จะพยายาม อธิบายความให้กระจ่างเท่าที่สติปัญญาอันน้อยนิดพอจะทำได้
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต พวกเธอจงเที่ยวจาริกไปเพื่อประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์สัตว์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทพดาและมนุษย์ทั้งหลาย แต่อย่าได้ไปทางเดียวกันสองรูป ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ในโลกนี้ สัตว์พวกที่มีกิเลสเพียงดังธุลีในจักษุเบาบางยังมีอยู่ เพราะไม่ได้ฟังธรรม สัตว์พวกนั้นจึงเสื่อมเสียไป ผู้ที่รู้ทั่วถึงธรรมได้ยังจักมี แม้เราก็จักกระทำ โดยที่ให้พระนครพันธุมดีเป็นสถานที่อันเธอทั้งหลายพึงกลับมาแสดงพระปาติโมกข์โดยหกปีๆ ล่วงไป ดังนี้ ฯ”
อธิบายความคำว่า จงประกาศพรหมจรรย์ หมายถึง ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ มีภาระหน้าที่จะต้องปฏิบัติในพรหมจรรย์ รักษาพรหมจรรย์ และเผยแผ่พรหมจรรย์นี้ ให้ชนทั้งหลายได้รับรู้อย่างถูกต้อง
ถามว่า แล้วอะไรเรียกว่า พรหมจรรย์
อธิบายความคำว่า พรหมจรรย์ มีใช้กันอยู่หลายศาสนา หลายลัทธิ
หากเป็นพรหมจรรย์ของพระธรรมวินัยนี้ หมายถึง การดำรงค์ชีวิตอยู่ได้ด้วยการปฏิเสธในกามคุณทั้ง ๕ คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส
คำว่า พรหมจรรย์ ในพระธรรมวินัยนี้ ยังหมายถึง การประพฤติธรรมอันประเสริฐยิ่ง
หรือหมายถึง การดำรงชีวิตให้ตั้งมั่นอยู่ในอริยมรรคมีองค์แปดอย่างเคร่งครัด
และยังหมายถึง การประกาศ การเผยแผ่ชีวิตต้นแบบที่สังคมควรนำไปเป็นแรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิตตาม ได้จนลุถึงประโยชน์สูงสุดของการดำเนินชีวิต
อีกทั้งความหมายแห่งการประกาศพรหมจรรย์ ยังหมายถึง การประกาศหนทางแห่งความหลุดพ้นจากปรักแห่งความทุกข์ทั้งปวงได้อย่างสิ้นเชิง
รวมทั้งการประกาศพรหมจรรย์แก่บุคคลผู้มีสติปัญญาเบาบาง ยังจักเป็นเครื่องช่วยกระตุ้น พัฒนาสติปัญญา ให้มากมี มั่นคง จนเข้าใจความหมายของคำว่า ประหยัดสูง ประโยชน์สุด และสามารถเป็นที่พึงแก่ชนนั้นๆ ได้ แม้ลมหายใจสุดท้าย
เหล่านี้คือ จุดมุ่งหมายคร่าวๆ ของการประกาศพรหมจรรย์ ที่องค์พระบรมศาสดา ทรงประทานให้เป็นภารกิจที่ภิกษุในธรรมวินัยนี้ควรทำและต้องทำ
พุทธะอิสระ
บทความย้อนหลัง
- เผื่อว่าอ่านแล้วไม่เข้าใจ จะได้หายสงสัย - ๑๐ กันยายน ๒๕๖๔
- เผื่อว่าอ่านแล้วไม่เข้าใจ จะได้หายสงสัย (ตอนที่ ๒) - ๑๐ กันยายน ๒๕๖๔
- เผื่อว่าอ่านแล้วไม่เข้าใจ จะได้หายสงสัย (ตอนที่ ๓) - ๑๑ กันยายน ๒๕๖๔
- เผื่อว่าอ่านแล้วไม่เข้าใจ จะได้หายสงสัย (ตอนที่ ๔) - ๑๒ กันยายน ๒๕๖๔