อธิบายความคำว่า ความตั้งตน หมายถึง ความดำรงอยู่อย่างมั่นคง ไม่โยกโคลง สั่นคลอน เพื่อให้พร้อมที่จะก้าวต่อไปข้างหน้า อย่างรวดเร็ว เร่งรีบ รวบรัด และเรียบร้อย
อธิบายคำว่า ไว้ชอบ หมายถึง ชอบในทำนองคลองธรรม
ชอบในทาน ศีล ภาวนา
ชอบในหลักสิกขา ๓ อย่าง คือ ศีล สมาธิ ปัญญา
ชอบที่จะตั้งตนไว้ในที่ ๔ สถาน คือ
1. สังวรปธาน คือ เพียรระวังยับยั้งบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด มิให้เกิดขึ้น
2. ปหานปธาน คือ เพียรละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว
3. ภาวนาปธาน คือ เพียรทำกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดมี
4. อนุรักขนาปธาน คือ เพียรรักษากุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้ตั้งมั่นและให้เจริญยิ่ง
ชอบในอริยมรรค มี องค์ ๘ ประการคือ
1. เห็นถูกต้อง (สัมมาทิฏฐิ)
2. ดำริถูกต้อง (สัมมาสังกัปปะ)
3. พูดถูกต้อง (สัมมาวาจา)
4. ทำถูกต้อง (สัมมากัมมันตะ)
5. อาชีพถูกต้อง (สัมมาอาชีวะ)
6. เพียรถูกต้อง (สัมมาวายามะ)
7. สติตั้งไว้ในที่ถูกต้อง (สัมมาสติ)
8. สมาธิถูกต้อง (สัมมาสมาธิ)
และชอบในสามัญลักษณะ ๓ อย่าง คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
วิธีที่จะทำให้เป็นผู้ตั้งตนเอาไว้ชอบ มีดังนี้คือ
๑. ฝึกให้ตนมีศรัทธา ความเชื่ออย่างมีเหตุ มีผล
๒. เชื่อกรรม เชื่อว่าสัตว์โลกเป็นไปตามกรรม เชื่อว่ากรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้ดีชั่ว เลว และหยาบ
๓. เชื่อว่า เมื่อรักษาศีลแล้ว จะทำให้ไปสู้สุคติ มีโภคทรัพย์และดับเย็นได้
๔. เชื่อว่า การให้ การบริจาค จักทำให้สัตว์ทั้งปวง บรรเทาทุกข์ได้
๕. เชื่อว่า การเสียสละ การแบ่งปัน การแผ่เมตตา จักทำให้เราเข้าถึงความ วาง ว่าง ดับ เย็น ได้
๖. เชื่อว่า พระพุทธธรรมคำสอนขององค์พระบรมศาสดาอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า สามารถเห็นผลได้จริง เมื่อเราลงมือปฏิบัติ
เมื่อตั้งตนไว้ชอบดังกล่าวแล้ว จักได้รับผล ๑๐ ประการ ดังนี้คือ
๑. ตนจักเป็นที่พึงของตนเองได้อย่างมั่นคง แข็งแรง
๒. ตั้งอยู่ในความไม่มัวเมาประมาท
๓. เป็นผู้มีสติในเวลาตาย
๔. เป็นผู้มีความเจริญในทุกที่ ที่อยู่
๕. จักมีที่พึ่งที่ประเสริฐ
๖. เป็นผู้น่าเชื่อถือ
๗. เป็นต้นแบบของชนรุ่นหลังๆ
๘. จักไม่ตกไปในที่ชั่ว
๙. ชีวิตไม่ขาดทุน
๑๐. เจริญในสมบัติทั้ง ๓ คือ มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ และนิพพานสมบัติ
เอตัมมัง คะละมุตตะมัง ข้อนี้เป็นมงคลอันสูงสุด
พุทธะอิสระ