วันนี้เสนอคำว่า ฟ้ากับดินแม้จักห่างไกลกันเพียงใด แต่ผู้มีปัญญาทราม มีมิจฉาทิฐิ ย่อมยอมเป็นผู้ห่างไกลพระสัทธรรมขององค์พระผู้มีพระภาคเจ้ายิ่งกว่า

อธิบายคำว่า ฟ้ากับดินแม้จักห่างไกลกันเพียงใด นั้นหมายถึงฟ้าดินไม่มีวันที่จักมาบรรจบพบเจอกันได้ชั่วกัปชั่วกัลป์

อธิบายคำว่า ผู้มีปัญญาทราม ปราชญ์ผู้รู้ท่านให้คำนิยามเอาไว้ว่า คือคนที่มีปัญญาแค่หาอยู่หากิน แต่ไม่มีปัญญาแก้ปัญหาชีวิตตนเอง ไม่มีปัญญาสาวหาเหตุแห่งการเกิดปัญหา ไม่มีปัญญาที่จักดับเหตุแห่งปัญหานั้น

อธิบายคำว่า มีมิจฉาทิฐิ คือผู้มีความเห็นผิดไปจากหลักแห่งความเป็นจริง เห็นผิดไปจากหลักของสัจธรรม เห็นผิดไปจากกฎแห่งกรรม เห็นผิดไปจากหลักธรรมและผิดหลักศีลธรรมมนุษย์

อธิบายคำว่า ย่อมห่างไกลพระสัทธรรม ขององค์พระผู้มีพระภาคเจ้ายิ่งกว่า หมายความว่า พระสัทธรรมขององค์พระผู้มีพระภาคเจ้าที่ทรงสอนเอาไว้ดีแล้ว มีอยู่หลายระดับ แต่รวมสรุปได้ ๒ ระดับใหญ่ๆ คือ ระดับโลกียะ กับ ระดับโลกุตระ

ระดับโลกียะ ซึ่งทรงสอนตั้งแต่การทำหน้าที่อย่างซื่อตรง การให้ทาน และการรักษาศีล เจริญภาวนาให้จิตสงบระงับจากความสับสนวุ่นวายที่เรียกว่า สมาธิ องค์ญาณ เหล่านี้เรียก โลกียะ

ส่วนระดับโลกุตระ ทรงสอนเรื่องปัญญา เรื่องจิต เรื่องเครื่องปรุงจิต ที่เรียกว่าอารมณ์ เรื่องรูปที่มีทั้งจับต้องได้ และจับต้องไม่ได้และสภาวะความดับและเย็น ที่เรียกว่านิพาน เหล่านี้เรียกว่าโลกุตระ

สรุปว่า

เหตุเพราะผู้มีปัญญาทราม แถมมีมิจฉาทิฐิย่อมไม่อาจรับรู้ ซึมซับ สัมผัสพระสัทธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ แม้แต่ในระดับโลกียะ ยิ่งไม่ต้องพูดถึงโลกุตระก็ยิ่งห่างไกล

ขนาดฟ้าว่าห่างไกลจากดินแล้ว ยังเทียบไม่ได้กับผู้มีปัญญาทราม มีมิจฉาทิฐิ ที่ห่างไกลพระสัทธรรมยิ่งกว่าฟ้าห่างไกลดินเสียอีก

พุทธะอิสระ