ว่าที่จริงแล้วมนุษย์และสัตว์มีธรรมชาติธาตุแห่งความอดทนมาแต่กำเนิด
ด้วยเพราะขณะมีชีวิตอยู่ และชีวิตกำลังดำเนินต่อไป ล้วนต้องเผชิญพบเจอกับความผิดพลาด ความเครียด สมหวัง และผิดหวัง ได้บ้างเสียบ้างมาโดยตลอด
ฉะนั้นการที่มนุษย์และสัตว์สามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่มาได้มาจนถึงทุกวันนี้ ล้วนต้องมีความอดทนกันทุกตัวตนมากบ้าง น้อยบ้าง แล้วแต่ว่าใครผ่านความยากลำบากมามากเพียงใด
ยิ่งสถานการณ์ในทุกวันนี้ หากแต่ละคนไม่มีความอดทน คงได้หนีตายกันเป็นใบไม้ร่วงเป็นแน่
แต่ว่าขันติที่เป็นธรรมชาติดังกล่าว ยังเป็นขันติดิบที่ยังไม่ได้พัฒนา ยังเป็นขันติที่ใช้สำหรับทนทุกข์เพียงด้านเดียว ยังเป็นขันติที่ยังไม่มีกำลังมากพอที่จะอดทนต่อสิ่งเร้าเครื่องล่อที่น่าพึงพอใจทั้งหลาย ที่จะทำให้เราท่านต้องไปหลงไหล ลื่นถลาเคลิบเคลิ้มไปกับมัน
ตัวอย่างเช่น หากเรามีความทุกข์ยากเดือดร้อนพอทนได้ แล้วถ้าเรากำลังจะถูกสิ่งเร้า เครื่องล่อทั้งหลาย มาครอบงำให้เราต้องตกอยู่ในอำนาจ เช่นนี้เรายังพอจะมีขันติความอดทน ไม่ปล่อยตัวปล่อยใจ ให้ตกเป็นทาสต่อสิ่งเร้าเหล่านั้นได้อยู่หรือไม่
ขันติแบบนี้ ความอดทนชนิดนี้ต่างหากเล่าที่องค์พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงชี้ว่า เราท่านทั้งหลายควรจะต้องมี ดังคำภาษิตที่ว่า
เขาด่าแล้วเราไม่โกธร นั่นมันยาก
เขาชมเราแล้วไม่ยิ้ม นั้นยากยิ่งกว่า
หรืออีกสักตัวอย่างของคำภาษิตที่ท่านสอนให้เรามีความอดทนต่อสิ่งเร้า เครื่องล่อ ดังต่อไปนี้ว่า
เมื่อเจ้ามามีอะไรมาด้วยเจ้า เจ้าจะเอาแต่สุขสนุกไฉน
เมื่อเจ้ามามือเปล่าแล้วเจ้าจะเอาอะไร? เจ้าก็ไปมือเปล่าเหมือนเจ้ามา
ออกจากครรภ์มารดาแก้ผ้าร้อง- อุแว้ก้องเผชิญทุกข์และสุขา
เติบโตขึ้นมุ่งหาเงินเพลินชีวา แท้ก็หา ”ทุกข์สารพัด” มารัดตน
ยศและลาภหาบไปไม่ได้แน่ มีเพียงแต่ ”ต้นทุน-บุญกุศล”
“ทรัพย์สมบัติ” ทิ้งไว้ให้ปวงชน “ร่างของตน” เขาก็เอาไปเผาไฟ!!
ที่เคยรักก็จะลืมไม่ปลื้มจิต ที่เคยหลงเคยติดไม่พิสมัย
ที่เคยคู่เคียงข้างไม่ห่างไกล ที่เคยใกล้ก็กลับหลบไม่พบพาน
ที่เคยกอดจุมพิตสนิทแนบ ที่เคยแอบอิงกลับเมินไม่เดินผ่าน
ที่เคยยิ้มสรวลสันต์ทุกวันวาร ที่เคยหวานก็กลับขมระทมทรวง....
“มามือเปล่า-ไปมือเปล่า” อย่าเศร้าโศก กิเลส-โลกในมนุษย์ที่สุดหวง
“กอดกองขี้และซากศพ” พบภาพลวง รีบ ”ตัดบ่วงโลกีย์” หลบหนีไป!!!
“เกิด-กำมือแน่นร้องไห้” บอกใจรู้- ว่า ”ยึดอยู่-จิตหมายมั่น” จึงหวั่นไหว
“ตาย-แบมือ” ไม่ต้องถามบอกความนัย ว่า ”ตายไปเหลือมือเปล่าเหมือนเจ้ามา”!!!
“ให้ปลงตกในชีวิต” สะกิดเจ้า- “เลิกมัวเมา” กอบโกยและโหยหา
“ลาภ-ยศ-สุข-สรรเสริญ-และเงินตรา” เมื่อ ”มรณาก็สูญลับดับตามตัว”!!!
“ให้ปล่อยวางคืนโลก” สิ้นโศกเศร้า “กลับมือเปล่า” เป่าเสกมนต์ไว้บนหัว
แล้ว ”ทำจิตเป็นอิสระ-ละตนตัว พ้นดี-ชั่ว” กลับดับเย็น หลุดพ้นจน ”นิพพาน”
หากมนุษย์ท่านใดสามารถอดทนต่อการยั่วยวนของโลกธรรมดังกล่าวมาได้ มนุษย์ท่านนั้นควรจักได้ชื่อว่า เป็นผู้มีขันติธรรม คือ ธรรมเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่งโดยแท้
ส่วนตัวอย่างของผู้ที่มีความอดทนอดกลั้นต่อความทุกข์ยาก เดือดร้อน จนได้รับยกย่องในพระพุทธศาสนานั้นก็มีหลายท่าน
หนึ่งในนั้นก็คือ พระโสมสนาคเถระ เป็นผู้คงแก่เรียน มีความเพียรเจริญสติ สมาธิ จนสามารถระลึกชาติได้ ว่าท่านเคยได้ตกนรก หมกไหม้อยู่ในอเวจีมาหลายภพชาติ
วันหนึ่ง ท่านได้รับนิมนต์ไปรับอาหารบิณฑบาตร ณ บ้านคหบดีท่านหนึ่ง ร่วมกับภิกษุหลายองค์
ระหว่างที่นั่งรออาหารที่ชาวบ้านเขาจัดเตรียมถวาย พอดีแสงแดดส่องตรงมายังท่าน พวกชาวบ้านจึงเข้าไปกล่าวแก่พระโสมสนาคเถระว่า ท่านขอรับนิมนต์ท่านขยับไปนั่งในที่ร่มๆ ก่อนเถิด แดดส่อง อากาศร้อน
พระเถระจึงตอบกลับไปว่า คุณ ฉันยอมนั่งในที่ตรงนี้ก็เพราะฉันเกรงกลัวต่อความร้อนในนรกมากกว่านั้นเอง
พร้อมทั้งท่านได้นั่งพิจารณาความเร้าร้อนที่เผาผลาญสัตว์นรกอยู่ โดยที่จิตมิได้ยึดถือ เอาความร้อนทางกายเป็นใหญ่ แต่กลับระลึกรู้ถึงความร้อนในมหานรกที่แผดเผาสัตว์
พร้อมทั้งพิจารณาว่า แสงแดดที่กำลังแผดเผาร่างของเราในเวลานี้ ก็ยังร้อนไม่เท่าไฟนรก ที่แผดเผาสัตว์ผู้ลุ่มหลงอยู่ในอวิชชา ตัณหาและอุปาทาน
ท่านพิจารณานรกธรรมอยู่เช่นนี้จนจิตหลุดพ้นจากเครื่องร้อยรัดทั้งปวง บรรลุพระอรหัตน์ในขณะที่ท่านนั่งรอรับอาหารบิณฑบาตร
นี่คือตัวอย่างของท่านผู้มีขันติ ความอดทนต่อความทุกข์ยากเดือดร้อน
ฉะนั้นพวกที่มักชอบอ้างว่า ร้อนนัก หิวนัก เหนื่อยนัก หนาวนัก ก็อยากให้คิดถึงสัตว์นรก เขาร้อน เขาหิว เขากระหาย เขาเหนื่อย เขาหนาว มากกว่าเราเป็นหมื่นเท่า แสนเท่า
ซึ่งก็ไม่รู้ว่า จะถึงคิวเราเข้าในวันใด มนุษย์เอ๋ยอย่าเห็นกงจักรเป็นดอกบัว
อานิสงส์ของผู้มีขันติ
๑. ทำให้กุศลเจริญ
๒. ทำให้เป็นที่รักของหมู่สัตว์
๓. ทำให้กิเลสเบาบาง
๔. ทำให้ประสบความเจริญในชีวิต และหน้าที่การงาน
๕. ทำให้ตนเป็นผู้มีขันติธรรมเป็นเกาะ เป็นที่พึ่งพา
๖. ทำให้ทาน ศีล ภาวนา เจริญมั่นคง
๗. ทำให้บังเกิดในพรหมโลกได้ไม่ยาก
๘. ทำให้บรรลุธรรมขั้นสูงสุดได้โดยง่าย
เอตัมมังคะละมุตตะมัง ข้อนี้เป็นมงคลอันสูงสุด
พุทธะอิสระ