ความเดินตอนที่แล้วเล่ามาถึงตอนที่พระนางอโนชาเทวี พระมเหสีขององค์ราชามหากัปปินะ พร้อมด้วยเหล่าภรรยาของพวกอำมาตย์เสนาบริวาร ทั้งหนึ่งพันคน ได้ตามเสด็จองค์ราชาและข้าราชบริพาร มาจนถึงที่ประทับขององค์พระบรมศาสดา พร้อมกับที่ทรงใช้พุทธานุภาพบังตาของพระเทวีและหญิงทั้งหมด เพื่อมิให้มองเห็นภิกษุทั้งพันรูปนั้น
ต่อมาพระนางอโนชาเทวี พร้อมเหล่าภรรยาของอำมาตย์ทั้งพันคนได้สดับพระธรรมอนุปุพพิกถา ความว่า
การให้ทาน
การรักษาศีล
อานิสงส์ของการให้ทาน และการรักษาศีล
โทษของสวรรค์
อานิสงส์ของการบวชเนกขัมมะ
ขณะที่องค์พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอนุปุพพิกถา โปรดพระนางอโนชาเทวี มเหสีและหญิงบริวารทั้งหนึ่งพันคนอยู่นั้น
พระมหากัปปินะและภิกษุบริวารทั้งพันรูป ได้สดับพระธรรมอนุปุพพิกถาอีกครั้งหนึ่ง จิตได้พิจารณาตามถึงการให้ทาน รักษาศีล และอานิสงส์ของทานและศีล แม้จักได้รับผลส่งให้ไปเกิดในสวรรค์ แต่สวรรค์นั้นก็ยังมีโทษ ทำให้ล่าช้าเสียเวลาในการพัฒนาจิต และตกอยู่ในอำนาจแห่งความมัวเมาประมาทเข้าครอบงำ
เมื่อหากต้องการหลุดพ้นก็ต้องออกบวช รักษาพรหมจรรย์ มุ่งมั่นปฏิบัติในศีล สติ สมาธิ ปัญญา จนจิตหลุดพ้นจากเครื่องร้อยรัดทั้งปวง
พระมหากัปปินะและภิกษุบริวารจึงได้บรรลุพระอรหันต์ พร้อมปฏิสัมภิทาญาณ โดนทั่วกันทุกองค์
ต่อมาองค์พระบรมศาสดาจึงทรงคลายมนต์กำบัง ทำให้พระนางอโนชาและหญิงบริวารทั้ง ๑ พันคนได้เห็นอดีตพระสวามีของนางกันทั่วทุกคน
ด้วยจิตของหญิงที่ยังมีความห่วงหาอาวรณ์ ผูกพันต่ออดีตสามี แม้องค์พระบรมศาสดาจังทรงแสดงอนุปุพพิกถา เครื่องล้าง เครื่องฟอก เครื่องชำระให้แก่พวกนางฟัง
แต่ด้วยอำนาจของตัณหาความทะยานอยาก อุปาทานความยึดถือ เข้าครอบงำพวกนางมาเนิ่นนาน
มิใยที่องค์พระบรมศาสดาจะทรงแสดงธรรม แต่ด้วยจิตของพระเทวีและหญิงบริวารมัวแต่ห่วงใย กังวล ต้องการจะได้พบหน้าสามีของตน จึงทำให้กลายเป็นเครื่องกันกระแสแห่งพระธรรมนั้น
แต่พอพระเทวีและบริวารได้เห็นองค์ราชากัปปินะและเหล่าอำมาตย์ ต่างครองเพศสมณะ นั่งเฝ้าอยู่เบื้องพระปางด้านหลังองค์พระบรมศาสดาอย่างสงบ
ครั้นพระนางอโนชาและหญิงบริวารต่างสงบระงับจิตลง
เพราะเหตุนั้น หญิงเหล่านั้นจึงไม่พึงอาจเพื่อบรรลุมรรคผลได้
ในเวลาต่อมาหญิงเหล่านั้นตั้งมั่นอยู่ในศรัทธาอันไม่หวั่นไหวแล้ว พระศาสดาจึงทรงแสดงพระวาจาปลอบประโลมด้วยการชี้ให้เห็นการที่ภิกษุเหล่านั้น เป็นผู้บรรลุพระอรหัตแล้ว แก่หญิงเหล่านั้น. แม้หญิงเหล่านั้นเห็นภิกษุเหล่านั้นแล้ว จึงก้มลงนมัสการด้วยเบญจางคประดิษฐ์พร้อม กล่าวว่า
"พระคุณเจ้าผู้เจริญ กิจบรรพชิตของท่านทั้งหลาย ถึงที่สุดก่อน พวกข้าพระองค์แล้ว พวกข้าพระองค์จักบวชตามพระองค์ไปแต่ภายหลัง"
ดังนี้แล้ว ถวายบังคมพระศาสดา ยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง แล้วทูลขอบรรพชา.
แต่พระศาสดาตรัสกะอุบาสิกาเหล่านั้นว่า "ท่านทั้งหลายพึงไปสู่กรุงสาวัตถี บรรพชาในสำนักแห่งภิกษุณีเถิด." อุบาสิกาเหล่านั้นจึงออกเที่ยวจาริกไปโดยลำดับ ดำรงอยู่ได้ด้วยเครื่องใช้และอาหารอันมหาชนนำมาให้ในระหว่างทาง เดินไปด้วยเท้าสิ้นหนทาง ๑๒๐ โยชน์ แล้วเข้าขอบวชในสำนักแห่งนางภิกษุณี ได้บรรลุพระอรหันต์ในเวลาต่อมา
แม้พระศาสดาก็ได้ทรงพาภิกษุพันรูป เสด็จเหาะไปสู่พระเชตวัน
กาลต่อมา ท่านพระมหากัปปินะเที่ยวเปล่งอุทาน ในที่ทั้งหลายมีที่พักกลางคืนและที่พักกลางวันว่า "สุขหนอ สุขหนอ." ภิกษุทั้งหลายกราบทูลแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระมหากัปปินะเที่ยวเปล่งอุทานว่า ‘สุขหนอ สุขหนอ’, จนเหล่าภิกษุทั้งหลายพากันเข้าใจผิดว่าท่านยังปรารภความสุขในราชสมบัติของตน."
พระศาสดารับสั่งให้เรียกพระมหากัปปินะนั้นมาแล้ว ตรัสถามว่า "กัปปินะ ได้ยินว่า เธอเปล่งอุทานปรารภสุขในกาม สุขในราชสมบัติจริงหรือ?"
พระมหากัปปินะทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงทราบการเปล่งหรือไม่เปล่งปรารภกามสุขและรัชสุขนั้นของข้าพระองค์"
พระศาสดาตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย บุตรของเราย่อมเปล่งอุทาน ปรารภสุขในกาม สุขในราชสมบัติหามิได้, ก็แต่ว่า ความเอิบอิ่มในธรรม ย่อมเกิดขึ้นแก่บุตรของเรา, บุตรของเรานั้นจึงเปล่งอุทานอย่างนั้น เพราะปรารภอมตมสุขในนิพพาน"
จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :-
“บุคคลผู้เอิบอิ่มในธรรม มีใจผ่องใส ย่อมอยู่เป็นสุข
บัณฑิตย่อมยินดีในธรรมที่พระอริยเจ้าประกาศแล้วทุกเมื่อ”
สมัยต่อมานั้นแล ท่านพระมหากัปปินะพักอยู่ ณ มัททกุจฉิมฤคทายวัน เขต พระนครราชคฤห์ คราวหนึ่ง ท่านไปในที่สงัด หลีกเร้นอยู่ ได้มีความปริวิตกแห่งจิตเกิดขึ้น อย่างนี้ว่า เราควรไปทำอุโบสถ หรือไม่ควรไป ควรไปทำสังฆกรรม หรือไม่ควรไป โดยที่แท้ เราเป็นผู้หมดจดแล้วด้วยความหมดจดอย่างยิ่ง
ทีนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความปริวิตกแห่งจิตของท่านพระมหากัปปินะด้วยพระทัยของพระองค์ แล้วได้ทรงเสด็จไปปรากฎพระองค์ในคิชฌกูฏบรรพต ปรากฏอยู่ตรงหน้าท่านพระมหากัปปินะ ณ มัททกุจฉิมฤคทายวัน แล้วพระองค์ประทับนั่งเหนือพุทธอาสนะที่พระเถระจัด ถวาย ฝ่ายท่านพระมหากัปปินะถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสคำนี้กะท่านพระมหากัปปินะว่า ดูกร กัปปินะ เธอไปในที่สงัด หลีกเร้นอยู่ ได้มีความปริวิตกแห่งจิตเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า เราควรไปทำ อุโบสถ หรือไม่ควรไป ควรไปทำสังฆกรรม หรือไม่ควรไป โดยที่แท้ เราเป็นผู้หมดจดแล้ว ด้วยความหมดจดอย่างยิ่ง ดังนี้มิใช่หรือ?
ท่านพระมหากัปปินะทูลรับว่า เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรกัปปินะหากพราหมณ์ทั้งหลายไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่ นับถือ ไม่บูชา ซึ่งอุโบสถเช่นนี้ ใครเล่าจักสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ซึ่งอุโบสถ ดูกรกัปปินะ เธอจงไปทำอุโบสถ จะไม่ไปไม่ได้ จงไปทำสังฆกรรม จะไม่ไปไม่ได้
ท่านพระมหากัปปินะรับสนองพระพุทธพจน์ว่า อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้ท่านพระมหากัปปินะเห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถา แล้วได้ทรงหายพระองค์ไปต่อหน้าท่านพระมหากัปปินะ ณ มัททกุจฉิ มฤคทายวัน มาปรากฏ ณ คิชฌกูฏบรรพต โดยรวดเร็ว เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลัง เหยียดแขน ที่คู้ หรือคู้แขนที่เหยียด ฉะนั้น
ท่านทั้งหลายหากพิจารณาข้อความรายละเอียดในตอนนี้อย่างถ่องแท้ ท่านทั้งหลายจะเห็นว่า ความตรึก วิตกกังวลในกามคุณทั้งปวงอันมีรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส จนเป็นเครื่องกางกันไม่ให้กระแสแห่งธรรมเข้าสู่จิตใจ
เช่นกรณีพระนางอโนชามเหสีของพระมหาราชากัปปินะกับหญิงภรรยาของอำมาตย์ข้าราชบริพารทั้งพันคน ต่างพากันตรึกวิตกกังวลถึงอดีตสามีของตน ซึ่งเวลานี้ได้ออกบวชเป็นพระภิกษุแล้ว
มิใยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าจักทรงแสดงธรรมอย่างไร แต่หญิงเหล่านั้นก็ยังมีจิตฝักใฝ่อยู่ในกามคุณทั้ง ๕ อยู่ดี จนไม่สามารถบรรลุธรรมใดๆ ได้
ประเด็นต่อมา เมื่อพระนางอโนชาเทวีและหญิงบริวารบังเกิดศรัทธา แล้วปรารถนาจะขอบวชต่อหน้าพระบรมศาสดา แต่พระองค์กลับปฏิเสธ บอกให้ไปขอบวชจากสำนักภิกษุณีผู้เป็นอุปัชฌาย์ก่อน แล้วจึงมาขอบวชในสำนักของพระองค์
เรื่องนี้จะเห็นว่า แม้องค์พระบรมศาสดาจักเป็นผู้กำหนดกฎระเบียบปฏิบัติในการขอบวชของนางภิกษุณีด้วยพระองค์เอง แต่เมื่อมีหญิงตั้งพันคน มาขอบวชกับพระองค์ แม้จะเป็นเชื้อพระวงศ์สูงศักดิ์ก็ตามที พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ไม่ทรงถือวิสาสะ ละเมิดสิ่งที่พระองค์ทรงกำหนดขึ้นมาเอง
ดูอีกตัวอย่างหนึ่ง คือ พระมหากัปปินะ คิดว่าตนเป็นผู้หลุดพ้นแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องลงอุโบสถ ร่วมสังฆกรรมกับหมู่ภิกษุอื่น
พระบรมศาสดาทรงรู้ในความคิดของพระกัปปินะ จึงทรงอันตราทานหายตัวไปปรากฎเฉพาะหน้าของพระมหากัปปินะ แล้วทรงเตือนให้รู้ว่า
หากสมณพราหมณ์ไม่ร่วมกันประชุม ไม่สาธยายทบทวนในพระธรรมวินัย ไม่กราบ ไม่ไหว้ในผู้มีอายุ แล้วจะให้ใครมาร่วมประชุม มาทบทวนสาธยาย มากราบ มาไหว้ ในสิ่งที่ควรบูชาอีกเล่า
เรื่องนี้เป็นการชี้ให้เห็นว่า ต่อให้สูงส่ง เลอเลิศสักปานใด ก็จักต้องไม่ทิ้งหลักและระเบียบธรรมเนียมปฏิบัติ ในการอยู่ร่วมกันแม้แต่น้อยนิด
พุทธะอิสระ