล้วปฏิสนธิจิตชนิดนี้แหละ เป็นปฏิสนธิจิตที่ผูกชาติภพ
..................
คนมีราคะมากๆ ก็เป็นพวกเกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิดในราคะ คือ พวกบ้ากาม
คนมีโทสะมากๆ ก็เป็นเกิดตาย ตายเกิด กลายเป็นพวก บ้าอารมณ์
เรียกว่า มีปฏิสนธิจิต สะสมปฏิสนธิจิต
เป็นบ่วงแห่งกรรมที่พันธนาการเรา ข้ามภพข้ามชาติไม่จบสิ้น
แค่ปฏิสนธิจิตหนึ่ง ก็สร้างให้เกิดปฏิสนธิจิตอีกเป็นหมื่นๆ ดวงได้
ด้วยความไม่รู้ ไม่เข้าใจ
................
งั้น ถ้าเรารู้ เราเข้าใจ อยู่กับความว่าง ปฏิสนธิจิตใดๆ ก็ไม่บังเกิด
....................
มันก็จะว่างสนิท ตั้งแต่หัวจรดปลายเท้า
...................
ลมหายใจปล่อยเป็นธรรมชาติ ไม่ต้องสนใจมัน
มันจะเข้า ก็ปล่อย มันจะออก ก็ปล่อย
................
รู้อยู่ ว่าง และ วาง
................
ตั้งแต่หัวจรดปลายเท้า ไม่มีอะไรให้ยึดถือ
มันว่างไปซะหมด
.......................
ความว่าง คือ อะไร
คือ สิ่งที่ไม่ต้องคิด ไม่ต้องคิดอะไร
ไม่ต้องตรึกอะไร ไม่ต้องกังวลอะไร
หลายคนไม่เข้าใจว่า ความว่าง คือ อะไร
ถ้ายังตรึกอะไร ยังคิดอะไร ยังตรองอะไร
แสดงว่า ไม่ว่าง
ก็ยังต้องปวดหัวต่อไป ยังต้องเครียดต่อไป
งั้น ความว่าง คือ เหมือนดั่ง แดนแห่งการพักผ่อน
พักผ่อนวิญญาณ พักผ่อนกาย พักผ่อนจิต
....................
แดนแห่งความผ่อนคลาย
เราเหนื่อยมาทั้งชีวิตล่ะ เข้าไปผ่อนคลายกับความว่าง
...............
ในวิถีแห่งมหายาน ท่านเรียก ความว่างชนิดนี้ว่า แดนแห่งสุขาวดี
เป็นที่อยู่ของ พระอมิตภะ
พระอมิตภะ อยู่ในแดนสุขวดี ก็คือ ความว่าง
.................
เรา ถ้าเข้าถึงความว่าง ก็ได้อยู่กับองค์อมิตภะ
พระอมิตภะ คือ ใคร
พระอมิตภะ คือ พระพุทธเจ้าองค์หนึ่งของมหายาน
ถ้าหินยาน ก็จะบอก จะเรียกท่านได้ว่า คือ พระโพธิสัตว์องค์หนึ่ง
................
อยู่กับความว่าง ยืนอยู่บนความว่าง สัมผัสอยู่กับความว่าง
...................
ไม่ต้องตรึก ไม่ต้องตรอง ไม่ต้องใคร่ครวญ คำนวณสิ่งใดๆ
...................
พาความว่าง ค่อยๆ นั่งลงช้าๆ
..................
คนที่ใจว่าง มันจะบรรจุอะไร ก็ใส่เข้าไปได้ง่ายมาก
................
น่าสงสารนัก ชีวิตที่แบกแล้ว ไม่รู้จักวาง
ลำบากไม่รู้จักหยุด เพราะว่า ว่างไม่เป็น
.................
คนที่อยากหยุดลำบาก ชีวิตไม่อยากทุกข์ยาก
ก็ต้อง วาง และ ว่าง ให้เป็น
..................
พฤติกรรมของคนที่มีใจว่าง จะอยู่กับทุกอย่างได้หมดอย่างไม่ยึดติด
อยู่กับเสียงก็ได้ อยู่กับรูปก็ได้ อยู่กับกลิ่นก็ได้ อยู่กับสัมผัสก็ได้
แต่ไม่ยึดติดเอาเข้ามาเป็นตัวตน
เรียกว่า ไม่ปรุงแต่งเป็นอารมณ์
...................
หูยังได้ยินเสียง ไม่ใช่ ไม่ได้ยิน แต่ใจมันว่าง
เพราะไม่ปรุงแต่งในเสียงที่ได้ยิน
...............
อย่าเผลอ
...................
ถ้าเทียบความว่างในเวลานี้ กับปฏิจสมุบันธรรม เราจะเห็นชัดว่า
ผู้มี อวิชชา มันจะมีสังขาร การปรุง ไม่หยุด
ตอนนี้ เราไม่มีอวิชชา เลยไม่ปรุงอะไรเลยไง
..................
วิญญาณ การรับรู้ซึ่งมีอยู่เดิม และมีอยู่จริง ก็ผ่องใส
เพราะรู้ชัด รู้วาง รู้ว่าง
................
นาม รูป สฬายตนะ แดนต่ออารมณ์ มันก็ผ่องแผ้ว ไม่เป็นมลทิน
.....................
เรียกว่า เกิดแล้วก็ดับไป ไม่ทิ้งกากเดนให้เป็นมลภาวะ
................
ค่อยๆ ลุกขึ้นยืน แล้วพาความว่างออกเดิน
..................
จะเริ่มไม่ว่างแล้ว
.................
เดินด้วยหัวใจว่าง
เมื่อใดที่ไม่ว่าง ต้องหยุดอยู่กับที่
ถ้ายังว่างอยู่ ก็ยังเดินต่อไป
................
อย่าหลอกตัวเอง ธรรมะอยู่กับใคร คนๆ นั้นต้องซื่อตรง
คิดอย่างไร ทำอย่างนั้น, ทำอย่างไร พูดเช่นนั้น
ทำ พูด คิด ต้องเรื่องเดียวกัน
นั่นคือ คนมีธรรมะ
....................
เมื่อใดที่ไม่ว่าง ต้องหยุดทันที
อย่าลืมว่า เรากำลังถือศีล กินเจนะ
..................
เดินทั้งที่ไม่ว่าง แสดงว่า เราโกหกแล้วนะ
ผิดศีลแล้วนะ
..................
เดินด้วยใจว่าง เดินอย่างไร
ก็มี สติ อยู่กับการเดิน อยู่กับกายที่เดิน
ไม่ต้องคิดอะไร ไม่ต้องใคร่ครวญอะไร ไม่ต้องกังวลอะไร
ไม่ต้องวิเคราะห์อะไรไม่ต้องวิตกอะไร
วาง แล้ว ว่าง
ใจว่าง สมองว่าง
..................
ใจเรา ทำงานหนักหนาสาหัสชั่วชีวิต ปล่อยให้มันว่างๆ เสียบ้าง
เป็นการพักผ่อนใจ
.......................
สมองเราเครียดกับการงานและปัญหาร้อยแปด
ก็ปล่อยให้มันว่างๆ เสียบ้าง ก็เป็นการพักผ่อนสมอง
.................
เมื่อสมองได้รับการพักผ่อน กล้ามเนื้อก็จะผ่อนคลาย
ทีนี้ มันจะหนักไปทางโกสัชชะ คือ ความง่วงล่ะ ต้องระวังให้ดี มันจะเคลิ้ม มันจะเพลินล่ะ
เหมือนกับการเสพอารมณ์ละ
.................
งั้น อย่าให้เคลิ้ม อย่าให้เพลิน
.................
ไม่มีอะไรต้องคิด ในขณะที่เดิน
ถ้าคิด แล้วเดิน ก็แสดงว่า ไม่ว่าง
...................
หยุดอยู่กับที่ แล้วทำความว่างให้มั่นคงมากกว่านี่ โดยการ หลับตา
ส่งจิตเข้าไปในความว่าง
เพ่งจิต อารมณ์ ทั้งปวงเข้าไปในความว่าง
...............
เรียกว่า ว่างซ้อนว่าง จนกลายเป็น สุญญตสมาธิ
...............
สมาธิ คือ ความตั้งมั่น
สุญญตะ สุญญตา คือ ความว่างจนถึงที่สุด
.................
หลับตา แล้วสำรวจดู สมองว่างไม๊
...............
ต้องว่าง
กล้ามเนื้อบนใบหน้า เกร็งขมึงทึงไม๊
...............
ต้องผ่อนคลาย
................
กล้ามเนื้อต้นคอ เราเกร็งอยู่ไม๊
...............
ต้องปล่อยวาง
.................
บ่า ไหล่ แขน ฝ่ามือ ยังเครียด กำ บิด อยู่หรือไม่
.................
ต้องผ่อนคลาย
................
โครงสร้างภายในกาย เรายืนอยู่
ขา 2 ข้าง รับน้ำหนักสมบูรณ์ไม๊
..................
ข้างไหนมากกว่า หรือ น้อยกว่า
................
รวมถึงกระดูก กระดูกกระโหลกศีรษะ
.................
สำรวจ ดูเฉยๆ ไม่ได้ปรุงแต่งอะไร
................
เหมือนกับคนที่เข้าไปในถ้ำมืดๆ แล้วพยายามค้นหา
ค้นหาคำตอบให้ได้ว่า ในถ้ำมืดนี่ มันมีอะไรอยู่บ้าง
ต้องดูประมาณนั้นเลย
...................
กระโหลกศีรษะด้านบน กระโหลกศีรษะด้านหลัง
กระโหลกศีรษะด้านข้าง และกระโหลกศีรษะด้านหน้า
...............
สำรวจให้ทั่ว
อย่างนี้ เรียกว่า กายในกาย
เป็นมหาสติปัฏฐาน ข้อว่า กายานุปัสนาสติปัฏฐาน
.................
ไล่ลงไปจนถึงกระดูกต้นคอ
................
กระดูกคอ กระดูกบ่า ไหปลาร้า สะบัก
กระดูกซี่โครง กระดูกสันหลัง
ดูให้ทั่ว
.................
ตามดูให้หมด
.................
ทิ้งกระดูกทุกท่อน แล้วมาอยู่กับ ความว่าง
...................
พา ความว่าง ออกเดิน
ใครไม่ว่าง ห้ามเดิน
.................
ยังอยู่กับ ความว่าง
................
สมองว่างใจ ใจว่าง กายว่าง
ทุกอย่างว่างหมด
................
หยุดอยู่กับที่
อยู่กับลมหายใจ
ดูซิว่า หายใจเข้าอยู่ หรือ ออกอยู่
.................
ใส่ คำภาวนา เข้าไป
หายใจเข้า สัตว์ทั้งปวงจงเป็นสุข
หายใจออก สัตว์ทั้งปวงจงพ้นทุกข์
..................
สูดลมหายใจเข้า กว้าง ลึก เต็ม
................
หายใจออก ยกมือไหว้พระกรรมฐาน
ลืมตา แล้วเข้าที่
.................
เดี๋ยวเราไปเจริญพระพุทธมนต์ที่วิหารพระโพธิสัตว์
วันนี้ เป็นวันแรกของการถือศีลกินเจ
.............
เค้ามีเก้าอี้ มีเต๊นท์กางอยู่ข้างล่าง ไปนั่งเก้าอี้ก็ได้
กล่าวคำถวายทาน ว่า นะโม 3 จบ
.................
ตั้งใจรับพร ลูก
...............
(สาธุ)
โชคดี ลูก ธรรมะรักษา ให้รุ่งเรือง ร่ำรวย สุขภาพแข็งแรงทุกคน
กราบลา พระ อะระหัง สัมมา
..............
(กราบ)
เอ้า ไป เตรียมตัวสวดมนต์ ถวายพระโพธิสัตว์
แล้วเดี๋ยวใครยังไม่ได้ธงกินเจ รูป พระมหาโพธิสัตว์
ใครยังไม่ได้ ยกมือ ..ไปหาซื้อเอา
เออ เดี๋ยวสวดมนต์เสร็จ กูจะแจก
วันนี้ วันแจกทาน
(สาธุ)
ไป ลูก ไป เอาหนังสือสวดมนต์ไป
(กราบ)