ความเดิมตอนที่แล้ว เมื่อเรือรบฝรั่งเศสบุกเข้ามาจอดถึงใจกลางกรุงเทพฯ เพื่อข่มขู่ราชสำนักสยาม แล้วยังยื่นเอกสารบังคับเรียกร้องให้สยามปฎิบัติตามถึง ๖ ข้อ
และ ๒ ใน ๖ ข้อ คือบังคับให้สยามต้องทำตาม ซึ่งก็ได้สร้างความโทมนัสพระทัยแก่ องค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นยิ่งนัก นั้นคือ
- ให้สยามถอนทหารที่ตั้งมั่นอยู่ฝั่งแม่น้ำโขง ถอยร่นออกมาให้แล้วเสร็จภายในเวลา ๑ เดือน
ซึ่งข้อเรียกร้องนี้ เท่ากับบีบบังคับให้สยามยกดินแดนลาวทั้งหมดที่สยามปกครองอยู่ให้กับฝรั่งเศส โดยไม่มีการต่อต้านใดๆ อีก
- ข้อต่อมา ให้สยามจ่ายเงินค่าปรับที่ก่อให้เกิดสงคราม ๓ ล้านฟรังก์ และต้องชำระเป็นเงินเหรียญโดยทันที ซึ่งสยามจะต้องตอบให้ฝรั่งเศสทราบถึงความคืบหน้าภายใน ๔๘ ชั่วโมง
สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แม้จะทรงโทมนัสพระทัยเป็นล้นพ้น แต่ด้วยพระขัตติยมานะปรีชาญาณ ทรงเลือกใช้วิธีทางการทูตตอบโต้ต่อคำขาดของฝรั่งเศส เพื่อจะยืดเวลาที่ฝรั่งเศสขีดเส้นตายออกไป
โดยทรงมีพระราชดำรัสผ่านไปยังกรมพระยาเทวะวงศ์ ให้ทรงแจ้งต่อ นายโอกุสต์ ปาวี เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสไปว่า
รัฐบาลสยามปฏิเสธที่จะทำตามคำขู่ในครั้งนี้ของฝรั่งเศส พร้อมทั้งทรงใช้พระวิเทโศบาย ให้ฝรั่งเศสแสดงหลักฐานให้สยามเห็นก่อนว่า ฝรั่งเศสมีกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนลาว มาตั้งแต่สมัยใด
ฝรั่งเศสพอรับข้อความพระราชดำรัสของพระเจ้าแผ่นดินสยามดังนี้
ทำให้เอกอัครราชทูต นายปาวี โกธรจนควันออกหู ถึงกับประกาศให้ตัดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ พร้อมให้ปิดสถานทูตฝรั่งเศสประจำประเทศสยามลงในทันที พร้อมทั้งเรียกกองกำลังเรือรบที่จอดทอดสมออยู่ที่เวียดนาม ให้มาเสริม เพื่อปิดล้อมอ่าวสยาม
เวลาต่อมา วันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๖ กองเรือรบฝรั่งเศส นำโดย นายพลเรือ ฮูมานน์ ผู้บัญชาการกองเรือฝรั่งเศส ได้เข้าทำการยึดเกาะสีชังของสยาม เอาไว้เป็นฐานทัพชั่วคราว
โปรดติดตามตอนต่อไป...
พุทธะอิสระ