วันนี้เสนอคำว่า สัทธาหรือศรัทธา

สัทธาหรือศรัทธา แปลว่า ความเชื่อหรือความปลงใจเชื่อ

ในวิถีแห่งพุทธธรรม ศรัทธา หมายถึง ความเชื่อที่ประกอบด้วยเหตุด้วยผล เชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ หรือความปองใจเชื่อเฉพาะในสิ่งที่พิสูจน์ได้ ซึ่งแบ่งออกเป็น ๔ อย่างคือ

๑. กัมมสัทธา เชื่อกรรม เชื่อว่าสัตว์โลกเป็นไปตามกรรม 
เชื่อว่ากรรมย่อมจำแนกสัตว์ ให้ดี ชั่ว เลว หยาบ

๒. วิปากสัทธา เชื่อผล ที่เกิดจากการกระทำ ว่าสามารถทำให้สุขและทุกข์

กรรมดี เรียกว่า กุศลกรรม ย่อมส่งผลให้ได้รับผลที่เป็นสุขทั้งโลกนี้และโลกหน้า

กรรมชั่ว เรียกว่า อกุศลกรรม ย่อมส่งผลให้ได้รับผลที่เป็นทุกข์ ทั้งโลกนี้และโลกหน้า

๓. กัมมัสสกตาสัทธา เชื่อว่า กรรมย่อมเป็นสมบัติที่แท้จริงของสัตว์ทั้งปวง

๔. ตถาคตโพธิสัทธา เชื่อในปัญญาอันหมดจดบริสุทธิ์ บริบูรณ์ว่าสามารถตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้จริง

สัทธาดังกล่าวมานี้ จักแตกต่างจากคำว่า สัทธาจริต

เพราะคำว่าสัทธาจริต หมายถึง ผู้มีอุปนิสัย ชอบที่จะเชื่อคนง่ายโดยไม่มีเหตุไม่มีผล เชื่อแม้ในสิ่งที่ไม่ควรเชื่อ เชื่อโดยไม่พิจารณา

ท่านสอนวิธีแก้พวกสัทธาจริตเอาไว้ว่า

ต้องขยันที่จักฟัง เรียกว่า สุตมัยยปัญญา

เมื่อฟังแล้วต้องรู้จักนำมาใคร่ครวญพินิจพิจารณา เรียกว่า จินตมัยยปัญญา

เมื่อคิดแล้วต้องทดสอบพิสูจน์ให้ทราบ ด้วยการลงมือกระทำ เรียกว่า ภาวนามัยยปัญญา

หวังว่าพวกที่จมปลักอยู่กับโลกแห่งสัทธาจริตทั้งหลาย คงจะเข้าใจและนำไปแก้ไขจริตของตน

พุทธะอิสระ