นอกจากกรรมทั้ง ๓ คือ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม แล้วยังมีกรรม ๔ คือ

ชนกกรรม กรรมแต่งให้เกิด
อุปัตถัมภกกรรม กรรมเลี้ยงดู
อุปปีฬกกรรม กรรมสนับสนุน
อุปฆาตกกรรม กรรมตัดรอน

ขยายความคำว่า
ชนกกรรม คือ กรรมที่ให้ผลทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
ที่เรียกว่า กรรมที่ให้ผลได้ในอดีต อธิบายว่า สัตว์ทุกประเภท ล้วนแล้วแต่ต้องอาศัยชนกกรรมในอดีต นำมาเกิดทั้งนั้น และหากจะถามว่า แล้วชนกกรรมหละ เกิดขึ้นมาได้อย่างไร
.
ตอบว่า เรานี่แหละ ตัวกูโง่นี่แหละ เป็นผู้กระทำชนกกรรม ทำซ้ำทำซ้อนจนกลายมาเป็นกรรมซัดพัดพาเรามาเกิดนี่ไง
และชนกกรรมนี่อีกแหละ ที่ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมต่างๆ ในอนาคตตัวอย่างเช่น หากปัจจุบันเราเป็นผู้ฝักใฝ่ขวนขวายเป็นคนมักมากต่อไปในอนาคต เราก็ต้องมีอุปนิสัยกลายเป็นผู้มักมาก
.
ขยายความคำว่า
อุปัตถัมภกกรรม กรรมที่ทำหน้าที่ในการเลี้ยงดู กรรมทั้งหลายให้เจริญเติบโต ซึ่งมีทั้งกรรมดีและกรรมชั่ว
หากจะถามว่า แล้วอุปัตถัมภกกรรม เกิดขึ้นได้อย่างไร
.
ตอบว่า อุปัตถัมภกกรรม เกิดขึ้นได้จากคำว่า ตัณหา ความทะยานอยากซึ่งก็มีทั้งอยากทำดี และอยากทำชั่ว แม้คำว่าไม่อยากอยาก อุปัตถัมภกกรรม ก็เข้าไปทำหน้าที่เลี้ยงดูด้วย
.
ขยายความคำว่า
อุปปีฬกกรรม กรรมที่คอยสนับสนุนให้ทั้งกรรมดีและกรรมชั่ว ดำรงอยู่และดำเนินไปจนข้ามภพ ข้ามชาติ
อุปปีฬกกรรม จึงเป็นกรรมที่ทำหน้าที่ทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบัน
ถามว่า อุปปีฬกกรรม เกิดมาจากเหตุใดเล่า
.
ตอบว่า อุปปีฬกกรรม เกิดมาจากอุปาทานความยึดถือ และตัณหาความทะยานอยาก ที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนให้อุปปีฬกกรรม เข้าไปทำการสนับสนุนกรรมทั้งปวง ให้ผลอย่างต่อเนื่องไม่ขาดตอน
.
ขยายความคำว่า
อุปฆาตกกรรม กรรมที่ทำหน้าที่คอยตัดรอน
ตัดรอนกรรม ตัดรอนชีวิต ตัดรอนสุขภาพ ตัดรอนอายุขัย ตัดรอนกุศลกรรม และตัดรอนอกุศลกรรม ซึ่งก็จักทำหน้าที่ได้ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
.
สรุป ชนกกรรม อุปัตถัมภกกรรม อุปปีฬกกรรม และอุปฆาตกกรรม จักเข้าทำหน้าที่ทั้งก่อนสัตว์เกิด ขณะเกิด และสัตว์นั้นๆ ตายลง หมู่สัตว์ทั้งหลาย จึงตกอยู่ภายใต้อำนาจ แห่งกรรมที่มิอาจหลีกลี้หลบหนีได้เลย
.
พุทธะอิสระ