สัญลักษณ์ของความเป็นมนุษย์ ที่มีสติปัญญา รู้เหตุรู้ผล แยกแยะดีชั่วได้แล้ว ยังต้องมีศีลธรรม ความกตัญญูรู้คุณเหล่านี้ ถือว่าเป็นคุณลักษณะสำคัญของความเป็นมนุษย์
อธิบายคำว่า กะตัญญุตา หมายถึง ความมีจิตสำนึกระลึกรู้ซึ่งถึงบุญคุณของผู้มีอุปการะคุณแก่ตนและประเทศชาติอยู่อย่างสม่ำเสมอ
และด้วยความมีสำนึกระลึกรู้ถึงบุญคุณท่าน เราจึงมีกิริยาทางกาย วาจา ใจ ที่แสดงออกด้วยความนอบน้อม เทิดทูน ยกย่อง
บุคคล และสถานที่ สิ่งของที่สมควรแสดงความกตัญญูด้วยมี ๕ ประเภท
๑. ควรแสดงความกตัญญูรู้คุณต่อบุคคล ผู้มีอุปการะคุณแก่เรา แผ่นดิน
๒. ควรแสดงความกตัญญูรู้คุณต่อต่อสัตว์ที่เคยช่วยเหลือแบ่งเบาภาระแก่เราอย่างเช่น ช้าง ม้า วัว ควาย ที่ช่วยเราทำการงานและภารกิจต่างๆ
๓. ควรแสดงความกตัญญูรู้คุณต่อสถานที่และสิ่งของที่เป็นตัวแทนหรือสัญลักษณ์ของท่านผู้มีคุณ อย่างเช่น สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงธรรมจักร และปรินิพพาน รวมเรียกว่า สังเวชนียสถาน ๔ แห่ง หรือ สิ่งของอันเป็นตัวแทนของท่านผู้มีอุปการะคุณเหล่านี้ เราก็ควรแสดงความกตัญญูรู้คุณ
๔. ควรมีจิตสำนึกระลึกอยู่เสมอว่า การที่เราท่านทั้งหลายได้มีวาสนาเกิดมาเป็นมนุษย์สุดประเสริฐนี้ได้ ก็ด้วยเพราะอดีตเราเคยทำบุญมาดีแล้วในกาลก่อน
เช่นนี้เราท่านทั้งหลายก็อย่ามัวเอาแต่ใช้บุญเก่า แล้วไม่คิดจะเสริมสร้างบุญใหม่ให้เพิ่มพูนยิ่งขึ้น เช่นนี้ถือว่า ประมาทในบุญ
๕. การระลึกรู้อยู่ทุกลมหายใจว่า ดีชั่วก็อยู่ที่ตัวทำ เลวระยำก็อยู่ที่ทำตัว ไม่มีใครผู้ใดทำให้เราดีหรือชั่วได้ ดังพุทธภาษิตที่ทรงตรัสสอนว่า
“สุทธิ อสุทธิ ปัจจัตตัง”
ความบริสุทธิ์ หรือ ไม่บริสุทธิ์ เกิดขึ้นได้เฉพาะตน
“นาญโญ อัญญัง วิโสธเย”
บุคคลผู้อื่นหาได้ทำให้เราบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ได้ไม่
ข้อควรตระหนัก ผู้มีสติปัญญา ควรแสดงความกตัญญูต่อท่านผู้อุปการะคุณโดยสุจริตธรรมเท่านั้น
เมื่อบุคคลมีความกตัญญูอันเป็นดุจธรรมนูญประจำจิตใจดีแล้ว จักได้อานิสงส์ ดังต่อไปนี้
๑. ทำให้รักษาคุณความดีเดิมไว้ได้
๒. ทำให้สร้างคุณความดีใหม่เพิ่มได้อีก
๓. ทำให้เกิดสติ ไม่ประมาท
๔. ทำให้เกิดหิริโอตตัปปะ
๕. ทำให้เกิดขันติ
๖. ทำให้จิตใจผ่องใส มองโลกในแง่ดี
๗. ทำให้เป็นที่สรรเสริญของคนดี
๘. ทำให้มีคนอยากคบหาสมาคม
๙. ทำให้ทั้งมนุษย์และเทวดาอยากช่วยเหลือ
๑๐. ทำให้ไม่มีเวรไม่มีภัย
๑๑. ทำให้ลาภผลทั้งหลายเกิดขึ้นโดยง่าย
๑๒. ทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานโดยง่าย
เอตัมมังคะละมุตตะมัง ข้อนี้เป็นมงคลอันสูงสุด
พุทธะอิสระ