อธิบาย คำว่า ประเทศอันสมควร หมายถึง ถิ่นประเทศอันเป็นที่อยู่อาศัยของปราชญ์ ราชบัณฑิต ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ผู้มีสติปัญญา ที่มีความตื่นตัว ชักพาผู้คนให้พัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา
หาใช่ประเทศหรือถิ่นที่อยู่อาศัย ที่มีแต่ความเจริญทางด้านวัตถุแต่อย่างเดียวไม่
รวมความว่า การได้อยู่ในประเทศอันสมควร หมายถึง ประเทศหรือถิ่นที่อยู่ที่มีปราชญ์ ราชบัณฑิต ผู้มีสติปัญญา ที่มีความตื่นตัวที่จะชักนำ พัฒนาผู้คนให้สนใจประพฤติปฏิบัติตามแต่ในสิ่งที่ดีมีประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น
เมื่อได้อยู่ในประเทศถิ่นอาศัย อันสมควรดังกล่าวแล้ว จักทำให้เกิดผลดี ๑๓ ประการ คือ
๑. ทำให้ได้รับความสุขกาย สบายใจ
๒. ทำให้เจริญก้าวหน้าทั้งทางโลก และทางธรรม
๓. ทำให้มีโอกาสสั่งสมคุณงามความดีทั้งทางกาย วาจา และจิตใจตลอดเวลา
๔. ทำให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธา ในสิ่งที่ดีงาม
๕. ทำให้ได้รับฟังโอวาท คำสั่งสอน ของผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จากผู้มีประสบการณ์ตรง
๖. ทำให้ได้ลงไม้ลงมือ ทดสอบพิสูจน์ทราบ ในคำสั่งสอนนั้นๆ ด้วยตนเองจนเห็นผล
๗. ทำให้มีความคิดอ่าน และความเห็นถูกตรงต่อโลกแห่งความเป็นจริง และก้าวข้ามมายาคติไปเสียได้
๘. ทำให้ได้เรียนรู้ในสิ่งที่ไม่เคยเรียน ซึ่งไม่มีในถิ่นประเทศที่ปราศจากปราชญ์ ราชบัณฑิต ผู้เจริญสติปัญญา
๙. ทำให้ได้มีโอกาสบำเพ็ญคุณงามความดี อย่างต่อเนื่อง
๑๐. ทำให้มีสติปัญญา ตั้งมั่นพร้อมที่จะเผชิญต่อทุกสถานการณ์โดยไม่หวั่นหวาด
๑๑. ทำให้ไม่มัวเมาประมาท มีสติคอยยับยั่ง ตระหนัก รู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว
๑๒. ทำให้ได้ที่พึ่งอันประเสริฐ จนถึงลมหายใจสุดท้าย
๑๓. ทำให้ได้อริยทรัพย์อันประเสริฐ คือ ความวาง ว่าง ดับ เย็น ในที่สุด
เอตัมมัง คะละมุตตะมัง ข้อนี้เป็นมงคลอันสูงสุด
พุทธะอิสระ
--------------------------------------------------