ก่อนที่จะเริ่มเข้าสู่กระบวนการของมหาสติปัฏฐานท่านต้องเตรียมการดังนี้
      
       ตั้งความรู้สึกนึกคิด จิตวิญญาณ และชีวิตเอาไว้ว่ากิจกรรมต่อไปนี้ เป็นกิจกรรมที่เราจักทำมันพร้อม ทั้งกายและใจ อย่างชนิดผนึกแนบแน่น ซึมซับซึมสิง จดจ่อ จับจ้อง จริงจัง ตั้งใจ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราจะไม่ละความพยายามที่จะฝึกหัด ปฏิบัติ บำเพ็ญ ในการปลุกเร้า เฝ้ารักษามหาสติ ให้มีชีวิตพลิกฟื้น ตื่นขึ้นมา เพื่อจะทำหน้าที่ชี้บอกเรา ว่าสิ่งที่เป็นบ่อเกิดแห่งชีวิตและกายเรา เกิดจากกระ-บวนการสะสม พอกพูน หนุนนำ มาจากความไม่รู้จริง เป็น เหตุให้ทำถูก ทำผิด และการกระทำ ทั้งถูกผิดเหล่านี้แหละ เป็นตัวกำหนดวิถีชีวิตให้ดีชั่ว เลว หยาบ ฉลาด โง่ ด้วยอำนาจของความทะยานอยาก ดิ้นรนปรารถนา ยึดถือ ผูกพัน จนกลายเป็นกระบวนการสร้างภพ สร้างชาติ แล้วก็ต้องมาแก่ เจ็บ ตาย พลัดพรากจากของที่ตนยึดถือ ทำให้เกิดความร่ำไร รำพัน เศร้าโศก เสียใจ ไม่สบายกาย ไม่สบายใจ เป็นทุกข์เดือดร้อน ก็ต้องขวนขวาย ดิ้นรนพ้นทุกข์ ถ้าเป็นคนโง่ รู้ไม่จริง ก็อาจหาทางในวิธีที่ผิด ซึ่งก็ผิดกันมาตลอด จนเป็นเหตุให้ทำกรรมทั้งถูกและผิด
      
       ด้วยเหตุนี้ เราทั้งหลาย จึงต้องค้นหาวิธีพ้นทุกข์ ที่ถูกต้องที่สุดด้วยตัวเราเองตามแนวทางที่พระบรมศาสดา พระพุทธะ ผู้ประเสริฐ พระองค์ทรงมีพระเมต-ตาวางหลักการเอาไว้ ส่วนจะถูกจะผิด ได้ผลดีหรือไม่ดีอย่างไร นั่นขึ้นอยู่กับการปฏิบัติของเราทั้งหลายแล้วล่ะว่า เราทำจริงไหม มีความเพียรพยายามปฏิบัติ ด้วยอาการกิริยาที่จริงจัง จับจ้อง ตั้งใจแค่ไหน ได้รับผลของการกระทำด้วยวิธีที่ถูกต้อง ตามหลักแนวทางที่พระพุทธะทรงวางไว้ ได้จริงหรือเปล่า ท่านปฏิบัติตรงต่อหลัก-การนั้นด้วยความละเอียด รอบคอบ ชาญฉลาดมากน้อยแค่ไหน อย่างไร แล้วท่านได้เข้าใจหลักการ พื้นฐานที่เกิดสภาวธรรม สภาวะทุกข์ แล้วหรือไม่ว่า ความทุกข์เดือดร้อนทั้งหลาย เกิดขึ้นได้เพราะความไม่รู้เป็นเหตุ ถ้าจะดับทุกข์ ก็ต้องดับที่เหตุ คือความไม่รู้ ทำให้ความรู้จริง รู้แจ้ง รู้ชัดว่า การที่จะพ้นทุกข์ได้นั้น ไม่มีใครช่วยได้ นอกจากตัวเอง เราเอง เราต้องเพียรพยายาม ทำทุกวิถีด้วยความรู้จริง รู้ชัด เพื่อจะปลดปล่อยชีวิต จิตวิญญาณ ให้พ้นจากเครื่องพันธนาการร้อยรัดทั้งปวง
      
       การได้มีโอกาสศึกษา พระธรรมคำสอนของพระศาสดา ทำให้เราได้รู้ว่าพระ-พุทธองค์ทรงเน้นย้ำอย่างหนักแน่น จริงจังว่า
      
       อานนท์ เธอจงเป็นที่พึ่งพิงอิงอาศัยของตนเถิด จงอย่ายึดถือที่พึ่งภายนอก จงมีธรรมเป็นที่พึ่ง อย่ายึดถือ พึ่งอาศัย อย่างอื่น สิ่งอื่น ชีวิตอื่น แล้วพระองค์ก็ทรงสอนต่อไปว่า
      
       ดูก่อนอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีสติเฝ้าดูกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม มีความเพียรเพ่งอยู่ ย่อมกำจัดความทุกข์เดือดร้อน ทั้งในปัจจุบันและอนาคตเสียได้ ย่อมพ้นแล้วในเครื่องร้อยรัดทั้งปวง ย่อมบรรลุถึงนิพ-พาน
      
       เมื่อเราเข้าใจ ถึงหลักการพื้นฐาน ของการปฏิบัติธรรมว่าสภาวะธรรมทั้ง-หลาย ความพ้นทั้งหลายจะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องอาศัยตัวเองเป็นปัจจัยสำคัญ ทีนี้เรามาก้าวสู่กระบวนการของมหาสติปัฏฐานกันเถิด
      
       วิธีเข้าสู่กระบวนการมหาสติปัฏฐาน เพื่อให้แน่ใจและมั่นใจว่า เราจริงจังต่อการเข้าสู่กระบวนการนี้อย่างจริงใจ มิใช่จำใจ ก็ต้องเริ่มที่ทำกาย วาจา ใจ ให้อ่อนน้อม พร้อมรับฟังคำแนะนำ สั่งสอน ด้วยการกล่าวคำว่า
      
       เยเนวะ ยันติ นิพพานัง พุทธา จะ เตสัญจะ สาวะกา เอกายะเนนะ มัคเคนะ สะติปัฏฐานะสัญญินา พระพุทธเจ้าทั้งหลาย พระสาวกทั้งหลาย ของพระ-พุทธเจ้าทั้งหลายเหล่านั้นด้วย ย่อมถึงซึ่งพระนิพพาน ด้วยข้อปฏิบัติใด ข้อปฏิบัตินั้น รู้กันอยู่แล้วว่า ได้แก่สติ ปัฏฐานทั้ง 4 ซึ่งเป็นหนทางอันเอกของบุคคลผู้เดียวดังนี้
      
       อิมายะ ธัมมานุธัมมะปะฏิปัตติยา พุทธัง ธัมมัง สังฆัง ปูเชมิ
      
       ข้าพเจ้าขอบูชาพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ด้วยการปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรมดังนี้
      
       เดชะ พุทธา นุภาเวนะ สะทาโสตถี ภะวันตุ เม
       ด้วยเดชะอานุภาพ แห่งพระพุทธเจ้า ขอความสวัสดี จงมีแก่ข้าพเจ้า (กราบ)
       เดชะ ธัมมา นุภาเวนะ สะทาโสตถี ภะวันตุ เม
       ด้วยเดชะอานุภาพ แห่งพระธรรม ขอความสวัสดี จงมีแก่ข้าพเจ้า (กราบ)
       เดชะ สังฆา นุภาเวนะ สะทาโสตถี ภะวันตุ เม
       ด้วยเดชะอานุภาพ แห่งพระสงฆ์ ขอความสวัสดี จงมีแก่ข้าพเจ้า (กราบ)
      
       ครั้นแสดงตนให้เป็นที่ประจักษ์ว่า พร้อมที่จะน้อมรับคำสั่งสอนมาปฏิบัติ ก็เริ่มจัดการกับอิริยาบถของตนเอง ให้ตั้งอูยู่ในกิริยาอาการที่ถูกใจ ผ่อนคลาย เบาสบายที่สุด ไม่มีข้อบังคับใดๆ ว่าต้องอยู่ในอิริยาบถนั้น อิริยาบถนี้ ทำตามที่ท่านรู้สึกว่า ตั้งมั่นอยู่ได้นาน ปราศจากความกังวล หวาดระแวงใดๆ เมื่อจัดระเบียบให้กับกายได้แล้วก็มาดูระบบของใจและความคิด ผู้ปฏิบัติธรรมต้องตระหนักสำนึกถึงความทุกข์เดือดร้อนทั้งหลายที่มีอยู่ใน ชีวิต แล้วต้องคิดให้ได้ว่าวิธีนี้เท่านั้นที่จะพ้นทุกข์ได้ ฉะนั้น ไม่ว่าท่านจะมีงานมากสักเท่าใดมียศและภาระยิ่งใหญ่ ขนาดไหน มีห่วงใยอะไรๆ สักปานใด ท่านต้องวางให้หมด สลัดให้หลุด อย่าปล่อยให้อะไรมาฉุดท่านอยู่ มีแต่ตัวเองแท้ๆ ล้วนๆ ว่างๆ แล้วเริ่มทดลองปฏิบัติ
      
       โดยการสูดลมหายใจเข้าไปสู่ร่างกายให้ยาว ลึก เต็มที่ แล้วผ่อนลมนั้นออกมายาวๆ หมดจด เอาความ รู้สึกนึกคิดทั้งปวง จับอยู่ที่รูจมูกทั้งสองข้าง เมื่อลมเข้ามากระทบช่องจมูก ก็ส่งความรู้สึกนึกคิดนั้น ตามลมเข้าผ่านลำคอ หน้าอก ช่องท้อง กระดูกสันหลังข้อที่ตรงกับสะดือ ไหลย้อนขึ้นมาที่กลางหลัง ต้นคอจอมปราสาทหรือกลางกระหม่อม และออกจมูก ทำอยู่เช่นนี้สัก 5-10 ครั้ง เป็นการอุ่นเครื่อง เรียกสติของคนให้ตื่นขึ้นมาจากการหลับใหล พร้อมกับทำให้เกิดความเข้าใจรู้จักต่อกระบวนการ ของลมหายใจเข้าและออก ด้วยการสังเกตดูว่า การหายใจดัง-กล่าวมานี้ ท่านรู้สึกอึดอัด แน่นหน้าอก มึนตึง ปวดศีรษะหรือเปล่า เหนื่อยไหม ถ้ายังไม่สามารถสัเกตดูอาการ ที่ปรากฏในกายตนได้ ซึ่งอาจจะเร็วเกินไป ที่จะรู้ผล ก็ให้ทดลองหายใจดูใหม่ ด้วยวิธีเดิม
      
       ให้สูดลมหายใจเข้าไปให้ยาว ลึก เต็มที่ กักเก็บลมหายใจ หรือกลั้นลมหายใจเอาไว้สักครู่ (สุดแต่ความสามารถของแต่ละท่านให้ทุกท่านสังเกตหาความพอดีแบบสบายๆ แก่ตัวเอง) แล้วค่อยๆ ผ่อนลมออกทางจมูกหรือปากก็ได้ (ถ้าไม่สะดวก ที่จะหายใจทางจมูก) ทำเช่นนี้ไปสัก 10-20 ครั้ง เอาความรู้สึกนึกคิดทั้งปวงจับอยู่ภายในกาย เพื่อจะเฝ้าระวังสังเกตอาการที่เกิดขึ้น ว่ามีอะไรผิดปกติบ้างหรือไม่ ถ้าเห็นสิ่งผิดปกติ เช่น อึดอัด แน่นหน้าอก เหนื่อย มึนตึง ปวดศีรษะ ให้แก้ไขด้วยวิธี
      
       ค่อยๆ หายใจเข้า (ปิดปากให้สนิท) ให้พอดีกับความต้องการของตน แล้วใช้เวลาในการกักเก็บลมหายใจ ช่วงขณะแค่กลืนน้ำลายหนึ่งครั้ง จึงค่อยผ่อนลมหายใจออก จะทางปากหรือจมูกก็ได้ ด้วยความ รู้สึกผ่อนคลาย ระบายของเสียออกมาพร้อมกับลมหายใจ ทำอยู่สัก 10-20 ครั้งให้ความรู้สึกนึกคิดทั้งมวลรวมอยู่ภายในกาย พร้อมกับสังเกตว่า มีอาการใดๆ เกิดขึ้นภายในกายเรา (มีข้อน่าสังเกตว่า อย่าทำด้วยความอยากตั้งใจมากเกินไป จนกลายเป็นความเครียด เพราะถ้าเครียดจะไม่เป็นผลดีต่อการปฏิบัติ) ถ้าไม่มีปัญหาใดๆ ยังรู้สึกผ่อนคลาย หมดจด สบายๆ รู้สึกตัวตลอด ไม่ปรากฏอารมณ์ใดๆ มีแต่ความสงบ ตั้งมั่น นั่นแสดงว่า วิธีนี้ใช้ได้ เป็นที่สบายของเรา (การหายใจด้วยวิธีนี้ จะทำให้มีสติ สมาธอตั้งมั่นได้ง่าย) ทำต่อไป ทำจนกระทั่งชีวิต ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย รวมอยู่ภายในกายเรา (เรียกว่า จิตรวมกาย) เราจักรอบรู้ทุกอย่างที่มีในกายนี้ เรารู้จักการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แปรปรวน ของสิ่งต่างๆ ภายในกายเรา เราจะรู้เท่าทัน จนมีอำนาจควบคุมมันได้ สมรรถภาพภายในกายนี้ จะอยู่ในการดูแลควบคุมของเรา จะไม่มีแขกแปลกหน้าใดๆ เข้ามามีอำนาจครอบงำกายนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ความปรุงแต่งที่เกิดจากตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นรับรส กายถูกต้องสัมผัส ทุกอย่างจะอยู่ในการควบคุมบังคับบัญชาของเรา เราจักรู้จักเลือกว่า สิ่งที่มีอยู่เก่า และเข้ามาใหม่ อะไรเป็นทอง อะไรเป็นขยะ เราจะมีชัยต่อการทำลายขยะเก่า ไม่เพิ่มเติมสะสมขยะใหม่ เพียรพยายามรักษาของดีที่มีอยู่แล้วให้ผ่องใส
      
       แต่ถ้าการกำหนดรู้ลมหายใจ วิธีที่กล่าวมาแล้วไม่ได้ผล คือยังไม่สามารถทำให้สติตั้งมั่น สมาธิคงอยู่ได้ ยังมีความรู้สึก เหนื่อย อึดอัด แน่นหน้าอก ปวดศีรษะ ก็ให้เปลี่ยนมาเป็นวิธีรู้ลมหายใจ ทั้งเข้าและออกอย่างปกติ เป็นธรรมชาติของมัน โดยมิต้องบังคับ ลมกระทบจมูก ก็ให้เฝ้าดู เมื่อหายใจเข้า ก็ให้รู้ว่าลมเข้ากระทบรู-จมูก ให้ความรู้สึกนึกคิดทั้งปวงเฝ้าดูอยู่ หายใจออกก็ให้รู้อยู่ว่าหายใจออก ลมกระ-ทบจมูก รู้ว่านี้เป็นกิจหน้าที่ของลมออก รู้ในอาการของลมเข้าที่ต้องกระทบ รู้ในกิจหน้าที่ของลมออก รู้ในอาการของลมออกต้องกระทบรูจมูก ส่วนจะหายใจหนัก เบา ยาว สั้น ปล่อย เป็นไปตามธรรมชาติ หน้าที่ของเรา เฝ้าดูแลรู้เท่านั้น ในขณะที่ดูรู้อยู่ ต้องไม่ปรากฏอารมณ์ใดๆ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม ทำจนสติตั้งมั่น สมาธิคงที่ ลมหายจะละเอียดแผ่วเบา ไหลลื่น ราบเรียบยิ่งขึ้น ผู้ปฏิบัติ จะรู้สึกได้ด้วยตนเองว่า การหายใจของตนไม่ติดขัด ไม่หนักหน่วง ไม่อึดอัด ตรงกันข้าม ลมหายใจจะไหลลื่นอย่างสม่ำเสมอ บางเบา ละเอียดลง จนรู้สึกได้ เหมือนกับไม่ได้หายใจ ในเวลาเดียวกัน ก็จะบังเกิดนิมิต เหมือนแสงสว่างวิ่งผ่านหน้าตาคล้ายดาวตกหรือไม่บางคนก็อาจจะเห็นนิมิตที่ เป็นแสงสว่าง เจิดจ้า สบายตา ไม่ระคายเคือง ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ให้ความสนใจ ต่อนิมิตที่เกิดขึ้นอย่างเด็ดขาด สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือ เฝ้าดูกิจของลม และอาการที่มากระทบรูจมูกของลมหายใจ ทั้งเข้าและออก จนกว่าจะรู้สึกว่า...การเฝ้าดูรออยู่ ตั้งมั่น คงที่ มิได้สับส่าย สั่นคลอน ก็ลองเปลี่ยนอิริยาบถของการเฝ้าดู เช่น นั่งอยู่ก็ให้ยืน ยืนอยู่ก็ให้เดิน เดินอยู่ก็ให้นอน นอนอยู่ก็ให้นั่ง ทำเช่นนี้จนแน่ใจว่า การเฝ้าดูลมหายใจของเรา มีได้ทุกอิริยาบถ โดยไม่เผลอไม่ตกหล่น รักษากระบวน การเฝ้าดูรู้อยู่ พร้อมทั้งการหายใจที่ละเอียดอ่อน บางเบา ราบเรียบ ไหลลื่น ไม่ติดขัด กระฉอก
      
       ถ้าจะฝึกให้ถึงขั้นบรรลุฌาณ ก็ต้องคงสภาพของการเฝ้าดูรู้ลมหายใจขั้นต่อไป จากลมหายใจที่ละเอียดอ่อน แผ่วเบา ก็จะกลายเป็นความละเอียดอ่อนของจิต ทำจนกระทั่งพัฒนาจิตให้ละเอียดเป็นขั้น เป็นขั้น จนถึงฌาณที่ 4
      
       อาการของฌาณแต่ละขั้น จะไม่กล่าวถึงในที่นี้ ก็เพราะ...ต้องการให้ผู้ปฏิบัติสัมผัสลักษณะอาการขององค์ฌาณด้วยปัญญาของตน เอง มุ่งเน้นให้ผู้ปฏิบัติรู้จริงจากสิ่งที่ท่านทำได้ มิใช่รู้จำ เพราะผู้เขียนเชื่อว่า สมาธิธรรมดาๆ ก็ทำให้ผู้เป็นเจ้าของเอาตัวรอดในการดำรงชีวิตได้ นับประสาอะไรกับองค์ฌาณแต่ละขั้น ถ้าปฏิบัติได้ผลจริงๆ จะไม่รู้จักอาการของฌาณแต่ละขั้นเชียวหรือ ส่วนถ้าท่านใดสนใจที่จะจำจริงๆ ก็ขอให้ค้นหา ดูจากตำราวิสุทธิมรรคได้ ส่วนจักทำในสิ่งที่จำมาได้ทุกขั้นตอน หรือไม่อย่างไร สุดแต่ความสามารถของแต่ละท่าน แต่สำหรับผู้ที่ไม่คิดจะเอาแต่จำ ลงมือทำให้เห็นผลเลย ด้วยความรักความเพียรพยายามอย่างยิ่ง คงจะประจักษ์แจ้งชัดต่อผลของการพัฒนาให้ได้สมาบัติสูงสุดในที่สุด
      
       แต่ในที่นี้ขอกล่าวถึง การปฏิบัติธรรม เพื่อความพ้นโดยไม่เนิ่นช้า จึงขอย่อมากล่าวถึงลมที่ละเอียด บางเบา จนเกิดเป็นนิมิต แสงสว่าง ไม่ว่านิมิตจะวิ่งผ่าน หรือเป็นแสงปรากฏคงที่ แม้จะไม่เห็นนิมิตใดๆ เป็นความว่าง โปร่ง เบาสบาย ก็ให้ใช้สมาธินั้นหันมาพิจารณาสภาพเป็นจริงของกายนี้ อันประกอบไปด้วย ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า น้ำดี น้ำเสลด น้ำเหลือง น้ำเลือด น้ำเหงื่อ น้ำมันข้น น้ำตา น้ำมันเหลว น้ำลาย น้ำมูก น้ำไขข้อ น้ำมูตร เยื่อในสมอง เหล่านี้เรียกว่าอาการหรืออวัยวะกายนี้จะตั้งอยู่ได้ เพราะอาศัยการประชุมพร้อมกัน ของอวัยวะหรืออาการดังกล่าว
      
       นอกจากกายนี้ ประกอบด้วยอวัยวะทั้งหลายแล้ว อวัยวะเหล่านี้ก็หาได้เกิดขึ้น ตั้งอยู่ คงที่ไม่ อวัยวะเหล่านี้ ยังต้องอาศัยเครื่องหล่อเลี้ยงเพื่อการเจริญเติบโต เครื่องหล่อเลี้ยงเหล่านี้ ก็คือลมหายใจเข้า ที่ถือว่าเป็นอาหารและเครื่องปรุงอาหาร ลมาหายใจออกเพื่อการระบายของเสีย นอกจากนั้น ยังต้องอาศัยอาหารที่เป็นก้อนเป็นคำ และน้ำ เข้าไปหล่อเลี้ยงบำรุง ให้อวัยวะของกายนี้เจริญเติบโต ทั้งยังต้องระวังรักษา ระวัง ดูแล ให้อวัยวะของกายนี้มีสัมพันธภาพต่อกัน ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ ผสมผสาน สอดคล้อง ไม่ให้บกพร่อง เพื่อความตั้งอยู่ได้แห่งกายนี้อย่างเป็นปกติ ถ้าอวัยวะใดบกพร่อง ไม่ถูกต้องในหน้าที่ ถือว่ากายนี้เกิดโรค ต้องทำการบำรุงรักษา กระตุ้นให้อวัยวะนั้น ทำงานให้แก่กายนี้ต่อไป อย่าให้ขาดตอน เหล่านี้เป็นภาระอย่างยิ่ง เป็นเรื่องที่ต้องได้รับการจัดการบริหารไม่รู้จบ เป็นปัญ-หาที่ต้องได้รับการแก้ไข อย่างต่อเนื่องไม่สิ้นสุด พิจารณาให้เห็นถึงสิ่งที่ต้องทำ ตั้งแต่เกิด ยันตาย ทั้งที่ไม่มีส่วนไหนเป็นของกายนี้อย่างแท้จริงเลย พิจารณาให้เห็นถึงความไม่มีตัวตนของกายนี้จริงๆ กายนี้เป็นแต่เพียงองค์ประกอบของ อวัยวะต่างๆ ประชุมรวมกัน พิจารณาให้เห็นถึงความหลงยึดถือ ผูกพันในความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน จนเป็นเหตุให้ทำกรรม เป็นเหตุแก่การเกิด แก่ เจ็บ ตาย ทุกข์เดือดร้อน พิจารณาให้เห็นถึงความเข้าใจผิด หลงผิด ด้วยความไมรู้จริงตามสภาวะธรรมชาติ ของกายนี้ พิจารณาให้เห็นถึงความไม่สวยงาม ไม่น่าจับต้อง ไม่น่าปกครองเป็นเจ้าของ พิจารณาถึงความสกปรก ปฏิกูล พึงรังเกียจ พิจารณาถึงความปฏิกูล น่ารังเกียจในกายตนเช่นนี้ ย่อมมีอยู่ในกายผู้อื่น สัตว์อื่น เช่นเดียวกัน
      
       หรือจะพิจารณาว่าอวัยวะทั้งหลายที่ประกอบเป็นกายเรา มีที่สุดเป็นธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ
      
       ส่วนที่เป็นดิน เป็นสิ่งที่หยาบกระด้าง แข็ง จับต้องได้ ได้แก่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เอ็น กระดูก เป็นต้น
      
       ส่วนที่เป็นน้ำ คือของเหลวที่ไหลซึมซาบ เอิบอาบ หล่อลื่น หล่อเลี้ยงไปทั่ว นอกกายในกาย เช่น น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำดี น้ำลาย น้ำเหงื่อ น้ำมันข้น น้ำตา น้ำมูก น้ำมูตร น้ำมันเหลว น้ำเสลด
      
       ส่วนที่เป็นไฟ ได้แก่ไฟที่ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย ไฟที่ทำให้ร่างกายแห้งเหี่ยว เฉา ทรุดโทรม แก่เร็ว ไฟที่เผาผลาญร่างกายให้กระวนกระวาย เร่าร้อน ไฟที่ทำลายกายนี้ให้แตกสลาย'
      
       ส่วนที่เป็นลม ได้แก่ ลักษณะการประคับประคองกระบวนการเคลื่อนไหว กาย วาจา และทำให้กายนี้ตั้งมั่นอยู่ได้ เช่น ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก
      
       พิจารณาให้เห็นจริงว่า ดิน น้ำ ลม ไฟ มีอยู่ทั่วไปในอวัยวะทั้งหลาย ภายในกายและนอกกาย พิจารณาให้เห็นว่า แม้หัวใจที่จัดเป็นอวัยวะสำคัญของร่าง-กาย ก็หาได้มีแต่ธาตุดินอย่างเดียวไม่ หัวใจนี้ยังประกอบไปด้วยน้ำ คือความชุ่ม-ชื้น เอิบอาบ ซึมซาบ ยังประกอบไปด้วยลม คือการสั่นไหวตัวแต่ละอณูของเนื้อหัวใจ ก็ปรากฏฟองอากาศอยู่ภายใน (จะมากจะน้อยขึ้นอยู่กับความหนาแน่นแห่งอณูของอวัยวะนั้นๆ) พิจารณาให้เห็นจริงว่า ในกระบวน การไหลเวียนของน้ำในหัวใจ บวกกับกระบวนการไหวตัวของธาตุลม ทำให้เกิดกระแสแห่งความอบอุ่น ความร้อน ธาตุไฟอยู่ในหัวใจดวงนี้
      
       แม้อวัยวะอื่นในกายนี้ ก็ปรากฏธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ เช่นนี้ ยังจะหลงลืม นิยม ยอมรับ ยึดถือ ว่าเป็นเรา เป็นของเรา ได้กระนั้นหรือ ดิน น้ำ ลม ไฟ มิได้มีแต่เฉพาะกายเราเท่านั้น แม้ในสรรพสิ่งทั้งหลาย สรรพชีวิตทั้งหลาย สรรพวัตถุทั้งหลาย ก็มีกระบวนการอันประกอบไปด้วยธาตุทั้ง 4 เสมอกัน หามีข้อยกเว้นในสิ่งใดไม่ นอกจากพิจารณาให้เห็นสภาวะธรรม ธาตุที่แท้จริงของกายนี้ แล้วก็ให้พิจารณาไปถึงอิริยาบถของกายนี้ว่า
      
       อิริยาบถของผู้ศึกษา อิริยาบถของผู้ควรแก่เรียน ถือได้ว่าเป็นอิริยาบถของผู้มีปัญญา ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน ขี้ เยี่ยว ตด กิริยาทั้งหมด จะต้องเป็นอิริยาบถที่ผ่านการกลั่นกรองใคร่ครวญพินิจพิจารณา ตรวจตราอย่างละเอียดรอบคอบแล้วว่า เป็นอิริยาบถ เพื่อยังให้เกิดกุศลกรรม กรรมที่ทำด้วยความชาญฉลาด สะอาด สว่าง สงบ เป็นอิริยาบถที่ควบคุมได้ เป็นนายมันถูก เป็นอิริยาบถเพื่อความปลดปล่อย เป็นอิริยาบถเพื่อความพ้นแต่ถ่ายเดียว
      
       ทุกอิริยาบถ ของกายนี้จะสะอาดได้ ก็ด้วยอาศัยความรู้จริง รู้ชัด โดยมีสติสัมปชัญญะเป็นเครื่องระวังรักษา ความรู้จริง รู้ชัด ให้ตั้งมั่น คงอยู่ เจริญขึ้น ทุกขณะของการมีลมหายใจเข้าออก เราต้องบอกกับตัวเองได้ว่า ถูกหรือผิด ดีหรือชั่ว โง่หรือฉลาด เป็นอิริยาบถที่ครอบงำหรือปลดปล่อยพร้อมกับบอกตนเองว่า กายนี้มีความเสื่อม คร่ำคร่า เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นไปได้ อวัยวะทั้งหลายของกายนี้มีความคร่ำคร่า เสื่อมโทรม เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นไปได้ กายนี้ตั้งอยู่ได้เพราะอิงอาศัยเหตุปัจจัยอันพร้อมมูล ถ้าขาดเหตุปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่ง กายนี้ก็ตั้งอยู่ไม่ได้ กายนี้ต้องการเครื่องหล่อเลี้ยง ถ้าขาดอย่างใดอย่างหนึ่ง กายนี้ก็ตั้งมั่นอยู่ไม่ได้
      
       กายนี้ประกอบด้วยธาตุหมู่ใหญ่ทั้ง 4 ถ้าขาดธาตุหนึ่งธาตุใด กายนี้ก็ตั้งมั่นอยู่มิได้ ธาตุทั้ง 4 ภายในกายนี้ ทำกิจร่วมกันอย่างอิงอาศัย ผสมผสาน สอดคล้อง ซึ่งกันและกันอย่างต่อเนื่อง ถ้าธาตุหนึ่งธาตุใดบกพร่อง กายนี้จักตั้งอยู่ไม่ได้ ในธาตุทั้ง 4 ภายในกายนี้ ธาตุลมเป็นใหญ่ หากขาดธาตุลมหายใจ ไฟที่ต้องอาศัยลมให้ช่วยกระพือปลุกลุกขึ้นมาทำกิจ ก็จะดับสนิท ขาดความอบอุ่นภายในกาย เมื่อลมหาย ไฟดับ น้ำซึ่งมีอยู่มากภายในร่างกาย เมื่อขาดการเผาผลาญให้ระเหยกลายเป็นเหงื่อ ขาดไฟควบคุมให้ขับถ่าย น้ำขาดการควบคุมรักษาให้สมดุล ก็จักทำการ ละลายดิน เราจะสังเกตเห็นว่า คนหรือสัตว์ที่ตายไม่มีลมหายใจ ร่างกายเขาจะอืด เอิบอาบ จนผิวหนังที่ถือว่าเป็นธาตุดิน ก็จะโดนทำลายจนปริแตก แยกจากกัน ทำให้น้ำภายในกายนั้นๆ ไหลเยิ้มออกมา ส่งกลิ่นเหม็น เพราะเป็นของเสียภายในกาย เมื่อน้ำภายในกายไหลออกจนหมด กายนี้ก็จะเหือดแห้ง ผุกร่อน แตกทำลายไปทีละน้อย กลายสภาพเป็นดินในที่สุด
      
       เมื่อลมหาย ไฟดับ น้ำระเหย คงไว้แต่ดิน ฝูงสัตว์ทั้งหลายที่มีสติปัญญาพอสมควรก็จะพากันรังเกียจ เบนหน้า เมินหนี ผู้มีปัญญาชั้นสูง จะพิจารณาย่อเข้ามาเปรียบกับตัวเอง แล้วเกิดธรรมสังเวช บรรเทาความหลงเสียได้ หมู่สัตว์ผู้ด้อยปัญญา ก็จักพากันมารุมกัดกินร่างนั้น ด้วยคิดว่าเป็นอาหารอันโอชะ ดินที่เป็นอวัยวะในส่วนที่อ่อนๆ ก็จะโดนกัดกินได้ง่าย เช่น หนัง เนื้อ พังผืด ปอด ม้าม หัวใจ ไส้น้อย ไส้ใหญ่ อาหารใหม่ อาหารเก่า อวัยวะเหล่านี้จักโดนสัตว์ผู้หลงมัวเมา ยื้อแย่งกัดกินเป็นที่น่าสะอิดสะเอียน (คงจะเป็นเช่นนี้ละกระ-มัง ผู้คนในยุคหลังๆ ถึงได้คิดหาวิธีปกปิดความสะอิดสะเอียนด้วยการฝังหรือเผาร่างของสัตว์ที่ตาย แล้ว)
      
       เมื่อดินที่เป็นอวัยวะส่วนที่อ่อนๆ โดนฝูงสัตว์กัดกินไปจนหมดและเหลือไว้แต่อวัยวะส่วนที่แข็งเรียกว่ากระดูก เปื้อนด้วยและเลือดและน้ำเหลือง มีเส้นเอ็นน้อยใหญ่ ผูกรัด ให้กระดูกแต่ละท่อนติดกัน ถ้าปราศจากเอ็นน้อยใหญ่ผูกรัด กระดูกเหล่านั้น จักกระจัดกระจาย แยกออกเป็นส่วนๆ เช่น กะโหลก ศีรษะ กระดูกคาง กระดูกฟัน กระดูกคอ กระดูกไหล่ กระดูกแขน กระดูกหน้าอก กระ-ดูกซี่โครง กระดูกสันหลัง กระดูกก้นกบ กระดูกขา กระดูกแข้ง กระดูกเท้า กระ-ดูกแขน กระดูกมือ
      
       กระดูกเหล่านี้ แม้จะมีสีขาวประดุจสีหอยสังข์ ทิ้งไว้เวลาผ่านไปจากสีขาวดุจหอยสังข์ ก็กลายเป็นสีเก่าคร่ำคร่า ผุกร่อน พังลงดินไปในที่สุด
      
       พิจารณาให้เห็นสภาวะ ความตายอันจักพึงมีแก่เรา และสัตว์ทั้งหลาย กายนี้มีความเสื่อมและความตายเป็นธรรมดา ไม่มีสรรพชีวิตใด สรรพวัตถุไหน จะพ้นจากความเสื่อมและความตายไปได้ ความตายและความเสื่อมเป็นสาธารณะทั่วไปแก่สรรพสิ่งในจักรวาล
      
       พิจารณาให้เห็นด้วยสติ สมาธิ ปัญญาของตนจริงๆ ว่าสรรพวิญญาณ สรรพชีวิต สรรพวัตถุ สรรพธรรมชาติ ในกาย นอกกาย นี้ไม่มีตัวตน เป็นแต่เพียงการประชุมพร้อมกันของเหตุปัจจัย เป็นแต่เพียงการประกอบกันของกระบวนการ ดิน น้ำ ลม ไฟ ธรรมธาตุทั้ง 4 เท่านั้น แล้วก็มาสมมติบัญญัตินามเรียกขานว่า สิ่งนั้นชื่อนี้ สิ่งนี้ชื่อนั้น เพื่อการจำได้หมายรู้แล้วก็เผลอไผล หลงใหล ยึดติด ผูกพัน จนเข้าใจผิด คิดว่ามีตัวตนของสิ่งนั้นจริงๆ ซึ่งโดยเนื้อแท้แล้ว หาเป็นเช่นนั้นไม่ ทุกอย่างในโลกนี้แม้แต่กายเราเป็นสมมติ จงรู้จักใช้ สมมติ ยอมรับในสมมติ ให้เกียรติสมมติ ให้ประโยชน์ในสมมติ ได้ประโยชน์กับสมมติ ท้ายที่สุด อย่ายึดติดในสมมติ
      
       เหตุเพราะสมมติเหล่านี้ ตั้งอยู่ได้เพราะอาศัยกระบวนการและความสมดุลของดิน น้ำ ลม ไฟ เสื่อมได้ ตายไป ดับไป เพราะความคร่ำคร่า แก่-ชรา หมดอายุขัย ขาดสมดุลของดิน น้ำ ลม ไฟ
      
       พิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริง จากการรู้จริงในสรรพสิ่ง ทั้งในและนอกกาย มีความปฏิกูล พึงรังเกียจ ความเป็นแต่ธาตุ ความเป็นภาระในการบริหาร การจัดการ เลี้ยงดู รักษา ความเป็นทุกข์ เดือดร้อน ความเป็นสมมติ ความไม่มีตัวตน นึกน้อมเข้ามาหาตนเอง ให้รู้ให้เห็นตามความเป็นจริง ว่าสิ่งทั้งหลายที่ปรากฏนี้ มีความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปอยู่เนืองนิจ เป็นธรรมมดา จิตก็จักปล่อยวางจากความยึดถือผูกพัน ในกายตนและคนอื่น สัตว์อื่น วัตถุอื่น ความเบาสบาย โปร่ง โล่ง อิสระ เสรีภาพ จักเกิดขึ้นอย่างแท้จริง แก่จิตตน สมกับพระพุทธพจน์ที่ว่า
      
       ภารา หะเว ปัญจักขันธา ขันธ์ทั้ง 5 เป็นของหนักเน้อ
       ภาระหาโร จะ ปุคคะโล บุคคลนั่นแหละเป็นผู้แบกของหนักพาไป
       ภาราทานัง ทุกขัง โลเก การแบกถือของหนักเป็นความทุกข์ในโลกเน้อ
       ภาระนิกเข ปะนัง สุขัง การสลัดของหนักทิ้งลงเสีย เป็นความสุขจริงหนอ
       นิกขิปิตวา คะรุง ภารัง พระอริยเจ้าสลัดทิ้งของหนักลงเสียแล้ว
       อัญญัง ภารัง อะนาทิยะ ทั้งไม่หยิบฉวยเอาของหนักอันอื่นขึ้นมาอีก
       สะมูลัง ตัณหัง อัพพุยหะ ก็เป็นผู้ถอนตัณหาขึ้นได้กระทั่งราก
       นิจฉาโต ปะรินิพพุโตติ เป็นผู้หมดสิ่งปรารถนา ดับสนิทไม่มีส่วนเหลือ
      
       มหาสติปัฏฐาน 4 ในพระไตรปิฏก กำหนดหลักการพิจารณากายในกาย เอาไว้ 6 ประการคือ
      
       พิจารณา ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ภายในกายเรียกว่า อานาปานสติ
      
       พิจารณา อิริยบถ คือ เดิน นั่ง นอน ยืดขา ยืดแขน ของกายนี้อย่างมีสติกำกับดูอยู่ เรียกว่า อิริยบถ
      
       พิจารณา สัมปชัญญะ คือ ความรู้สึก ในขณะที่ ทำ พูด คิด กิน รับรส สัมผัส
      
       พิจารณา สิ่งที่เป็นปฏิกูล พึงรังเกียจ ที่มีภายในกายและภายนอกกายนี้
      
       พิจารณา ธาตุ ภายในกายนี้ ว่ากายนี้เป็นสักแต่ว่า ธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นไปตามธรรมชาติเท่านั้น
      
       พิจารณา อสุภะ ความไม่งาม ที่มีในกายและนอกกายนี้
 การพิจารณาคือการมีสติ เข้าไปกำกับดูแล อาการหรือสิ่งที่เกิดขึ้น ภายในและนอกกายอย่างละเอียด รอบคอบ ถูกต้องชัดเจน กระจ่างแจ้ง
      
       มีคำอธิบายของพระอรรถกถาจารย์ กล่าวไว้ในพระสุตตันปิฏกมัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม 1 หน้าที่ 284 บรรทัด 6-7-8 ท่านได้อธิบายไว้ว่า การพิจารณา มหาสติปัฏฐาน 4 กาย เวทนา จิตธรรม มิใช่หมายถึงการพิจารณาเห็น หรือการแลเห็นร่วมกันเป็นก้อนเดียว หมวดเดียวเหมือนกับปุถุชนเห็น แต่ให้พิจารณากำกับดูทีละหมวด ทีละก้อน ซึ่งก็พ้องกับประสบ-การณ์ของผู้เขียนที่ได้ปฏิบัติมา
      
       เหล่านี้จึงเป็นเหตุให้ ผู้เขียน ยกมหาสติปัฏฐาน ข้อว่า พิจารณากายในกาย ขึ้นมาแสดงไว้ก่อน พอเป็นสังเขป เพื่อให้ผู้อ่านปฏิบัติตามขั้นตอนของ ศีล สติ สมาธิ ปัญญา ผู้เขียนก็เลยยังมิได้ยก มหาสติปัฏฐาน ข้อที่ว่าด้วย เวทนา จิต และธรรม มาแสดงไว้ในที่นี้ เพราะเกรงว่าจะเฝือและสับสน อีกทั้งเวลาที่เขียนก็มีจำกัดแค่ 3 สัปดาห์เท่านั้น ไว้ในโอกาสหน้าถ้ามีเวลา จักเขียนมาเล่าสู่กันฟังอีก สิ่งที่เขียนมานี้ ดังที่ทราบว่า มีข้อจำกัดของเวลา ประสบการณ์ ปัญญา ซึ่งอาจจะทำให้อธิบาย รวบรัด ย่นย่อ หรือเยิ่นเย้อ ยืดยาด ขาดสาระทางวิชาการ ก็ต้องขอประทานอภัย แก่ท่านผู้เจริญทั้งหลายมา ณ ที่นี้ด้วย คงเป็นเพราะผู้เขียนมีประสบการณ์ในการเขียนไม่มากนัก ความรู้ก็มิได้มีดีกรีอะไร มิอาจจะเทียบกับนักวิชาการทั้งหลายในแผ่นดินได้ ฉะนั้น ขอท่านผู้อ่านโปรดอย่านำเอาข้อเขียนนี้ ตีเสมอเป็นตำราหรือวิชาการใด ให้ทำความรู้สึกว่า กำลังอ่านประสบการณ์ในการปฏิบัติธรรมของคนคนหนึ่ง ที่เขียนมาเล่าสู่กันฟัง ต้องการภาพว่า ผู้เขียนเขียนเพราะได้รับการร้องขอจากคนใกล้ชิดเป็นจำนวนมาก บวกกับใจรักที่จะเผยแพร่อุดมการณ์ของพระพุทธะผู้ประเสริฐให้ขจรขจายไปในทิศ ทั้งหลาย มิได้มีเจตนาอวดดี ตีเสมอ มิได้มีเจตนาจะบิดเบือนคำสอนของพระศาสดา เขียนด้วยใจใสซื่อ ไม่ปรารถนาสิ่งใดตอบแทน หวังว่าท่านผู้อ่าน ผู้เจริญ คงมีใจกว้างพอ ที่จะอภัย และรับไว้พิจารณา
      
       เพื่อให้ผู้อ่านได้มั่นใจว่าสิ่งที่ท่านกำลังศึกษาอยู่นี้มิได้ผิด เพี้ยนบิดเบือนหลักธรรมคำสอนของพระศาสนา ผู้เขียนจะอันเชิญพระดำรัสของพระบรม-ศาสดาสัมมาสัมพุทธะผู้ประเสริฐ มาให้ท่านได้พิจารณาประกอบไปด้วย โดยพระองค์ทรงตรัสไว้ในคัมภีร์มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ กัณฑ์ที่ 38 ว่า
      
       ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปอยู่ป่าก็ดี ไปอยู่โคนไม้ก็ดี ไปอยู่ที่ว่าง บ้านเรือนก็ดี แล้วนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายให้ตรงดำรงสติไว้ให้ดี มีสติรู้อยู่ว่าหายใจออก มีสติรู้อยู่ว่าหายใจเข้าหายใจออก ยาวหรือสั้นก็รู้อยู่ ย่อมศึกษา ฝึกหัดให้มีสติกำหนดรู้ชัดในกายทั้งปวง แล้วหายใจเข้า ย่อมศึกษาฝึก-หัดให้มีสติกำหนดรู้ชัดในกายทั้งปวง แล้วหายใจออก ย่อมศึกษาฝึกหัดให้มีสติกำหนดรู้ชัด ในการระงับเหตุแห่งการเกิดกายทั้งปวง แล้วหายใจออก อย่างนี้แลชื่อว่าภิกษุพิจารณาเห็นกายในกาย พิจารณาเห็นทั้งภายในและภายนอกกาย พิจารณาเห็นการเกิดและการดับ ทั้งภายในและภายนอกกาย มีสติตั้งมั่นรู้อยู่ว่ากายนี้ เป็นอยู่เพียงเพื่อการศึกษา ฝึกฝน ปัญญา ความรู้ และภิกษุ นั่นย่อมไม่อิงอะไร ไม่ถืออะไรในโลก อย่างนี้แล ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงได้ชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกาย
      
       ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ยังมีอีกข้อหนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ยืนอยู่ เดินอยู่ นั่งอยู่ นอนอยู่ พึงมีสติตั้งมั่นในอิริยาบถนั้นๆ ไม่ว่ากายของภิกษุนั้น ตั้งอยู่โดยอาการใดๆ เธอพึงรู้สึกถึงอาการแห่งกายนั้นๆ ดังนี้
      
       ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พึงกระทำให้มาก กระทำ-ให้แจ้ง ในสัมปชัญญะ ความรู้ตัว ในขณะก้าวไปข้างหน้า ก้าวมาข้างหลัง มองไปข้างหน้า มองมาข้างหลัง งอแขน พับขา ยืดแขน ยืดขา นุ่งห่ม ใช้บริขาร ฉัน ดื่ม รับรส อุจจาระ ปัสสาวะ พูด นิ่งเฉย เหล่านี้ ภิกษุพึงทำความรู้ตัว ในทุกขณะของกิจกรรมแห่งกาย ด้วยความมีสัมปชัญญะ ความรู้ตัว อิริยาบถเหล่านี้เป็นอยู่เพียง เพื่อการฝึกฝนศึกษา สร้างปัญญาเห็นจริง รู้ชัด ภิกษุนั้นย่อมไม่อิงอะไร ไม่ติดอะไร ไม่ถืออะไรในโลก อย่างนี้แล ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงได้ชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกาย
      
       ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีสติรู้ชัดภายในกาย พิจารณาดูกายนี้ ตั้งแต่พื้นเท้าขึ้นมาถึงปลายผม พิจารณาตั้งแต่ปลายผมลงไปถึงพื้นเท้า กายนี้มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบนอก ส่วนข้างในเต็มไปด้วยของไม่สะอาด มีประการต่างๆ อยู่ในกายนี้คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ปอด ไต ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ น้ำมันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูตร น้ำไขข้อ น้ำมูตร เหล่านี้
      
       ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กายนี้เปรียบเหมือนถุงหนังมีปาก 2 ข้าง บรรจุเต็มไปด้วย ธัญชาติ และอาหารสด อาหารแห้ง ต่างๆ เช่น ข้าว-สาลี ข้าวเปลือก ถั่ว งา ข้าวสาร น้ำ ผสมคละเคล้าปนกัน ผู้มีสติในการมองจักพิจารณาเห็นความไม่สะอาด โสโครก ไม่งาม ไม่เป็นที่ปรารถนา เป็นอาการต่างๆ
      
       ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย ผู้มีสติตั้งมั่น พิจารณาอาการที่มีอยู่นอกและในกายด้วยปัญญาเห็นชัด ตามความเป็นจริง เธอทั้งหลาย ก็จักถอนเสียได้ ซึ่งตัณหา ความทะยานอยากละเสียได้ซึ่งอวิชชาความไม่รู้ ละเสียได้ซึ่งความหลงในการสร้างภาพ ภิกษุนั้นไม่อิงอะไร ไม่ถืออะไรในโลกนี้ (รายละเอียดในการพิจารณาปฏิกูลอย่างพิสดาร ท่านให้ดูในคัมภีร์วิสุทธิมรรค)
      
       ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ยังมีอีกข้อ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีความเพียร มีสติตั้งมั่น พิจารณาด้วยปัญญา เห็นชัดตามความเป็นจริงว่า กายนี้ประกอบด้วยธาตุทั้ง 4 คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ พิจารณาแยกธาตุภายในกาย อุปมาดังคนฆ่าโค หรือลูกมือของคนฆ่าโคผู้ชำนาญ ฆ่าแล้วนั่งชำแหละเนื้อออกเป็นชิ้นๆ แยกวางไว้ ณ บนทางใหญ่ 4 แพร่ง
      
       ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงพิจารณา ดูกายนี้ ทั้งภายในและภายนอก ที่ปรากฏอยู่ โดยความเป็นธาตุทั้ง 4
      
       (ดูความละเอียดพิสดารในการพิจารณา ในคัมภีร์ วิสุทธิมรรค)
      
       ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีความเพียรเพ่งอยู่ มีสติตั้งมั่น พิจารณากายนี้ โดยความเป็นซากศพ ที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า มีลักษณะอสุภะ 9 ประการ
      
       อสุภ ที่ตายล่วงแล้ว วันหนึ่งบ้าง สองวันบ้าง สามวันบ้าง ขึ้นพองอืด มีสีเขียว มีหนอง เลือด และน้ำหนองไหล
       อสุภ ที่มีหมู่สัตว์กัดกิน และกำลังกัดกิน
       อสุภ ที่เหลือจากสัตว์กัดกินแล้ว ยังมีกระดูก เลือด เส้นเอ็นรัดรึง
       อสุภ ที่ไม่มีเนื้อ มีแต่กระดูก กับเส้นเอ็นรัดรึงติดอยู่ เปรอะเปื้อนไปด้วยเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง
       อสุภ ที่ไม่มีทั้งเนื้อและเลือด เหลือแต่กระดูก กับเส้นเอ็นรัดรึงติดกันอยู่
       อสุภ ที่ไม่มีทั้งเนื้อ เลือดและเส้นเอ็น รัดรึงติดอยู่เลย มีแต่ท่อนกระดูกกระจัดกระจาย
       อสุภ ที่มีแต่กระดูกขาวเหมือนสีหอยสังข์
       อสุภ ที่มีแต่กองกระดูกเหลืออยู่
       อสุภ ที่มีแต่กระดูกเก่า ผุกร่อน เป็นผุยผง
      
       เมื่อภิกษุ ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ มีสติตั้งมั่น เห็นชัดตามความเป็นจริงว่าอสุภเหล่านี้หาใช่มีอยู่แต่ในกายผู้อื่นไม่ แม้กับกายเราก็เป็นเช่นนี้เป็นธรรมดา ไม่พ้นไปได้ ภิกษุนั้นเฝ้าพิจารณาอสุภนั้นทั้งในกายตน และกายผู้อื่น ภิกษุนั้นตั้งสติกำหนดพิจารณาว่า กายนี้มีอยู่เพียงเพื่อศึกษา ฝึกฝน รักษา ศีล สติ สมาธิ ปัญญา (เป็นความเข้าใจของผู้เขียน) จักได้เป็นผู้ไม่ถืออะไรในโลก เป็นผู้ไม่ยึดติดอะไรในโลก
      
       เมื่อท่านผู้เจริญทั้งหลาย ศึกษาพิจารณามหาสติปัฏฐานข้อว่า พิจารณากายในกายครบตามกระบวนการทั้ง 6 แล้ว ปฏิบัติด้วยความหมั่นความเพียร พยายามมีสติตั้งมั่น จนเกิดปัญญารู้เท่าทันการเกิดดับของจิตทุกดวงได้แล้ว ท่านก็จะไม่ทำให้จิตที่เกิดใหม่ กลายเป็นมลภาวะ ด้วยการสร้างความปรุงแต่งให้แก่จิต เมื่อจิตที่เกิดขึ้นมาใหม่ปราศจากความปรุงแต่ง จิตดวงนั้นดับไป โดยไม่มีมลภาวะตกค้าง จิตดวงใหม่ที่เกิดขึ้น ก็จักไม่ได้รับมลภาวะของจิตดวงเก่าที่ดับไป พร้อมกระนั้นก็ไม่สร้างขยะมลภาวะใหม่ ให้แก่จิตดวงใหม่ที่เกิดขึ้น ปฏิบัติได้ดังนี้ จึงนับได้ว่า ท่านเป็นผู้เข้าถึงวิมุติ ความหลุดพ้น พ้นจากสภาวะความปรุง ผูก-พัน ยึดถือ และพ้นจากเครื่องร้อยรัดทั้งปวง พ้นจากความอยาก ที่สร้างเหตุของการเกิด แก่ เจ็บ ตาย กระบวนการของจิตท่าน จักได้รับการปลดปล่อย ผ่อนคลาย เบาสบาย อิสระในที่สุด