หลังจากทรงบริจาคพระราชทรัพย์ สร้างอาคารวิจัยและผลิตวัคซีนป้องกันวัณโรค และสร้างอาคารผู้ป่วยอีก ๒ อาคารไปแล้ว องค์พ่อหลวง ร.๙ ยังทรงสนับสนุนให้สร้างเครื่องกลั่นน้ำเกลือเอาไว้ใช้ภายในประเทศ
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๙๘ ยังทรงมีพระราชดำริให้ทำโครงการแพทย์หลวงพระราชทาน “เรือเวชพาหน์” เพื่อใช้เป็นหน่วยแพทย์เคลื่อนที่รักษาราษฎรที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ตามลำน้ำ โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการดำเนินการ ทั้งทรงมีรับสั่งให้เรือแพทย์เคลื่อนที่พร้อมทีมแพทย์พระราชทานที่ตระเวนไปตามลำน้ำที่มีบ้านเรือนตั้งอยู่ ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด เพื่อให้บริการตรวจรักษา พยาบาล พสกนิกรผู้เจ็บป่วยโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ
แม้ในปัจจุบันนี้เรือเวชพาหน์ยังคงเคลื่อนที่ไปให้บริการประชาชนอยู่ แม้พระองค์จักเสด็จสู่สวรรคาลัยไปแล้วก็ตาม
พระราชจริยวัตรเช่นนี้ได้กลายเป็นต้นแบบของการช่วยเหลือประชาชนผู้ตกทุกข์ได้ยากขยายวงกว้างไปในสังคม และพัฒนามาเป็นสภาพสังคมสงเคราะห์ของประเทศไทย พระราชจริยวัตรดังกล่าวได้ฝังรากลึกลงไปในจิตใจประชาชนในทุกระดับ ทุกพื้นที่ จะเห็นได้จากยามที่มีสาธารณภัยใดๆ เกิดขึ้น คนไทยทุกหมู่เหล่าจะช่วยเหลือกัน บริจาคโดยมิต้องให้ผู้เดือดร้อน ร้องขอแต่อย่างใด
ในเวลาต่อมา เมื่อพระองค์เสร็จไปเยี่ยมราษฎรตามชนบทต่างๆ ทรงเห็นความป่วยไข้ของประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆ และยากที่จะเข้าถึงการให้บริการทางสาธารณสุขของภาครัฐ
จึงทรงมีพระราชดำริให้แพทย์หลวงที่ติดตามพระองค์ไปทำการรักษาให้แก่ประชาชนผู้ป่วยไข้ ไม่สบาย หากผู้ป่วยคนไหนมีอาการหนัก ก็ทรงให้นำไปส่งยังโรงพยาบาลในเมือง และทรงรับไว้เป็นผู้ป่วยในพระองค์
ทุกครั้งที่ทรงแปรพระราชฐานประทับแรม และในท้องถิ่นต่างๆ ที่ห่างไกลตัวเมืองมาก ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดเจ้าหน้าที่แพทย์ พยาบาล เครื่องมือเครื่องใช้ตลอดจนยารักษาโรค ออกทำการตรวจรักษาราษฎรในท้องถิ่นกันดาร
พุทธะอิสระ