วันนี้เสนอคำว่า มรณสาธารณะ

คำว่า มรณสาธารณะ หมายถึง ความตายมีอยู่กับสิ่งมีชีวิตทั้งปวง ไม่เว้นแม้แต่สรรพวัตถุทั้งหลาย (แต่ท่านไม่ใช่คำว่าวัตถุตาย จักใช้คำว่า แตกสลายหรือเสื่อมชำรุด)

ความตายเป็นสิ่งที่มีอยู่ในโลกนี้ก่อนเราเกิด

ความตายมาพร้อมกับการเกิดของเรา

ความตายเป็นสมบัติที่เรามิอาจปฏิเสธ แม้จักไม่ยอมรับก็ตาม

ความตายมิได้มีเฉพาะชนชั้นหรือเจาะจงเฉพาะสัตว์ บุคคล

ความตายเป็นสัจจะธรรมความจริงแท้อย่างหนึ่งที่มิมีสัตว์และวัตถุใด จักหลีกเลี่ยงได้

ความตายมีอำนาจแทรกแซงชีวิตและวัตถุได้ทุกขณะ

ความตายมีพลังที่จะหยุดยั้งพฤติกรรมได้ แต่มิอาจหยุดยั้งบุญบาป ความดีความชั่ว กุศลกรรม อกุศลกรรมได้

ด้วยเหตุนี้ความตายแม้จะดูเป็นภัยร้ายของสรรพสัตว์ แต่บางครั้งสิ่งมีชีวิตหลายชนิด ก็มักจะใช้บริการของความตายมาหยุดยั้งพฤติกรรมชั่วผิดบาปของสิ่งมีชีวิตบางประเภท เพื่อรักษาชีวิต ทรัพย์สิน และประโยชน์ของตนและสิ่งมีชีวิตหมู่มาก

ความตายในมุมมองของมนุษย์ผู้มีปัญญา จึงมีทั้งคุณและโทษ

ตัวอย่างส่วนที่เป็นคุณ เช่น มรณานุสติ ที่องค์พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนให้ระลึกนึกถึงความตายอยู่เนืองๆ ต่อเนื่อง

เพื่อกำหลาบตัณหา ความทะยานอยาก

เพื่อลดความหวาด สะดุ้งกลัว ต่อความตายที่เป็นความจริงแท้ของชีวิต

เพื่อให้จิตสงบระงับ ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท

เพื่อกระตุ้นให้เกิดความเพียรพยายามที่จะทำสิ่งที่ยังมิได้ทำให้แล้วเสร็จก่อนตาย

และเพื่อให้คุ้นเคยกับความตาย เมื่อถึงเวลาตายจักได้ตายอย่างมีสติ

ส่วนที่ความตายที่เป็นโทษคือ คนดี วัตถุดี ต้องมาตายก่อนเวลาอันควร

อันที่จริงเมื่อเกิดมา กว่าจะเจริญเติบโต เราก็ต้องตายมาก่อนทั้งนั้น

หมายถึงอวัยวะและสิ่งต่างๆ ในร่างกายที่ออกมาจากท้องแม่ มันได้ตาย ได้เสื่อมสลาย จึงเกิดการเปลี่ยนแปลง มีสิ่งใหม่เกิดขึ้นนี้เรียกว่า ตายเป็นคุณ ตายเป็นประโยชน์

แต่ที่มันดันกลายเป็นโทษ ก็เพราะสรรพสิ่งทั้งหลายในร่างกายนี้มันไม่ยอมหยุดตาย เราจึงต้องกลายเป็นคนแก่ คนชรา คนทรุดโทรม แล้วพร้อมที่จะแตกสลาย นี้เรียกว่า ตายเป็นโทษ

ด้วยธรรมชาติของความตายเป็นสาธารณะเช่นนี้

สรรพชีวิต สรรพสิ่ง สรรพวัตถุทั้งหลาย จึงมิอาจหนีจากความตายไปได้เลย

พุทธะอิสระ