หลังจากที่เขียนลงเฟซเรียกร้อง ให้มีการแก้ไข พ.ร.บ. คณะสงฆ์ ปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ข้อ ๒๙ ที่ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ บังคับ ภิกษุผู้ถูกกล่าวหา ให้ถอดจีวรสึกจากสมณะภาวะ ทั้งที่ยังไม่มีการพิสูจน์ว่าผิดหรือไม่

.
ซึ่งก็ขัดกับหลัก ของพระธรรมวินัย ที่พระบรมศาสดาทรงบัญญัติไว้ว่าภิกษุที่พ้นจากพระธรรมวินัยนี้ได้ต้องเกิดจากเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๓ อย่าง ดังนี้
๑. ลาสิกขา
๒. ต้องอาบัติปาราชิก
๓. มรณภาพ

.
ต่อมามีผู้สงสัยถามมาว่า :
มีผู้โจษภิกษุรูปหนึ่งฆ่าคนตายแต่ภิกษุรูปนั้นปฏิเสธระหว่างที่รอการพิสูจน์ ตำรวจจะจับภิกษุนั้นไปฝากขัง ระหว่างรอการพิจารณาคดี ก็ไม่ได้ใช้ไหมคะ
.
ตอบว่า : หากเจ้าหน้าที่มีประจักษ์พยานซึ่งหน้า สามารถชี้ตัวภิกษุนั้นได้ว่าเป็นผู้ลงมือฆ่าคนตายจริงชัดเจนแล้วสามารถเข้าทำการจับกุมได้เลย และหากภิกษุนั้นหนีก็ขอหมายจับจากศาล แม้ภิกษุรูปนั้นจักปฏิเสธก็ตามทีเช่นนี้ในพระธรรมวินัยถือว่าภิกษุรูปนั้นพ้นจากความเป็นภิกษุภาวะไปแล้วเหตุเพราะอาบัติปาราชิกข้อว่าฆ่ามนุษย์
.
แต่ถ้าภิกษุรูปนั้นเป็นแต่เพียงผู้ต้องสงสัย ไม่ใช่ตัวประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ เช่นนี้ ทางพระธรรมวินัยให้ถือว่าภิกษุผู้ถูกกล่าวหาต้องเข้าสู่กระบวนการซักถาม สอบสวน ตามหลักอริยกรณสมถะ คือ วิธีระงับอธิกรณ์ จนได้ความจริง
.
หากภิกษุนั้นผิดจริง ก็ต้องถูกสงฆ์ขับให้พ้นจาก ภิกษุภาวะ
แต่ถ้าภิกษุนั้นไม่ผิด สงฆ์ก็จัดทำการประกาศให้สาธารณชนได้รับรู้ต่อไป
.

ถามต่อมาว่า : ระหว่างการรอพิจารณาคดี ตำรวจจะจับคุมตัวไปฝากขังได้หรือไม่
.
ตอบว่า : ตามหลักพระธรรมวินัย หากภิกษุใดตกเป็นผู้ต้องสงสัย ว่าละเมิดพระธรรมวินัยอย่างร้ายแรง คณะสงฆ์ในอาวาสนั้นๆ จักต้องเร่งดำเนินการสอบสวน เพื่อให้ความจริงปรากฎโดยไว ส่วนระหว่างการสอบสวนภิกษุผู้ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหานั้น ต้องอยู่ในความดูแลของคณะสงฆ์ หรือภิกษุรูปใด รูปหนึ่ง ที่คณะสงฆ์เป็นผู้มอบหมายให้ดูแล
.
ส่วนในทางอาณาจักรเจ้าหน้าที่ ก็สามารถขอนำตัวภิกษุนั้นไปสอบสวนได้ จนกว่าความจริปรากฏ เมื่อเห็นว่าภิกษุนั้นผิดจริง ก็สามารถจับถอดจีวรได้เลย
.
ถามต่อมาว่า : แล้วถ้าพิสูจน์โดยเจ้าหน้าที่รัฐพบว่าภิกษุนั้น กระทำความผิดจริง หรือไม่ได้กระทำความผิดตามคำกล่าวหาผลจะต่างกันอย่างไร
.
ตอบว่า : หากภิกษุใด ต้องคดีขณะอยู่ในภิกษุภาวะ แล้วผลพิจารณาคดีออกมาว่า ท่านไม่ผิด ภิกษุรูปนั้นก็ไม่ต้องไปกล่าวคำลาสิกขาและไม่ต้องขอบรรพชาอุปสมบทใหม่ เรียกว่าไม่ต้องไปเริ่มต้นบวชใหม่ อานิสงส์ของผู้มีอายุพรรษามากของท่าน ก็จักไม่ต้องถูกตัดสิทธิไป
.
เช่น ไม่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของพระอุปัชฌาย์
ไปไหนได้โดย ไม่ต้องบอกลา
ลาภทั้งหลาย อันจักพึงบังเกิดมีในอาวาส ท่านก็จักไม่ถูกตัดรอนด้วย เหตุว่าท่านเป็นภิกษุใหม่
อีกทั้งท่านก็ไม่ต้องลุกรับ กราบไหว้ ต่อภิกษุผู้อ่อนพรรษากว่า
รวมความแล้วสิทธิของผู้บวชใหม่จะได้ไม่เท่า กับพระเถระหรือพระมหาเถระนั่นเอง
.
ถามว่า : แม้ผลพิสูจน์ตามขั้นตอนของพระธรรมวินัยจนถึงที่สุดแล้วผลออกมาว่า ภิกษุรูปนั้นกระทำผิดจริง แต่ไม่ยอมรับผิด ซ้ำยังยืนยันในความบริสุทธิของตน โดยไม่ยินยอมสละภิกษุภาวะ
.
ตอบว่า : ภิกษุผู้ไม่ยอมรับผิด ไม่ยอมรับความจริง ทั้งที่มีหลักฐานที่ชี้ชัดว่าผิดจริง พระบรมศาสดาทรงมีพระวินิจฉัยโทษแก่ภิกษุผู้หน้าด้าน ผู้เเก้อยากเอาไว้ว่า ให้หมู่สงฆ์ขับเธอเสียออกจากหมู่ หากต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ก็ให้ประกาศแก่สาธารณชนได้รับทราบ
.
ส่วนในทางคดีโลก มีกฎหมายเอาผิด แก่บุคคลที่ไม่ใช่ภิกษุ แล้วแต่งกายเลียนแบบภิกษุเอาไว้ว่าต้องถูกจำคุก
(ปอ.มาตรา ๒๐๘ ผู้ใดแต่งกายหรือใช้เครื่องหมายที่แสดงว่าเป็นภิกษุ สามเณร นักพรตหรือนักบวชในศาสนาใด โดยมิชอบ เพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่า ตนเป็นบุคคลเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)
.
ถามว่า : การตัดสินว่าภิกษุนั้นพ้นจากเพศสมณะ จะตัดสินเมื่อใด
.
ตอบว่า : การฆ่ามนุษย์ ตามที่ผู้ถามตั้งเป็นประเด็นคำถามมาแต่แรกตามหลักพระวินัย พระบรมศาสดาทรงยึดเอาเจตนา ของผู้ต้องการจะฆ่าเป็นหลัก
.
หากภิกษุผู้นั้น มีเจตนาฆ่า แล้วฆ่าได้สำเร็จ ภิกษุนั้นก็พ้นจากความเป็นพระภิกษุในเวลานั้นเลย ส่วนในเวลาต่อมาเธอยังฝืนขืนนุ่งห่มผ้าเหลืองอยู่ ถือว่าเธอแต่งกายเลียนแบบพระภิกษุสงฆ์แล้ว
.
แต่หากภิกษุนั้นไม่มีเจตนาฆ่า เป็นแต่เพียงอุบัติเหตุ แล้วทำให้มนุษย์นั้นตายลง ตามหลักพระวินัย ไม่ถือว่าภิกษุนั้นขาดจากความเป็นภิกษุ แต่ต้องมีโทษคือ ต้องอาบัติถุลลัจจัย
.
ส่วนในคดีทางโลก การฆ่ามนุษย์ ก็ต้องประกอบไปด้วยเจตนาเช่นเดียวกัน ส่วนจักมีความผิดอื่นใดพ่วงท้ายมาหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของผู้กระทำ และพยานหลักฐานที่บ่งชี้
.
คำตอบทั้งหมดนี้ เป็นคำตอบตามหลักพระธรรมวินัย แต่อาจจะไม่ตรงต่อกฎหมายของฝ่ายบ้านเมืองมากนัก ผิดพลาดไปก็ต้องขออภัย
.
พุทธะอิสระ