๑๑. อยากมีความจำดี ไม่หลงลืม ต้องภาวนา

อธิบายว่า จากประสบการณ์ในการภาวนาสิ่งหนึ่งในหลายสิ่งที่ผู้ปฏิบัติภาวนาอย่างต่อเนื่องจะได้รับก็คือ ความจำ

ความจำที่ได้จากการภาวนา คือ การปฏิบัติในศีล ปฏิบัติในสมาธิ เจริญสติ เจริญปัญญา ด้วยเพราะหลักปฏิบัติดังกล่าว เป็นการฝึกสติ เจริญสมาธิไปในตัว อีกทั้งการภาวนาอย่างต่อเนื่องจนตั้งมั่น จะส่งผลให้ผู้ภาวนาไม่เป็นโรคทางสมอง หรือ โรคอัลไซเมอร์อีกด้วย
เช่นนี้จึงชื่อว่า ภาวนา และช่วยให้ความจำดี
Visidh Isratham
กราบเรียนท่านพุทธอิสระ...ตามข้อ ๑๑ ผมก็รับรู้มาจากครูบาอาจารย์ว่าผู้ที่ปฏิบัติภาวนาจนถึงระดับหนึ่งย่อมมีสติปัญญาดี ไม่เป็นโรคทางสมองอย่างที่ท่านให้ความรู้มา... เหตุใดจึงมีข่าวคราวเกี่ยวกับพระปฏิบัติสายพระอาจารย์มั่นว่าเป็น อัลไซม์เมอร์จนเกิดเรื่องอื้อฉาวครับ จนสังคมชาวพุทธที่ไม่ได้ศึกษาจริงจังพากันสับสนไปหมด
ตอบคุณผู้ใช้นามว่า Visidh Isratham
 
เป็นจริงอย่างที่คุณเอ่ย ฉันเข้าใจว่าผู้ที่มุ่งมั่นปฏิบัติในภาวนาจนกลายเป็น วสี ติดตา ตรึงใจ จนเข้าไปในสันดานจะไม่มีทางที่ความทรงจำจะวิปลาส คลาดเคลื่อนทั้งที่มีมาแล้วในอดีต ในปัจจุบัน และจะมีต่อไปในอนาคต
ส่วนกรณีบุคคลผู้ที่ประกาศตนเองว่า เป็นศิษย์พระอาจารย์มั่น แล้วตกอยู่ในภวังค์ แห่งความหลงลืมจนสติสตังวิปลาส คลาดเคลื่อน ดังที่ปรากฏอยู่ในข่าว
หากจะมองอย่างเป็นกลางก็ต้องรู้ธรรมชาติของท่านผู้เฒ่าว่า ความเสื่อมในสังขาร ล้วนมีตั้งแต่หัวจรดปลายเท้า ทั้งภายในและภายนอก
บางคนเสื่อมจนลืมขี้ ลืมเยี่ยว ลืมกิน ลืมนอน นี่เป็นปกติของสังขารทั้งปวง แล้วพวกคุณจะไปมุ่งหวังอะไรกับท่านผู้เฒ่า ผู้ตกอยู่ในอำนาจแห่งความเสื่อม
ยกเว้นท่านผู้มีจิตภาวนาอย่างกล้าแข็งจนจิตวิญญาณของท่านอยู่เหนือความเสื่อมทั้งปวง ไม่ถูกความเสื่อมทางกายเข้าครอบงำได้
ท่านผู้นั้นย่อมดำรงสติตั้งมั่น ปัญญารุ่งเรือง แม้จะมีอายุเกินร้อยปี
ตัวอย่างเช่น พระมหากัสสปะและพระมหาเถระผู้มีจิตภาวนาจนแก่กล้าที่มีมาในอดีต
อย่าว่าแต่ความเสื่อม แม้แต่พญามารก็มิอาจทำอันตรายท่านได้
และอยากให้ทุกคนเข้าใจให้แจ่มชัดว่า การจะเป็นพระหาใช่อยู่มานาน อายุมาก บวชมานาน หรืออายุน้อยบวชไม่นาน
โดยพระบรมศาสดาทรงตรัสยืนยันรับรองเอาไว้ดังนี้
 
คำถามที่พราหมณ์ มาถามพระพุทธเจ้าว่า
สาวกของพระองค์เป็นพระทุกลมหายใจหรือเปล่า
พระศาสดาทรงแสดงต่อพราหมณ์ผู้นั้นว่าไม่เลย พราหมณ์ ตราบใดที่สาวกแห่งเราเป็นคนขาดสติ มัวเมา ลุ่มหลง งมงาย และก็คนหลับ
บุคคลผู้มีลักษณะดังกล่าวเหล่านี้หาใช่สาวกของเราตถาคตไม่
 
นี่เป็นเครื่องยืนยันว่าพระพุทธเจ้า ไม่ทรงถือว่า คนหลับ คนขาดสติจะเป็นพระ ทั้งยังทรงไม่ยอมรับว่าคนขาดสติเป็นสาวก
โดยมีหลักฐานอยู่ในพระวินัยบัญญัติเรื่อง อาการที่ทำให้ต้องอาบัติ ๖ อย่าง คือ
๑. ต้องอาบัติ ด้วยความไม่ละอาย
๒. ต้องอาบัติ ด้วยความไม่รู้
๓. ต้องอาบัติ ด้วยความ สงสัยแล้วขืนทำ
๔. ต้องอาบัติ ด้วยความสำคัญในของไม่ควรว่าควร
๕. ต้องอาบัติ ด้วยความสำคัญ ในของควรว่าไม่ควร
๖. ต้องอาบัติ ด้วยความหลงลืมสติ
 
ภิกษุ ๔ ประเภท ไม่ต้องอาบัติ คือ
๑. เป็นบ้าคลั่ง จนไม่มีสติ สัมปชัญญะ
๒. เพ้อละเมอไม่รู้สึกตัว
๓. ป่วยไข้ทุรนทุรายจนไม่มีสติ
๔. ภิกษุต้นบัญญัติ คือผู้ทำผิดรายแรก จนเป็นเหตุให้ พระพุทธองค์ทรงบัญญัติสิกขาบท
ข้อมูลทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นทั้งธรรม เป็นทั้งวินัย พระบรมศาสดาทรงตรัสไว้เพื่อเป็นบรรทัดฐานในการพิจารณา
 
พุทธะอิสระ