อธิบายคำว่า จิต หมายถึง ธรรมชาติที่รับอารมณ์ จำอารมณ์ คิดอารมณ์ รู้อารมณ์ หากจิตนี้ไม่มีสติ สมาธิ ปัญญา คอยกำกับควบคุม ในการรับ การจำ การคิด การรู้ ก็จักรับ จำ คิด รู้ แต่สิ่งที่เป็นมลทิน มลภาวะ จนนำพาให้ตกอยู่ในภวังค์แห่งความทุกข์
อธิบายคำว่า เกษม หมายถึง มีความสุข สบาย หรือสภาพที่มีจิตใจที่เป็นสุข
คำว่า จิตเกษม หมายถึง จิตที่ปราศจากอารมณ์อันเป็นเครื่องปรุงแต่งทั้งปวง
คำว่า จิตเกษม ยังหมายถึง สภาวะจิตที่ประกอบด้วยอาการรู้ รับ จำ คิด อย่างไม่ต้องมีอารมณ์รัก โลภ โกรธ หลง และโง่ เป็นตัวขับเคลื่อนผลักดัน รู้ รับ จำ คิด โดยอำนาจแห่งสติ สมาธิ ปัญญา
ในที่นี้หมายถึง จิตที่ปราศจาก ปราศจาก และปราศจาก มีแต่สภาพวาง ว่าง ดับ เย็น
มีจิตเกษมก็หมายรวมได้ถึง การละแล้วซึ่งมลทิน อาสวะกิเลส ที่เป็นเครื่องผูกอยู่ ๔ ประการ ได้แก่
การละกามโยคะ คือ การละความยินดีในวัตถุกาม
การละภวโยคะ คือ การละความยินดีในภพทั้งปวง
การละทิฏฐิโยคะ คือ การละความยินดีในความเห็นผิดทั้งปวง
การละอวิชชาโยคะ คือ การละความยินดีในอวิชชาทั้งหลาย
เอตัมมังคะละมุตตะมัง ข้อนี้เป็นมงคลอันสูงสุด
จบมงคลชีวิต ๓๘ ประการที่มนุษย์ผู้มุ่งหวังความเจริญ ความพัฒนา จำเป็นจะต้องมี
พุทธะอิสระ