อธิบายคำว่า ประพฤติธรรม ได้แก่ การลงไม้ลงมือทำกันจริงๆ เสียที อย่าเอาแต่ผลัดวันประกันพรุ่ง อย่าเอาแต่ฟัง อย่าเอาแต่จดจำ ทั้งที่ไม่รู้เลยว่า เมื่อไหร่จะลงมือทำ
ธรรมที่ควรประพฤติในระดับความเข้าใจแบบบ้านๆ ได้แก่
๑. สั่งสมอบรมสร้างสติความระลึกได้ สัมปชัญญะ ความรู้ตัวให้มีอยู่ตลอดเวลา
๒. ปฏิบัติศีลอย่างเคร่งครัด จนกลายเป็นสันดานของตน และบริจาคทาน แบ่งปัน เสียสละตัวกู อย่างชาญฉลาด
๓. เพียรพยายามทำกาย วาจา จิตใจ ให้ห่างไกลจากสิ่งเร้า เครื่องล่อทั้งปวง
๔. เพียรพยายามสำรวม สังวร ระวัง กาย วาจา ใจ ให้สงบระงับจากอกุศล และตั้งมั่นอยู่ในกุศลทั้งปวง
๕. เพียรพยายาม ทำความเข้าใจ รู้จัก สรรพสิ่ง สรรพสัตว์ สรรพวัตถุ อย่างรู้เหตุรู้ผล รู้ชัดตามความเป็นจริง ไม่ให้หลงยึดติดอยู่กับมายาการใดๆ
๖. ขวนขวายให้ความสำคัญแก่การปฏิบัติธรรมดุจดังลมหายใจที่ร่างกายนี้จักขาดเสียมิได้
๗. ทำทุกวิถีที่จะเห็นให้ได้ว่า กายทุจริต วาจาทุจริต มโนทุจริตมันมีโทษ มีทัณฑ์ร้ายกาจขนาดไหน แล้วพยายามอยู่ให้ห่างไกลจากมัน
๘. ทุกเรื่องที่จะทำให้กายนี้สุจริต วาจาสุจริต ใจสุจริต เราต้องขวนขวายที่จะพยายามทำมันจนสุดชีวิต
๙. ประพฤติธรรมมาทั้งหมดก็เพียงเพื่อเป้าหมายเดียว คือ ปัญญา รู้ซึ้งถึงความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีอยู่จริงแล้วดับเย็น
ธรรมทั้ง ๙ อย่างนี้ หากเพียรพยายามประพฤติปฏิบัติด้วยความเข้าใจ แบบบ้านๆ หากทำได้จริง ก็คุ้มค่ากับการได้เกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว
แต่หากจะว่ากันตามหลักพุทธโอวาทที่ทรงย่นย่อให้เข้าใจง่าย ได้ใจความก็ได้แก่
สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง กุสะลัสสูปะสัมปะทา
สะจิตตะปะริโยทะปะนัง เอตัง พุทธานะ สาสะนัง
ขันตี ปะระมัง ตะโป ตีติกขา นิพพานัง ปะระมัง วะทันติ พุทธา
นะ หิ ปัพพะชิโต ปะรูปะฆาตี สะมะโณ โหติ ปะรัง วิเหฐะยันโต
อะนูปะวาโท อะนูปะฆาโต ปาติโมกเข จะ สังวะโร
มัตตัญญุตา จะ ภัตตัส๎มิง ปันตัญจะ สะยะนาสะนัง
อะธิจิตเต จะ อาโยโค เอตัง พุทธานะ สาสะนังฯ
การไม่ทำบาปทั้งปวง
การทำกุศลให้ถึงพร้อม
การชำระจิตของตนให้ขาวรอบ
ธรรม ๓ อย่างนี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ขันติ คือความอดกลั้นเป็นธรรมเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง
ผู้รู้ทั้งหลายกล่าวพระนิพพานว่าเป็นธรรมอันยิ่ง
ผู้กำจัดสัตว์อื่นอยู่ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิตเลย
ผู้ทำสัตว์อื่นให้ลำบากอยู่ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย
การไม่พูดร้าย การไม่ทำร้าย
การสำรวมในปาติโมกข์
ความเป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค
การนอนการนั่งในที่อันสงัด
ความหมั่นประกอบในการทำจิตให้ยิ่ง
ธรรม ๖ อย่างนี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
และพระพุทธธรรมจากพระโอษฐ์ ที่ทรงสั่งสอนแก่ภิกษุทั้งหลายว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราไม่เห็นธรรมอื่นแม้สักอย่าง
อันจะเป็นเหตุให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดได้เกิดขึ้น หรือกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เพิ่มพูน ไพบูลย์ยิ่งขึ้น เท่ากับสัมมาทิฏฐินี้เลย
นอกจากนี้ท่านทั้งหลายยังสามารถ เลือกเฟ้นธรรม (ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์) ที่เหมาะสมสำหรับตนมาประพฤติปฏิบัติให้เป็นผลตามจริตของตนอีกมากมาย สุดแล้วแต่จริตใคร จริตมัน
อานิสงส์การประพฤติธรรม
๑. เป็นมหากุศล ชาญฉลาดอย่างยอดยิ่ง
๒. เป็นผู้ไม่ประมาท
๓. เป็นผู้รักษาสัทธรรม
๔. เป็นผู้นำพระพุทธศาสนาให้เจริญ
๕. เป็นสุขในโลกนี้และโลกหน้า
๖. ไม่ก่อเวรก่อภัยกับใครๆ
๗. เป็นผู้ให้อภัยแก่สรรพสัตว์
๘. เป็นผู้ดำเนินตามปฏิปทาของนักปราชญ์
๙. สร้างความเจริญความสงบสุขแก่ตนเองและส่วนรวม
๑๐. เป็นผู้สร้างมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ พรหมสมบัติ นิพพานสมบัติด้วยตนเอง
เอตัมมังคะละมุตตะมัง ข้อนี้เป็นมงคลอันสูงสุด
พุทธะอิสระ