มีข่าวการประชุม มส. วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ ปีที่ผ่านมา สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงปรารภในที่ประชุมมหาเถรว่า

สมควรที่กรรมการมหาเถรจะกำหนดวิธีดำเนินการให้พระภิกษุ สามเณรประพฤติปฎิบัติตนให้มั่นคงในพระธรรมวินัย สมฐานะผู้สืบทอดพระพุทธศาสนาให้คณะสงฆ์เป็นที่นับถือต่อสังคมไทย
ข่าวว่ากรรมการ มส. รับสนองพระปรารภดังกล่าว โดยการออกเป็นมติมาว่า

1.ให้พระสังฆาธิการทบทวนปฏิบัติตามกฎมส.ฉบับที่ 23 พ.ศ.2541ว่าด้วยระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ กฎมส.ฉบับที่ 24 พ.ศ.2541 การแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ และกฎมส. ฉบับที่ 17 พ.ศ. 2536 ว่าด้วย การแต่งตั้งถอดถอนพระอุปัชฌาย์ เพื่อเพิ่มประสิทธิผลแก้ไขความเสื่อมและพัฒนาปรับปรุงคุณภาพของพระสงฆ์ให้ปรากฏเป็นที่ประจักษ์ชัดอย่างรวดเร็วและยั่งยืน

2.ให้พระสังฆาธิการและพระอุปัชฌาย์ เพิ่มความเข้มงวดกวดขันในการปกครอง ควบคุมสอดส่องดูแล อบรมพระภิกษุสามเณรในปกครองให้ปฏิบัติตนตามพระธรรมวินัย พ.ร.บ.คณะสงฆ์ กฎมส. มติ ประกาศ คำสั่ง พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชอย่างเคร่งครัด และเพิ่มความละเอียดถี่ถ้วนในการพิจารณาคัดครองผู้ขอเข้าบรรพชาอุปสมบท

3.ให้พระสังฆาธิการและพระอุปัชฌาย์ อบรมและกำหนดหลักเกณฑ์การประพฤติตนของพระภิกษุสามเณรในปกครองให้ดำรงตนเป็นหลักที่พึ่งทางใจและทางสติปัญญาของประชาชน และให้ขวนขวายบำเพ็ญกรณียกิจเพื่อประโยชน์ต่อชุมชน สังคมและประเทศชาติอย่างยั่งยืน

ช่างเป็นข่าวที่มีคุณูปการแก่พระธรรมวินัยโดยแท้ ในรอบ ๖๐ ปี หากกรรมการมหาเถรทำได้จริง และทำให้สิ่งที่พุทธบริษัททั้งแผ่นดินเขาอยากเห็น คือ

การกระจายอำนาจไปสู่คณะสงฆ์ มิใช่มากอดอำนาจ หวงอำนาจ อยู่กับท่านผู้เฒ่า ทั้งที่จะเดินแต่ละครั้ง ยังต้องอาศัยคนพยุง

การมีส่วนร่วมของพุทธบริษัทในทุกกรณี มิใช่หวงพระธรรมวินัยนี้ เอาไว้เฉพาะพระสงฆ์

การกวดขันการปกครองภิกษุสามเณรให้เป็นไปตามหลักพระธรรมวินัย มิใช้ต้องรอศาลทางโลกชี้ขาด ทั้งที่ต้องอาบัติปาราชิกเห็นๆ กันอยู่

การบริหารกิจการคณะสงฆ์ เพื่อเป้าหมายความเจริญรุ่งเรืองของพระธรรมวินัย มิใช่ความรุ่งเรือนของพวกพ้องและหมู่ญาติ

และหากมหาเถรยังเห็นว่ายศถาบรรดาสมณศักดิ์ ยังสำคัญต่อการปกครองคณะสงฆ์ ก็ควรจักเป็นการพระราชทานให้ หรือประทานให้โดยพระราชอำนาจหรือพระอำนาจของพระมหากษัตริย์หรือพระสังฆราช ซึ่งจะมีหลักการอย่างไรในการทรงพระราชทาน ก็ว่ากันไปตามหลักคุณธรรม คุณวุฒิ คุณสมบัติ

ไม่ใช่ให้ภิกษุแสดงความกระสันอยากได้ยศ ตำแหน่ง สมณศักดิ์จนต้องลงทุนจ้างกองเลขาของเจ้าคณะตำบล อำเภอ จังหวัด ภาค และเจ้าคณะหน ให้รังสรรค์เขียนประวัติ เสียโก้หรู เพื่อส่งมหาเถร ให้พิจารณาทั้งที่ยศถาบรรดาศักดิ์ และสมณศักดิ์เหล่านั้น ล้วนเป็นพระราชอำนาจและเป็นพระอำนาจทั้งสิ้น

โดยหลักคิดของพระธรรมวินัยที่แท้จริง ภิกษุสงฆ์องค์เณรไม่สมควรที่จะแสดงความกระสันทะยานอยากได้ ให้เป็นที่น่ารังเกียจเช่นในปัจจุบันนี้

ไหนๆ องค์สมเด็จพระสังฆราชได้ทรงปรารภ ให้กรรมการมหาเถรสมาคมดำเนินการ ให้พระภิกษุสามเณรประพฤติตนอยู่ในหลักธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด ให้สมฐานะของผู้สืบทอดพระพุทธศาสนาแล้วมหาเถรสมาคม ก็ควรจักพิจารณาด้วยหลักคิด ๒ ข้อคือ

๑. สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงฝากพระธรรมวินัยนี้ ให้ไว้แก่ภิกษุบริษัท ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา มิให้ผูกขาดโดยคณะสงฆ์กันอยู่ทุกวันนี้

๒. ผู้ปฎิบัติในพระธรรมวินัยนี้ต้องดำรงอยู่ด้วยหลักคิด ๘ ประการเหล่านี้คือ

ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อ

๑.วิราคะ ; ความคลายกำหนัด, ไม่ติดพัน มิใช่เพื่อความกำหนัดย้อมใจ การเสริมให้ติด

๒.วิสังโยค ; ความหมดเครื่องผูกรัด,ความไม่ประกอบทุกข์ มิใช่เพื่อผูกรัดหรือประกอบทุกข์

๓.อปจยะ ; ความไม่พอกพูนกิเลส มิใช่เพื่อพอกพูนกิเลส

๔.อัปปิจฉตา ; ความมักน้อย มิใช่เพื่อความมักมาก

๕.สันตุฏฐี ; ความสันโดษ มิใช่เพื่อความไม่สันโดษ

๖.ปวิเวก ; ความสงัด มิใช่เพื่อความคลุกคลีอยู่ในหมู่

๗.วิริยารัมภะ ; การประกอบความเพียร มิใช่เพื่อความเกียจคร้าน

๘.สุภาตา ; ความเป็นคนเลี้ยงง่าย มิใช่เพื่อความเลี้ยงยาก

ธรรมเหล่านี้พึงรู้ว่าเป็นธรรม เป็นวินัย เป็นสัตถุสาสน์ (คำสอนของพระศาสดา) ตรงข้าม

จากนี้ ไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่วินัย ไม่ใช่สัตถุสาสน์

ที่พุทธะอิสระต้องออกไปสู้ไปเสี่ยง จนจักต้องคดีข้อหากบฏ อยู่ทุกวันนี้ก็เพื่อความมั่นคงของพระพุทธศาสนา พระธรรมวินัย มิใช่ความมั่นคงของบุคคลหรือคณะบุคคลพวกพ้องใคร

หวังว่าพระดำริขององค์พระสังฆราชครั้งนี้ จักกระตุ้นต่อมสำนึกของกรรมการมหาเถร ให้หันมาใส่ใจและให้ความสำคัญต่อพระธรรมวินัย มากกว่าเผ่าพันธุ์และพวกพ้อง

พุทธะอิสระ