วันนี้เสนอคำว่า สมมุติสัจจะ หรือ สมมติสัจจะ กับปรมัตถสัจจะ

คำว่า สมมุติสัจจะ หรือ สมมติสัจจะ หมายถึง ความจริงโดยมีผู้บัญญัติ หรือจริงโดยสมมุติขึ้นมา หรือเป็นข้อตกลงร่วมกันแล้วบัญญัติขึ้นก็ได้

เช่นคนที่มีรูปร่างเช่นนี้มีเพศภาวะแบบนี้เรียกว่า ผู้ชาย

คนมีรูปร่างเช่นนี้มีเพศภาวะแบบนี้เรียกว่า ผู้หญิง เป็นต้น

นี่เรียกว่า จริงโดยสมมุติ

แต่โดยหลักแห่งความจริงโดยปรมัตถสัจจะแล้ว ร่างกายของชายหรือหญิงล้วนแล้วแต่มีองค์ประกอบมาจากเหตุปัจจัย มาจากธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ

ส่วนที่เป็นดิน คือ ขน เล็บ กระดูก ฟัน หนัง

ส่วนที่เป็นน้ำ คือ น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง น้ำดี น้ำเสลด น้ำลาย น้ำอุจจาระ น้ำปัสสาวะ น้ำเหงื่อ เป็นต้น

ส่วนที่เป็นลม คือ ลมหายใจ ลมภายในกาย ลมในช่องท้อง ลมในลำไส้ ลมขึ้นเบื้องบน ลมลงเบื้องต่ำ ลมพยุงร่างกาย

ส่วนที่เป็นไฟ คือ ไฟที่ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย ไฟที่เผาล้นร่างกายให้เร่าร้อน ไฟที่ช่วยย่อยอาหาร ไฟที่ช่วยควบคุมธาตุน้ำภายในร่างกาย

เหตุปัจจัยดังกล่าวนี้ ยังอิงอาศัยกรรมนำจิตนี้มาเกิด และแม้แต่จิตยังต้องอาศัยเหตุปัจจัยเกิดเช่นเดียวกัน

ท่านทั้งหลายหากพิจารณาให้แจ่มชัดแล้ว ความจริงในโลกสมมุตินั้นล้วนเกิดมาจากเหตุปัจจัยประกอบกันขึ้นทั้งสิ้น

ซึ่งก็มีอยู่ในทุกๆ สรรพสัตว์ สรรพวัตถุ สรรพธรรมชาติ รวมเรียกว่า สภาวธรรม ธรรมที่อิงอาศัยเหตุปัจจัยเกิด

ซึ่งมีอยู่ในทุกสรรพสัตว์ สรรพวัตถุ (วัตถุที่ไม่มีชีวิตจึงอาศัยปัจจัยเดียวคือ ธาตุ ๔) และสรรพธรรมชาติ (แม้ธรรมชาติรอบกายก็อาศัยเหตุปัจจัยเดียว)

การรู้แจ่มชัดในเหตุปัจจัย การเกิดสภาวธรรม

เหล่านี้เรียกว่า ปรมัตถสัจจะ หมายถึง ความจริงอย่างประเสริฐ ความจริงสูงสุด

ความจริงที่เป็นเหตุปัจจัยให้พ้นโลกสมมุติได้

ความจริงที่ทำให้เข้าใจโลกสมมุติได้อย่างเป็นผู้รู้ทัน

ความจริงที่สามารถเยียวยารักษาโลกจากความหลงเชื่อในโลกสมมุติได้แท้จริง

ความจริงที่ทำให้เป็นอิสระจากโลกของสมมุติได้อย่างเด็ดขาด

มีคำถามว่าเมื่อเราทั้งหลายจักต้องอยู่ในโลกที่มีทั้งสมมุติและปรมัตถเช่นนี้ เราจักทำตัวเช่นไร

ตอบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ทรงสอนให้เราทิ้งโลก หนีโลก แต่พระองค์ทรงสอนให้เรียนรู้ศึกษา เข้าใจในการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปของโลกแห่งสมมุติ

แล้วให้โลกปรมัตถคอยเก็บกวาดมลทิน มลภาวะ ปัญหา และความทุกข์ทั้งปวงที่เกิดจากโลกสมมุติ

เราท่านทั้งหลายจักได้ไม่ต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจบงการของโลกสมมุติ จนดิ้นไม่หลุด ไร้อิสระ

เครื่องมือสำคัญในการทำความเข้าใจโลกสมมุติและโลกปรมัตถอย่างแจ่มชัดคือ สติปัญญา และวิริยะความเพียร

เท่านี้เราก็จักสามารถอยู่เหนือโลกทั้งสองได้อย่างมีเสรีภาพ อิสรภาพแล้ว

ดังบทโศลกที่กล่าวว่า

ลูกรัก

จงทำความรู้จักสมมุติ

ใช้สมมุติ

ได้ประโยชน์ในสมมุติ

ท้ายที่สุดอย่ายึดติดในสิ่งที่เป็นสมมุติ

พุทธะอิสระ