บรมครูทางจิตวิญญาณ

      
       จุดมุ่งหมายในการบวชของข้าพเจ้าครั้งนี้คือ ให้โอกาสกับชีวิตและจิตวิญญาณนี้ได้ฝึกหัด ปฏิบัติเรียนรู้ พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอย่างเต็มใจเต็มกำลัง กับบรมครูทางจิตวิญญาณของข้าพเจ้า คือ หลวงปู่พุทธะอิสระ โดยมีความคาดหวังในการเป็นผู้ออกจากเรือนในครั้งนี้ว่า จะสามารถเป็นผู้มีความสงบกาย วาจา ใจ และรู้จักหยุด(ได้บ้าง)
      
       สำหรับประสบการณ์ทางจิตวิญญาณที่ข้าพเจ้าได้รับนั้นมีมากมาย มิอาจบรรยายได้หมด แม้อาจจะไม่เป็นสิ่งที่สูงส่งหรือพิสดารนัก แต่ก็เป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าภูมิใจว่าได้ทำเต็มความสามารถแล้ว ส่วนที่นำมาถ่ายทอดนี้จะเน้นเกี่ยวกับการฝึกสติเท่านั้น ซึ่งข้าพเจ้าเข้าใจว่า การฝึกสติก็เพื่อให้เกิดสมาธิ คือ สมาธิเป็นผลของสติ การฝึกสติทำได้ทุกอิริยาบถ ไม่ว่าเดิน ยืน นั่ง นอน ซึ่งหลวงปู่บอกว่าแม้จะกิน ขี้ เยี่ยว ตด เรื่องทั้งหมดต้องพิสูจน์ทราบ ที่เน้นมากที่สุดคือ การมีสติในการทำงานโดยเฉพาะสภาวะที่คับขัน บีบคั้น จะต้องมีความระลึกอยู่หรือรู้เนื้อรู้ตัว ไม่ให้คิดผิด พูดผิด ทำผิด อยู่ทุกขณะจิต
      
       ในช่วงการบวชเกือบ ๓ เดือนนี้ ประสบการณ์ทางจิตวิญญาณหรือสิ่งที่ได้ฝึกหัดปฏิบัติเรียนรู้นั้น ข้าพเจ้าจะแบ่งออกเป็น ๓ ช่วง คือ ช่วงแรกเป็นการปฏิบัติด้วยศรัทธา ช่วงกลางเป็นการปฏิบัติด้วยวิริยะ และช่วงสุดท้ายเป็นการฝึกสติ
      
       ช่วงการปฏิบัติด้วยศรัทธา เป็นช่วงที่ข้าพเจ้าและพระนวกะทั้งหลายได้ศึกษาพระธรรมวินัยที่วัดอ้อน้อย ข้าพเจ้าเองเคยบวชมาแล้วแต่ไม่อยากบอกว่ากี่โบสถ์ (เพราะจะถูกหาว่าเป็นชาย ๓ โบสถ์ แต่หลวงปู่เคยวิสัชนาว่า ที่ว่าชาย ๓ โบสถ์นั้นหมายถึง คนที่เปลี่ยนศาสนาถึง ๓ ศาสนา ซึ่งแสดงว่ามีศรัทธาไม่แน่นอน) มีพระนวกะจำนวนไม่น้อยที่เคยบวชมาแล้ว บางรูปอายุเกือบ ๗๐ ปีแล้วยังมาบวช ซึ่งส่วนใหญ่มาด้วยความศรัทธาในองค์หลวงปู่พุทธะอิสระ และเป็นโอกาสอันเป็นมงคล เพราะการบวชครั้งนี้เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในพระชนมายุครบ ๗๒ พรรษา จึงทำให้ทุกคนตั้งใจปฏิบัติเป็นพิเศษ ข้าพเจ้าเข้าใจว่าความศรัทธานี้ทำให้พวกเราอยู่ร่วมกัน เอื้ออาทรต่อกัน มีงานอันใดที่ได้รับมอบหมายก็ร่วมกันทำจนสำเร็จ โดยหลวงปู่จะไม่ปล่อยให้พวกเราว่าง ท่านจะจัดกิจกรรมให้ตลอด แต่ไม่ใช่เป็นการรับกิจนิมนต์ใดๆ การที่หลวงปู่ให้เราทำงาน...ทำงาน...และทำงานนั้น ข้าพเจ้าคิดว่าเพราะการทำงานทำให้เราได้ฝึกหัดปฏิบัติเรียนรู้จากประสบการณ์ จริง ไม่ใช่จากการจำ การท่องตำรา
      
       สิ่งที่ข้าพเจ้าตั้งใจทำและทำได้ตลอดการบวชคือการฝึกกาย ซึ่งที่ต้องทำประจำคือการทำวัตรเช้า-เย็น และการทำงานโดยไม่นอนกลางวัน เมื่อก่อนข้าพเจ้าไม่ใช่เป็นคนตื่นเช้าเท่าใดนัก แต่ตลอดการบวชข้าพเจ้าก็สามารถตื่นตั้งแต่ตี ๔ มาทำวัตรเช้า พยายามไม่มาสาย และไม่โงกง่วงตลอดการบวช ทั้งๆที่ถ้าหากนึกถึงการตื่นนอนในช่วงฤดูหนาว ที่หนาวเหน็บที่สุดในรอบ ๑๐ กว่าปีที่ผ่านมา(มีแค่ผ้าห่มผืนเดียว คือผ้าไตรครอง แต่ช่วงหลังมีผ้าห่มและอุปกรณ์กันหนาวจากการอนุเคราะห์ของญาติโยม ซึ่งข้าพเจ้ายังรำลึกถึงบุญคุณจวบจนทุกวันนี้ และตระหนักถึงความเป็นอยู่ของพระว่าขึ้นอยู่กับศรัทธาของญาติโยมจริงๆ) บางวันอุณหภูมิช่วงเช้าประมาณ ๑๐ องศาเซลเซียส หลายคนแทบไม่อยากจะตื่น แต่หลังจากได้ยินเสียงระฆังครั้งแรกก็ต้องตื่นขึ้นมาพร้อมกับหอบเครื่องอัฏฐ บริขารไปทำธุระส่วนตัว แล้วรีบห่มจีวรเพื่อไปทำวัตรเช้าประมาณตีสี่ครึ่ง ข้าพเจ้าเห็นว่าช่วงนี้เป็นการฝึกสติอย่างยิ่ง คือ เมื่อตื่นก็ต้องตื่นทั้งกายและใจ จะมางัวเงียอยู่ไม่ได้ และจะลืมสิ่งนั้นสิ่งนี้ไม่ได้ เพราะจะทำให้ไปสายและไปหลับต่อในขณะทำวัตร ผลที่ได้จากการปฏิบัติเช่นนี้คือ ถ้าเราเริ่มเช้าวันใหม่ด้วยสติ มีการเจริญพระพุทธมนต์ รับคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติแล้วเจริญสติ เราจะมีวันที่สดใส ปลอดโปร่งตลอดวัน มีพลังในการทำการงานต่างๆอย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าไม่เชื่อท่านที่ยังไม่ได้ทำก็ลองทำดู
      
       คราใดที่ข้าพเจ้าทำวัตรแล้วรู้สึกว่าไม่ได้สาธยายมนต์ด้วยความตั้งใจ เพื่อให้เข้าใจอย่างซาบซึ้ง ข้าพเจ้าจะมองไปที่พระอชิตะที่ยืนอุ้มบาตรอยู่ข้างขวาของพระประธานในโบสถ์ วัดอ้อน้อย แล้วนึกถึงเรื่องราวของพระอชิตะที่หลวงปู่เล่าให้พวกเราฟัง ข้าพเจ้าเข้าใจเอาเองว่า คงด้วยอธิษฐานบารมีที่เปี่ยมไปด้วยพลังศรัทธา ที่ทำให้พระอชิตะสามารถหาบาตรของพระพุทธเจ้าได้ทั้งๆที่เพิ่งบวชใหม่ และต้องแข่งกับพระอรหันตสาวกทั้งหลายที่มีฤทธิ์เดชมากมาย ข้าพเจ้าคิดว่าตัวเองก็คงมีพลังศรัทธาในพระพุทธศาสนานี้มากพอควรจึงได้มี โอกาสบวชอีกครั้ง และสามารถฝึกกายให้เป็นกิจวัตรได้ในช่วงของการบวช และก่อนจะสึกจากพระคราวนี้ขณะดึงสังฆาฏิออก ข้าพเจ้าก็อธิษฐานขอให้ได้บวชในพระพุทธศาสนานี้อีกในอนาคตกาล
      
       ในช่วงกลางซึ่งข้าพเจ้าถือเป็นการปฏิบัติด้วยวิริยะ เป็นการเดินทางไปเข้าร่วมการอบรมพระวิปัสสนาจารย์ ที่วัดปลักไม้ลาย ประมาณ ๑ สัปดาห์ และที่วัดวังตะกูอีก ๒ สัปดาห์ ซึ่งหลวงปู่มีฐานะเป็นเลขานุการของคณะพระวิปัสสนาจารย์ จังหวัดนครปฐม ข้าพเจ้าคิดว่าหลวงปู่ต้องการฝึกให้พวกเราได้เริ่มรู้จักธุดงควัตร เรียนรู้หลักการของมหาสติปัฏฐานสูตร รับรู้สภาพจริงๆของคณะสงฆ์ส่วนใหญ่ และการฝึกอดทนต่อสิ่งไม่ชอบใจทั้งหลาย
      
       ข้าพเจ้าเริ่มเข้าใจข้อความที่หลวงปู่กล่าวไว้ในหนังสือ 'อุดมการณ์การดำรงพันธุ์ ถึงวิถีชีวิตของภิกษุว่า "มีชีวิตประดุจปุยเมฆท่องไปในอากาศ" ก็ตอนที่เดินทางไปวัดปลักไม้ลาย ซึ่งเป็นการออกจากวัดโดยการเดินเป็นครั้งแรก แต่ส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจวิถีของภิกษุ จึงเดินแบกของกันพะรุงพะรังไปตามทางลูกรังจนฝุ่นตลบ กว่าจะถึงวัดปลักไม้ลายก็อ่อนล้าไปตามๆกัน ดังนั้น ทำให้ข้าพเจ้าคิดได้ว่า สิ่งที่เราคิดว่าเป็นของจำเป็น เมื่อเราต้องแบก(บางคนหาม)ไปเองแล้ว พอเดินไปนานเข้าเราจะรู้สึกว่าความจำเป็นมันลดลง เพราะภาระที่เราต้องแบกมัน ข้าพเจ้าคิดถึงบทสวดมนต์ที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า "ภารา หะเว ปัญจักขันธา" ขันธ์ทั้ง ๕ เป็นของหนักเน้อ และรู้ว่าการแบกของหนักเป็นความทุกข์ในโลกจริงๆก็คราวนี้แหละ
      
       จากการเดินทางครั้งนี้เป็นผลให้เกิดการเรียนรู้เรื่อง"สิ่งจำเป็น" ทำให้การแบกสัมภาระไม่เป็นปัญหาในการเดินทางไปวัดวังตะกูและการไปธุดงคสถาน ลำอีซู ข้าพเจ้ารู้แล้วว่าคนที่เดินไปไกลที่สุดก็คือคนที่แบกอะไรๆไว้น้อยที่สุด
      
       สิ่งที่ข้าพเจ้าไดฝึกมากที่สุดในช่วงนี้ก็คือ ความเพียรในการดำรงสติ เพราะการไปเข้าร่วมอบรมพระวิปัสสนาจารย์ ที่วัดปลักไม้ลายและวัดวังตะกูนั้น ส่วนใหญ่เป็นการนั่งปฏิบัติและฟังวิทยากรพูด ข้าพเจ้าต้องทนกับความปวดเมื่อยของกล้ามเนื้อจากการที่ต้องนั่งนานๆ สภาพอากาศที่หนาวเหน็บและต้องผจญกับยุงยักษ์(บางคนบอกว่าอาจทำให้เราเซได้ เวลามันบินชน) แต่ที่ทนได้ยากที่สุดคือ คำพูดและคำสอนของพระบางรูปที่สอนผิดเพี้ยนและพูดหยาบคาย แต่สิ่งที่เป็นกำลังใจให้ข้าพเจ้าสามารถทนได้ก็คือ แบบอย่างของการใช้มหาสติปัฏฐานด้วยความอดทนอย่างยิ่งในการทำให้ดู เป็นครูให้เห็น ของหลวงปู่ ข้าพเจ้าได้เห็นหลวงปู่ขึ้นไปประชุมเป็นคนแรกๆเป็นส่วนใหญ่(ประมาณตี ๓ เศษ) โดยต้องวางแผนการประชุม เป็นวิทยากร เป็นผู้ตอบคำถาม ซึ่งบางคนถามเป็นการประณาม ว่ากล่าวหลวงปู่โดยตรงหรือคณะผู้จัดการประชุม หลังจากเลิกประชุมแล้วท่านก็ต้องเตรียมการประชุมวันถัดไปอีก กว่าจะเสร็จประมาณ ๔ ทุ่ม และบางคืนก็มีพระไปปรึกษาถามปัญหาต่อที่กลดของหลวงปู่อีก แม้ว่าวันท้ายๆข้าพเจ้าเห็นว่าท่านป่วย เจ็บคอมาก ท่านบอกว่ามีเลือดออกในคอ แต่ท่านก็ไม่ได้แสดงอาการให้เห็นว่าย่อท้อหรือเบื่อหน่ายเลย สิ่งที่ข้าพเจ้าประทับใจมากคือ หลังจากกลับมาจากวัดวังตะกูได้หนึ่งวัน หลวงปู่บอกว่าจะขอไปรักษาตัวที่ลำอีซู ๒-๓ วัน แต่ท่านก็สอนสรุปเกี่ยวกับมหาสติปัฏฐาน ๔ เพื่อให้ได้ความที่ครบถ้วน แม้จะเป็นเสียงของคนที่เจ็บคอ แต่ข้าพเจ้าได้รับรู้ถึงความเมตตาอันไม่มีประมาณของหลวงปู่ และเนื้อหาก็จับใจมาก ข้าพเจ้าเห็นว่าอาจเป็นประโยชน์กับผู้ที่ไม่มีโอกาสได้ยินได้ฟัง จึงขออนุญาตนำมาถ่ายทอดในโอกาสนี้
      
       "มหาสติปัฏฐาน ๔ ไม่ได้มีเฉพาะแค่เจริญสติเท่านั้น มันมีไว้เตือนเรา ให้กลายเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น และมีชีวิตเบิกบาน ความหมายของผู้รู้ ผู้ตื่น และมีชีวิตเบิกบานนั้น ไม่ใช่นั่งหลับตาหรือท่องจำ แต่มันคือกระบวนการปลุกจิตสำนึก จิตวิญญาณ ความคิดอ่าน ประสาทสัมผัส และความรับรู้ในกายเราให้ตื่นและเบิกบานขึ้นมาด้วย มันจะตื่น เบิกบาน ทั้งขณะมีชีวิตและหลังจากสิ้นชีวิต
      
       มหาสติปัฏฐาน ๔ เป็นคุณสมบัติของสัตบุรุษ ของเอกบุรุษ ของมหาบุรุษ และของอริยบุรุษ บุรุษที่มีมหาสติปัฏฐานคือ บุรุษผู้ชาญฉลาด แกร่งกล้า องอาจ สง่างาม เป็นบุรุษผู้มีชัยชนะในโลก คนที่มีมหาสติปัฏฐานคือ คนที่มีชัยชนะต่อทุกสิ่ง เพราะฉะนั้น ความหมายของมหาสติปัฏฐาน คือ ตลอดระยะเวลา ๑๕ วันที่ผ่านมานี้(การอบรมพระวิปัสสนาจารย์ที่วัดวังตะกู) ผมทำตัวอย่างให้ท่านได้ดูแล้ว ทั้งทำให้ดู ทั้งเป็นครูให้เห็น ทั้งชี้นำพวกท่านให้ทำตามได้เป็น วิถีชีวิตทั้ง ๑๕ วันที่ผมอยู่สอนและอบรมพระทั้งจังหวัด ๓๐๐ กว่ารูป รวมทั้งพวกท่านด้วย เป็นวิถีชีวิตที่ผมใช้มหาสติปัฏฐาน ๔ ไม่ว่าจะเป็นการทำตัวให้เห็นหรือมีชีวิตอยู่อย่างปกติให้เขาเห็น ชี้แจง ตอบปัญหา หรือไม่ว่าจะเป็นการแสดงไว้ซึ่งความไม่หวั่นไหว แต่มั่นคง ไม่สั่นคลอนหรือโยกโคนต่ออิฏฐารมณ์หรืออนิฏฐารมณ์ใดๆที่เขาจะประณาม หยามเหยียด หรือยกย่องสรรเสริญ คนที่มีมหาสติปัฏฐานเปรียบดั่งขุนเขาที่ยิ่งใหญ่ที่ยืนอยู่อย่างไม่หวั่น หวาด ต้านทานแรงลมและพายุร้ายได้อย่างองอาจสง่างาม
      
       เพราะฉะนั้น มหาสติปัฏฐานมันใช้ได้ทุกอิริยาบถ เราอาจรู้สึกว่า วันนี้ ชั่วโมงนี้ นาทีนี้ เราหลงลืมไป ขาดสติไป แต่เมื่อระลึกรู้ได้ ก็ต้องเรียกกลับมาให้มันรับรู้อิริยาบถนั่ง อิริยาบถยืน อิริยาบถเดินหรือนอน เมื่อรับรู้อิริยาบถเบื้องต้นแล้ว จึงไปรับรู้เรื่องละเอียดลึกๆต่อไป ในข้อ กายบรรพ ใช้ได้ทุกข้อ ทุกเวลา ทุกโอกาส เช่นเรารู้ว่าขณะนี้เรากำลังนั่ง ก็ส่งความรู้สึกลึกๆเข้าไปสำรวจดูว่า ขณะนี้โครงร่างของเรากำลังนั่ง ขณะนี้เรากำลังฟัง ก็ใช้สติสัมปชัญญะรับรู้ทางประสาท ประสาทที่เกิดจากโสตสัมผัส หูที่ได้ยินเสียง กระทบเป็นอารมณ์ โดยไม่ได้ปรุงแต่งมัน เพียงแค่รับรู้เฉยๆ สัญญาจะทำหน้าที่เก็บข้อมูล สัญญาก็จะบริสุทธิ์ ไม่มีข้อใดเคลือบแคลง ระแวงสงสัย ไม่มีมลภาวะ จิตที่เกิดทุกดวงมีสัญญาทุกดวง จะเก็บข้อมูลที่เป็นมงคล สันติ ถูกต้อง และชาญฉลาดเอาไว้ เวลาจะใช้ก็ไม่ต้องไปนึกมัน มันจะแสดงผลออกมาเอง เหล่านี้เป็นกติกา เป็นเทคนิคของผู้ฝึกมหาสติปัฏฐาน เป็นชีวิตของการเรียนรู้ ชีวิตของการฝึกปรือ ไม่ใช่ชีวิตของการปล่อย เหมือนว่าวที่ถูกตัดสายป่านให้ลอยไปในอากาศ มันเป็นชีวิตของการค่อยๆพยุงไม่ใช่บังคับ มันเอนก็จับมันตั้ง มันเซก็ต้องอย่าให้มันทรุด มันล้มก็อย่าถึงกับนอน มันนอนก็ต้องรู้จักลุก มันแพ้ก็รู้จักปล่อยวางแล้วหาวิธีที่ชาญฉลาด มหาสติปัฏฐานเป็นเทคนิคหรือศิลปะในการดำเนินชีวิต เราจะรู้จักตัวเราว่าสถานการณ์อย่างนี้เราจะทำตัวอย่างไร
      
       คนที่เรียนมหาสติปัฏฐานต้องชาญฉลาด รู้เท่าทันสภาวธรรม คนเรียนมหาสติปัฏฐานไม่ใช่คนโง่ ไม่ใช่คนไม่รู้อะไร ไม่ใช่คนที่จะจำอะไร แต่เป็นคนที่เรียนรู้อะไร เพราะถ้าเราเพียรพยายามที่จะจำ มันจะเป็นมหาสติปัฏฐานไปไม่ได้ มันเป็นตัวการที่ไปทำสัญญา หรือไม่ใช้สัญญา จะผิดวิถีทางของมหาสติปัฏฐาน ๔ สติกับปัญญามันคนละเรื่องกัน
      
       เวลาที่พวกท่านฟังธรรมจากพระไตรปิฎก หรืออ่านพระไตรปิฎก ขอให้อ่านเรื่องเกี่ยวกับกรรม แล้วท่านก็เอาสติสัมปชัญญะที่มีทั้งหมดของท่าน แต่ถ้าไม่รู้จักมันก็เอาความรู้สึกทั้งหมด ใคร่ครวญไตร่ตรอง พิจารณา รับทราบ วลี ถ้อยความตามการอ่านนั้นๆ พิจารณาตามอย่างตั้งใจ แล้วขึ้นมาแสดงความคิด มาตีความในพระธรรมว่าเข้าใจว่าอย่างไร และถ้าท่านฟังด้วยสติสัมปชัญญะที่บริบูรณ์และบริสุทธิ์ ท่านก็จะเข้าถึงความหมายของพระธรรมนั้นได้อย่างแจ่มแจ้ง ผมไม่อาจจะพูดได้ว่า เข้าใจถึงหัวใจของพระพุทธเจ้า แต่ผมอาจพูดได้ว่าท่านเข้าใจความหมายแห่งพระธรรมนั้นได้อย่างแจ่มแจ้ง อย่างนี้เรียกว่า รู้จริงไม่ต้องจำ ความแจ่มแจ้งแทงตลอดในอรรถพยัญชนะที่เราฟัง มันเป็นวิธีการที่ทำให้มหาสติปัฏฐานที่เราทำ สร้างปัญญาในการรู้เข้าใจวิจารณ์ธรรม แล้วเราจะมีปัญญามากกว่าคนอื่น มีสายตาที่มองได้ยาวไกลกว่า มีหูที่ฟังเสียงได้ละเอียดกว่า จมูกได้กลิ่นมากกว่า ลิ้นได้รส และการถูกต้องสัมผัสสิ่งแวดล้อมและบรรยากาศรอบข้างได้ละเอียดรอบคอบกว่าคน อื่น ประสาทสัมผัสของเราจะตื่นในการรับรู้ได้มากกว่าคนอื่นและตื่นตลอดเวลา"
      
       ช่วงสุดท้ายเป็นช่วงเดินทางไปธุดงค์ที่ลำอีซู จ.กาญจนบุรี จนกระทั่งพวกเราส่วนใหญ่ครบกำหนดสึก ข้าพเจ้าพบว่าพลังของความศรัทธาและความเพียรที่ได้ปฏิบัติมา ก่อให้เกิดพลังของสติจนกลายเป็นสมาธิ ข้าพเจ้ารับรู้ได้จากความสุขสงบในจิตวิญญาณของตัวเองขณะฝึกวิชาขันธมารครั้ง สุดท้ายซึ่งต่างจากสองครั้งแรกมาก (วิชาขันธมารเป็นวิชาเฉพาะของอารามธรรมอิสระแห่งนี้ ซึ่งฝึกเฉพาะพระ ในความเห็นของข้าพเจ้าคิดว่าเป็นการเจริญสติในภาวะบีบคั้น ซึ่งเป็นการจำลองสภาวะให้เหมือนกับการต้องเผชิญภาวะบีบคั้นในชีวิตจริง) ความสุขสงบนี้มีมากขึ้นเมื่อพวกเราเดินทางไปธุดงคสถานลำอีซู ข้าพเจ้าเข้าใจแล้วว่า ทำไมหลวงปู่จึงไม่พาพวกเราไปธุดงค์ในป่าตั้งแต่ต้น เพราะถ้าพวกเรายังไม่เงียบกว่าป่า ไม่สว่างกว่าป่า จะไม่สามารถสัมผัสวิญญาณแห่งธรรมชาติของป่าได้ จนเมื่อพวกเรามีพลังแห่งสติเพียงพอแล้วเท่านั้น จึงจะได้ประโยชน์จากการไปอยู่ป่า
      
       หลวงปู่สร้างธุดงคสถานลำอีซูจากป่าที่ถูกทำลายให้กลับมาเป็นป่าเขียว ขจี เป็นธรรมชาติที่เหมาะกับการปฏิบัติธรรม หรือที่เรียกว่าสัปปายธรรม ไม่ว่าจะเป็นที่พัก(ซึ่งจริงๆเป็นแค่กลด) อาหาร ซึ่งอาจจะมีข้อติคือ ดีเกินไปสำหรับการอยู่ป่า อากาศที่กำลังดี(ทราบว่าหลวงปู่รอจนอากาศอุ่นขึ้น ค่อยพาพวกเราเข้าป่า) บุคคลรอบข้างที่เป็นกัลยาณมิตร ระยะทางในการบิณฑบาต การอยู่ในอิริยาบถที่สบาย และที่สำคัญที่สุดคือ กถาสัปปายะ หลวงปู่ได้เมตตาสอนและตอบปัญหาในการปฏิบัติ ในความเห็นของข้าพเจ้าและภิกษุบางรูปพบว่า สิ่งที่ท่านสอนเป็นการตอบปัญหาในการปฏิบัติโดยพวกเราไม่ต้องถาม และสิ่งที่ประทับใจข้าพเจ้ามากคือ ความเป็นบรมครูของหลวงปู่ที่เป็นตลอดเวลาและทุกขณะ มีหลายวันในช่วงหลังเพลที่ท่านเดินมาเตือนพวกเราให้ตั้งใจฝึก(คงกลัวพวกเรา หลับ) การเตือนจะเป็นลักษณะเหมือนการตีฆ้องร้องป่าวในสมัยก่อน โดยท่านจะพูดไม่ซ้ำกันในแต่ละวัน พระอุปฐากที่เดินตามมาจะเคาะฝาบาตร ๓ ครั้ง แล้วหลวงปู่ตะโกนว่า "ระวังอย่าหนีเที่ยว เดี๋ยวเสือจะคาบไป!" เป็นการเตือนสติให้พวกเรารู้ว่าอะไรที่หนีเที่ยว และอะไรคือเสือที่จะคาบเราไปกิน
      
       การที่ข้าพเจ้าเขียนประสบการณ์ทางวิญญาณขึ้นนี้ ไม่อาจตอบแทนพระคุณแห่งพระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระมหาโพธิสัตว์เจ้าทั้ง หลายได้ แต่ข้าพเจ้าและพวกเราหลายคนได้สัมผัสขณะที่บวช และโดยเฉพาะขณะที่กำลังดึงสังฆาฏิออกในวันสึกก็คือ ความรู้สึกในการบวชครั้งนี้เหมือนได้มีโอกาสสัมผัสความรักอันบริสุทธิ์ ความเมตตาอันไม่มีประมาณ และปัญญาญาณแห่งพุทธะของพระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระมหาโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลาย ซึ่งมีอยู่เช่นนี้และคงอยู่ตลอดไป ไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยใด ผู้คนในศาสนานี้จะทำตัวอย่างไร สัจธรรมเหล่านี้ก็คงอยู่รอพวกเราไปสัมผัสพิสูจน์ทราบตลอดไป
      
       อดีตพระสิทธิชัย สนตกาโย
       ภิกขุเฉลิมพระเกียรติ
      
       ความคิดความเชื่อที่เปลี่ยนไป
      
       ก่อนอื่นต้องขอเกริ่นว่า เมื่อราวเดือนกุมภาพันธ์ ปี ๒๕๔๐ กระผมได้มาวัดอ้อน้อย(ธรรมอิสระ) กับเพื่อนๆ ๔-๕ คน เพื่อมาขอให้หลวงปู่ช่วยเหลือผู้ป่วยคนหนึ่ง ปกติผมเป็นคนที่ไม่ค่อยได้เข้าวัดอยู่แล้ว แต่ได้เกิดศรัทธาในตัวหลวงปู่ตั้งแต่วันแรกที่ได้พบ เพราะรู้สึกว่าท่านจะรู้ว่ากระผมกำลังคิดอะไรอยู่ในขณะที่กำลังสนทนากับท่าน ซึ่งแต่ไหนแต่ไรมาผมไม่เคยเชื่อเลยว่า จะมีใครที่สามารถรู้ว่า อีกคนหนึ่งกำลังคิดอะไรอยู่ และไม่เชื่อว่าจะมีผีสาง เทวดา ไม่เชื่อว่าตายแล้ววิญญาณจะไปเกิดใหม่ แต่เชื่อว่าตายแล้วก็จบแค่นั้น ไม่มีวิญญาณอะไรไปเกิดใหม่
      
       ต่อมาผมก็มาที่วัดอ้อน้อยเป็นบางโอกาส แต่ก็หลายครั้งเหมือนกัน ได้ฟังปุจฉา-วิสัชนา ซึ่งหลวงปู่แสดงธรรมที่วัดบ้าง ซื้อเทปไปฟังบ้าง ซื้อหนังสือไปอ่านบ้าง ทำให้ความคิด ความเชื่อเดิม เริ่มเปลี่ยนไป ตอนนี้ผมเชื่อแล้วว่า ผี เทวดา พรหม ยักษ์ นาค คนธรรม์ ฯลฯ มีได้หมด ไม่ใช่มีแต่ในหนังสือตำนานเท่านั้น เพียงแต่เราไม่สามารถสัมผัสได้ และยังเชื่อด้วยว่าหลวงปู่สามารถรู้ว่า ใครกำลังคิดอะไรอยู่ จากการที่ชีวิตนี้ผมไม่เคยตักบาตรเลย ก็ได้มาตักบาตรครั้งแรกที่วัดอ้อน้อยแห่งนี้
      
       เมื่อวัดอ้อน้อย โดยทางมูลนิธิธรรมอิสระ จัดให้มีการอุปสมบทพระจำนวน ๗๓ รูป เป็นเวลา ๗๓ วันเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๖ รอบ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น กระผมเลยถือโอกาสนี้บวช เพราะศรัทธาในตัวหลวงปู่อยู่แล้ว ทั้งๆที่ในชีวิตนี้ไม่เคยคิดที่จะบวชเลย อายุก็ย่างเข้า ๕๑ ปีแล้ว ก่อนบวชก็หวังที่จะได้เรียนการฝึกสติจากหลวงปู่ เมื่อได้เข้ามาบวชแล้วก็ไม่ผิดหวัง เพราะท่านได้เมตตาสอนการเจริญสติ ซึ่งแบ่งออกเป็น ๔ แบบ คือ
      
       ๑. การพิจารณาโครงกระดูก
       ๒. การกำหนดลมหายใจเข้า-ออก (อานาปานสติ) และ การกักลมหายใจ
       ๓. การถ่ายเทน้ำหนักตัวไปเท้าซ้ายและขวา สลับกัน
       ๔. การเดินจงกลม
      
       การเจริญสติที่หลวงปู่สอน ไม่ใช่การนั่งหลับตาเพียงอย่างเดียว แต่มีทั้งอิริยาบถการเคลื่อนไหวด้วย(การถ่ายเทน้ำหนักและการเดินจงกรม) จริงๆแล้วต้องฝึกให้มีสติในทุกอิริยาบถ นอกจากนี้หลวงปู่ยังสอนว่า การทำวัตรเช้าและเย็น ให้ตั้งใจเจริญพระพุทธมนต์ ให้สวดอย่างจริงจัง จดจ่อ ตั้งใจ ซึ่งก็เป็นการเจริญสติอย่างหนึ่ง
      
       การบวชครั้งนี้ได้มีโอกาสเข้าฟังการอบรมพระวิปัสสนาจารย์ ที่วัดปลักไม้ลาย และที่วัดวังตะกู ซึ่งนับว่าโชคดีอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสฟังการบรรยายจากพระอาจารย์วิปัสสนา จากวัดต่างๆ และจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ เชื่อว่าพระภิกษุหลายรูปที่บวชมาแล้วหลายพรรษายังไม่มีโอกาสอย่างนี้เลย
      
       นอกจากนั้น การบวชครั้งนี้ยังได้มีโอกาสธุดงค์เข้าป่าที่ลำอีซู จังหวัดกาญจนบุรี อีกด้วย จากประสบการณ์ทั้งสองอย่างนี้ ทำให้กระผมเห็นว่า การเจริญสติเป็นเรื่องไม่ง่าย และหลายคนยังไม่เข้าใจหรือเข้าใจผิด คิดว่าต้องนั่งหลับตานิ่งๆ ไม่กระดุกกระดิก สำหรับกระผมเองนั้นแม้ว่าจะเข้าใจในการเจริญสติแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีความก้าวหน้าเท่าไหร่ รู้ตัวว่ายังไม่ตั้งใจและเด็ดเดี่ยวพอ แต่ก็จะพยายามตั้งใจทำต่อไป ไม่ละเลิกเด็ดขาด
      
       ไม่เพียงแต่ได้หลักการเจริญสติที่เข้าใจง่ายๆแล้ว การแสดงธรรมหรือการตอบคำถามของหลวงปู่ก็ยังเป็นคำพูดที่ง่ายๆ เรียกว่าฟังง่าย เข้าใจง่าย ไม่ต้องกังวลว่าจะไม่รู้คำศัพท์บาลี สันสกฤต เพียงแต่ฟังแล้วต้องคิดและคำดุด่าของหลวงปู่ก็เจ็บลึก ฉุดกระชากจิตวิญญาณให้ตื่นได้ดีมาก ผมไม่รู้สึกโกรธหรือเกลียดเมื่อถูกว่าตักเตือนเลย แถมยังรู้สึกทึ่งในความเฉลียวฉลาดของท่านที่พยายามสอดแทรกเกร็ดความรู้ใน เรื่องต่างๆ ในระหว่างฉันเพลเสร็จใหม่ๆ
      
       ท้ายที่สุดนี้ อยากให้คนที่สนใจเรื่องพลังต่างๆที่เหนือกว่าคนธรรมดาปกติทั่วไป เช่น พลังจักรวาล พลังกายทิพย์ พลังกุลธาริณี ชี่กง ฯลฯ และคนที่ไม่เชื่อเรื่องผีสาง วิญญาณ ได้มีโอกาสมาสัมผัสกับหลวงปู่โดยตรง หรืออย่างน้อยได้ฟังเทปหรืออ่านหนังสือของท่าน โดยเฉพาะบทโศลก กระผมเชื่อมั่นว่าพวกท่านจะได้รับความรู้ความกระจ่างมากขึ้นในทุกๆเรื่อง
      
       ภิกขุ จนฺทวํโส
      
        แรงบันดาลใจ
      
       กว่าที่ข้าพเจ้าจะได้ลงมือเขียนเล่าประสบการณ์ในการบวชอยู่กับหลวง ปู่พุทธะอิสระนี้ ก็กินเวลามาร่วมเดือนเศษแล้วหลังจากลาสิกขาบท ทั้งนี้ก็ด้วยความรู้สึกที่ว่า ข้าพเจ้ายังมิได้เป็นครูต่อตัว ข้าพเจ้าเองอย่างดีพอ จึงมีกล้าเล่าประสบการณ์ที่ยังปนไปด้วยด้วยความด้อยปัญญาของข้าพเจ้า ดังนั้นข้าพเจ้าจึงขอบอกกล่าวไว้ก่อนว่า ประสบการณ์และการตีความในข้อเขียนนี้ ย่อมผสมผสานไปด้วยระดับปัญญาของผู้เขียน ขอท่านได้โปรดวิเคราะห์ใคร่ครวญหาเอาแต่ประโยชน์ที่จะพึงมี หากประโยชน์ใดเกิดมีแก่ท่าน ขอท่านได้เผื่อแผ่กุศลนี้ให้แก่โลกและสังคมสืบไป เพื่อความสุขอันจักพึงมีแก่สัตว์ทั้งปวงด้วยเถิด
      
       เมื่อข้าพเจ้าได้พบหลวงปู่เป็นครั้งแรกก็แปลกใจว่า ดูแล้วยังหนุ่มอยู่แต่ไฉนจึงเรียกกันว่าหลวงปู่ แต่พอได้อ่านเรื่องราวของหลวงปู่จากหนังสือ 'อยู่กับปู่' 'ประสบการณ์ทางวิญญาณแห่งศิษย์พุทธะ' และ 'ริ้วรอยเทพยดา' จึงพอเข้าใจมากขึ้น หลังจากนั้นได้ฟังเทปธรรมะของท่านก็รู้สึกประทับใจและเกิดความรู้สึกโล่งเบา สบายอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน จึงได้รู้ว่าธรรมะช่างวิเศษและหอมหวานเสียจริง
      
       ข้าพเจ้าได้มีโอกาสเข้ามาช่วยงานฝังลูกนิมิต ของวัดอ้อน้อย ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ โดยรับผิดชอบในส่วนตักบาตรสตางค์ และได้เข้ามาร่วมปฏิบัติธรรมในอีกหลายๆโอกาส บรรยากาศต่างๆ ภายในวัด ไม่ว่าจะะเป็นสถานที่ที่จัดวางไว้อย่างลงตัว และญาติธรรมที่มีน้ำใจเอื้ออารี ช่างเป็นบรรยากาศที่สว่าง สะอาด สงบ และร่มรื่นยิ่งนัก ทำให้จิตใจที่สับสนวุ่นวายกลับกลายเป็นสงบสันติได้อย่างประหลาด นี่ล่ะหรือความสุขที่ได้จากการอาศัยภายใต้ร่มเงาแห่งโพธิญาณ ซึ่งแม้จะอยู่เพียงภายในขอบเขตแห่งวัดอ้อน้อย ในใจข้าพเจ้าพลันคิดว่า เป็นไปได้ไหมที่สังคมไทยเราจะมีบรรยากาศเช่นนี้
      
       ครั้นเมื่อได้ทราบข่าวว่าหลวงปู่ได้มีเมตตาจัดบวชพระ-เณร เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในวโรกาสเจริญพระชนมายุครบ ๗๒ พรรษา ข้าพเจ้าจึงไม่รีรอที่จะสมัครบวช
      
       ทั้งนี้เนื่องด้วยความประจวบเหมาะในหลายๆ เรื่อง ทั้งเหตุผลและเวลา เหตุผลสำคัญที่สุดคือ ข้าพเจ้าเสียมารดาไปเมื่อกลางปี ๒๕๔๑ แต่ข้าพเจ้ายังไม่มีโอกาสตอบแทนพระคุณอย่างเพียงพอ จึงถือเอาโอกาสนี้เป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ด้วย แม้ว่าอาจทดแทนได้เพียงแค่เสี้ยวหนึ่งต่อสิ่งที่มารดามีให้แก่ข้าพเจ้าก็ตาม
      
       ข้าพเจ้ารู้สึกภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้บวชฉลองโบสถ์จุฬามณีเป็นรุ่น แรก ในงานวันบวชผู้คนหลั่งไหลมามากมาย ยิ่งทำให้งานบวชครั้งนี้แลดูยิ่งใหญ่ พระผู้ใหญ่ที่เมตตามาเป็นพระอุปัชฌาย์ก็เป็นถึงเจ้าคณะจังหวัดและรองเจ้าคณะ จังหวัด
      
       เมื่อข้าพเจ้าบวชเสร็จและเปลี่ยนเครื่องแต่งกายจากชุดนาคเป็นจีวร เหล่าฆราวาสก็ก้มลงกราบ แม้กระทั่งคนรุ่นตารุ่นยายก็ยังกราบไหว้ ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกเขินๆ ขณะที่ในใจก็คิดว่า เราเพียงแค่เปลี่ยนสถานภาพเป็นภิกษุเท่านั้นก็ยังได้รับความเคารพเช่นนี้ ดังนั้นเราควรที่จะปฏิบัติให้ได้อย่างน้อยก็เป็นที่ควรแก่การได้รับความ เคารพนับถือ อย่างไรก็ตามนั่นเป็นเพียงแต่ความคิดที่ล่องลอย ขาดการรองรับจากการปฏิบัติจริง เพราะเพียงปฏิบัติไปได้ไม่กี่วัน ข้าพเจ้าก็พบกับอุปสรรคสำคัญคือ ความง่วงเหงาหาวนอน ซึ่งเป็นหนึ่งในนิวรณ์ ๕ คือ ถีนะมิทธะ และดูเหมือนว่าพระนวกะอีกหลายรูปก็กำลังเผชิญกับปัญหานี้อยู่ จึงได้ถามหลวงปู่ว่า จะปฏิบัติต่อความง่วงอย่างไร คำตอบที่ได้รับคือ จงอย่าปล่อยให้ตัวเองหลงไปอยู่กับความง่วงนั้น ต้องหาวิธีอันแยบคายที่จะขจัดมันเสีย ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนอิริยาบถ เช่น หากนั่งอยู่ก็ให้ยืน ยืนแล้วยังไม่หายง่วงก็เปลี่ยนเป็นเดิน เดินแล้วยังไม่หายก็ไปล้างหน้า ล้างหน้าแล้วก็ไม่หายก็ตบหน้าตัวเองแรงๆสักฉาด เอาให้สติกลับคืนมาอยู่กับเนื้อกับตัว หรือไม่ก็เดินลมหายใจที่หลวงปู่สอนก็ได้ โดยหายใจเข้าช้าๆ ลึกๆ และหนักแน่น แล้วกักลมไว้ให้นานที่สุด ถึงขนาดแทบทนไม่ได้ จึงผ่อนลมออกช้าๆ อย่างนิ่มนวลและเบาสบาย ทำอย่างนี้แล้วยังไม่หายอีก นั่นอาจหมายถึงสภาวะร่างกายที่ไม่พร้อมพอ จึงค่อยไปนอนพักฟื้น แล้วตื่นขึ้นมาบำเพ็ญความเพียรใหม่
      
       ในช่วงเช้าวันหนึ่งของปลายเดือนธันวาคม ซึ่งอากาศหนาวเหน็บมาก จนกระทั่งต้องเข้าไปร่วมกันทำวัตรเช้าในหอกรรมฐานแทนที่จะเป็นในโบสถ์ตาม ปกติ มีพระบางรูปไม่อาจฝืนใจตื่นขึ้นมาได้ หลวงปู่ได้เข้ามาให้โอวาทแต่เช้ามืด พูดถึงการลุกขึ้นมาปฏิบัติแต่เช้าตรู่ว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก และเป็นการบำเพ็ญตบะอย่างหนึ่ง เพียงแค่กล้าตัดใจในความสบายจากความหลับใหล ก็เป็นบารมีติดตัวไปแล้ว บารมีที่ว่าก็คือขันติบารมี ซึ่งเป็นบารมีที่พระโพธิสัตว์ทั้งปวงต้องบำเพ็ญ มันจะไม่เป็นการกระทำที่เสียเปล่าอย่างแน่นอน ในเช้ามืดวันนั้นหลวงปู่ยังได้กล่าวถึงการอดทนต่อสภาพอากาศที่หนาวเหน็บด้วย
      
       หลังจากนั้นหลวงปู่ก็ได้ให้โอวาทหลังฉันเช้าของวันหนึ่งว่า อากาศอย่างนี้ นักปฏิบัติเขาชอบกัน เป็นไปได้ก็ลองตื่นขึ้นอาบน้ำแต่เช้าก่อนทำวัตร ฝึกความอดทนกันบ้าง จากโอวาทนี้เองที่เป็นแรงบันดาลใจให้ข้าพเจ้าพิจารณาลองทำตาม แต่เมื่อลองทบทวนดูแล้ว ก็เห็นว่าการลงไปแช่ในสระบัวข้างต้นศรีมหาโพธิ์จะสามารถเปิดโอกาสให้เรารวบ รวมสมาธิได้มั่นคงกว่า ประกอบกับคำชวนของหลวงพี่กบ พระนวกะที่บวชมาด้วยกัน ซึ่งท่านเป็นศิษย์รุ่นพี่ที่ฝึกมวยจีนมาด้วยกันในสมัยเป็นฆราวาส โดยหลวงพี่กบใช้เวลาช่วงที่พระรูปอื่นฉันเช้ากัน ลงไปแช่ในน้ำเย็นจัดที่สระบัวเป็นเวลาร่วม ๔๐ นาที ข้าพเจ้าได้ขอร่วมวงด้วยในวันรุ่งขึ้น ทำให้ต้องงดมื้อเช้าไปโดยปริยาย
      
       วันแรกที่ลงไปแช่นั้น ข้าพเจ้าต้องต่อสู้กับความกลัวในใจอย่างยิ่ง แต่ด้วยโอวาทของหลวงปู่ที่พูดถึงการบำเพ็ญตบะ เป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้ข้าพเจ้าตัดสินใจก้าวลงไป อย่างน้อยก็ได้รู้ว่าเราจักทนได้เพียงใด น้ำใสสระช่างเย็นเหลือเกิน ข้าพเจ้ายังจำได้ถึงความรู้สึกที่คล้ายกับน้ำกำลังบาดลึกลงไปในผิวทั่วทุก ขุมขน สภาวะเช่นนั้รบีบคั้นให้ข้าพเจ้าต้องพยายามขุดเอาวิชาที่ได้ปฏิบัติมาใช้ และวิชาที่ข้าพเจ้าเลือกก็คือศิลปะในการหายใจที่หลวงปู่สอน แต่ข้าพเจ้าสูดลมหายใจขัดข้องยิ่งนัก เพราะกล้ามเนื้อทั้งหมดเกร็งและร่างกายก็สั่นสะท้าน! ข้าพเจ้าพยายามกลั้นลมหายใจให้นานที่สุดจนแทบจะขาดใจ! สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นคือมีอยู่ช่วงหนึ่งที่ร่างกายหยุดสั่นจนแทบไม่มีความ เคลื่อนไหวเลย สังเกตได้ที่ผิวน้ำจากที่ไหวละลอกถี่และชัด เปลี่ยนไปเป็นคลื่นที่ห่างและจาง ไม่เพียงแต่เท่านั้นจิตของข้าพเจ้ารวมตัวและตั้งมั่น ไม่มีความกลัวปรากฏ สภาวะเช่นนี้ดำรงอยู่ได้เพียงไม่นาน ก็กลับมาสั่นตามเดิม ใจก็มิได้นิ่งอีกต่อไป ข้าพเจ้าทนต่อไปจนสัญญาณหมดเวลาดังขึ้น จึงขึ้นจากน้ำ
      
       วันที่สองนี้เป็นวันที่ลำบากที่สุด เพราะเช้านั้นปรอทที่โรงครัวลงมาหยุดที่ ๓ องศา ข้าพเจ้าไม่อาจเข้าถึงสภาวะดังกล่าวได้เลย ใจกระสับกระส่ายตลอดช่วงที่อยู่ในน้ำ ข้าพเจ้าพยายามมากกว่าเดิม แต่ก็ไม่อาจทนความหนาวเหน็บได้ บางช่วงถึงกับเกิดความรู้สึกอยากขึ้นจากน้ำเสียให้ได้ ยังดีที่ไม่ทำเช่นนั้น เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นข้าพเจ้าคงรู้สึกได้ถึงความอ่อนแอที่อาจเข้ามาทำร้าย ตัวเองได้ การทำเช่นนี้มิใช่ทำไปด้วยความมุทะลุที่มีพื้นฐานมาจากโทสะ แต่เพราะทราบดีแก่ใจว่าในช่วงเวลาที่กำหนดไว้มิได้เกินศักยภาพของเรา
      
       วันรุ่งขึ้นขณะที่ข้าพเจ้ากำลังเตรียมตัวที่จะลงไปแช่น้ำเช่นเดิม หลวงพี่ชูศักดิ์เดินผ่านมาเห็นพอดี จึงเอ่ยทักและได้เมตตาถ่ายทอดวิชาพระโพธิสัตว์ในท่าที่หนึ่งและท่าที่สองให้ แก่ข้าพเจ้า เพื่อจะได้นำไปใช้ให้เกิดความอบอุ่น โดยท่าแรกนั้นมีชื่อว่า "ท่าพระโพธิสัตว์โอบอุ้มสรรพสัตว์" และ ท่าที่สองคือ "ท่าพระโพธิสัตว์กำจัดกิเลส" โดยทั้งสองท่าเป็นท่าที่จะต้องฝึกในน้ำเย็นจัด เมื่อฝึกไปได้สักระยะก็เกิดความรู้สึกว่ามีคลื่นอุ่นๆ รอบกายเป็นบางช่วง แต่ไม่ชัดเจนมากนัก และจะรู้สึกชัดพอสมควรในช่วงไหล่และหน้าอก แล้วก็อุ่นเฉพาะบริเวณผิวน้ำเท่านั้น ข้าพเจ้าไม่แน่ใจว่าจะตรงกับสิ่งที่หลวงพี่มชูศักดิ์บอกหรือไม่ อย่างไรก็ตามข้าพเจ้ารู้สึกลึกๆ ว่า หลักการและเหตุผลแห่งวิชาสมาธิพระโพธิสัตว์ คงมีอะไรมากกว่ารูปธรรมเป็นแน่
      
       การฝึกแช่น้ำดำเนินไปจนวันสุดท้ายที่ตั้งใจไว้คือหนึ่งสัปดาห์ แทนที่จะป่วยไข้ ข้าพเจ้ากลับรู้สึกแข็งแรงและกระชุ่มกระชวยขึ้นกว่าเก่า นอกจากนั้นยังรู้สึกตัวเบาสบาย และคล่องแคล่วขึ้นมากทีเดียว!
      
       เนื่องจากหลวงปู่ดำริและริเริ่มให้มีการอบรมพระวิปัสสนาจารย์ทั่ว ประเทศ โดยเริ่มต้นที่จังหวัดนครปฐมเป็นแห่งแรก มีวัตถุประสงค์ให้ทุกวัดทั่วประเทศหันมาสนใจการปฏิบัติไปพร้อมกับปริยัติ และมีพระวิปัสสนาจารย์ประจำทุกวัด เพื่อนำให้ชาวบ้านประชาชนได้ปฏิบัติตาม เพราะพระธรรมเป็นเรื่องที่จะรู้ได้เฉพาะตน อันเป็นหนทางเอกที่จะนำประเทศไทยไปสู่สวัสดิภาพที่ดีกว่า
      
       ช่างเป็นโอกาสอันประเสริฐในการบวชครั้งนี้ ที่หลวงปู่เมตตาให้พระนวกะทุกรูปเข้าอบรมด้วยถึงสองครั้ง โดยครั้งแรกที่วัดปลักไม้ลายเป็นเวลา ๗ วัน และครั้งที่สองที่วัดวังตะกูเป็นเวลา ๑๔ วัน ในครั้งที่สองนี้ ทำให้ข้าพเจ้ามีความเข้าใจในการปฏิบัติเพิ่มขึ้นอย่างมาก การอบรมก็ให้ความสำคัญในเรื่องการเจริญมหาสติปัฏฐาน ๔ โดยเน้นไปในเรื่องของกายเป็นพิเศษ หลวงปู่สอนการเดินอย่างมีสติในช่วงแรกของการอบรม ซึ่งพอจะสรุปเป็นขั้นตอนได้ดังต่อไปนี้...
      
       เริ่มต้นจากยืนแยกขาเล็กน้อยอย่างมั่นคง ให้น้ำหนักตัวทิ้งลงไปตรงกลาง ตั้งลำตัวให้ตรงและผ่อนคลายร่างกายทุกส่วน จากนั้นค่อยๆ พิจารณาว่า รูปกายกำลังยืน ทำความรู้สึกให้แจ่มชัดโดยใช้จิตสัมผัสว่า ส่วนต่างๆ ของร่างกายเช่น ศีรษะ ไหล่ แขน มือ ลำตัว ขา และเท้า ดำรงอยู่ในลักษณะใด ยิ่งพิจารณาได้ชัดเจนและละเอียดอ่อนมากเท่าไร สติก็ยิ่งแจ่มชัดมากขึ้นเท่านั้น จากนั้นก็ส่งความรู้สึกทั้งปวงไปที่น้ำหนักตัวที่ทิ้งลงไปตามแรงดึงดูดของ โลกจนชัดเจน แล้วถ่ายน้ำหนักไปทางซ้ายจนน้ำหนักตัวทั้งหมดทิ้งลงที่เท้าซ้าย เท้าขวาเพียงแตะอยู่ที่พื้นอย่างไร้น้ำหนัก เมื่อสัมผัสได้ชัดแจ้งดีแล้ว จึงค่อยๆ ย้ายน้ำหนักตัวไปที่เท้าขวาจนเต็ม ทำอย่างนี้ไปมาสักระยะจนคุ้นเคยกับน้ำหนักที่โยกย้ายไปมา แล้วจึงก้าวเท้าไปข้างหน้า โดยใช้การถ่ายน้ำหนักในลักษณะเดียวกัน พึงสังเกตว่า เรามิจำเป็นต้องส่งความรู้สึกไปที่ลมหายใจหรืออวัยวะต่างในร่างกาย ให้เพ่งไปที่น้ำหนักที่กำลังโยกย้ายเท่านั้น จะเห็นได้ว่า เรากำลังพิจารณา "กายในกาย" ตามที่มันเป็นจริง

       วิธีการดังกล่าวเป็นการกำหนดสติลงในกาย อันเป็นข้อหนึ่งในมหาสติปัฏฐาน ซึ่งพระพุทธองค์ทรงกล่าวสรรเสริญว่า ทางนี้เป็นที่ไปอันเอก (สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ใน "บทเจริญมหาสติปัฏฐานสูตร" ในบทสวดมนต์แปลของวัดอ้อน้อย หรือศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องการเจริญสติจากการเดิน ในหนังสือของท่านติช นัทฮันห์ ที่มีชื่อว่า 'เดิน : วิถีแห่งสติ')
      
       นอกจากนั้นหลวงปู่ยังสอนให้พิจารณาโครงกระดูก ซึ่งเป็นวิชาชั้นยอดที่รวมความในหลายแง่ทั้งสมถะและวิปัสสนา ท่านกล่าวว่า หากเราเพ่งรูปกระดูกเป็นอารมณ์ ก็สามารถเป็นกสิณได้ ซึ่งหมายถึงสมถะชั้นสูง และเมื่อน้อมเข้ามาในกายเรา ย่อมยังให้เกิดปัญญาทางวิปัสสนาเช่นว่า โอ้หนอ กายเราก็มีเพียงเท่านี้ เมื่อตายไปก็กลายเป็นแบบนี้ จะมัวหลงใหลกับกามสุขที่อิงมากับกายนี้ไปใย เป็นต้น (ศึกษาเรื่อง พิจารณาโครงกระดูก เพิ่มเติมได้ในเทปของหลวงปู่)
      
       กลับจากการอบรมพระวิปัสสนาจารย์ที่วัดวังตะกูได้เพียงไม่กี่วัน หลวงปู่ก็พาคณะพระนวกะทั้งหมดไปธุดงค์ที่ป่าลำอีซู ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พิเศษที่สุดสำหรับการบวชในครั้งนี้ของข้าพเจ้า แม้ว่าข้าพเจ้าจะเคยไปเที่ยวป่าอยู่บ้าง แต่มิเคยมีครั้งใดที่ทำให้ข้าพเจ้ารักป่าได้เช่นครั้งนี้ ป่าเปรียบดั่งแม่ผู้โอบอุ้มลูกอย่างอ่อนโยน ป่ามีแต่ให้ แม้ว่ามนุษย์จะย่ำยีมันเพียงใด หลวงปู่บอกกับพวกเราที่โขดหินใหญ่ริมน้ำตกลำอีซูว่า ป่าคือจิตวิญญาณแห่งพระโพธิสัตว์ ซึ่งความรู้สึกที่ข้าพเจ้าสัมผัสได้ก็มิได้ผิดเพี้ยนไปจากที่หลวงปู่พูดแต่ ประการใด หลวงปู่ชี้ให้เราเห็นถึงความเงียบสงบของป่า และเมื่อเข้ามาอยู่ในป่าแล้วเราจะต้องเงียบสงบกว่าป่าให้ได้
      
       ทั้งวันทั้งคืนในป่า ข้าพเจ้าพยายามเจริญสติให้อยู่กับกายตามที่ได้เรียนรู้มาจากการอบรมพระ วิปัสสนาจารย์ ผลลัพธ์ที่ได้ก็เป็นที่น่าพอใจในระดับหนึ่งว่า จิตโดยภาพรวม (สภาพจิตทั้งวันทั้งคืน) สงบและสันติที่สุดนับตั้งแต่บวชเข้ามา อย่างไรก็ตามก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ความคิดคำนึงได้เข้ามาครอบงำจิตใจหลายต่อหลายครั้งเช่นกัน ข้าพเจ้าจึงได้รู้ว่า จิตนี้ต้องการการฝึกที่จริงจังและสม่ำเสมอ จึงจะสามารถอยู่ในความดูแลของสติได้
      
       เย็นวันหนึ่งพวกเราก็ขึ้นไปเหนือน้ำตกบริเวณโขดหินด้านหลังกุฏิของ หลวงปู่ตามปกติ วันนี้หลวงปู่ได้กล่าวถึงจิตกุศลและจิตอกุศลไว้อย่างน่าสนใจว่า จิตเราจะเกิดได้ในสองลักษณะเท่านั้นคือ จิตกุศลและจิตอกุศล จิตกุศลก็คือจิตที่ประกอบไปด้วยสติและจิตอกุศลก็คือจิตที่ไร้สติ ในการจะพัฒนาจิตวิญญาณให้สูงขึ้นนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพยายามทำให้จิตกุศลเกิดขึ้นนานที่สุดเท่าที่จะทำ ได้ จิตของเรานั้นเกิด-ดับอยู่ตลอดเวลานับได้ถึง ๘๙ ดวงในหนึ่งนาทีตามพระอภิธรรม (หลวงปู่บอกว่าท่านนับได้ประมาณ ๑๒๐ ดวง) แต่ละดวงนั้นอาจเกิดในกุศลหรือไม่ก็อกุศลเท่านั้น เมื่อจิตดวงที่หนึ่งเป็นอกุศลเช่น โทสะ เมื่อมันดับไป มันจะทิ้งร่องรอยแห่งมลภาวะนั้นไว้ จิตดวงที่สองที่เกิดขึ้นมาใหม่หากไม่สามารถมีสติเท่าทัน ก็จะรับมลภาวะนั้นเข้ามาทำให้เป็นจิตอกุศลต่อไป กระบวนเช่นนี้จะดำเนินต่อไปจนมลภาวะนั้นจางหายไปเอง หรือไม่ก็จนกว่าสติจะตามเท่าทัน จริงอยู่ที่มลภาวะนั้นจะจางหายไปเองตามกาลและลักษณะของการปรุงแต่งแห่งจิต ดังนั้นเราจึงไม่อาจรู้ได้เลยว่าเมื่อใดมันจึงคลายตัวลง อาจกินเวลาเป็นนาที เป็นชั่วโมง หรือแม้อาจเป็นวันๆ ก็เป็นได้ หามีประโยชน์หรือเหตุผลอันน่าฟังใดๆ ที่อ้างได้ถึงการปล่อยให้จิตถูกครอบงำเช่นนั้น ฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ของเราในการปลุกสติขึ้นมากำกับดูแลจิตอันไร้เดียงสานี้
      
       เช่นเดียวกันหากจิตเกิดในกุศล จิตดวงต่อไปที่เกิดตามมาย่อมได้รับอานิสงส์ตาม เช่นเมื่อเราเห็นเด็กตามข้างถนนที่ใส่เสื้อขาดรุ่งริ่ง เกิดความสงสารขึ้น จิตดวงนั้นคือจิตกุศล และเมื่อจิตนั้นดับไป ก็ทิ้งร่องรอยความดีงามนี้ให้ดวงจิตต่อไปเป็นจิตกุศลไปเรื่อยๆ จนมันคลายตัวลงเอง ตามกฎแห่งไตรลักษณ์
      
       ท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎกได้แจงในเรื่องของจิตกุศลและอกุศลไว้อย่าง ชัดเจนในหนังสือ 'พุทธธรรม' ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นประโยชน์มากแก่การพิจารณา จึงได้ขอคัดลอกมาลงในข้อเขียนดังต่อไปนี้
      
       "สังขาร" ตามหลักอภิธรรม แบ่งเจตสิกเป็น ๕๒ อย่าง ถ้าเทียบกับการแบ่งแบบขันธ์ ๕ เจตสิกก็ได้แก่ เวทนา สัญญาและสังขารทั้งหมด คือในจำนวนเจตสิก ๕๒ นั้นเป็นเวทนา ๑ เป็นสัญญา ๑ ที่เหลืออีก ๕๐ อย่าง เป็นสังขารทั้งสิ้น สังขารขันธ์ จึงเท่ากับเจตสิก ๕๐ อย่าง ซึ่งแยกย่อยได้ดังนี้
      
       ๑) อัญญสมานาเจตสิก (เจตสิกที่เข้าได้ทั้งฝ่ายดีฝ่ายชั่ว) ๑๑ (นับครบมี ๑๓ เพราะเวทนาและสัญญาเป็นเจตสิกหมวดนี้ แต่ไม่เป็นสังขาร จึงตัดออกไปคือ
      
       (๑.๑) สัพพจิตตสาธารณเจตสิก (เจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวง) ๕ คือ ผัสสะ เจตนา เอกัคคตา (สมาธิ) ชีวินทรีย์ มนสิการ (จำนวนเดิมมี ๗ ทั้งเวทนากับสัญญา)
       (๑.๒) ปกิณณกเจตสิก (เกิดกับจิตได้ทั่วๆ ไป ทั้งฝ่ายดีฝ่ายชั่ว แต่ไม่ตายตัว) ๖ คือ วิตก วิจาร อธิโมกข์ (ความปักใจ) วิริยะ ปีติ ฉันทะ
      
       (๒) อกุศลเจตสิก (เจตสิกที่เป็นอกุศล) ๑๔ คือ
      
       (๒.๑) อกุศลสาธารณเจตสิก (เกิดกับจิตที่เป็นอกุศลทุกดวง) ๔ คือ โมหะ อหิริกะ อโนตตัปปะ และอุทธัจจะ
       (๒.๒) ปกิณณกอกุศลเจตสิก (เกิดกับจิตที่เป็นอกุศลแต่ไม่ตายตัวทุกครั้ง) ๑๐ คือ โลภะ ทิฎฐิ มานะ โทสะ อิสสา มัจฉริยะ กุกกุจจะ ถีนะมิทธะ และวิจิกิจฉา
      
       ๓) โสภณเจตสิก (เจตสิกดีงาม คือ เกิดกับจิตที่เป็นกุศลและอัพยากฤต) มี ๒๕ คือ
      
       (๓.๑) โสภณสาธารณเจตสิก (เกิดกับจิตดีงามทุกดวง) ๑๙ คือ ศรัทธา สติ หิริโอตตัปปะ อโลภะ อโทสะ (=เมตตา) ตัตรมัชฌัตตตา (บางทีเรียกอุเบกขา) กายปัสสัทธิ (ความสงบแห่งนามกายคือกองเจตสิก) จิตตปัสลัทธิ กายลหุตา จิตตลหุตา กายมุทุตา จิตตมุทุตา กายกัมมัญญตา จิตตกัมมัญญตา กายปาคุญญตา (ความคล่องแคล่วแห่งนามกายคือกองเจตสิก) จิตตปาคุญญตา กายุชุกตา (ความซื่อตรงแห่งนามกายคือกองเจตสิก) จิตตุชุกตา
       (๓.๒) ปกิณณกโสภณเจตสิก (เกิดกับจิตฝ่ายดีงาม แต่ไม่ตายตัวทุกครั้ง) ๖ คือ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ (รวมเรียก วีรตีเจตสิก ๓) กรุณา มุทิตา (เรียกรวมกันว่า อัปปมัญญาเจตสิก ๒) และปัญญา
      
       จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า สติย่อมเกิดร่วมกับจิตกุศลทุกดวง แต่ปัญญาซึ่งเป็นเป้าหมายแห่งศาสนธรรมนี้ไม่ได้เกิดกับจิตกุศลทุกดวง หากแต่เกิดได้เป็นบางครั้งตามแต่เหตุปัจจัย จึงเป็นที่ส่รุปได้ทันทีว่า ปัญญาเป็นสิ่งที่จะต้องฝึกฝนอบรมให้เกิดขึ้น และวิธีหนึ่งในนั้น ก็ดำรงอยู่แล้วในการพิจารณาโครงกระดูกดังที่ได้กล่าว
      
       ดูเหมือนหลวงปู่ก็พยายามสอนพวกเราให้รักษาสติอยู่กับเนื้อกับตัวตลอด เวลา โดยท่านหาวิธีการอันแยบคายมาใช้เสมอ วิธีหนึ่งที่ท่านใช้ก็คือ การใช้เสียงร้องป่าวประกาศ เรียกสติให้แก่พระนวกะทุกรูป ในช่วงหลังเพล ท่านทราบว่าพวกเราหลายรูปกำลังเริ่มปล่อยตัวปล่อยใจไปกับความง่วงหลังอาหาร ท่านจึงเรียกข้าพเจ้าให้ไปตีฝาบาตรตามหลังท่านในตอนเที่ยงของวันหนึ่ง ทั้งนี้เพราะข้าพเจ้าปลักกลดอยู่ไม่ห่างจากท่านมากนัก เผอิญท่านเดินมาเห็นข้าพเจ้ากำลังง่วนอยู่กับการเก็บบาตรอยู่พอดี จึงตะโกนบอกว่า "เฮ้ย เอาฝาบาตรเดินตามมา" แล้วท่านก็เดินตะโกนไประหว่างทางเรียบน้ำตก ซึ่งพระทั้งหลายปลักกลดเรียงรายกันสองข้างฝั่งน้ำตกเป็นระยะทางร่วมกิโล เสียงตะโกนจากใสๆ และกังวานในตอนต้น เปลี่ยนมาเป็นเริ่มแหบแห้งในตอนท้าย ด้วยประโยคที่ว่า "ระวังไฟไหม้!" "ไฟสามกองกำลังไหม้เรา!" ซึ่งไฟสามกองในความหมายของหลวงปู่ก็คือ กองไฟแห่งราคะ โทสะ และโมหะ ที่กำลังเกิดขึ้นตามมาจากการง่วงเหงาหาวนอน อันเป็นเชื้อแก่อกุศลจิตอื่นซึ่งแบ่งใหญ่ๆ ได้เป็นไฟสามกองดังกล่าว
      
       ประสบการณ์อีกอย่างที่ข้าพเจ้าอยากจะเล่าสู่กันฟังก็คือ ข้าพเจ้าได้ยินหลวงปู่คุยกับนกกางเขนป่าก่อนที่พวกเราจะเดินทางกลับจากน้ำตก ลำอีซูไปยังธุดงคสถาน ขณะที่ข้าพเจ้ากำลังเก็บกลดและบริขารอื่นอยู่นั้น ข้าพเจ้าก็ได้ยินเสียงนกตัวหนึ่งที่ไพเราะมาก คล้ายกับกำลังตอบโต้กับนกอีกตัวหนึ่งอยู่ สักพักก็เห็นหลวงปู่กำลังเดินมาทางข้างๆ กลดข้าพเจ้า แล้วผิวปากเป็นจังหวะ ที่แท้เสียงนกที่ไพเราะนั้นก็คือเสียงผิวปากของหลวงปู่นั่นเอง ข้าพเจ้าเข้าใจว่าหลวงปู่คงเห็นข้าพเจ้ามองอย่างงงๆ จึงเอ่ยว่า "นกมันบอกหลวงปู่ว่ามันกำลังท้อง" ข้าพเจ้าจึงถามว่าแล้วหลวงปู่ตอบมันไปว่าอย่างไร ท่านตอบว่า "รักษาตัวให้ดีนะ"และท่านก็เดินเลยไปบอกพระรูปอื่นว่าให้เวลาอีก ๓๐ นาทีค่อยกลับ จากนั้นท่านก็กลับไปคุยกับนกกางเขนต่อ เมื่อข้าพเจ้าเก็บกลดเสร็จ จึงเดินไปหาหลวงพี่เขมซึ่งปักกลดใกล้เข้าไปทางด้านกลดหลวงปู่ ข้าพเจ้าจึงได้เห็นหลวงปู่กำลังนั่งเงยหน้า ผิวปากไปพลาง คุยเป็นภาษาคนไปพลางกับนกกางเขน จึงกระซิบบอกหลวงพี่เขมถึงสิ่งที่หลวงปู่บอกให้ข้าพเจ้าฟัง ปรากฎว่าหลวงพี่เขมเองเห็นเหตุการณ์อยู่ตลอดเวลามากกว่าข้าพเจ้าเสียอีก ท่านบอกว่าหลวงปู่คุยมาร่วมชั่วโมงแล้ว เจ้านกก็เกาะอยู่ที่กิ่งไม้ใกล้ๆ มาร่วมชั่วโมงแล้วเหมือนกัน ช่างน่าอัศจรรย์ใจจริงๆ ขณะนั้นข้าพเจ้าสัมผัสได้ถึงบรรยากาศแห่งมิตรภาพ และสุนทรียภาพแห่งความกลมกลืนในธรรมชาติ เส้นแบ่งกั้นระหว่างมนุษย์และสัตว์ได้ปราศนาการไปโดยสิ้นเชิง มหาสติปัฏฐานมีอำนาจถึงเพียงนี้เชียวหรือ เป็นความคิดที่ผุดขึ้นในใจของข้าพเจ้า
      
       หลวงปู่เล่าถึงเหตุการณ์นี้แก่พระนวกะในภายหลังว่า นกกางเขนมันมาบอกหลวงปู่ว่า ไม่อยากให้ท่านและพระทั้งหลายกลับไป เพราะพวกมันรับส่วนบุญส่วนกุศลจากการปฏิบัติธรรมทำให้เป็นสุขอย่างมาก หลวงปู่จึงบอกให้มันตามไปอยู่ด้วยกันที่ธุดงคสถานลำอีซู มันบอกว่าคงไปไม่ได้เพราะมีภาระที่ต้องคอยดูแลครอบครัวอยู่ที่นี่ เมื่อเล่าจบหลวงปู่ก็บอกพวกเราว่า สิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งที่พวกเราจะทำไม่ได้ หากสามารถเจริญมหาสติปัฏฐานได้ พวกเราก็ทำได้ทุกคน เหมือนอย่างที่หลวงปู่ทำได้ หลังจากนั้นคณะทั้งหมดก็เดินทางกลับไปยังวัดอ้อน้อยเพื่อเตรียมตัวก่อนที่ วันกำหนดลาสิกขาบทจะมาถึง
      
       ข้าพเจ้าลาสิกขาบทในวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓ ในช่วงเช้า ข้าพเจ้ามิอาจหักห้ามความรู้สึกเสียใจได้เลยนับแต่ก้าวเข้าไปในโบสถ์ เพียงแค่หลวงปู่บอกให้พวกเราตั้งนะโม ๓ จบเพื่อเริ่มพิธีลาสิกขาบท น้ำตาของข้าพเจ้าก็ไหลพรั่งพรูออกมาโดยที่ไม่อาจบังคับได้แม้แต่น้อย ข้าพเจ้ากล่าวคำลาสิกขาอย่างติดขัดยิ่ง!
      
       อย่างน้อยชีวิตนี้ก็มีความภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสบวชเป็นศิษย์ ในองค์หลวงปู่ แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่ก็มีความหมายเหลือคณา ข้าพเจ้าขอน้อมรับคำสอนต่างๆ ของคุรุผู้ประเสริฐ และจักเป็นกำลังช่วยเหลือสังคมให้ดีขึ้นให้จงได้ ข้าพเจ้าขอกราบแทบเท้าองค์หลวงปู่พุทธะอิสระ
      
       นายพงษธร ตันติฤทธิศักดิ์
      
       คำสั่งสอนของหลวงปู่
      
       "ขอนอบน้อมแด่งองค์หลวงปู่พุทธะอิสระ คุรุผู้ประเสริฐของปวงชนทั้งหลาย"
      
       นับเป็นวาสนาของกระผมอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมอุปสมบท เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระชนมายุครบ ๖ รอบ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่วันที่ ๔ ธ.ค. ๒๕๔๒ ถึงวันที่ ๒๑ ก.พ. ๒๕๔๓ รวมระยะเวลาประมาณ๘๐ วัน ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาของชีวิตที่มีสาระและคุณค่ามากที่สุดช่วงหนึ่ง ของกระผมเลยทีเดียว ถ้าหากเปรียบเทียบกับประสบการณ์(ความรู้สึก)การบวชครั้งนี้ กับครั้งแรกเมื่อประมาณ ๘ ปีมาแล้ว(ที่ต่างจังหวัด) ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกันที่แตกต่างกันอย่างมาก เพราะว่าการบวชในครั้งนั้นน่าจะเรียกได้ว่าเป็นประเพณีอย่างหนึ่งของชายไทย ชาวพุทธ ที่ต้องบวชทดแทนคุณบิดามารดา ซึ่งเป็นความเข้าใจของกระผมเองที่ยังไม่รู้จักความหมายและสาระของการบวช จนกระทั่งกระผมได้ยินได้ฟัง และอ่านเรื่องราวขององค์หลวงปู่ ตลอดจนได้ฟังธรรมะจากท่าน จึงทำให้กระผมเกิดความศรัทธาและคิดอยากจะบวช โดยเฉพาะจากบทโศลกที่ว่า "ลูกรัก...การค้นหาตัวเจ้าเอง เป็นกิจเบื้องต้นของศาสนธรรมนี้ และพระบริสุทธิธรรมเป็นเบื้องปลาย" ประกอบกับเมื่อมีโอกาสอันมงคลยิ่งดังกล่าว กระผมจึงขอสมัครอุปสมบทตั้งแต่วันแรกๆที่มีการรับสมัครอย่างเป็นทางการ
      
       แม้ว่ากระผมจะได้เคยบวชมาครั้งหนึ่งแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่เข้าใจหรือทราบมาก่อนว่า การเป็นนักบวช นอกจากการเรียนรู้ธรรมะตามตำรา และการปฏิบัติโดยการนั่งสมาธิแล้ว ยังมีวิธีการอื่นๆอีก จนกระทั่งได้บวชเข้ามาอยู่ที่อาวาสอ้อน้อย(ธรรมอิสระ)แห่งนี้ องค์หลวงปู่ได้เมตตาถ่ายทอดประสบการณ์ทางวิญญาณของท่านเองถึงสาระสำคัญของ พระศาสนา นั่นคือการรู้จักตัวเอง โดยวิธีการเจริญสติ หรือการฝึกสติตามหลักมหาสติปัฏฐานสูตร โดยหลวงปู่จะบอกถึงวิธีการฝึกสติ คือให้มีสติทุกอิริยาบถ โดยไม่จำกัดวิธีการหรืออิริยาบถใดๆเป็นการเฉพาะ แต่ให้เน้นการฝึกจากการทำงาน เพราะว่าสาระสำคัญของการมีชีวิตก็คือการทำหน้าที่หรือการทำงานตามหน้าที่ของ ตนเองในชีวิตประจำวัน ในขณะที่ทำงานจะต้องมีความรู้เนื้อรู้ตัว โดยวิธีการส่งความรู้สึกลึกๆลงไปในกาย ซึ่งท่านได้เน้นมากเกี่ยวกับหลักมหาสติปัฏฐานสูตร ในหมวดกายคตาสติ เพราะว่าจะสามารถฝึกได้ง่ายกว่าหมวดอื่นๆ (หมวดเวทนา-จิต-ธรรม) และเมื่อสามารถฝึกฝนผ่านในหมวดนี้แล้ว ก็จะสามารถฝึกในหมวดต่อๆไปได้เองโดยง่ายตามลำดับ
      
       นอกจากนี้หลวงปู่ยังมีเทคนิควิธีการฝึกมหาสติที่แปลกมาก ซึ่งกระผมคิดว่าไม่เหมือนใคร นั่นคือวิชาคลำกะโหลกหรือการเพ่งดูโครงกระดูก พยายามพิจารณาให้เห็นโครงกระดูกภายในกายของตนเอง โดยการดูภาพโครงกระดูกหรือดูโครงกระดูกจริงๆ และพยายามจำรูปร่าง ตำแหน่งของกระดูกท่อนต่างๆ จากนั้นก็หลับตา แล้วน้อมนึกให้เห็นรูปร่างโครงกระดูกแต่ละท่อนในกายของเราเอง ถ้าหากในช่วงแรกไม่สามารถนึกภาพกระดูกได้ชัดเจน ก็ให้ใช้มือคลำ เริ่มตั้งแต่กะโหลกศีรษะจรดปลายเท้า พร้อมทั้งใช้ปลายนิ้วมือกดหรือบีบนวดไปด้วย วิธีนี้จะช่วยทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย และช่วยกระตุ้นให้เกิดความรู้เนื้อรู้ตัวเพิ่มมากขึ้น จากประสบการณ์ตรงนี้กระผมได้ประจักษ์กับตัวเองในตอนที่เข้าร่วมอบรมพระ วิปัสสนาจารย์ รุ่นที่ ๑ ครั้งที่ ๒ ณ วัดปลักไม้ลาย ขณะปฏิบัติธรรมในช่วงบ่ายวันหนึ่งตามพระอาจารย์ผู้นำปฏิบัติ ด้วยวิธีการอานาปานสติ คือ การดูลมหายใจ หรือการจับลมหายใจที่ปลายจมูก ลมหายใจเข้ารู้-ลมหายใจออกรู้ กระผมปฏิบัติได้สักพักก็เกิดอาการโงกง่วง เผลอสติ หลับไป จนกระทั่งได้ยินเสียงหลวงปู่ตะโกนบอกให้ใช้มือคลำกะโหลก ผมก็ปฏิบัติตามทันที หลังจากนั้นไม่นาน ความโงกง่วงก็หายไปอย่างฉับพลัน รู้สึกปลอดโปร่ง สบาย และสามารถกลับไปพิจารณาลมหายใจเข้า-ออก ได้เหมือนเดิม
      
       การฝึกสติหรือการเจริญสติ ยังมีวิธีการฝึกในอิริยาบถอื่นๆอีก ได้แก่ การยืนถ่ายเทน้ำหนัก หรือการเดินถ่ายน้ำหนักไปมาระหว่างเท้าทั้งสองข้าง โดยการเอาสติไปจับความรู้สึกของแรง หรือน้ำหนักภายในกายที่โยกโคนไปมาผ่านขาแต่ละข้าง กระผมชอบวิธีการยืนโยกและถ่ายเทน้ำหนัก เพราะมันทำให้หายจากอาการง่วง วิธีนี้ยังสามารถนำไปใช้ในขณะทำงานหรือทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การเก็บขยะ รดน้ำต้นไม้ ฯลฯ นอกจากนี้การฝึกในอิริยาบถยืนและเดินถ่ายน้ำหนักนี้ ยังสามารถใช้วิธีการพิจารณาโครงกระดูกในกายของตนเอง ให้รับรู้ถึงสภาพน้ำหนักที่ถ่ายเทไป-มา บนโครงกระดูก ซึ่งจะทำให้สติตั้งมั่น ความคิดฟุ้งซ่านหายไปอย่างรวดเร็ว
      
       กระผมได้พยายามปฏิบัติตามวิธีที่หลวงปู่ถ่ายทอดให้อยู่เสมอ แม้ว่าจะไม่สามารถปฏิบัติได้ดีนัก แต่ผลที่ได้รับคิดว่าน่าจะเกิดการเปลี่ยนเกี่ยวกับระบบความนึกคิดต่างๆ และการควบคุมกาย ทำให้มีความระมัดระวัง หรือมีสติรับรู้มากขึ้นในอิริยาบถต่างๆ และสามารถนำมาใช้หรือฝึกฝนขณะที่ทำงานอยู่ด้วยได้
      
       วิธีการเจริญสติอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งนับว่าเป็นวิชาเฉพาะขององค์หลวงปู่ เป็นวิชาที่มีผู้กล่าวถึงและใคร่จะเรียนรู้ฝึกฝนกันมากมาย นั่นคือวิชาลม ๗ ฐาน ผมได้รับการถ่ายทอดเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับวิธีการเดินลมขั้นพื้นฐาน เพราะว่าเคล็ดวิธีขั้นสูงนั้น ผู้ฝึกจะต้องมีความพร้อม โดยการจัดระเบียบของกายจนเป็นระบบของใจ ซึ่งหลวงปู่ได้พิจารณาแล้วและเห็นว่าไม่เหมาะสม จึงยังไม่มีการถ่ายทอดในขั้นสูง อย่างไรก็ตามกระผมคิดว่าท่านได้ถ่ายทอดเกี่ยวกับระบบความคิด การพูด และการกระทำสิ่งต่างๆ ซึ่งน่าจะแฝงไว้ด้วยเคล็ดวิชาลม ๗ ฐานทั้งสิ้น
      
       ยังมีอีกวิชาหนึ่งที่เป็นวิชาเฉพาะ ซึ่งจะต้องฝึกเฉพาะวันขึ้น ๑๕ ค่ำ ของเดือน คือวิชาขันธมาร เคล็ดลับสำคัญได้แก่ การรวมกายกับใจให้เป็นหนึ่ง โดยผู้ฝึกจะต้องนั่งทำสมาธิด้วยวิธีการเดินลมหรือการเพ่งโครงกระดูกก็ได้ จากนั้นพยายามรวมกายกับใจให้เป็นหนึ่งอย่างรวดเร็ว โดยพระพี่เลี้ยงจะเอาน้ำอุจจาระผสมกับเศษอาหาร เทราดลงบนตัวผู้ฝึก ถ้าหากไม่สามารถรวมกายกับใจได้แล้วละก็ จะถูกรบกวนด้วยกลิ่นเหม็น และอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ครั้งแรกที่กระผมได้ฝึกคือในช่วงเดือนธันวาคม ซึ่งอากาศหนาวเย็นมาก ประกอบกับในช่วงนั้นกระผมไม่ค่อยสบาย เนื่องจากเป็นไข้หวัดและคออักเสบ ตอนแรกเริ่มมีอาการหนาวสั่น และเมื่อถูกราดด้วยน้ำอุจจาระที่ทั้งเหม็นและหนาวขึ้นไปอีก กระผมจึงพยายามใช้วิธีการเดินลมช่วยขับไล่ความหนาวในระยะแรก จากนั้นก็เปลี่ยนไปเพ่งโครงกระดูก ก็รู้สึกว่าจิตสงบดีมาก ความหนาวก็หายไป แต่เมื่อออกจากสมาธิแล้วกลับมาหนาวสั่นสะท้านอีกครั้ง และกลิ่นเหม็นของอุจจาระก็ยังติดตัวอยู่ แม้ว่าจะอาบน้ำฟอกสบู่แล้วก็ตาม
      
       การได้บวชเข้ามาอยู่ในอาวาสธรรมอิสระในสถานภาพของภิกษุเพียงระยะ สั้นๆแค่ ๘๐ วัน นับว่าเป็นประสบการณ์ชีวิตที่ดีที่สุดช่วงหนึ่งก็ว่าได้ แม้จะยังไม่บรรลุเป้าหมายเบื้องต้นที่กำหนดไว้ นั่นคือการรู้จักตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง แต่ก็ทำให้กระผมเข้าใจในเรื่องของศาสนา จิตวิญญาณ และมีความเข้าใจในตัวเองได้บ้างพอสมควร กระผมมีความคิดหวังอย่างลึกๆว่า จะกลับเข้ามาอยู่ในสถานภาพนี้อีกสักครั้งหนึ่งในวันข้างหน้า ซึ่งคิดว่าองค์หลวงปู่คงเมตตาให้อภัยและสั่งสอนอีก
      
       ครั้งหนึ่งที่ประทับใจมาก คือองค์หลวงปู่ได้วิจารณ์ข้อสอบในหัวข้อ 'อุดมการณ์ในการดำรงพันธุ์' โดยนำคำตอบของกระผมมาวิจารณ์ และให้ข้อคิดว่า ผู้ที่กบฏหรือทรยศต่ออุดมการณ์ของตนเอง จะทำอะไรไม่เจริญ และได้กล่าวบทโศลกว่า "สัจจะและความจริงใจ เป็นเครื่องเสริมสร้างบุคลิกภาพและความสำเร็จ" ต่อมากระผมได้พยายามพิจารณาทบทวน และประจักษ์ต่อตัวเองว่า ที่ผ่านมากระผมเป็นเช่นนี้เอง คือมักจะทำอะไรไม่ค่อยจริงจัง ขาดความแน่นอน เรื่องที่คิด พูด ทำ จึงยังไม่สามารถทำให้เป็นเรื่องเดียวกันได้ กระทำการสิ่งใดจึงมักจะไม่ค่อยประสบความสำเร็จ กระผมจึงขอน้อมนำคำสั่งสอนขององค์หลวงปู่ไว้คอยเตือนตัวเองตลอดไป สุดท้ายนี้ ขอความเป็นมหามงคลอันสูงสุด จงมีแด่องค์หลวงปู่พระอาจารย์ทุกประการเทอญ
      
       ด้วยความเคารพอย่างสูงสุด
       อดีตภิกษุ ปภสฺสโร
      
       พระมหาโพธิสัตว์ที่ยิ่งใหญ่
      
       เรื่องราวที่ข้าพเจ้าเขียนนี้เป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ช่วงสั้นๆ เพียง ๗๓ วัน ในการบวชโครงการเฉลิมพระเกียรติ ๗๒ พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และเป็นการบวชฉลองโบสถ์จุฬามณี ซึ่งใช้งานเป็นครั้งแรกอีกด้วย โดยมีการบวชพระ ๙๓ รูป และเณรจากโรงเรียน ภปร.ราชวิทยาลัย อีก ๑๖๐ กว่ารูป ซึ่งตอนแรกข้าพเจ้าคาดว่าที่โบสถ์ไม่น่าจะมีพื้นที่พอที่จะรองรับการบวชทั้ง หมดนี้ได้ แต่เหลือเชื่อกลับใช้ได้ โดยใช้พื้นที่โดยรอบของโบสถ์ในการเปลี่ยนชุดจากนาคเป็นเณร ส่วนพวกที่บวชพระก็จะแบ่งกลุ่มกันไป กลุ่มแรกบวชที่วัดอ้อน้อย กลุ่มสองบวชที่วัดทัพหลวง และกลุ่มสามบวชที่วัดวังตะกู โดยก่อนออกจากโบสถ์หลวงปู่ได้กล่าวว่า "ขอให้ได้บวชทุกคน" ซึ่งทั้ง ๙๓ รูป ก็ได้บวชจนครบตามที่หลวงปู่ท่านให้พร
      
       เมื่อบวชแล้ว กิจของสงฆ์จะตื่นทำวัตรเช้า ๔.๐๐ น. พร้อมกันที่โบสถ์ประมาณ ๔.๓๐ น. มีพระเก่าเป็นพระพี่เลี้ยงนำเจริญพระพุทธมนต์ ซึ่งหลวงปู่ได้บอกกับพวกเราว่า การสวดมนต์ใช้กับงานอวมงคล เช่น งานเผาผี ส่วนการเจริญพระพุทธมนต์ใช้กับงานมงคล เช่น การทำวัตรเช้าและเย็น เป็นต้น หลังจากเจริญพระพุทธมนต์เสร็จก็จะเป็นการเจริญสติ ซึ่งหลวงปู่ได้บอกว่า "สติเกิดแล้ว จึงจะมีสมาธิ ซึ่งสติจะมาก่อนสมาธิ" เราจึงเรียกว่าการเจริญสติ ซึ่งบางครั้งก็ครึ่งชั่วโมง บางครั้ง ๑๕ นาที หรือบางครั้งก็ถึง ๔๕ นาที หลังจากนั้นจะแบ่งกลุ่มกันไปทำงาน รดน้ำต้นไม้รอบบริเวณวัด ทำความสะอาดถนนและสวนหย่อมรอบอุโบสถ รอบหอระฆัง บริเวณลานโพธิ์และด้านหน้าวัด รวมทั้งถนนเข้าวัดด้านนอก
      
       จนถึงเวลา ๗.๐๐ น. ก็จะมารวมกันที่ศาลาบำเพ็ญบุญ เพื่อจะไปบิณฑบาตรที่โรงครัว หลังจากฉันเช้าแล้วก็ทำความสะอาดบาตรและเตรียมตัวเรียนพระวินัย ซึ่งหลวงปู่ท่านได้ให้พระเก่าของทางวัดเป็นผู้สอน โดยพระอาจารย์มาลัยและพระอาจารย์ชูศักดิ์สอนเกี่ยวกับพระวินัยและธรรมวิภาค ส่วนวิชาพุทธประวัตินั้นอาจารย์สนธ์และหลวงพี่ปูช่วยกันสอน ซึ่งทุกวิชาที่เรียนจะต้องมีการสอบ
      
       เรียนจนกระทั่งถึงเวลา ๑๐.๓๐ น. จึงเตรียมตัวบิณฑบาตรอีกครั้ง ในช่วงฉันเพลนี้ หากองค์หลวงปู่ท่านไม่ติดธุระหรือการงานใดๆ ท่านจะมาบิณฑบาตรและฉันเพลกับพวกเรา และหลังฉันเสร็จท่านจะสอนให้จิตวิญญาณเราสว่าง สะอาด สงบ ท่านจะให้เราระลึกถึงบุญคุณของผู้ที่นำอาหารคาวหวานมาถวาย โดยให้รู้ว่าอาหารคาวหวานที่เราฉันไปนั้น ผู้ที่ทำถวายต้องทำงานเหนื่อยยากกว่าจะได้มา เราซึ่งเป็นผู้ที่รับของเขามานั้นต้องทำตัวให้สมกับเป็นผู้ที่บวชเข้ามาเป็น ชาวศากยะ ซึ่งเป็นสกุลวงศ์ของพระพุทธเจ้า และต้องปฏิบัติตัวให้สมกับที่ผู้คนกราบไหว้ หลวงปู่จะบอกเสมอว่า "ท่านมีดีอะไรให้เขาไหว้ จงหาดีของท่านให้พบ ไม่ใช่ดูดีของผู้อื่น"
      
       หลวงปู่จะถามพวกเราเสมอว่า มีใครเป็นอะไรไหม ป่วยกันบ้างหรือเปล่า ซึ่งท่านจะให้พระแต่ละองค์มีบัดดี้คอยดูแลกันและปักกลดอยู่ใกล้กัน เพราะท่านบอกว่า สมัยที่ท่านบวชนั้น วันแรกท่านป่วย ต้องนอนซมอยู่ในกุฏิ ๓ วัน ไม่มีใครมาดูแล ท่านมองไปที่พระพุทธรูป และได้ยินพระพุทธรูปพูดกับท่านว่า "ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน" จากคำพูดนี้เอง ท่านได้ลุกขึ้นนุ่งห่มจีวรและออกบิณฑบาตร ก่อนที่ท่านจะอดตาย ด้วยประสบการณ์เช่นนี้ ท่านจึงรู้ว่าการเจ็บป่วยและการอดนั้นเป็นเช่นใด ท่านจึงพยายามบอกให้พวกเรารักกัน ดูแลกัน เสมือนหนึ่งคืออวัยวะของเราเอง เพราะหากเป็นพี่น้องก็ยังฆ่ากัน แก่งแย่งกัน แต่หากเป็นอวัยวะในร่างกายแล้ว อย่างไรก็ไม่ทิ้งกัน
      
       หลังฉันเพลเสร็จ พวกเราจะมีเวลาซักสบง จีวร อาบน้ำ ทำความสะอาดกลด ซักมุ้งกลด ปรับพื้นดินบริเวณที่นอน เป็นต้น จนถึงเวลาบ่าย ๒ โมง ก็จะเริ่มเข้าเรียนอีกครั้ง และในช่วงทำวัตรเย็น หลวงปู่ท่านจะให้อ่านพระไตรปิฎก และออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องราวที่อ่าน ว่าเหตุใดเรื่องนี้จึงเกิดขึ้น และได้อะไรจากเรื่องเหล่านี้ ซึ่งในบางเรื่องนั้นทำให้เรารู้ถึงการกระทำ หรือที่เรียกว่า"กรรม" ซึ่งมีทั้งกรรมดีกรรมชั่ว หลวงปู่ได้บอกกับพวกเราว่า ผลของกรรมทำให้เราได้มาเกิดและพบกันอีก ไม่ว่าจะรักหรือเกลียด ผลกรรมนี้ยิ่งใหญ่มาก ทุกคนหนีไม่พ้น แม้แต่พระอรหันต์ก็หนีไม่พ้นกรรมเหล่านั้นไปได้ นอกเสียจากว่าเราทำกรรมดีจนกรรมชั่วตามไม่ทันนั่นแหละ แต่ใช่ว่าจะหนีพ้น เพราะหากเราหยุดทำกรรมดีเมื่อไหร่ กรรมชั่วก็จะกลับมาอีก เรื่องการหยุดทำกรรมชั่วนี้หลวงปู่บอกว่า ให้เริ่มจากการละก่อน ซึ่งถ้าใน ๗ วัน ทำกรรมชั่วทุกวัน ก็ให้หยุดสักวัน เช่น วันพระ แล้วก็หลีกเลี่ยงไม่พยายามไปทำมันอีก จนกระทั่งปล่อย คือ ไม่สนใจ ไม่อยากรู้อยากเห็นมันอีก จนถึงการเว้นคือไม่ข้องแวะสิ่งที่จะทำให้เราทำกรรมชั่วเหล่านี้
      
       หลวงปู่ได้เมตตาเล่าเรื่องของท่านในอดีต สมัยที่ท่านไปธุดงค์ทางใต้แถวจังหวัดระนอง(ถ้าจำไม่ผิด) ไปปักกลดอยู่ในป่า ซึ่งบริเวณที่หลวงปู่อยู่นั้น จะมีพวกโจรสลัดออกปล้น ฆ่า เพื่อชิงทรัพย์พวกชาวประมง หัวหน้าโจร(ชื่ออะไรจำไม่ได้)ได้เคยมากราบหลวงปู่ และขอให้ท่านช่วยรักษาแม่ของตนที่กำลังป่วยอยู่ โดยไม่รู้ว่าเป็นโรคอะไร ลุกนั่งไม่ได้ พูดไม่ได้ ข้าวปลาก็กินไม่ลง หลวงปู่จึงบอกว่า ถ้าหากอยากให้แม่หายป่วยแล้วละก็ ในวันพระให้หยุดปล้นฆ่าซะบ้าง โจรสลัดก็ปฏิบัติตาม ผลปรากฏว่าภายใน ๓ วันหลังจากนั้น แม่ของเขากลับลุกขึ้นมากินข้าวกินปลาได้บ้าง เมื่อโจรเห็นผลเช่นนั้น จึงมาถามหลวงปู่ว่า จะทำอย่างไรต่อไปเพื่อให้แม่หายป่วยอย่างเด็ดขาด หลวงปู่จึงบอกเขาว่าให้เลิกเป็นโจรและบวชภายใน ๗ วัน แม่ก็จะสามารถพูดได้ เดินได้ โจรผู้นั้นเลยทำตามคำแนะนำและบวชมาจนทุกวันนี้ หลวงปู่สรุปให้ฟังว่า ที่แม่ของโจรสลัดเป็นเช่นนี้ เพราะได้รับผลกระทบของกรรมที่ลูกได้กระทำลงไป ทำให้ตัวเองคิดวิตกกังวล จนกินไม่ได้ นอนไม่หลับ ร่างกายผ่ายผอม ซีดเหลือง ไม่มีเรี่ยวแรง จนกระทั่งลุกไปไหนไม่ได้เป็นปีๆ ผลของกรรมนี้รุนแรงมาก แม้ว่าตัวเราเองไม่ได้รับโดยตรง แต่ผลอาจจะมาสู่ญาติพี่น้องก็ได้ และที่หลวงปู่ช่วยโจรผู้นี้ก็เพราะว่า เขาไม่ใช่เป็นโจรจากสันดาน แต่ยากจนและต้องการเงินมารักษาแม่ จึงทำไปเช่นนั้น ดังนั้นหลวงปู่จึงช่วยชี้ทางสว่างให้ครอบครัวเขาพ้นทุกข์
      
       เมื่ออ่านพระไตรปิฎกและวิพากษ์วิจารณ์เรื่องราวต่างๆกันแล้ว ก็ฉันน้ำปานะและเข้านอน พวกเราจะเจริญพระพุทธมนต์ในกลดอีกครั้ง บางองค์ก็เจริญสติต่อจนดึก นี่ละ...กิจของสงฆ์ในหนึ่งวัน ซึ่งแทบจะไม่มีเวลาเหลือที่จะคิดเรื่องอื่นเลยแม้แต่เรื่องของตัวเอง
      
       ในวันที่ ๑๔ ธันวาคม พวกเราได้ออกธุดงค์ครั้งแรก แต่เป็นการเดินในเมือง ยังไม่ใช่เดินในป่า โดยเดินจากหลังวัดอ้อน้อยลัดเลาะออกไปยังวัดปลักไม้ลาย ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ-๕-๖ กม. เพื่อเข้าร่วมอบรมกับพระวิปัสสนาจารย์ การเดินทางครั้งนี้ เรามีเพียงบาตรเป็นเหมือนกระเป๋าใส่เสื้อผ้า ที่ใส่ทั้งสบง จีวร ผ้าอาบน้ำ และหากมีพื้นที่เหลือก็จะใส่กระบอกไฟฉายหรือของใช้เล็กๆน้อยๆ เช่น มีดโกน ที่ตัดเล็บ หรือยาที่จำเป็นบางอย่างเท่านั้น
      
       การเดินทางในครั้งนี้เราได้ประสบการณ์ที่ไม่เคยเรียนรู้มาก่อน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อพวกเรามาก ก่อนที่จะธุดงค์เข้าป่าจริงๆ เพราะเสมือนเป็นสัญญาณเตือนพวกเราให้รู้ว่า ชีวิตของเรานั้นยิ่งมีอะไรมาผูกพันมากๆ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของ ผู้คน ล้วนแต่เป็นภาระของเราทั้งสิ้น แม้แต่เราซึ่งเป็นผู้บวช แค่สิ่งของเพียง ๕-๖ อย่าง เราก็ยังรู้สึกว่าเป็นภาระในการเดินทาง ซึ่งในชีวิตจริงมันกลับกัน เพราะก่อนบวชการเดินทางแต่ละครั้ง จะต้องมีเสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ของประดับต่างๆ และของใช้ส่วนคัวอีก จัดกระเป๋าทีใบเบ้อเริ่ม แต่ไปแค่ ๒-๓ วันเท่านั้น ในขณะที่ผู้บวชมีแค่บาตร ย่าม และกลด ก็เดินทางได้เป็นเดือนๆ นี่กระมังที่หลวงปู่บอกว่า "จงละวางปล่อยเว้น"ซึ่งรวมถึงสิ่งของและผู้คนต่างๆที่อยู่รอบตัวเรา ผูกพันกับเราในสมัยก่อนที่จะบวช เพื่อจะได้ฝึกหัดปฏิบัติไปสู่ทางที่เรียกว่าสะอาด สว่าง สงบ ในความคิดของข้าพเจ้านั้น ผู้ที่จะสะอาด คือผู้ที่หลุดจากกิเลสต่างๆ และเดินมาถึงทางสว่าง คือใช้ธรรมะขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาฝึกหัดปฏิบัติ จนพบทางสงบที่เรียกว่านิพพาน
      
       ในวันแรกของการอบรมพระวิปัสสนาจารย์ที่วัดปลักไม้ลายนั้น หลวงปู่บอกให้เราหารายชื่อของสมุนไพรและสรรพคุณในการใช้ มาองค์ละ ๑๐ ชื่อ ซึ่งบิเวณวัดปลักไม้ลายนี้เป็นเสมือนป่าเปิดที่มีสมุนไพรมากมาย หลังจากนั้นในช่วงเย็น ท่านเจ้าคณะจังหวัดได้มาทำพิธีเปิด โอวาทของท่านเจ้าคณะฯที่ข้าพเจ้าได้ฟังและจดจำ นำมาคิดและรู้สึกว่าจริงก็คือ ท่านกล่าวว่า "การเรียนมักเรียนจากภายนอกตัวออกไป ไม่เคยเรียนเข้ามาหาตัว การอบรมคือการอบรมเข้าหาตัว ดูตัวเองว่ายังมีกิเลสต่างๆอยู่ ต้องพิจารณาฝึกหัดและปฏิบัติ"
      
       ข้าพเจ้าไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า การวิปัสสนาจารย์คืออะไรและทำอะไรกันบ้าง จนกระทั่งในวันที่สอง จึงรู้ว่า อานาปานบรรพ คือ การพิจารณาลมหายใจเข้า-ออก ซึ่งหลวงปู่บอกว่า ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค(พระไตรปิฎก) บอกให้ "กองลมเข้า-ออก" พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ให้บุรุษไปยืนปากคอกวัว นับจำนวนวัวที่เข้า-ออก" ซึ่งปากคอกวัว คือ จมูก ส่วนจำนวนวัว คือ ลมหายใจเข้า-ออก
      
       ในช่วงทำวัตรตอนเช้านั้น หลวงปู่ให้เราฝึกโดยการนั่งคลำกะโหลก (ซึ่งท่านสอนตั้งแต่อยู่ที่วัด) โดยให้ใช้มือเป็นเสมือนตา เริ่มจากกลางกระหม่อมมาที่หน้าผาก คิ้วทั้งสองข้าง กระบอกตา โหนกแก้ม รูหูทั้งสองข้าง ไล่ไปเรื่อยทุกส่วนของหัวกะโหลก จนมาจบที่กลางกระหม่อมอีกครั้ง จิตจะไม่วิ่งไปที่อื่น นอกจากอยู่กับกะโหลกของเรา จิตของเราจะนิ่ง ไม่ฟุ้งซ่าน และรู้สึกสบาย ผ่อนคลาย โดยท่านบอกว่า เราต้องระลึกรู้ตลอดว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ และรวมกายกับจิตให้เป็นหนึ่งเดียว นั่นแหละคือมหาสติปัฏฐาน
      
       ส่วนในช่วงบ่าย ท่านสอนเรื่อง "ปฏิกูลบรรพ" ซึ่งมีภายนอกและภายใน ภายนอก คือ สิ่งของที่ใช้แล้วทิ้งเรี่ยราด ไม่น่าดู เช่น กองขยะ ภายใน คือ ร่างกายที่มองเห็นและมองไม่เห็น เช่น ผม ขน หนัง ขี้ไคล อุจจาระ ปัสสาวะ ขี้หู ขี้มูก ซึ่งมีแต่ความสกปรก พิจารณาเพื่อปลงและเบื่อหน่าย ลดความกำหนัดของร่างกาย ซึ่งท่านให้หลักการพิจารณาที่เกิด ที่ตั้ง โดยสี กลิ่น รวมกัน และการแตกย่อยสลาย (ดูรายละเอียดจากหนังสือ 'วิถีแห่งพุทธะ')

       วันที่สาม มีการสอนในหัวข้อ"อิริยาบถบรรพ" คือ ต้องระลึกรู้สติสัมปชัญญะเสมอในการกิน เดิน นั่ง นอน ฯลฯ ซึ่งเป็นการฝึกตน คือ ผูกสติให้อยู่กับตัวเรา จิตนี้ยิ่งใหญ่ ต้องควบคุมการกระทำโดยมีสติและรู้ตัวเสมอ
      
       วันที่สี่ เป็นเรื่องของหัวข้อ "ธาตุบรรพ" คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ซึ่งประกอบด้วยดิน ๒๐, น้ำ ๑๒, ลม ๖, ไฟ ๔ ซึ่งการจะบอกว่าธาตุใดเป็นดิน น้ำ ลม หรือไฟ ดูจากธาตุที่มีปริมาณมากกว่าจำนวนธาตุที่สอดแทรกหรือรวมกันอยู่ เช่น ในเนื้อก็มีน้ำอยู่ แต่เนื้อมีมากกว่า จึงจัดว่าเป็นธาตุดิน หรือในหินก็มีน้ำอยู่ แต่ปริมาณน้อยกว่า และยังมีนวสี อสุภ ปฏิกูล ทั้งหมดนี้จะใช้ร่วมกันในการพิจารณาเกี่ยวกับกายเรา ในการเพ่ง รู้ทัน และจะสงบ แจ่มแจ้ง หรือเมื่อแจ่มแจ้งก็จะสงบ ข้าพเจ้าเลือกวิธีในการพิจารณาโดยเริ่มจาก เมื่อหายใจเข้าให้ระลึกถึงเส้นผมทุกเส้นบนหัว แล้วกลั้นลมไว้ นับ ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ แล้วหายใจออก ช่วงนี้เราจะถอนเส้นผมทุกเส้นบนหัวออกมากองไว้ข้างหน้า และระลึกรู้ว่า บนหัวไม่มีเส้นผมแล้ว การพิจารณาที่ขนก็ใช้วิธีเดียวกัน จนถึงตับไตไส้พุง มีความรู้สึกเหมือนเราปอกเปลือกตัวเองออกทีละชิ้น ทีละส่วน จนรู้สึกว่างเปล่า ไม่มีตัวของเรา เป็นเพียงการรวมกันของธาตุทั้ง ๔ ขึ้นเป็นตัวตน และมีจิตเท่านั้นที่อยู่อย่างเป็นอมตะหรือที่เรียกว่าวิญญาณ ซึ่งสิ่งเหล่านี้บางครั้งก็สามารถพิจารณาได้นานและนิ่ง แต่บางครั้งก็พิจารณาได้ไม่นาน หลวงปู่จึงบอกว่า ขั้นแรกต้องมีความเพียรในการปฏิบัติ หมั่นทำให้เป็นนิตย์ ท่านได้พูดถึง กสิณ คือการผูกจิต เพื่อจะสามารถบังคับวัตถุที่เพ่งอยู่ เช่น ดิน สามารถทำให้ขยายออกจนใหญ่หรือเล็กได้ หรือเพ่งจนไฟสามารถติดได้ดับได้ แต่สิ่งนี้ไม่ใช่แนวทางของมหาสติปัฐาน ๔ ดังที่กล่าวข้างต้น ซึ่งหลวงปู่บอกว่ามหาสติปัฏฐาน ๔ นี้ เป็นทางสายเอกที่จะเข้าถึงนิพพานได้ โดยจะไม่มีคำภาวนาใดๆ ไม่ว่าจะเป็นคำว่า "พุทโธ" "อรหังสัมมา" แต่ใช้การระลึกรู้ตลอดในการกิน เดิน นั่ง นอน เมื่อทำได้ถึงจุดจุดหนึ่งจนนิ่ง จะต้องจัดขึ้นอีกระดับ คือ เป็นการพิจารณาไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ซึ่งจะพัฒนาจิตให้สูงขึ้นไปอีก
      
       ในวันที่ ๑๘ ธันวาคม เราก็กลับสู่วัดอ้อน้อย เมื่อถึงวัด กิจของสงฆ์ในแต่ละวันก็ยังเหมือนเดิม แต่ได้หลักและวิธีการปฏิบัติเพิ่มขึ้น จากสิ่งที่หลวงปู่ท่านถายทอดจากประสบการณ์ของท่านในการไปอบรมพระวิปัสสนา จารย์ ที่วัดปลักไม้ลาย
      
       หลังจากนั้นเราได้ทราบข่าวว่า หลวงปู่อนุญาตให้พวกเราทั้งหมด เข้าร่วมการอบรมพระวิปัสสนาจารย์ รุ่งที่ ๒ ที่วัดวังตะกู ในวันที่ ๙-๒๓ มกราคม ๒๕๔๓ ในครั้งนี้เราได้รับประสบการณ์ถึง ๑๕ วันในการอบรม และยังได้รับการถ่ายทอดการเดินจงกลมจากหลวงปู่ คือ เริ่มยืนกำหนดลมหายใจเข้า-ออก จนนิ่ง และส่งความรู้สึกไปที่เท้าทั้ง ๒ ข้าง หลังจากนั้นยกเท้าซ้ายขึ้น และถ่ายน้ำหนักไปเท้าขวา จนน้ำหนักอยู่ที่เท้าข้างขวาทั้งหมดและเท้าซ้ายจะมีอิสระ หลังจากนั้นจึงลงส้นเท้าและก็ถ่ายน้ำหนักไปเท้าซ้าย ต้องกำหนดสติตามไปด้วยตลอด และยกเท้าขวาขึ้น(เหมือนเท้าข้าซ้าย) ทำไปเรื่อยๆ จนกำหนดสติได้ จิตจะนิ่งสงบ รู้แต่ว่าเท้าซ้าย-ขวา ทำอะไรอยู่ กระทบอะไร โดยไม่ต้องมีคำภาวนาใดๆ เวลากลับตัวให้บิดเท้าไปตามและถ่ายน้ำหนักนั้นลงไป โดยเท้าอีกข้างต้องเป็นอิสระเหมือนการเดินปกติข้างต้น หากเกิดอาการปวดหัวเข่า ปวดขา อาจเกิดจากการก้าวขายาวไป และเกิดอาการหลุดจากจิตที่จับอยู่ที่เท้า และสติไม่สามารถรับรู้การเดินได้ เช่น กระวนกระวายใจ จับไม่ได้ว่าเท้าสัมผัสอย่างไร และเกิดการก้าวสั้นไปจนจิตจับไม่ทัน ให้หยุดยืนอยู่กับที่และสำรวมจิตใหม่ กำหนดสติไปที่เท้าทั้ง ๒ ข้าง และรีบก้าวเดินอีกครั้ง
      
       หลวงปู่บอกว่าการปฏิบัติต้องเพียรทำบ่อยๆ จนเราสามารถเดินได้อย่างสบายและไม่เหนื่อย ซึ่งท่านบอกว่าเป็นหนึ่งในวิชาที่ท่านใช้เวลาเดินธุดงค์ในป่า ข้าพเจ้าเองได้สังเกตเวลาที่ท่านเดินในวัด จะเห็นว่าท่านเดินช้า แต่พวกเรากลับเดินตามไม่ทัน บางครั้งต้องจ้ำขาอย่างเร็วถึงจะตามทัน อีกทั้งท่านยังบอกว่า ให้ลองไปพลิกดูรองเท้าของท่านทั้งสองข้างว่าจะสึกเท่ากัน เพราะมีการถ่ายน้ำหนักไปที่ขาทั้งสองข้างเท่ากัน ไม่ใช่ว่าเท้าข้างใดข้างหนึ่งจะลงหนักกว่าอีกข้าง ซึ่งข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปพลิกรองเท้าของท่านดูและเห็นเป็นเช่นนั้นจริงๆ!
      
       อีกวิชาหนึ่งที่เราได้รับมาก็คือ การพิจารณาโครงกระดูก ซึ่งมีผู้นำโครงกระดูกมาถวายให้หลวงปู่ ท่านให้พวกเราเรียกโครงกระดูกนี้ว่า อาจารย์ใหญ่ (รายละเอียดหาฟังได้จากเทปชุด'พิจารณาโครงกระดูก' ) ถ้าเราสามารถพิจารณาจนโครงกระดูกทั้งหมดจากขาวขุ่นเป็นแก้วใสได้เมื่อใด จิตและสติของเราจะรวมเป็นหนึ่ง สามารถพัฒนาจิตขึ้นไปได้อีกขั้น
      
       ในการอบรมพระวิปัสสนาจารย์ครั้งนี้ เราได้ทราบว่าหลวงปู่ต้องใช้พลังอย่างมากในการทำงาน ตื่นตั้งแต่ตี ๓ บ้าง ตี ๔ บ้าง ท่านจะขึ้นไปบนศาลาที่เราใช้เป็นที่อบรม และจะเข้ากลดอีกครั้งก็หลัง ๓-๔ ทุ่มไปแล้ว และบางครั้งช่วงตี ๑-๒ ท่านจะออกมาเดินจงกลมด้านหน้าถนน บริเวณที่เราปักกลดอยู่แถวป่าช้า และทั้ง ๑๕ วันท่านต้องใช้เสียงตลอด ทั้งที่ท่านมีโรคประจำตัว คือ เลือดในลำคอของท่านจะไหลออกมาเมื่อใช้เสียงมากๆ
      
       แล้ววันที่รอคอยก็มาถึง คือวันที่ออกไปธุดงค์ ที่ลำอีซู หลวงปู่กำหนดให้เราไปในวันที่ ๑-๑๐ กุมภาพันธ์ โดยวันแรกหลังฉันแล้ว เก็บกลดและของใช้ต่างๆ รวมแล้ว ๑ ย่าม ๑ บาตรพอดี เราก็ออกเดินทาง ไปถึงธุดงคสถาน ลำอีซู ตอน ๑๐. ๓๐ น. ที่นี่เป็นเสมือนบ้านหลังที่ ๒ ของเรา โดยมีหลวงพี่เจี๊ยบทำงานอยู่ที่ธุดงคสถานนี้ หลวงพี่เจี๊ยบนี้เราได้ทราบมาว่าเคยอุปฐากหลวงปู่ที่วัดอ้อน้อย และหลวงปู่ท่านให้มาช่วยงานที่ลำอีซู นอจากนี้ยังมีครอบครัวของโยมอีกครอบครัวหนึ่ง ซึ่งมาช่วยในการทำงานพัฒนาพื้นที่ในบริเวณธุดงคสถาน รวมทั้งพวกทหารจำนวนหนึ่งและคนงานอีกบางส่วนที่หลวงปู่จ้างไว้
      
       ธุดงคสถานนี้ มีพื้นที่ประมาณ ๒๐๐ กว่าไร่ ด้านบนเขาทำเป็นอ่างกักเก็บน้ำ โดยดูดน้ำจากด้านล่างขึ้นไปไว้ด้านบน แล้วปล่อยน้ำออกมาทางระบบสายน้ำหยด ส่วนบริเวณโดยรอบจะมีสวนกล้วย ไร่มันสำปะหลัง และป่าสมุนไพร ปลูกอยู่ อีกทั้งมีฟาร์มเลี้ยงเป็ดไก่ ซึ่งจะเอาไข่ที่ได้มาขายและเป็นอาหารสำหรับผู้คนที่มาพักอาศัย ส่วนบริเวณโบสถ์จะยกพื้นสูงโรยด้วยกรวดเล็กๆ ที่ฐานพระประธานมีนิลโรยอยู่เต็มฐาน องค์พระประธานเป็นพระปางนาคปรก ด้านบนเปิดโล่ง มีหลังคาเป็นท้องฟ้า มีต้นไม้ใหญ่เป็นเสาอยู่โดยรอบ ถัดออกไปเป็นป่าไผ่รายล้อมอยู่ ซึ่งหลวงปู่บอกว่าเมื่อต้นไม้บริเวณโบสถ์โตขึ้น จะต้องมีการขุดต้นไผ่ที่อยู่โดยรอบออกเพื่อป้องกันยุง
      
       วันที่ ๒ ก.พ. เราเริ่มสำรวจป่าสมุนไพรว่ามีต้นอะไรบ้าง โดยนำรายชื่อพร้อมสรรพคุณต่างๆที่เราจดบันทึกมาจากการไปอบรมพระวิปัสสนา จารย์ครั้งแรกที่วัดปลักไม้ลาย มาเป็นข้อสังเกต จากนั้นจึงเขียนชื่อต้นสมุนไพรแต่ละชนิดใส่แผ่นพลาสติกและติดทั่วบริเวณ ซึ่งหลวงปู่ได้ให้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับสรรพคุณต่างๆของสมุนไพรไทย เช่น
      
       - เปลือกมังคุด : ตำละเอียด คั้นเอาน้ำมาทา แก้โรคแผลเรื้อรัง โรคติดเชื้อ
       - ลูกใต้ใบ, ฟ้าทะลายโจร : นำมาต้ม แก้ไอ, ต่อมทอนซิลอักเสบ ขับเสมหะ ไข้หวัด
       - มะเกลือเลือด : ส่วนรากใช้แก้ไอ แก้ไข้, ส่วนแก่นใช้ขับน้ำคาวปลา ขับเลือด
      
       วันที่ ๓ ก.พ. ท่านให้เราทำงานเกี่ยวกับการติดป้ายสมุนไพรต่อจนเสร็จ และช่วงบ่ายให้เจริญสติ โดยการปิดการรับรู้สภาพแวดล้อมรอบข้าง
      
       วันที่ ๔ ก.พ. หลวงปู่บอกเราถึงการอยู่ป่าว่า ให้สังเกตกลิ่นของต้นไม้ ก้อนหิน ดินต่างๆ เพราะมีกลิ่นไม่เหมือนกัน เช่น ที่โดนแดดกับไม่โดนแดด รวมทั้งสังเกตทิศที่อยู่ด้วย จากนั้นท่านจึงนำเราพิจารณาโครงกระดูกภายในกาย
      
       วันที่ ๕ ก.พ. ท่านเตือนว่าผู้ที่มีอายุ ๕๐ ปีขึ้นไป ให้ระวังอย่าตะเบ็งเสัยงและพูดมาก เพราะเส้นเลือดจะเปราะและแตกง่าย แต่ถ้าเลือดไหลออกมาอย่างเลือดกำเดาที่ออกทางจมูกก็จะเป็นการดีกว่าที่เลือด ไม่ไหลออกมาเลย เพราะจะทำให้เป็นอัมพฤกษ์ หรือัมพาตได้
      
       วันนี้หลวงปู่นำพวกเราเจริญสติ โดยดูกายกับจิตหรือลมหายใจ(ดูกาย) เพื่อฝึกสติ และสติดูกายดูจิต โดยระลึกรู้ลมกับโครงกระดูก เพื่อให้อารมณ์เป็นหนึ่งในทุกอิริยาบถ จนกระทั่งไม่รู้สึกอะไร เบาๆ อึมครึม ช่วงนี้ท่านบอกว่า จงอย่าหยุดการเจริญสติ ให้เพียรทำต่อไป และหลวงปู่กับพระอ้วน ได้เดินได้เดินตีฝาบาตรพร้อมทั้งตะโกนว่า "ระวังเสือจะคาบไปกิน!" "อย่าออกจากป่านี้!" ภายหลังท่านให้ความกระจ่างว่า เสือคือตัวปรุงของจิตให้ฟุ้งซ่าน อย่าออกจากป่าคือจิตที่คิดไปต่างๆนานา ซึ่งจิตที่ฟุ้งซ่าน ทะเยอะทะยานอยาก จะเป็นบาปแก่สถานภาพที่จะบวช ซึ่งคือผู้สงบกายใจ หากทำจิตไม่สงบจะเป็นบาปที่ติดตัวไปดังเปรตที่มีไฟกรดเผาตัว และอาจจะมีโอกาสไปเกิดเป็นบัณเฑาะก์หรือกะเทย ไม่มีโอกาสบวชในชาติต่อไป หลวงปู่ท่านให้เราระวังรักษาอย่าให้อกุศลกรรมเกิดขึ้น ไม่ให้จิตหลุดจากป่า ให้รักษาจิตให้อยู่ในป่านี้ ซึ่งก็ทำให้พวกเราสงบนิ่ง พูดคุยกันน้อยลง เพราะยิ่งพูดคุยมาก จิตก็จะยิ่งฟุ้งซ่านมาก ทำอย่างนี้เพื่อเป็นการรักษาจิต
      
       วันที่ ๖ ก.พ. หลวงปู่พูดถึงการทำจิตให้นิ่ง แล้วใช้ไตรลักษณ์ในการพิจารณาเพื่อเข้าสู่ฌาน ซึ่งจะช่วยให้เราสู่ขั้นโสดาบันได้ถ้ามีความเพียรพยายาม และขณะเจริญสติอยู่เกิดอาการว่างเปล่า เรียกว่า ภวังคจิต หรือหลุมอากาศ พวกเดรัจฉานจะใช้ช่วงจิตว่างนี้ทำคุณไสยต่างๆ ซึ่งในการเจริญสติครั้งนี้เรากำหนดรู้ที่โครงกระดูก โดยให้รู้สึกตัวตลอด แต่ไม่มีการภาวนาคำใดๆ และไม่ยึดติดอยู่กับการเกิดนิมิต เราทำให้จิตสงบ รู้สึกถึงความสบาย เย็น ไม่ร้อนหรือหนาว แต่ทำได้เพียงแค่ ๑๐-๑๕ นาที ก็หลุดออกมา หลวงปู่บอกว่าจิต สติ สมาธิ ปราณ ทั้ง ๔ นี้ ต้องใช้ร่วมกันเรียงตามลำดับ ปราณ คือ อาหารในร่างกายหรือความร้อนในเส้นเลือด แต่ต้องมีทั้ง ๓ สิ่ง กำหนด คือ จิต สติ และสมาธิ จึงจะมีประโยชน์สูงสุดและยิ่งใหญ่
      
       ในการฝึกจิต เราต้องกำจัดจิตที่เป็นอกุศลออกโดยการทำจิตที่เป็นกุศลให้มีมากกว่าจิตที่ เป็นอกุศล เพื่อผลในการกลับมาเกิดอีก ถ้าจิตที่มีอกุศลมากก็จะนำอกุศลกลับมาในการเกิด แต่ถ้ามีจิตกุศลมากก็จะนำจิตที่เป็นกุศลกลับมาเกิด สติจะเป็นเหมือนตาที่คอยบอกจิต ขณะทำสติอยู่และจับโครงกระดูกแล้วเกิดพร่ามัวไม่เห็นกระดูกและเกิดเวทนา ให้กำหนดว่า กระดูกกำลังเกิดเวทนา ปวดเจ็บ เกิดบริเวณไหนให้พิจารณาบริเวณนั้น และพิจารณาว่ากระดูกจะมีเวทนาได้อย่างไร ในการเปลี่ยนการพิจารณานี้จะต้องรู้เท่าทันต่อจิต และสภาวธรรมที่เกิดขึ้น แล้วโลภะ โทสะ โมหะ ก็จะดับลง
      
       การเจริญสติเป็นตัววัดหรือวิเคราะห์ว่ากรรมจะหนักหรือเบา ดูได้จากความเพียรในการทำสติ ถ้าทำสติได้ไม่ดี จะต้องเข้าวัดฟังธรรม ถือศีล หากทำสติได้ดี จะทำให้สตินิ่ง โดยต้องดูจากความเพียรเป็นหลักในการทำ การทำสติและนำไปสู่วิปัสสนาญาณ โดยการรับรู้สภาพความเป็นไปของธรรมชาติ คือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป หรือการพิจารณาธาตุทั้ง ๔ ในกาย(ธาตุบรรพ) เมื่อจิตสงบ ลมละเอียด นั่นแหละพิจารณาวิปัสสนาได้
      
       ในวันที่ ๘ ก.พ. เราเดินทางออกจากน้ำตก เพื่อกลับมาที่ธุดงคสถาน หลวงปู่ออกเดินนำหน้า ท่านเดินเนิบนาบแต่พริ้วสวย ดูแล้วไม่น่าเร็วนัก แต่พวกเราต้องจ้ำกันถึงจะทันท่าน เราหยุดพักเป็นช่วงๆ เพราะพระที่อายุมากๆจะเดินตามไม่ทันและเหนื่อย ท่านจะเมตตาถามว่า "เหนื่อยไหม" เมื่อพวกเราตอบว่า "ยังไหวครับ" หรือ "ไม่เหนื่อยครับ" ก็เดินกันต่อ ระหว่างทางตอนหยุดพักท่านให้เราถ่ายรูปร่วมกับท่านด้วย โดยท่านไม่ได้บอก แต่รู้กันเองในหมู่พระ นี่จึงเป็นครั้งแรกตลอดการบวชที่หลวงปู่ถ่ายรูปหมู่ร่วมกับพระใหม่
      
       ท่านบอกถึงสาเหตุของการย้ายกลับมาครั้งนี้ว่า เพราะย่าศรีนวลมาบอกว่า จะมีเด็กนักเรียนเข้ามาพักที่น้ำตก ท่านไม่อยากให้พวกเราไปปะปนแย่งเด็กเข้าห้องน้ำ(ท่านพูดด้วยอารมณ์ขัน)
      
       วันที่ ๙ ก.พ. หลังฉันเช้าแล้ว ท่านให้พวกเราช่วยกันล้างป่า โดยการเก็บกิ่งไม้และลิดกิ่งต้นไม้ที่ยืนต้นตายแล้ว เอาไปไว้ที่โรงครัว ส่วนที่เป็นท่อนใหญ่ๆไปไว้ที่เตาเผาถ่าน เพื่อเผาไม้เป็นถ่านแล้วส่งไปใช้ที่วัดอ้อน้อย รวมทั้งส่งไปใช้ในงานอบรมพระวิปัสสนาจารย์ด้วย หลังฉันเพลประมาณบ่าย ๒ โมง ท่านให้พวกเรามาพร้อมกันที่โบสถ์ แล้วให้พระใหม่ไปหิ้วกระป๋องใส่พระหลวงปู่ทวดที่หล่อด้วยโลหะเงิน นำมาแจกทุกคน คนละ ๕ องค์ พวกเราคิดว่า ท่านแจกให้เป็นของที่ระลึกหลังจากสึกออกไปแล้ว สุดท้ายท่านพูดว่า "รู้ไหม แจกทำไม" มีพระรูปหนึ่งพูดขึ้นมาว่า "แจกให้ปลุกเสก" แต่ที่ไหนได้ ท่านบอกว่าให้นำไปใส่ในเจดีย์ ที่อยู่หลังพระประธาน ซึ่งเป็นจอมปลวกที่มีขนาดสูงใหญ่เกือบเท่าคน โดยก่อนหน้านี้หลวงปู่ให้หลวงพี่สนธ์มาทะลวงดินจอมปลวก เพื่อให้ปลวกหนีไปสร้างรังที่อื่น และทำจอมปลวกเป็นเจดีย์แทน (ปลวกที่นี่ตัวใหญ่มาก ตัวดำ เขี้ยวยาว กัดทีไรได้แผลทุกที)
      
       ท่านบอกกับพวกเราว่า เพื่อสืบทอดอายุของพระศาสนาให้ยืนยาวขึ้น ขอให้พวกเราช่วยกันอธิษฐานจิต โดยท่านเป็นผู้นำอธิษฐาน หลังจากนั้นจึงทยอยกันปีนขึ้นไปนำพระที่ได้รับแจกไปใส่ในปล้องบนสุดที่ถูก ตัดออกเป็นโพรงอยู่ตรงกลางจอมปลวก หลวงปู่ท่านหยิบพระขึ้นมาหนึ่งกำมือแล้วใส่ลงไป พร้อมทั้งใช้ไม้เขี่ยพระที่ติดอยู่บนไหล่ดินในปล้อง ให้ลงกลางปล้องจนหมด จากนั้นท่านจึงหยิบก้อนหินมาเขียนยันต์และอธิษฐานจิต แล้วนำมาปิดบนปากจอมปลวก และนำดินบนจอมปลวกที่ตัดออกนั้นปิดทับอีกที เรียบร้อยแล้วท่านก็นำเจริญพระพุทธมนต์ว่า
      
       "ด้วยผลของการบูชาครั้งนี้ ด้วยวาสนาบารมีของลูกหลานข้า จงเติบโต งอกงาม ไพบูลย์ เติบใหญ่ จงมีความเจริญรุ่งเรืองในกิจกรรมการงาน มีอำนาจ พลัง ตบะ ชัยชนะ ความสำเร็จ ทรัพย์ ลาภ กำลัง ความสุข ไม่ว่าเขาจะเกิดในชาติใดภพใด อยู่ ณ สถานที่ไหนๆ จงอย่าแคล้วคลาดจากพระธรรมวินัยของพระศาสดา จงมีดวงตาปัญญาณ รู้ทั้วถึงธรรมของพระพุทธเจ้า ที่พระองค์ทรงแสงดและรู้แล้ว จงมีที่พึ่งอันประเสริฐที่สัตว์ทั้งหลายพึ่งแล้วพ้นทุกข์ได้ จงมีชัยชนะต่อหมู่มาร อริราชศัตรู และอุปกิเลสทั้งปวง เปรียบประดุจดังพระศาสดาที่มีชัยชนะต่ออุปกิเลสทั้งปวงแล้ว จงมีปัญญาญาณหยั่งรู้ สรรพสิ่ง สรรพชีวิต และสรรพสัตว์ มีความเจริญมั่นคง มั่งคั่ง คิดและหวังสิ่งใด จงสำเร็จสัมฤทธิ์ผลสมความปรารถนาทุกประการเทอญ
      
       ขออำนาจธรรมะศักดิ์สิทธิ์แห่งพระโพธิสัตว์เจ้า จงสถิตสถาพรอยู่ในตัวลูกหลานข้าทุกคน ให้พ้นจากมลทินทั้งหลาย มีความสุข ความสำเร็จ มีดวงตาปัญญาญาณรู้ทั่วถึงธรรมตลอดกาลเทอญ"
      
       วันที่ ๑๐ ก.พ. หลังฉันเช้าเสร็จ พวกเราได้เดินทางกลับวัดอ้อน้อย เรารู้สึกว่าเวลามันช่างผ่านไปรวดเร็วเหลือเกิน เหมือนเพิ่งเดินทางมาเมื่อวานนี้ ตลอดเวลาที่อยู่ที่นี่ เราเหมือนอยู่กับคุรุผู้ยิ่งใหญ่ ที่ท่านบอกเล่าสั่งสอนทุกเรื่องทุกอย่าง เป็นครูให้เราดูให้เราเห็นกิจแต่ละวันของท่าน ท่านจะไม่ปล่อยเวลาให้ว่างและไร้ประโยชน์ นี่ละ...พระมหาโพธิสัตว์ที่ยิ่งใหญ่ของลูกหลาน
      
       ๑๔ กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันกำหนดสึก พวกเราทั้งหมดมาพร้อมกันที่อุโบสถ หลวงปู่มาเป็นประธานในพิธี แต่ท่านให้พวกเราชักสังฆาฏิกันเอง แล้วไปเปลี่ยนเป็นชุดขาว จากนั้นท่านจึงนำเจริญพระพุทธมนต์ ซึ่งเป็นบทให้พร และเป็นมงคลแก่การออกสู่โลกของการแก่งแย่งแข่งขัน ข้าพเจ้ารู้สึกใจหาย นึกถึงวันแรกจนวันสุดท้าย ชีวิตนักบวชของเราทำไมจึงเร็วนัก
      
       สุดท้ายนี้ ผลบุญอันใดที่บังเกิดขึ้น ข้าพเจ้าขออุทิศแด่ผู้มีพระคุณทุกท่านที่ได้ให้อาหารและปัจจัย ๔ แก่ข้าพเจ้าในขณะบวชอยู่ รวมทั้งองค์หลวงปู่ผู้เป็นคุรุอันประเสริฐ ผู้ชี้นำทางสว่างให้แก่เราทั้งผอง เพราะหากไม่มีท่านแล้ว ข้าพเจ้าคงไม่มีโอกาสดีๆเช่นนี้ในชีวิต
      
       ด้วยจิตน้อมคารวะแด่ปู่
       นวกะเฉลิมพระเกียรติ
      
       พ่อผู้มีใจอารี
      
       ผมขอเริ่มตั้งแต่ต้นเลย คือผมมีโอกาสพบหลวงปู่ครั้งแรก ในงานฝังลูกนิมิตของวัด ด้วยความอยากรู้ว่า ตัวตนของหลวงปู่เป็นอย่างไร เพราะเพียงแค่อ่านจากหนังสือคงไม่เท่ากับพบตัวจริงของท่าน ดังนั้นเมื่อวัดมีงาน ผมจึงเดินทางไปแต่เช้า เมื่อไปถึงปรากฏว่ามีรถจอดกันมากอยู่แล้ว ผมต้องนำรถไปจอดหน้าวัด
      
       เมื่อเข้าไปในวัด ผมรู้สึกว่าวัดสะอาดมาก จนเมื่อพิธีฝังลูกนิมิตจบแล้ว หลวงปู่ก็มานั่งพักที่เต็นท์หน้าโบสถ์เพื่อแสดงธรรม ผมจึงโอกาสได้ฟังธรรมจากท่าน ผมรู้สึกว่า ใช่เลย! พระรูปนี้แหละ ท่านใช้ภาษาง่ายๆฟังเข้าใจได้ดี อากัปกิริยาของท่านลื่นไหลดุจกระแสน้ำ ไม่มีขัดเขิน ฟังแล้วรู้สึกสบายใจดี
      
       หลังจากวันนั้น ผมได้ทราบว่า ทางวัดมีโครงการบวชพระเณร เพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระชนมายุครบ ๗๒ พรรษา ผมก็ตัดสินใจอยู่ว่าจะบวชดีไหม เนื่องจากผมไม่เคยบวช และผมก็แต่งงานแล้ว จึงลังเลอยู่ แต่เมื่อผมได้ฟังเทปของหลวงปู่ ผมก็ตัดสินใจว่าต้องบวช อย่างน้อยก็เป็นการพิสูจน์ตัวเองในการที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง(เดิมผมเป็นคน ที่ดื่มเหล้ามาก เที่ยวกลางคืน กลับบ้านก็เกือบสว่าง เป็นคนจับจด ทำอะไรไม่ได้นาน เบื่อง่าย ดังนั้นจึงต้องการบวชเพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเอง) ผมจึงลงชื่อสมัครบวชโดยที่ภรรยาไม่ทราบ จนกระทั่งสองเดือนก่อนบวชจึงได้บอกกับภรรยา และพ่อแม่ ผมร้องไห้กลั้นน้ำตาไม่อยู่ นึกถึงสิ่งที่ตนเองทำผิดพลาด ทำไม่ดีกับพ่อแม่ ซึ่งท่านทั้งสองก็อโหสิให้หมด
      
       ก่อนบวช ผมมาอยู่ที่วัดเมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๔๒ เมื่อมาถึงก็ได้รับกลด ๑ คัน มุ้ง ๑ ปาก และผ้าพลาสติก ๑ ผิน คืนแรกผมรู้สึกว่าลำบาก คิดจะเปลี่ยนใจไม่บวชอยู่เหมือนกัน แต่แล้วก็คิดอีกทีว่านี่เรามาเปลี่ยนแปลงตนเอง แค่นี้ยังเล็กน้อย ยังมีที่ลำบากกว่านี้อีก ผมจึงพยายามทำงายเยอะๆ พอตกดึกก็หลับ ไม่ต้องคิดฟุ้งซ่านมากนัก
      
       เมื่อถึงวันบวช ตอนที่โกนผมนั้นยังรู้สึกใจหายเหมือนกัน พอถึงพิธีอาบน้ำนาค ตอนแรกๆก็รู้สึกสนุกดี(รู้สึกคึกคะนอง) แต่พอหลวงปู่มารดน้ำให้เท่านั้นแหละ น้ำตาไม่รู้มาจากไหน ไหลไม่ยอมหยุด ผมคิดว่า เอ๊ะ! เราเป็นใครชาวบ้านที่มาร่วมพิธีก็ไม่รู้จัก แต่ทุกคนก็อวยพรอนุโมทนากับเราด้วย ผมเห็นชาวบ้านทำด้วยความตั้งใจและจริงใจ ผมรู้สึกตื้นตันใจมาก กลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ (อีกใจหนึ่งก็คิดว่า ตัวเองอ่อนแอจัง อ่อนไหวเกินไป ต้องเปลี่ยนแปลงตนเองให้ได้)
      
       วันแรกที่ผมมาอยู่วัดนั้น ในช่วงบ่ายตอนผมมาที่กลดเพื่อจะเอาของบางอย่าง พอขยับผ้าพลาสติก ก็ปรากฏว่ามีงูเลื้อยหนีไป ผมตกใจสะดุ้ง! สักครู่ตั้งสติได้ก็แผ่เมตตา ขอสัตว์ทั้งหลายจงเป็นสุขเถิด ต่อมาอีกประมาณสองชั่วโมง ผมก็เดินมาที่บริเวณกลดอีกครั้ง ปรากฏว่าคราวนี้พบตัวต่อกำลังต่อสู้กับแมงมุม เจ้าแมงมุมตัวขนาดอุ้งมือเห็นจะได้ เจ้าต่อตัวเล็กกว่า แต่ในที่สุดแมงมุมก็ทนพิษเหล็กในของต่อไม่ได้ กลายเป็นอาหารของต่อ เจ้าต่อค่อยๆลากแมงมุมผ่านกลดไป ตอนแรกมันฝังศพของแมงมุมไว้ใกล้กับกลดผมมาก ผมก็แผ่เมตตาให้ แล้วก็เดินจากไป เมื่อกลับมาในช่วงเย็นปรากฏว่ามันหายไปแล้วทั้งต่อและซากแมงมุม(ผมลองขุดดู บริเวณที่ต่อฝังซากแมงมุมไว้)
      
       วันที่แปดหลังการบวช หลวงปู่เมตตาสอนวิธีคลำกะโหลกศีรษะ หลักสำคัญคือต้องเห็นภาพของโครงกะโหลกที่เราคลำ เช้าวันที่ ๑๓ ธันวาคม หลวงพี่มาลัยได้สอนพวกเราว่า เราควรฉันอาหารให้น้อยลง และทำงานให้มากขึ้น ทำให้ผมมาคิดถึงตัวเองว่า ที่ผ่านมาหลายวันผมจะฉันอาหารมาก ทำให้เวลาเรียนจะสัปหงกตลอดเวลา ดังนั้นผมจึงควรต้องฉันให้น้อยลง
      
       วันที่ ๑๔ ธันวาคม เราเดินทางสู่วัดปลักไม้ลาย อากาศช่วงนี้เย็น ตอนเช้าจะไม่ค่อยมีใครอาบน้ำ แต่ผมก็อาบทุกวัน ที่วัดปลักไม้ลายส่วนใหญ่เป็นป่าไม้อากาศชื้น ยุงตัวใหญ่มาก(ขนาดแมลงวันหัวเขียวตัวใหญ่ๆ) กัดเจ็บมาก ขนาดสะบัดมือยังไม่ค่อยจะยอมไป ต้องเอามือปัดออก ผมและเพื่อนปักกลดอยู่แถวหน้าฮวงซุ้ย(หลุมฝังศพ) ตอนกลางคืนก่อนนอนผมก็ไม่คิดอะไรมาก ได้แต่แผ่เมตตาขอสรรพสัตว์จงเป็นสุข แล้วก็นอน(แต่ไม่ลืมสวดมนต์ก่อนนอนด้วย) ผมจึงหลับสบาย แต่มีอยู่กลุ่มหนึ่งเค้าเล่าว่า ประมาณตีสอง ที่นอกกลดของเค้าทางด้านศีรษะ มีเสียงเหมือนเด็กมาเล่นอะไรกันนานสองนาน!
      
       มีอยู่วันหนึ่งประมาณเที่ยงคืนเห็นจะได้ ผมได้ยินเสียงมาจากทางด้านศีรษะ! จึงลุกขึ้นเอาไฟฉายส่องดูก็ไม่พบอะไร สักพักก็มีเสียงอีก ผมก็ส่องดูใหม่ ก็ไม่พบอะไรเหมือนเดิม พออีกสักครู่ก็ได้ยินเสียงร้องเหมียว...! พอส่องไฟดูก็เห็นแมวเดินอยู่ ผมก็เลยไม่สนใจอะไรอีก
      
       เมื่อกลับมาที่วัดอ้อน้อย ช่วงนั้นอากาศหนาว ผมกับเพื่อนๆกลุ่มหนึ่งได้ลงไปแช่น้ำในบ่อประมาณ ๔๕ นาทีก่อนที่จะไปฉันเช้า จุดประสงค์ก็เพื่อฝึกสติ โดยผมจะหายใจตามที่หลวงปู่สอนมา เพื่อใช้แก้ความหนาว คือ หายใจเข้าลึกๆและกักลมหายใจไว้จนจะทนไม่ไหว ก็ค่อยๆผ่อนลมหายใจออกมาช้าๆ ก็รู้สึกมีความร้อนไหลผ่านจากก้นกบขึ้นมาสู่สันหลัง และไหลมาตามลำแขน ซึ่งจะช่วยลดทอนความหนาวลงได้ จนมาในวันที่ ๒๒ ธันวาคม ได้ฝึกวิชาขันธมาร ช่วงนั้นอากาศหนาวมาก มีลมพัดแรง พวกเรานั่งสมาธิโดยพระพี่เลี้ยงจะราดน้ำล้างจาน ล้างผัก ผสมกับน้ำอุจจาระ ลงบนตัวพวกเรา ความเย็นจากน้ำประกอบกับอากาศที่หนาวมาก ทำให้ผมสั่นสะท้านตลอดการนั่งอยู่ประมาณชั่ว ๑ ก้านธูป พอเสร็จผมก็ลงบ่อเพื่อชำระร่างกาย นึกว่าน้ำจะอุ่น ปรากฏว่าเย็นเฉียบ ผมแช่ได้ ๒-๓ นาทีก็รีบขึ้นมา เพราะหนาวสั่นไปหมด เดินมาอาบน้ำต่อที่หอระฆัง ซึ่งอยู่ไม่ไกลนัก แต่ผมรู้สึกว่าระยะทางยาวไกลมาก(รู้สึกช็อก)
      
       แล้วก็มาถึงการอบรมพระวิปัสสนาจารย์รุ่นที่ ๑ ครั้งที่ ๒ ที่วัดวังตะกู ซึ่งทำให้ผมนึกถึงขันติธรรมของหลวงปู่(จริงๆก่อนหน้านี้ มีพระที่ไหนผมจำไม่ได้ มาลองดี มาหาหลวงปู่ที่วัดแล้วถ่มน้ำลายใส่ท่าน ท่านก็สงบ ไม่ตอบโต้ วันนั้นผมทำงานอยู่ด้านหลังไม่ค่อยรู้รายละเอียดเท่าใดนัก) ผมจึงได้เข้าใจว่าขันติธรรมและความนอบน้อมถ่อมตน จะทำให้เป็นคนเหนือคน เป็นมนุษย์ที่ประเสริฐ
      
       หลังจากนั้นไม่นาน เราก็ไปธุดงค์ที่ลำอีซู ที่นั่นผมมีความรู้สึกว่าอยู่กับพ่อผู้มีใจอารี ผมได้เห็นธรรมชาติของหลวงปู่ที่สอดคล้องกลมกลืนกับธรรมชาติ ผมไม่อยากจากที่นั้นมาเลย รู้สึกสงบและมีความสุข ดื่มด่ำไปกับความเงียบและความมืด รวมทั้งเสียงแมลงและนกร้อง (ผมเคยไปเที่ยวป่าหลายครั้ง แต่ไม่มีครั้งไหนเหมือนครั้งนี้ ผมรู้สึกเข้าใกล้กับธรรมชาติกับป่ามากขึ้น)
      
       จนกระทั่งวันลาสิกขา ผมมีความรู้สึกไม่อยากจากสภาวะอันสงบแล้วกลับไปสู่สังคมอันวุ่นวาย ผมอดหลั่งน้ำตาไม่ได้ ทั้งๆที่ตั้งใจว่าจะไม่ร้องไห้ เพราะมันเป็นสภาวธรรมหนึ่งเท่านั้น ผมรู้สึกว่าชีวิตผมจากนี้จะเปลี่ยนไป ผมรู้ว่าภายในตัวตนของผมเองมีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจิตวิญญาณของตนเอง เพราะระยะเวลาหลังจากลาสิกขาจนถึงวันนี้ สภาพจิตใจ จิตวิญญาณของตนเองดีขึ้นกว่าก่อนที่ผมจะป่วยเสียอีก การขับรถดีขึ้นมีมารยาทมากขึ้น อารมณ์ก็เย็นมากขึ้น มีสติในการทำงานที่ดีขึ้น นี่ยังไม่รวมถึงสภาพร่างกายที่รู้สึกแข็งแรงกระฉับกระเฉงขึ้นด้วย
      
       สุดท้ายนี้ หากข้อเขียนนี้จะก่อให้เกิดกุศลผลบุญอันใด ผมขออุทิศแด่องค์หลวงปู่ ครูและอาจารย์ ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาและชี้ทางสว่างให้ อีกทั้งเปรียบดั่งบิดาผู้ให้กำเนิดชีวิตใหม่ที่มีคุณค่าของผมอีกด้วย
      
       ศิษย์สันหลังยาว
       ถิรธัมโม
      
        คุรุผู้ประเสริฐ
      
       ข้าพเจ้ามีโอกาสได้เข้ามาบวชเป็นภิกษุที่วัดอ้อน้อย (ธรรมอิสระ) ถือเป็นวาสนาสำหรับตนเอง ที่ได้ฝึกหัดปฏิบัติเรียนรู้ในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
      
       วิธีเจริญสติ
      
       - ขณะปฏิบัติงาน (เจริญสติในอริยาบถต่าง ๆ )
       - ขณะเจริญพระพุทธมนต์ (รู้จังหวะใช้ลมหายใจขณะเจริญพระพุทธมนต์)
       - การใช้ลมหายใจ

       วิธีการแก้ไขปัญหา
      
       - เมื่อมีจิตฟุ้งซ่านขณะปฏิบัติธรรม
       - เมื่อปฏิบัติธรรมแล้วไม่เจริญก้าวหน้า
       - การดูแลสุขภาพและการป้องกัน
      
       เรียนรู้
      
       - การอยู่ป่า และสังเกตธรรมชาติ
       - การเดินธุดงค์ การอยู่กลด และปักกลด
       - ศึกษาต้นยาสมุนไพร
      
       ข้าพเจ้าได้รับประสบการณ์มาบ้างตามกำลังสติปัญญาของตนเองที่มีอยู่ และสามารถรับได้ ถ้ามีความตั้งใจเรียนรู้ ฝึกหัดปฏิบัติอย่างละเอียดและนำมาใช้ให้ถูกขั้นตอนจะมีคุณประโยชน์สำหรับนัก ปฏิบัติมาก
      
       การเตรียมตัวก่อนบวช
      
       ข้าพเจ้าได้ถามตนเองว่า มีความพร้อมแค่ไหนและมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง เมื่อประสบพบปัญหาแล้วสามารถช่วยเหลือตนเองได้ไหม จึงมาพิจารณาทบทวนพื้นฐานของตนเอง เพื่อที่จะนำเป็นหลักเกณฑ์ในการเข้ามาเรียนรู้ในการบวชครั้งนี้ ดังนี้
      
       - บุญ วาสนา (ซึ่งเป็นกำลังส่งเสริมในการปฏิบัติได้ช้าหรือเร็ว)
       - การฝึกหัดเรียนรู้ (ของตนเองที่ผ่านมา)
       - กาย วาจา ใจ (ที่เป็นอุปนิสัยของตนเอง)
       - เพื่อนสหธรรมมิก (ที่มีการปฏิบัติตรงและถูกต้อง)
       - สติ ปัญญาของตนเอง (ที่สามารถช่วยเหลือได้เมื่อพบปัญหา)
      
       การบวชเป็นภิกษุระยะแรก (ประมาณ ๑๐ วัน)
      
       ได้เรียนรู้วิถีทางของการเป็นภิกษุ ได้ฝึกหัดปฏิบัติการเจริญสติขณะทำงาน มีความสงบและสบายใจ
      
       การบวชระยะที่สอง (ประมาณ ๕๐ วัน)
      
       ได้เรียนรู้ พระวินัยบัญญัติมากขึ้นก็เริ่มมีความวิตกกังวล กลัวจะไม่มีกำลังสติมากพอแล้วไปละเมิด หรือปฏิบัติผิดพลาดไม่ถูกต้องต่อพระวินัยบัญญัติ ทำให้บุญกุศลเสียหาย และอาจจะเป็นเวรกรรมติดตัว
      
       เริ่มวิตกกังวลเกิดความไม่สบายใจ เมื่อพบเห็นภิกษุบวชใหม่บางรูปที่ประพฤติตัวไม่เหมาะสม ถึงแม้พระพี่เลี้ยงจะคอยแนะนำ ตักเตือนอยู่เสมอแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่ดีขึ้น ข้าพเจ้าจึงมาพิจารณาทบทวนตนเองว่า ทำไมต้องมาวิตกกังวลกับเรื่องเหล่านี้ สาเหตุอาจจะเกิดจากการเตรียมตัวก่อนบวชมาได้ไม่ดีพอ
      
       องค์หลวงปู่เคยแนะนำสั่งสอนไว้ว่า คนที่เข้ามาบวชจะต้องรับผิดชอบ ศึกษาพระวินัยและข้อวัตรมาบ้าง เมื่อบวชแล้วไปละเมิดถือว่าผิด จะอ้างว่าไม่รู้ไม่ได้ ข้าพเจ้าจึงแก้ข้อวิตกกังวลการละเมิดวินัยบัญญัติ โดยหางานทำเจริญสติให้มาก ๆ และขณะเดียวกันก็ระลึกถึงโครงกระดูกให้บ่อยครั้งเมื่อไม่ได้ทำงาน
      
       ส่วนข้อที่วิตกกังวลเรื่องภิกษุบวชใหม่ประพฤติปฏิบัติไม่เหมาะสม ก็ได้พิจารณาคำแนะนำที่องค์หลวงปู่สอนว่า อย่าพยายามดูคนอื่นให้ดูแต่ตัวเอง จัดระเบียบของตัวเอง ใครจะอย่างไรก็ชั่ง ถ้าทุกคนดูตังเองก็จะไม่มีปัญหา เพราะทุกคนก็จัดตัวเองให้เข้าทีเข้าทางได้ด้วยตนเอง
      
       ภิกษุปริวาสิกะ (ปริวาสกรรม)
      
       ๑. ต้องอ่อนน้อมถ่อมตน
       ๒. เป็นผู้รับใช้ (พระภิกษุที่สมบูรณ์)
       ๓. เป็นผู้อยู่ที่หลัง
       ๔. เป็นผู้พูดน้อย
       ๕. ระวังการเข้าร่วมสังฆกรรมสงฆ์
       ๖. ปฏิบัติงานทั่วไปหนัก และมากขึ้น
       ๗. นอนประมาณ สามทุ่มครึ่งถึงสี่ทุ่ม
       ๘. ตื่นนอนประมาณ ตีสองครึ่งเพื่อเจริญสติตอนตีสาม
      
       ข้าพเจ้าได้สัมผัสและมีความเข้าใจการเจริญสติขณะปฏิบัติงานได้มากและ ชัดเจนขึ้น รู้จักตนเอง และผู้อื่นมากขึ้น หมดความกังวล เรื่องการทำผิดพลาดพระวินัยในการบวชครั้งที่แล้วจนหมดสิ้น
      
       ได้ประสบการณ์ติดตัวตนเองตลอดไป โดยเฉพาะช่วงที่มีเวลานอนน้อย และได้ปฏิบัติงานที่หนัก เช่น ขุดดิน แบกดิน ง่วงก็ง่วง เหนื่อยก็เหนื่อย ถ้าหยุดพักก็จะทำให้หลับ ต้องเคลื่อนไหวกายอยู่เสมอ เวลาปฏิบัติงานต้องฝืนและคอยระวัง ซึ่งอาการนี้สามารถหยุดความคิดที่เคยแตกแยกไปกับเรื่องอื่น ๆ ได้มาก เห็นความสงบและสุขใจ ซึ่งหาได้ยากมากของแต่ละวันสำหรับข้าพเจ้า
      
       ได้ประสบการณ์ ช่วงที่มีภิกษุปริสาสิกะรูปหนึ่งไม่สามารถประพฤติปฏิบัติตามข้อวัตรที่กำหนด ไว้ได้ ถึงแม้พระอาจารย์กรรม(พระพี่เลี้ยง)จะคอยตักเตือนผ่อนผันอยู่ตลอดเวลา ก็ไม่ดีขึ้น จึงโดนลงโทษให้ภิกษุปริสาสิกะทุกรูป รวมทั้งพระพี่เลี้ยง ลงไปแช่น้ำบริเวณรอบพระอุโบสถ ช่วงเวลาทำวัตรเช้าประมาณตีสี่ตีห้า และช่วงเวลาทำวัตรเย็น
      
       ซึ่งขณะนั้นเป็นฤดูหนาว อากาศเย็นมาก มีภิกษุบางรูปที่ลงไปแช่น้ำทนไม่ไหว ต้องขึ้นมาก่อนกำหนดเวลา เพราะน้ำในขณะนั้นเย็นมาก ส่วนข้าพเจ้าหลังจากขึ้นมาจากน้ำอาการก็ไม่ค่อยดีคล้ายจะเป็นไข้ ภายหลังพระพี่เลี้ยงได้บอกว่าลืมสอนวิธีการอยู่ในน้ำเย็น โดยการเคลื่อนไหวกายซึ่งสามารถทนอยู่ในน้ำที่เย็นได้เป็นเวลานาน ซึ่งภิกษุปริวาสิกะทุกรูปได้รับคำแนะนำวิธีอยู่ในน้ำเย็นได้เป็นเวลานานโดย ที่ไม่หนาวมาก จากนั้นจึงได้ลงไปแช่น้ำเย็นกันอีก ผลก็คือทำให้สามารถสร้างความอบอุ่นให้กับร่างกาย โดยแช่น้ำเย็นแบบไม่ต้องทรมานมากนัก วิธีปฏิบัติต่าง ๆ นั้น ข้าพเจ้าอาจจะเรียนรู้มาได้ไม่หมด เพราะสติปัญญาไม่ค่อยจะดีนัก หากกล่าวไม่ถูกต้องในเรื่องใด ๆ ก็ต้องขออภัยด้วย
      
       ข้าพเจ้าจะยึดหลักไว้ ๓ ข้อในขณะปฏิบัติ คือ
      
       ๑. กายเคลื่อนไหว
       ๒. ลมหายใจ
       ๓. การรู้สึกสัมผัส
      
       วิธีปฏิบัติ
      
       ๑. ยืนแช่น้ำ ให้น้ำอยู่ระดับหน้าอก
       ๒. กางแขนขาซ้ายและขวา ออกไปด้านข้างลำตัวให้สุด
       ๓. ให้แขนซ้ายและแขนขวา ครึ่งหนึ่งจมอยู่ในน้ำและอีกเรื่องหนึ่งที่เหลืออยู่เหนือน้ำสัมผัสกับอากาศ (เป็นท่าเตรียม)
       ๔. การเคลื่อนไหว ให้เคลื่อนไหวแขนซ้ายและขวามารวมไว้ที่หน้าอก พร้อมทั้งสูดลมหายใจเข้าพร้อมทั้งสังเกตความรู้สึกที่แขนซ้ายและขวาส่วนที่ แช่อยู่ในน้ำ และส่วนที่อยู่เหนือน้ำที่สัมผัสกับอากาศว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร
       ๕. จากนั้นให้กางแขนซ้าย และขวาออกให้สุดและให้เอนไปทางด้านหลังให้มากเท่าที่จะทำได้ พร้อมทั้งหายใจออก และสังเกตความรู้สึกที่แขนซ้ายและขวาเหมือนกับครั้งแรก การเคลื่อนไหวอย่างมีสติติดต่อกัน ข้าพเจ้าสัมผัสได้ว่าจะมีไออุ่นเริ่มมาจากฝ่ามือทั้ง ๒ ข้าง
      
       สังเกตการณ์การอบรมพระวิปัสสนาจารย์
      
       ข้าพเจ้ามีโอกาสได้ไปสังเกตการณ์ การอบรมพระวิปัสสนาจารย์ที่วัดปลักไม้ลาย และวัดวังตะภู ประสบการณ์ที่ได้รับ ได้ฝึกหัด ปฏิบัติเรียนรู้การเจริญสติแบบการยืน เดิน นั่ง นอน ทำให้ข้าพเจ้ามีความมั่นใจว่า สามารถนำไปปฏิบัติช่วยเหลือตนเองได้ เพราะทุกครั้งที่เจริญทำให้เกิดความสงบและมีความสบายใจ ไม่เครียดขณะปฏิบัติ ถึงแม้ข้าพเจ้ามีความรู้สึกว่าการรับรู้ของตัวเองยังไม่ดีพอก็ตาม แต่ก็มั่นใจว่าจะนำไปช่วยเหลือตนเองได้ ระหว่างสังเกตการณ์ข้าพเจ้าได้พบเห็นพระวิปัสสนาจารย์ที่เข้ามาอบรม แสดงออกขณะเข้าอบรม และได้พบเห็นคุรุผู้ประเสริฐเพียรพยายามอบรมสั่งสอนด้วยความเมตตายิ่ง ทำให้ข้าพเจ้าน้ำตาซึมที่ได้เห็นตัวอย่างที่ดีงาม ข้าพเจ้าได้ทบทวนเรื่องราวและเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในวันอบรมว่า ผู้ที่เข้ามาเรียนรู้พระธรรมจะต้องเป็นผู้ที่มีพื้นฐานถูกตรง จะต้องใช้สติเป็นพื้นฐานการเรียนรู้
      
       การบวชระยะที่สาม
      
       ที่ลำอีซู ข้าพเจ้าตั้งความหวังไว้ว่าการเจริญสติคงจะก้าวหน้าไปได้ไกล เพราะสถานที่เป็นป่าเขาและธารน้ำตก เหมาะสำหรับการปฏิบัติธรรมเป็นอย่างยิ่ง การเจริญสติระยะแรก ๆ ก็เป็นที่น่าพอใจ เกิดความสงบและสบายใจ แต่ระยะหลัง ๆ เมื่อปฏิบัติแล้วเกิดอาการเครียดมาก ข้าพเจ้าได้พยายามทบทวนหาสาเหตุจนเกิดความสับสน ดังนั้นจึงได้หยุดหาสาเหตุและกลับมาทบทวนคำแนะนำสั่งสอนขององค์หลวงปู่ ซึ่ง มีหลายวิธีคือ การแยกตัวออกจากหมู่คณะ การกำหนดรู้การเคลื่อนไหว ของกายตามอิริยาบถต่าง ๆ พิจารณาโครงกระดูก เหล่านี้เป็นการเจริญสติ
      
       ข้าพเจ้าเริ่มจากการตื่นนอนประมาณตีสี่ มาเดินจงกรมที่ธารน้ำตก หาเส้นทางเดินบนหินที่ลื่นซึ่งแช่อยู่ในน้ำ ตั้งใจไว้ว่าถ้าหากเดินไม่ระวังอาจจะเจ็บตัวได้ ช่วงนั้นอากาศเย็นมากและเป็นข้างแรมเดือนมืด ไม่ค่อยเห็นเส้นทาง ความที่ต้องระมัดระวัง จึงทำให้ข้าพเจ้าเดินจงกรมได้ดี คือ มีความสงบ จิตใจไม่แตกแยกไปไหน ไม่สับสนวุ่นวายกับปัญหาต่าง ๆ สามารถเดินอยู่ได้นาน
      
       พอช่วงเย็นข้าพเจ้าก็ลงไปแช่น้ำเย็นที่ธารน้ำตก โดยใช้วิธีการเคลื่อนไหวกายในน้ำเป็นการเจริญสติ ช่วงที่มีความจำเป็นต้องเข้าร่วมกับหมู่คณะก็ระลึกถึงโครงกระดูกอยู่เสมอ ๆ ข้าพเจ้าปฏิบัติลักษณะนี้ติดต่อกันก็สามารถเกิดความสงบและความคิดไม่สับสน
      
       ประสิทธิ์ เข้มนวล
      
       (เตชะ ธัมโม)
       (เตชะ ธีมโม)
       (เตชะ ธัมโม)
      
        แสงประหลาด
      
       เมื่อต้นปี ๒๕๔๒ ผมตั้งใจจะบวชเพื่อถวายพระเจ้าอยู่หัวฯ ระยะเวลาประมาณ ๒๐ วัน โดยผมจะไปบวชกับหลวงพ่อลำใย จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งบริษัท การบินไทย จำกัด จัดขึ้นทุกปี ต่อมากลางปีทางวัดอ้อน้อยก็มีโครงการบวชเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เป็นระยะเวลา ๗๓ วัน เมื่อผมได้พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่ติดภาระทางครอบครัวและงานที่บริษัท ผมจึงได้ตัดสินใจสมัครเข้าบวชในครั้งนี้
      
       ก่อนบวชนั้นคิดว่าถ้าบวชเป็นพระแล้ว คงจะไม่ลำบากมากนัก เพราะได้เคยฝึกการนั่งวิปัสสนาและการเดินจงกรมมาเกือบ ๑ ปีแล้ว แต่เมื่อได้บวชแล้วได้สัมผัสกับชีวิตประจำวันของพระที่ปฏิบัติดีนั้น มันไม่ง่ายอย่างที่คิด แต่ผมก็ได้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตลอดเวลาที่บวช สวดมนต์เข้าเย็นทุกวันไม่เคยขาด ถือศีล และไม่ชอบพูดคุยเกินความจำเป็น
      
       ตลอดเวลา ๗๓ วัน ผมได้ปฏิบัติตามที่หลวงปู่สั่งสอนมาตลอด พยายามภาวนาแผ่เมตตา "ขอสัตว์ทั้งปวงจงเป็นสุข" ดังนั้นการบวชในครั้งนี้ ผมจึงอยู่ด้วยความราบรื่น จิตใจเป็นปีติอยู่เสมอ
      
       ตอนบวชอยู่ผมก็ไปกราบไหว้และอธิษฐานที่ใต้ต้นโพธิ์ ที่วัดอ้อน้อย เป็นประจำ เช้าวันหนึ่งหลังจากฉันเช้าแล้ว ผมได้เดินมากราบไหว้และอธิษฐานจิตเกี่ยวกับลูกและครอบครัว ตอนนั้นเป็นเวลาประมาณ ๘.๐๐ น. ท้องฟ้ามีเมฆขาวปกคลุม อากาศสลัวๆ เมื่อได้กราบไหว้และปิดตาอธิษฐานประมาณ ๑ นาที เมื่อผมลืมตาขึ้น ปรากฏว่าแสงอาทิตย์สว่างจ้าขึ้นทันที! ทำให้ผมมีความปลาบปลื้มจนไม่สามารถจะลืมเหตุการณ์ในเช้าวันนั้นได้เลย

       ผมมีโอกาสได้ไปอบรมหลักสูตรมหาสติปัฏฐาน ๔ ที่วัดวังตะกู ในวันที่ ๙-๒๓ มกราคม ๒๕๔๓ ระหว่างการฝึกอบรมนั้น ทุกเช้าหลังจากฉันแล้ว ผมได้ไปเดินจงกรมที่โบสถ์ใหม่ หลังจากนั้นก็เดินสวดมนต์ภาวนา ๓ รอบด้วยคาถาคำกราบพระว่า "เดชะ พุทธานุภาเวนะ-ธัมมา-สังฆา-คุณบิดามารดา-คุณครูบาอาจารย์" และจะภาวนาขอพรตลอดเวลาที่เดินสามรอบ เมื่อเดินเสร็จแล้วจะมายืนและนั่งหลับตาทำสมาธิอยู่หน้าโบสถ์
      
       ปรากฏว่าวันแรกๆ ขณะหลับตาทำสมาธิจะเห็นวงกลมสีดำ คลุมด้วยรัศมีสีเหลืองล้อมรอบอยู่ข้างหน้า วันแรกมีดวงสองดวง วันต่อมามีหลายดวง และเหมือนมีแผ่นพลาสติกคลุมรอบตัว วันต่อมาสามารถมองเห็นสิ่งเหล่านี้โดยไม่ต้องปิดตา ลักษณะเหมือนใยแมงมุม และเป็นม่านสีขาว สีน้ำตาล และสีทอง ลอยอยู่ข้างหน้า เวลาเดินก็จะนำหน้าเราตลอด บางครั้งสามารถบังคับให้โยกได้ตามสายตาเป็นสมาธิ เช้าวันต่อมาเมื่อปิดตาทำสมาธิต่อหน้าดวงอาทิตย์กำลังทอแสงสว่าง ปรากฏเห็นดวงอาทิตย์เป็นสีทองสดใส สีเขียว สีน้ำเงิน สีแดง สดใสมาก จากนั้นได้ลืมตามองย้อนไปที่แสงอาทิตย์ ตอนนั้นเป็นเวลาที่ดวงอาทิตย์สว่างมาก สามารถเห็นเป็นสีคล้ำ ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีแดง สีทอง สีน้ำเงิน สีเขียว ในวันต่อๆมาเมื่อผมกลับมาทำสมาธิหน้าโบสถ์ต่อ ก็ได้เห็นเป็นสีต่างๆอีก และเห็นสีทองอยู่เหนือศีรษะตลอดเวลา เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ผมมีความปีติอย่างมาก เพราะเหตุการณ์เปลี่ยนไปทุกเช้า
      
       ณ ป่าน้ำตกลำอีซู บางคืนได้ยินเสียงพระสวดมนต์เป็นกลุ่มไพเราะมาก คืนสุดท้ายก่อนกลับจากธุดงคสถาน เมื่อผมสวดมนต์ ถึงบทกล่าวถึงพระคุณของบิดามารดา ปรากฏว่าน้ำตาไหลออกมาอย่างมากมาย ผมจึงปล่อยโฮออกมาในคืนนั้น!
      
       เมื่อสึกแล้ว ผมได้เห็นรูปถ่ายเมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๒ เวลาประมาณ ๑๖.๐๐ น. ณ บริเวณที่ปักกลดอยู่ ซึ่งพี่เขยผมเป็นผู้ถ่าย ในภาพนั้นมีแสงสีขาวกลมแผ่รัศมีมาที่พระ และแผ่ยาวมาที่บริขารของพระ เป็นสิ่งที่อัศจรรย์มาก เหมือนกับในการบวชของผมครั้งนี้ เทพยดาเบื้องบนมาร่วมอนุโมทนาด้วย
      
       ทุกวันนี้ ผมจะสวดมนต์ทำวัตรเช้าและเย็น นั่งสมาธิ เดินจงกรม และอ่านพระไตรปิฎก เพื่อเป็นลูกที่ดีของหลวงปู่ และจะได้เกิดร่วมกับหลวงปู่ทุกชาติไป
      
       ขอกราบแทบเท้า
       ขวัญ ผ่องจิตวัฒนา
      
       พระผู้เป็นยอดครู
      
       ผมมีความตั้งใจมานานว่าจะบรรพชาอุปสมบทถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ หัวฯ พระผู้ทรงคุณอันประเสริฐ ไม่ใช่เป็นเพราะความเป็นข้าราชการ ซึ่งเป็นข้าฯในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ แต่ด้วยจิตสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงพระเมตตาต่อพสกนิกร ทรงเป็นแบบอย่างของพระมหากษัตริย์ที่เปี่ยมด้วยทศพิธราชธรรม เป็นบุคคลผู้หาได้ยากยิ่งในโลก ทรงทำความดีเพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่นโดยแท้ ผมเองนั้นสนใจในจริยาวัตรของความเป็นพระป่า โดยได้เดินทางไปยังวัดต่างๆ เพื่อหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจ เพราะคิดอยู่เสมอว่าการบวชเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าได้วัดดี มีครูบาอาจารย์ที่อบรมสั่งสอนดี มีเพื่อนสหธรรมิกคือพระภิกษุที่ร่วมวัดปฏิบัติธรรมดี การบรรพชาอุปสมบทจึงจะเกิดประโยชน์โภชน์ผลเต็มเปี่ยม
      
       ผมไม่เคยรู้จักหลวงปู่มาก่อน ผมรู้จักชื่อท่านครั้งแรกเมื่อได้พบกับรองศาสตราจารย์วินัย ล้ำเลิศ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งผมมีความคุ้นเคยกันพอสมควร (อาจเป็นบุญบารมีของผมที่จะได้สมปรารถนาในสิ่งที่ผมต้องการ) หลังจากทักทาย ซักถามสารทุกข์สุขดิบ ท่านก็เล่าว่าจะไปบวชถวายเป็นพระราชกุศลที่วัดอ้อน้อย ผมจึงจึงสนใจซักถามรายละเอียด เมื่อทราบข้อมูลพอสมควร ผมก็ไปที่วัด และได้ทราบรายละเอียดเพิ่มขึ้น ยิ่งได้ทราบว่าหลวงปู่มีกิจกรรมบรรพชา อุปสมบทพระภิกษุและสามเณรมาโดยตลอด ผมจึงคิดและเชื่อว่าท่านต้องมีวิธีการสอนที่ดี จึงตัดสินใจลงชื่อสมัครเข้าร่วมโครงการบรรพชาอุปสมบทถวายเป็นพระราชกุศล ได้เป็นตัวสำรองคนที่ ๙
      
       จากนั้นผมเลือกซื้อหนังสือซึ่งเป็นข้อเขียนของหลวงปู่ได้หลายเล่ม เช่น 'บทโศลกแห่งพุทธะอิสระ' , 'พ่อให้เจ้าทั้งชีวิต' , 'โอวาทหลวงปู่พุทธอิสระ' , 'ประสบการณ์ทางวิญญาณแห่งศิษย์พุทธะ' กับเทปบันทึกเสียงหลายม้วนเลือกเฉพาะเรื่องที่สนใจ เช่น 'ศิลปะการหายใจ' ,' กระจกหกด้าน' และ 'ปุจฉา-วิสัชนา' หลังจากนั้นก็เดินชมวัด รู้สึกทึ่งในพระอุโบสถกลางน้ำ ที่งามพร้อมด้วยศิลปะสถาปัตยกรรมและหลักธรรม ยิ่งได้ทราบว่าเป็นฝีมือการออกแบบและควบคุมการก่อสร้างของหลวงปู่ ผมจึงคิดอยู่ในใจว่าพระองค์นี้ไม่ธรรมดาแน่ๆ ผมได้ไปกราบรูปหล่อหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด ซึ่งเป็นพระที่ชาวปักษ์ใต้เคารพศรัทธายิ่ง ที่ลานโพธิ์ ก็คิดว่าหากได้บวชอยู่ที่นี่ ก็เหมือนมาได้มาออยู่ใกล้ชิดเป็นลูกศิษย์หลวงปู่ทวดด้วยก็ยิ่งดีไปใหญ่
      
       ขณะนั่งรถกลับเข้ากรุงเทพฯ ได้เปิดเทปฟัง เป็นม้วนที่ท่านสอนอบรมเณรภาคฤดูร้อน จากวิธีการพูดและเนื้อหาต่างๆ ที่สอนสามเณร เป็นภาษาง่ายๆ มีความเป็นกันเอง สนุก แฝงไปด้วยคติธรรม น้ำเสียงเปี่ยมได้ด้วยความรักและเมตตา อันเป็นลักษณะของผู้มีจิตวิญญาณแห่งความเป็นครู จิตใต้สำนึกบอกผมอย่างนั้นในขณะนั้น
      
       เมื่อกลับถึงบ้าน ได้อ่านหนังสือ 'บทโศลกแห่งพุทธะอิสระ' เริ่มจากภาคที่ ๑ "พระศาสนา"
      
       ลูกรัก...สิ่งที่พ่อเขียนต่อไปนี้ มิใช่ข้อแนะนำ หรือขอให้เจ้ายอมรับ แต่พ่อถือว่าเป็นการชี้หนทางให้เจ้าเลือก ซึ่งก็สุดแต่ปัญญา ดุลยพินิจ พิจารณาของลูก ที่เจ้าจะเลือกเดินทางไหน
      
       ผมอ่านโศลกบทนี้ซึ่งเป็นเสมือนคำนำของหนังสือเล่มนี้จบแล้ว นึกถึงกาลามสูตร หลวงปู่บอกไว้ชัดเจนว่าบทโศลกที่ท่านให้ไว้ ขอให้ใช้ปัญญา ความคิดของตนเองใคร่ครวญไตร่ตรอง อ่านต่อไปผมก็ยิ่งได้พบในสิ่งที่ถูกใจมากขึ้น อาทิ
      
       ลูกรัก...ศาสนานี้ เขามิได้มีไว้สอนคนดี แต่มีเอาไว้มุ่งสอนคนทึ่เพียรพยายาม จะทำดีให้เป็นผู้ดี และส่งเสริมคนดีให้ดียิ่งขึ้นไป
      
       ลูกรัก...ธรรมะ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ สรุปตรงที่สอนให้ นั่งให้เป็น ยืนให้เป็น กินให้เป็น เดินให้เป็น สุดท้าย ตายให้เป็น
      
       อาจเป็นเพราะจิตใจที่มุ่งมั่นจะบรรพชาอุปสมบทถวายพระบาทสมเด็จพระ เจ้าอยู่หัวฯ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ทำให้ผมโชคดีได้พบกับรองศาสตราจารย์วินัย ล้ำเลิศ ได้ไปที่วัดอ้อน้อย ได้ฟังเทปธรรมะและอ่านหนังสือธรรมะของหลวงปู่ นำไปสู่การตัดสินใจบวช โดยคิดว่าพบแล้ว ท่านผู้ที่มีคุณลักษณะของครูโดยแท้ หากเราได้เป็นศิษย์ของท่าน การเดินทางไปสู่ความเป็นพุทธะที่เรามุ่งมั่นศรัทธาเลื่อมใสนั้น มองเห็นเป้าหมายที่ปลายทางแล้ว
      
       ในที่สุดผมได้บรรพชาอุปสมบท สมดังตั้งใจ พร้อมๆ กับเพื่อนๆ อีก ๙๒ คน เวลา ๘๐ วันในเพศบรรพชิต เป็นห้วงเวลาของโอกาสที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของชีวิต มีความสุขสงบอย่างแท้จริง การได้สำรวจศึกษาตนเอง ด้วยอาตาปี สัมปชาโนและสติมา (มีความเพียรเพ่งดูกายนี้ อย่างรู้ตัวทั่วพร้อม ด้วยการเจริญสติตลอดเวลาทุกอิริยาบถ) การเป็นบรรพชิตในอารามธรรมอิสระ กิจกรรมและวัตรปฏิบัติเหมือนพระป่า สะอาด อ่อนน้อม และเรียบง่าย อยู่ด้วยกันอย่างมีกัลยาณมิตร เหมือนอยู่ในโลกอีกโลกหนึ่ง การเกิดใหม่ในเพศพรหมจรรย์ ได้สัมผัสกับชีวิตใหม่ที่เป็นชีวิตอันงดงาม สงบสุขอย่างไม่เคยมีมาก่อน ผมถึงได้เข้าใจว่าทำไมคนโบราณจึงกล่าวว่าคนที่ไม่ได้บวชเรียนเป็นคนดิบ ชีวิตความเป็นพระไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีอินทรียสังวรณ์ การเป็นผู้มีอริยกันตศีล ด้วยศีล ๒๒๗ ข้อ และอภิสมาจารย์อีก ๓๐๐ ข้อ ศีลคือความงามของพระโดยแท้
      
       เมื่ออยู่กับหลวงปู่ ผมได้สัมผัสในความรัก ความเมตตาอาทร ความมุ่งมั่นในการอบรมบ่มนิสัย ผมเองในฐานะและอาชีพครู ได้เข้าใจความหมายของการอบรมบ่มนิสัย อย่างชัดเจนที่นี่ ผมได้พบกับพระที่เป็นนักปราชญ์ นักปรัชญา เป็นครูผู้ยิ่งใหญ่ (แม้ท่านจะพูดอย่างถ่อมตนเสมอว่า ท่านเรียนทางโลกไม่จบชั้นประถมปีที่ ๔) ด้วยวิธีการสั่งสอน อบรม และบ่มนิสัย อย่างมีทักษะและกระบวนการ มีจิตวิทยาในการจัดการถ่ายทอดลงในจิตวิญญาณอย่างซึมซับและซึมสิง มีการติดตาม มีการวัดและประเมินผลอยู่เสมอ บางครั้งท่านจะสอนจากทฤษฎีไปสู่การปฏิบัติ หรือปฏิบัติก่อนแล้วนำไปสรุปเป็นทฤษฎี นับเป็นวิถีการเรียนรู้ที่ถูกต้อง
      
       การสอบของหลวงปู่ ไม่ใช่วิธีการยัดเยียด แต่ทำให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง เริ่มจากการสำรวจตนเอง ทำความรู้จัก เตือนตน ให้เข้าใจในสถานภาพของตนเอง ดังบทโศลกที่ว่า
      
       ลูกรัก...หมั่นถามตนเองว่า ก่อนบวชเป็นอะไร ขณะที่บวชทำอะไร บวชแล้วได้อะไร บวชต่อไปจะเสียอะไร
      
       ลูกรัก...นักบวช ภิกษุ สมณะ สามารถทำผิดได้ทั้งนั้น แต่ถ้าเป็นพระแล้วผิดไม่ได้
      
       หนังสือ ๒ เล่มแรก ที่หลวงปู่บังคับอ่าน คือนวโกวาทและอุดมการณ์ดำรงพันธุ์ เล่มแรกเป็นหลักสูตรนักธรรมชั้นตรี เป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งเป็นหนังสือสำหรับพระบวชใหม่ที่จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับวินัยบัญญัติ (ศีลสำหรับพระ) ธรรมวิภาค (หลักธรรมขั้นพื้นฐาน) และคิหิปฏิบัติ (ธรรมะของคฤหัสถ์) เล่มหลังหลวงปู่เขียนเอง กล่าวถึงความเป็นพระจะต้องมีอุดมการณ์การดำรงพันธุ์อย่างไรบ้าง
      
       เมื่อให้เวลาสำหรับการอ่าน การศึกษาพอสมควรแล้ว หลวงปู่ได้วัดผลในครั้งแรก โดยให้ตอบคำถามจากการอ่านหนังสืออุดมการณ์การดำรงพันธุ์ ข้อสุดท้ายของคำถามคือเหตุผลในการบวชครั้งนี้ และคิดว่าจะได้อะไรจากการบวช เป็นคำตอบที่ผู้ตอบต้องรู้เป้าหมายหรือความมุ่งหวังของตนในการเข้ามาสู่เพศ นี้ สำหรับผมได้เขียนไปว่า การบวชครั้งนี้เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และศึกษาปฏิบัติธรรมเพื่อการเจริญสติที่รู้ตัวว่ายังขาดอยู่มาก หลวงปู่ได้บันทึกไว้ตอนท้ายของคำตอบว่า "แล้วผมจะคอยดู"
      
       ชีวิตนักบวชในศาสนาพุทธ เหมือนกับการเกิดใหม่จริงๆ ผมได้ตระหนักในพระปรีชาญาณของพระศาสดา สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราในการหล่อหลอม สร้างคนที่เข้ามาบวชให้เป็นพระ โดยที่ผู้เข้ามาบวช มีความหลากหลายหลาย หลายชนชั้นวรรณะ แต่เมื่อมาบวชแล้วเหลือเพียงวรรณะเดียวคือวรรณะสมณะ อายุพรรษาคือการนับถือเป็นภันเตและอาวุโส มีพระวินัยและเสขิยวัตรต่างๆ ปรับแต่งและหล่อหลอมกล่อมเกลานักบวชทั้งหลาย ซึ่งมีความแตกต่างกัน ทั้งวิถีชีวิตและการศึกษาอบรมให้ได้ปฏิบัติอย่างถูกตรงในแนวทางเดียวกัน ดังนั้นแม้กาลเวลาจะผ่านไปแล้วกว่าสองพันห้าร้อยสี่สิบสองปี ก็ยังคงถือปฏิบัติตามแนวทางนั้นอยู่
      
       ที่วัดอ้อน้อย (ธรรมอิสระ) ได้ฝึกความเป็น "พระ" ด้วยกิจกรรมต่างๆ มีทั้งปริยัติ ปฏิบัติและปฏิเวธ ด้วยวิธีการสร้างนิสัย ตื่นนอนเป็นเวลา มีกิจกรรมที่ต้องปฏิบัติทั้งในส่วนตนและส่วนรวม การไหว้พระสาธยายมนต์ วันละ ๒ ครั้ง กับการฝึกเจริญสติอยู่ตลอดเวลา ทุกอิริยาบถอยู่อย่างมีสติ การดำรงตนด้วยมหาสติปัฏฐาน ๔ ถือเป็นภารกิจสำคัญ
      
       การศึกษา อบรม เป็นเรื่องธรรมดาที่ใครก็ทำได้ แต่ที่ทำได้ยากคือการบ่มนิสัย ที่เมื่อสุกแล้วดีตลอดไป ผมสังเกตว่า หลวงปู่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องการบ่มนิสัยเป็นอย่างยิ่ง
      
       เริ่มจากเรื่องความเป็นอยู่ สิ่งที่ท่านเน้นมาก และกล่าวถึงอยู่เสมอ คือเรื่องความสะอาด ไม่ว่าจะเป็นกายของตน สถานที่อยู่อาศัย บริเวณวัดและสิ่งแวดล้อม ท่านถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ เป็นพื้นฐานสำคัญของชีวิต เมื่อร่างกายสะอาดจิตใจก็เป็นสุข ที่อยู่สะอาดก็ปราศจากเชื้อโรคและสิ่งรบกวน ทำให้เจริญหู เจริญตาและเจริญใจ ความสะอาดนำไปสู่กายศักดิ์สิทธิ์ จิตศักดิ์และธรรมศักดิ์สิทธิ์
      
       การมีชีวิตคือการมีลมหายใจ ผมเพิ่งได้คิดถึงความสำคัญของการหายใจ เมื่อหลวงปู่สอนศิลปะการหายใจและการหายใจเป็น ทั้งๆ ที่ได้หายใจมานานแล้ว แต่ก็ยังหายใจไม่เป็น คือไม่เคยคิดและให้ความสำคัญต่อการหายใจในแง่สุขภาพอนามัย หายใจในแง่การฝึกสติ สิ่งเหล่านี้ผมก็ได้เรียนรู้จากหลวงปู่และพระอาจารย์ท่านอื่นๆ มากมาย การฝึกหายใจสั้นยาวและการกลั้นลมหายใจ ที่เป็น "ศิลปะในการหายใจ" และ "การหายใจเป็น" เป็นบทเรียนที่สำคัญบทหนึ่งในหลายๆ บทเรียนที่ผมได้จากการบวชครั้งนี้
      
       ในดำเนินชีวิตของพระ ที่แปลว่าดีและงามนั้น สิ่งที่หลวงปู่กล่าวย้ำเตือนอยู่เสมอ คือการมีอิริยาบถงาม อิริยาบถต่างๆ คือ การนั่ง การยืน การเดิน ต้องตั้งกายตรง ซึ่งเป็นสุขลักษณะและมองดูงาม คนจะศรัทธาเลื่อมใสต่อพระในชั้นต้นนี้จากการมองเห็น อิริยาบถของพระจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะต้องฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ จนเป็นธรรมชาติ และโดยอัตโนมัติได้ ก็ต่อเมื่อมีสติกำกับเท่านั้น ดังนั้น ไม่ว่าจะทำอะไร แม้แต่ในการทำงานต้องมีสติอยู่ด้วยตลอดเวลา ด้วยการมองรูปยืน รูปนั่ง รูปเดิน และรูปอิริยาบถทำงาน ที่เป็นการเคลื่อนไหวของรูปโครงกระดูกตนเอง
      
       ในการกินอาหาร ด้วยการฉันในบาตร โดยรวมอาหารหวานคาวทุกอย่าง คลุกเคล้าเข้าด้วยกัน การฝึกอย่างนี้ทำให้ไม่ติดยึดในรสชาติของอาหาร มองเห็นว่าอาหารหวานคาวทุกชนิดล้วนเป็นธาตุ ๔ บริโภคเข้าไปเพื่อรักษาธาตุ ๔ ในกายนี้ ให้ดำรงอยู่ได้ การบริโภคอย่างมีสติ และรู้จักประมาณในการบริโภค ทำให้เกิดผลดีในการปฏิบัติธรรม ไม่ง่วงหาวนอน ไม่เกิดนิวรณ์ ให้ความรู้สึกปล่อยวางได้อย่างปกติ
      
       ด้วยเพราะวิถีชีวิต วิถีคิด วิถีทำของหลวงปู่ ได้เป็นตัวอย่างให้ดู เป็นครูให้เห็น มีจิตวิทยาในการนำ การปกครอง การให้ความรู้ ความคิดด้วยวิธีการที่แปลกๆ ปรับเปลี่ยนกระบวนการอยู่เสมอ ทำให้เราจะต้องตื่นตนสนใจอยู่ตลอดเวลาจึงจะติดตามท่านได้ทัน
      
       ผมไม่ ค่อยชอบคำพูดของหลวงปู่อยู่ประโยคหนึ่ง ที่ท่านมักกล่าวเสมอเวลาจะเปรียบเทียบเรื่องความรู้ความเข้าในเรื่องต่างๆ ว่า "ผมมีความรู้ไม่จบชั้น ป.๔" เคยคิดแย้งในใจว่า หลวงปู่ยังดีนะเรียนทางโลกถึงชั้นประถมปีที่ ๔ ยังดีกว่าหลวงพ่อชา พระโพธิญาณเถระ) เสียอีกซึ่งเรียนได้แค่ชั้น ป.๑ เท่านั้นเอง แม้ความรู้ในระบบโรงเรียนทางโลกจะน้อย แต่การศึกษาด้วยตนเอง ภูมิรู้ทางธรรมนั้นสูงส่งแม้จะไม่ได้เป็นมหาเปรียญ จึงไม่อยากให้หลวงปู่พูดคำนี้อีก ผมคิดของผมเองนะว่า เหล็กดี ทองคำดี ก็คงความเป็นเหล็กและทองอยู่วันยังค่ำ ไม่ต้องดูที่รูปร่างว่าเป็นพระแสงดาบหรือมหามงกุฎของพระราชา ความรู้ทางโลกกำหนดไว้สูงสุดได้เพียงปริญญาเอก คนที่จบปริญญาเอกอาจเป็นเพราะมีความพร้อมกว่าคนอื่นๆ โดยมีปัจจัยในด้านต่างๆ เกื้อหนุนดี โอกาสดี สมองดี มีความรู้สามารถในเนื้อหาวิชาการที่รองรับตามลำดับ จนได้สำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาเอก แต่หลวงปู่มั่นก็ดี หลวงตามหาบัวก็ดี ไม่มีดีกรีทางโลก ไม่มีดีกรีทางธรรม แต่ความเป็นพุทธะ ความเป็นปราชญ์ แม้แต่พระมหากษัตริย์ก็ทรงศรัทธาเลื่อมในปฏิปทาของท่าน
      
       ผมรัก ศรัทธา เลื่อมใส และภูมิใจในหลวงปู่พุทธอิสระ ผู้ไม่มีดีกรีและชั้นยศทั้งทางโลกและทางธรรม อันเป็นสิ่งสมมติเหล่านั้น ความเป็นหลวงปู่อยู่เหนือโลก เพราะวิถีคิด วิถีชีวิต วิถีการทำงาน ด้วยความฉลาดปราดเปรื่อง ปฏิภาณไหวพริบ และพหูสูต ที่ปรากฏอยู่ในการคิดเชิงระบบ การกระทำที่ถูกตรง การพูดและการเขียนด้วยภาษาง่ายๆ และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างเฉียบขาด เห็นได้ชัดจากการตอบคำถามต่างๆ เช่น ปัญหา "ปุจฉา-วิสัชนา" ตอบได้ทันที ตรง และคม เป็นสิ่งที่น่าทึ่ง แสดงถึงอัจฉริยภาพที่มีอยู่ในตัวหลวงปู่ ซึ่งได้สร้างสมไว้ ได้มาด้วยการฝึกฝนตนเอง จากบุญบารมีที่บำเพ็ญมาโดยตลอด ด้วยความปรารถนา ความดี ด้วยการให้ ไม่ว่าจะเป็นทานบารมี ศีลบารมี และปัญญาบารมี การสะสมบุญแห่งความดี ความมุ่งมั่นช่วยเหลือผู้อื่น โดยมิได้หวังผลตอบแทนใดๆ นี่คือวิถีแห่งพระโพธิสัตว์โดยแท้
      
       เมื่อตอนที่หลวงปู่บวชแต่หลวงปู่ไร้ครูผู้สอนสั่ง หลวงปู่จำเป็นต้องเรียนรู้ด้วยตนเอง ด้วยการอ่าน การสังเกตจดจำ การคิดอย่างเป็นระบบ และการฏิบัติอย่างผู้รู้จริงที่เต็มเปี่ยมด้วยความเพียร ดังนั้นเรื่องที่ทำ คำที่พูด สูตรที่คิด จึงอยู่บนพื้นฐานของความรู้จริง ไม่ใช่รู้จำ ผมชอบบทโศลกบทนี้ของหลวงปู่มาก เมื่อใดก็ตามที่เริ่มทำงาน ต้องตัดสินใจ ต้องให้ข้อมูล ความรู้ ความคิด แก่นักเรียนและนักศึกษา ในการสอนทุกครั้ง ผมจะถามตนเองอยู่เสมอว่า เรื่องนี้เรารู้จริงหรือรู้จำ แว่วเสียงหลวงปู่ในโศลกบทนั้น คอยเตือนสติอยู่เสมอว่า "รู้จริงไม่ต้องจำ ทำได้ไม่เกิดโทษ..."
      
       เมื่อกลับมาเป็นฆราวาส คำถามที่ผมมักจะได้รับเสมอว่า ได้อะไรบ้างจากการบวชครั้งนี้ ผมตอบว่าผมได้โชค คือโชคดี ๔ ประการ ซึ่งผมนึกครึ้มๆ เรียกของผมเองว่า "จตุรโชค" นั่นคือ
      
       โชคดีประการที่หนึ่ง ได้บรรพชาอุปสมบทถวายพระบาทสมเด็จพรเจ้าอยู่หัว ในโอกาสทรงมีพระชนมายุครบ ๗๒ พรรษา ได้ถวายความจงรักภักดี สนองพระคุณต่อพระมหากษัตริย์ผู้ประเสริฐ ซึ่งมีพระราชกรณียกิจและพระจริยวัตรแห่งพระโพธิสัตว์พระองค์หนึ่ง
       โชคดีประการที่สอง ได้พบพระสุปฏิปันโน คือองค์หลวงปู่ เป็นยอดครูผู้ยิ่งใหญ่ ได้เป็นศิษย์ท่าน แม้ว่าการฝึกปฏิบัติของตนเองในทางธรรม ไม่ได้สมตามที่ครูอาจารย์มุ่งหวังทุ่มเทอบรมสั่งสอนมากนัก การปฏิบัติธรรมไม่ได้ก้าวหน้ามาก แต่รู้ดีว่าได้มีการเปลี่ยนแปลงในตนเองในทางที่ดีขึ้น ได้รับการบ่มนิสัย เป็นเชื้อที่สามารถนำไปจุดเพื่อเผากิเลสให้เบาบางลงไปได้เรื่อยๆ
       โชคดีประการที่สาม ได้ฝึกเจริญสติ ด้วยหลักมหาสติปัฎฐาน ๔ โดยได้เข้าร่วมอบรมพระวิปัสสนาจารย์ ของจังหวัดนครปฐม ๒ ครั้ง ได้ใช้ชีวิตแบบพระวิปัสสนา ถือธุดงควัตร อยู่ตามโคนไม้ ฉันในบาตร และครองผ้าสามผืน ได้เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ หล่อหลอมจิตใฝ่สันโดษ อยู่อย่างเรียบง่าย ชอบความสงัด ช่วยทำให้การคิด การทำ และการพูดมีสติขึ้น
      
       ประการที่สี่ ได้สร้างนิสัยใฝ่ธรรมะ รู้จักตนเองดีขึ้น เข้าใจภาวะความเป็นคนและมนุษย์ของเพื่อนร่วมงาน เพื่อนร่วมโลก เริ่มรู้เท่าและรู้ทันในความเป็นไปของธรรมชาติแห่งวัฏสงสารนี้ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เป็นธรรมดาจริงๆ
      
       ผมอยากจะบอกว่า หลวงปู่คือครูผู้เก่งกล้าคนหนึ่ง เมื่อได้อยู่กับท่าน จากคำที่พูด สูตรที่คิด และจริตที่ปรากฏ อิริยาบถที่เห็น ล้วนเป็นครูให้กับผู้ใกล้ชิดตลอดเวลา สิ่งที่ผมได้รับและเรียนรู้ในช่วงเวลา ๘๗ วัน ผมสรุปได้ว่า หลวงปู่พุทธะอิสระคือพระผู้เป็นยอดครูจริงๆ
      
       หลวงปู่ครับ ข้อสอบของหลวงปู่ กระดาษคำตอบแผ่นนั้น โดยเฉพาะข้อความที่ว่า "แล้วผมจะคอยดู" ผมได้นำไปขยายให้ใหญ่ ติดไว้ที่โต๊ะทำงานของผม เสมือนว่าหลวงปู่กำลังคอยดูผมอยู่ตลอดเวลา ผมยังคงหาคำตอบให้กับชีวิตโดยวิถีแห่งพุทธะต่อไปครับ แม้ว่าในช่วงที่เป็นบรรพชิตผมไม่สามารถปฏิบัติธรรมถึงขั้นเป็นบุญ ที่จะช่วยเสริมบารมีในเนกขัมบารมี ให้กับหลวงปู่ผู้เป็นครูอาจารย์ได้มากนัก ผมขอทำในเพศฆราวาสต่อไปให้ดีที่สุด เพื่อเสริมบารมีแห่งพระโพธิสัตว์ขององค์หลวงปู่ ขอโพธิญาณที่หลวงปู่ปรารถนา จงสำเร็จ... จงสำเร็จ... จงสำเร็จ... เทอญ
      
       ผมยังจำวิถีคิด วิถีทำและวิถีพูด อันเป็นแบบอย่างของหลวงปู่ ครูผู้ยิ่งใหญ่ ผมจะคิดตาม ทำตาม และพูดตาม ตามวิถีแห่งพุทธะนี้ต่อไปครับ หลวงปู่
      
       รองศาสตราจารย์นรินทร์ บุญชู
       ภาควิชาการศึกษาต่อเนื่อง คณะศึกษาศาสตร์
       มหาวิทยาลัยรามคำแหง
      
        แผ่เมตตา
      
       ประสบการณ์ที่ผมได้จากการบวชนั้น สิ่งแรกที่เปลี่ยนไปคือ การที่ต้องนอนอยู่โคนไม้ ซึ่งในคืนแรกผมก็อยู่ได้ แต่พอคืนที่สองตอนนอนเริ่มรู้สึกตัวว่า มีอะไรมาไต่ตามตัว พอเอามือปัดดูก็ปรากฏว่าเป็นกิ้งกือ หลังจากนั้นก็มีกิ้งกือมาทุกคืน แต่พอหลวงปู่สอนวิธีการแผ่เมตตาให้ กิ้งกือก็เริ่มหายไปจนไม่เหลือเลย ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลก ทำให้ผมเริ่มรู้สึกว่า สิ่งที่หลวงปู่สอนให้นั้นดีและได้ผล เพราะเราสามารถปฏิบัติได้ด้วยตนเอง พอทำแล้วก็จริงอย่างที่ท่านพูด
      
       มีอยู่คืนหนึ่งผมฝันว่า มีคนมาเขย่ากลด ผมตัวชาไปหมดเหมือนตะคริวกิน แต่พอนึกถึงตอนที่หลวงปู่สอนว่าให้มีสติ ผมจึงรวบรวมสติ พยายามที่จะลุกขึ้น สักพักก็สามารถลุกขึ้นได้ และอาการที่เหมือนกับตะคริวกินก็หายไปทันที! พอคืนต่อมาก็ฝันไปอีกว่า มีผู้หญิงนุ่งโจงกระเบน ห่มผ้าสไบเข้ามานอนอยู่ข้างในกลด พอผมหันมาผู้หญิงคนนั้นก็พยายามที่จะกอดผม! ตอนนั้นผมตกใจมากว่าเธอเข้ามาได้ยังไง แล้วผมเองขณะนี้ก็เป็นภิกษุอยู่ด้วย จะโดนตัวผู้หญิงไม่ได้ จึงพยายามไล่ออกไป หลังจากนั้นทุกวันผมพยายามทำความดี ตั้งใจปฏิบัติ แล้วก็แผ่เมตตาให้พวกที่ผมได้ฝันเห็นรวมทั้งสรรพสัตว์ทั้งหลาย นับแต่นั้นมาผมก็ไม่ได้ฝันถึงอะไรอีกเลย
      
       ต่อมาผมได้ไปพักอยู่ที่วัดปลักไม้ลาย ที่นี่เป็นที่ที่ผมเริ่มจะปฏิบัติและเข้าใจอะไรบางอย่าง เช่น ผมเริ่มเอาชนะตัวเองได้ จากการง่วงนอน นั่งสัปหงก ผมมีความรู้สึกเหมือนกับว่าได้หลุดพ้นจากอะไรบางอย่าง หลังจากนั้นผมก็พยายามฝึกและเจริญสติ แต่ก็ยังไม่สามารถทำได้ดีนัก เมื่อผมได้ไปที่วัดวังตะกู ที่นี่เป็นที่ที่ผมได้ก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง ผมเจริญสติได้ดีขึ้น และมีโอกาสได้ปรนนิบัติหลวงปู่ด้วย
      
       ต่อมาผมได้ไปธุดงค์ที่ลำอีซู ที่นั่นเงียบและมืดมาก หลวงปู่บอกว่า ที่น้ำตกนี้ วันดีคืนดีจะมีเสียงเพลงไทยโบราณ แล้วท่านก็บอกว่า ดูซิคืนนี้ใครจะสามารถได้ยินบ้าง! ถึงตอนนี้ผมเริ่มเจริญสติได้ดีพอสมควรแล้ว พอกลับมาที่กลดก็พยายามนั่งเจริญสติ หวังว่าจะได้ยินเสียงอะไรบ้าง แต่ก็ไม่ได้ยินอะไรเลย วันรุ่งขึ้นขณะที่ผมกำลังทำวัตรเช้าอยู่ในกลดนั้น ผมรู้สึกว่าได้ยินเสียงอะไรบางอย่าง เลยพยายามฟังให้แน่ใจว่าเป็นเสียงอะไร มันเหมือนกับเสียงเครื่องดีด สี หรือเป่า ทำนองเพลงไทยเดิม เสียงเพลงเย็นๆช้าๆ... ดังมาจากทางภูเขาลูกที่อยู่ตรงกับที่ผมปักกลด แต่ผมก็ไม่กล้าเล่าเรื่องนี้ให้ใครฟัง นอกจากพระที่สนิทกัน ๒-๓ องค์เท่านั้น นับว่าเป็นประสบการณ์แปลกอีกครั้งหนึ่งที่ผมได้เจอะเจอ
      
       สรุปแล้ว ผมได้อะไรเยอะมากจากการบวชครั้งนี้ ได้ฝึกทั้งทางสภาพจิตใจและร่างกาย คำสอนของหลวงปู่สั้นและง่าย แต่การงานทุกอย่างอยู่ในนั้น นี่คือประสบการณ์ในการบวชครั้งนี้ของผม
      
       ลบง ปานดอกไม้
      
       ตามหลวงปู่ไปแสดงธรรม
      
       หลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัย ผมก็มีความคิดที่จะบวช เนื่องจากรู้สึกเบื่อกับการเรียน เพราะผมเรียนจบช้ากว่าเพื่อนๆ รุ่นเดียวกัน ๑ เทอม ทำให้อยากเปลี่ยนบรรยากาศมาศึกษาทางธรรมบ้าง ประกอบกับผมได้เคยไปฝึกกรรมฐานที่วัดอัมพวันอยู่ ๒-๓ ครั้ง รู้สึกติดใจในความสงบ ก็เลยเกิดความคิด ที่จะบวช เพราะนอกจากจะเป็นการหาประสบการณ์ใหม่ๆ ในชีวิตแล้ว ยังเป็นการพักจากชีวิตทางโลก ที่วุ่นวายสักพักก่อนที่จะกลับไปสู้ใหม่
      
       พบหลวงปู่ครั้งแรก
      
       ผมได้มาวัดอ้อน้อยหลังจากไปปฏิบัติธรรมที่วัดอัมพวันเป็นเวลา ๗ วัน คุณแม่ได้เคยมาที่วัดนี้ ครั้งหนึ่งแล้ว ท่านประทับใจมาก เลยพาผมและคุณพ่อไปดู โดยมีเพื่อนคุณแม่เป็นคนนำทางไป (ซึ่งต้องขอขอบคุณ ณ ที่นี้ด้วย ถ้าน้าจุ๊ไม่พาไปผมคงไม่ได้บวชที่นี่) เมื่อไปถึงที่วัดก็รู้สึกแปลกใจ เพราะการตบแต่งสถานที่ และการจัดสวน ดูแล้วไม่รู้สึกเหมือนวัดที่เคยเห็นเลย สวยซะจนรู้สึกว่า เหมือนโรงแรมหรือรีสอร์ทมากกว่าวัด พวกเราไปถึงขณะนั้นเป็นเวลาเพลพอดี คุณแม่ก็เลยพาไปที่หอฉันก็พบหลวงปู่และพระในวัดกำลังฉันภัตตาหารเพลกันอยู่
      
       ครั้งแรกที่เจอหลวงปู่ก็รู้สึกสงสัยนิดๆ ว่า ทำไมถึงมีลูกศิษย์มากมายมานั่งเฝ้าเวลาที่ท่านฉัน ดูลูกศิษย์ของท่านเคารพท่านมากเหลือเกิน นั่งอยู่กับพื้นห้อมล้อมโต๊ะที่ท่านฉันอาหารอยู่เต็มไปหมด ไม่รู้ว่าท่านมีอะไรที่น่าเคารพ ทั้งๆ ที่ท่านก็ดูเหมือนพระทั่วไป และยังหนุ่มเกินกว่าจะเรียกว่า หลวงปู่ด้วยซ้ำ แต่ผมก็ไม่ได้สงสัยว่าทำไมถึงเรียกท่านว่าหลวงปู่ เพราะก่อนจะมาที่นี่คุณแม่ ก็ได้เล่าเรื่องราวของหลวงปู่ให้ฟังคร่าวๆ แล้วว่า ท่านไม่ต้องการให้ใครถามถึงที่มาหรืออายุของท่าน เพราะท่านไม่อยากให้ใส่ใจในตัวท่าน อยากให้ใส่ใจในธรรมะที่ท่านสอนมากกว่า ฟังดูแล้วก็เข้าท่า ดีเหมือนกัน
      
       สมัครบวชที่วัดอ้อน้อย
      
       จากนั้นพวกเราก็เข้าไปกราบพระในโบสถ์ โบสถ์วัดนี้สวยมากจริงๆ แหวกแนวจากวัดทั่วไป ที่เคยเห็นมา เพราะไม่มีผนังรอบด้าน ไม่มีประตูไม้บานใหญ่ๆ ที่มีธรณีสูงๆ (ซึ่งผมมักเดินสะดุดเป็น ประจำ) แต่เป็นศาลาโปร่งๆ อยู่กลางน้ำ มีลวดลายปูนปั้นที่งดงามอ่อนช้อยอยู่รอบๆ ศาลา แทน ประตูและหน้าต่าง มีจิตรกรรมฝาผนังที่วิจิตรสวยงามอยู่บนเพดาน อ้อ! แล้วก็มีรูปราหูอมจันทร์ด้วย!! แต่เป็นโคมไฟแทนที่จะเป็นพระจันทร์ ซึ่งเข้ากันได้อย่างเหมาะเจาะ ไม่รู้ใครเป็นคนออกแบบ เข้าใจคิดจริงๆ
      
       หลังจากชมความงามของโบสถ์แล้วก็มองไปรอบๆ ตัว ก็เห็นคนเยอะแยะ นั่งเขียนอะไรกัน เป็นกลุ่มๆ เหมือนพวกดูหมอ ก็เลยไปถามได้ความว่าเขากำลังกรอกใบสมัครบวชในวันที่ ๔ ธันวาคม เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ (นึกว่าดูหมอ จะได้ขอดูด้วย) ซึ่งก่อนจะมาที่นี่ผมก็มีความตั้งใจที่จะบวชอยู่แล้ว เพิ่งไปเรียนปรึกษากับพระที่วัดอัมพวันว่าผมอยากจะบวช ท่านก็บอกว่า "ต้องรอหลังปีใหม่นะ" ดังนั้นพอได้ทราบว่าที่วัดนี้ก็จะมีการบวชจึงรู้สึกสนใจ เพราะจะบวชกันต้นเดือนธันวา ไม่ต้องรอจนถึงปีใหม่ ผมก็เลยไปขอใบสมัครมากรอก แต่ยังรู้สึกลังเลอยู่ว่าจะบวชดีหรือเปล่า เพราะต้องบวชตั้ง ๗๓ วัน หรือประมาณ ๒ เดือนครึ่ง คิดว่ามันนานไปหน่อย ตอนแรกตั้งใจเอาไว้ว่าจะบวชสักเดือนหนึ่ง พอได้ยินว่าบวชแล้วจะไปธุดงค์ด้วย ก็รู้สึกสนใจ ประกอบ กับได้อ่านหนังสือ 'ประสบการณ์ทางวิญญาณของศิษย์พุทธะ' แล้วประทับใจ และอยากรู้ว่าที่เขาเขียนๆ กันมันจริงหรือเปล่า เลยลองสมัครดูปรากฏว่าได้อยู่ในรายชื่อสำรอง เพราะเขารับสมัครแค่ ๙๙ คน แต่ผมได้เป็นคนที่ ๑๑๒ ก็คิดว่าไม่เป็นไร ถ้าได้ก็บวช ถ้าไม่ได้ก็จะไปบวชที่อื่น เพราะยังไงก็ตั้งใจ ไว้แล้วว่าจะบวช
      
       อธิษฐานจิต
      
       เนื่องจากผมได้สมัครบวชที่วัดนี้โดยไม่มีการเตรียมตัวล่วงหน้า มาวัดวันแรกก็สมัครเลย และ ก็ยังรู้สึกลังเลอยู่ว่าจะบวชที่นี่ดีหรือเปล่า คุณแม่เลยชวนไปฟังธรรมที่หลวงปู่ท่านแสดงที่ ร.พ.สงฆ์ พอได้ฟังแล้วรู้สึกประทับใจมาก ท่านแสดงธรรมโดยให้มีการถามตอบกัน หรือที่เรียกว่าปุจฉา-วิสัชนา ซึ่งท่านสามารถตอบคำถามหลายๆ คำถามที่ผมอยากรู้ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะถามใครได้ ผมเลย ลองอธิษฐานจิตดูว่า "ถ้าผมได้เคยทำบุญร่วมกันมากับหลวงปู่ ขอให้ผมได้บวชในครั้งนี้ด้วยครับ!"
      
       ได้เป็นตัวจริง!!
      
       หลังจากได้ไปฟังธรรมที่ ร.พ.สงฆ์ สัก ๑ อาทิตย์โดยประมาณ ทางวัดก็โทรมาบอกว่าได้เป็น ตัวจริง ผมดีใจมาก รู้สึกว่าการได้บวชที่นี่ไม่ใช่เหตุบังเอิญ คงเป็นเพราะบุญเก่าที่ได้ทำมาร่วมกัน เหตุบังเอิญคงไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก เพราะ ถ้าไม่ได้ไปวัดในวันนั้นก็คงไม่รู้ว่ามีการบวช แถมยังเป็น วันที่เขาลงชื่อสมัครกันวันสุดท้ายอีกด้วย แล้วก็คงไม่บังเอิญที่ได้บวชเป็นตัวจริง เพราะจากลำดับ ๑๑๒ ได้เลื่อนมาอยู่ เป็น ๑ ใน ๙๙ คนที่ได้มีโอกาสบวช
      
       รับบาตรครั้งแรกในชีวิต
      
       วันนั้นเป็นวันที่ ๕ ธันวาคม ซึ่งเป็นวันที่สองของการบวชและเป็นวันแรกที่ได้บิณฑบาตร เป็นวันที่ประทับใจมากวันหนึ่งของชีวิตการเป็นนักบวชของผมเลยทีเดียว เนื่องจากที่วัดมีงาน ตักบาตรอาหารแห้ง พอฉันเช้าเสร็จพวกเราก็ไปรวมกันในโบสถ์ เพื่อจะเดินออกมาเป็นแถวไป รับบาตรรอบๆ สนามหญ้าหน้าโบสถ์ ผมได้ออกมาเกือบเป็นคนสุดท้ายเพราะห่มจีวรไม่เรียบร้อย
      
       วันนั้นเป็นวันที่มีคนมากันเยอะมากจริงๆ ยืนกันเต็มไปหมดทั้งสองฝั่งถนน หลวงปู่ยืนคอยอยู่หน้าโบสถ์เพื่อใส่บาตรให้พวกเราทีละองค์ๆจนครบ จากนั้นพวกเราก็เดินกันเป็นแถว ไปรับบาตรจากญาติโยมทั้งหลาย ซึ่งมีของเยอะมาก เดินไป ๒-๓ ก้าวก็ได้ของเต็มบาตร เหนื่อยก็เหนื่อย ร้อนก็ร้อน แต่ก็ประทับใจมากเช่นกัน เห็นผู้สูงอายุนั่งรถเข็นมาใส่บาตร เด็กตัวเล็กๆ เอื้อมมือสุดแขน เพื่อจะใส่บาตร หรือแม้กระทั่งเด็กตัวเล็กๆ ที่เดินเองยังไม่ได้พ่อแม่ก็อุ้มหยิบของใส่มือให้เอามาใส่บาตร เป็นภาพที่น่าประทับใจมาก ผมคิดย้อนมาที่ตัวเองว่า พอเราใส่ชุดนักบวชแล้วทุกคนก็เคารพ ทุกคนก็เอาของมาถวาย แม้แต่พ่อแม่ก็ยังไหว้เรา แต่ที่เขาไหว้ที่เขาเคารพ ก็เพราะเราใส่ชุดนัก บวชในศาสนาของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่เพราะเขาเคารพตัวเรา เพราะฉะนั้นเราจึงต้องปฏิบัติตัวให้สมกับ ที่มีคนเคารพบูชา แต่ตอนนั้นผมยังรู้สึกว่าตัวเองยังปฏิบัติตัวไม่เหมาะสมกับที่คนเคารพบูชา เลย เพราะผมเพิ่งบวชมายังไม่ถึง ๒๔ ชั่วโมง ห่มจีวรเองยังไม่เป็น ศีล ๒๒๗ ข้อก็ยังไม่รู้ ยังไม่อยากให้เขา มากราบไหว้ ซึ่งจากความประทับใจครั้งนี้ทำให้ตลอดระยะเวลาที่บวช ผมพยายามปฏิบัติตามกิจของสงฆ์ อย่างเคร่งครัด
      
       ติดตามหลวงปู่ไปแสดงธรรมที่ตึกซีพี
      
       วันนั้นเป็นวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓ ผมกับหลวงพี่นัท (พระที่บวชพร้อมกันในโครงการบวช เฉลิมพระเกียรติ) ได้ไปกราบเรียนหลวงปู่ว่าจะขอลาสิกขา เนื่องจากพวกเราคิดว่าถึงเวลาอันสมควรที่จะต้องกลับไปเผชิญกับโลกกว้างแล้ว หลังจากไม่ยอมสึกเมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพราะตั้งใจ ช่วยเก็บกวาด ทำความสะอาดงานวันมาฆบูชาให้เสร็จเรียบร้อยก่อน
      
       หลวงปู่ท่านก็ถามด้วยเสียงดุๆ นิดๆ ว่า
      
       "สึกแล้วจะไปทำอะไร?"
      
       "ผมจะไปเรียนต่อครับ"
      
       "แล้วทางบ้านรู้แล้วหรือยัง?"
      
       "ทราบแล้วครับ ทางบ้านก็อยากให้สึก เพื่อเตรียมตัวไปเรียนต่อปริญญาโทครับ"
      
       ท่านพยักหน้าช้าๆ เป็นการอนุญาต
      
       หลังจากนั้นผมก็ไปพบหลวงพี่บ๊วย หลวงพี่บ๊วยบอกว่าหลวงปู่ท่านเพิ่งกำหนดให้มีพระติดตามท่านไปแสดงธรรมทุก ครั้ง ครั้งละ ๑ รูป เวียนกันไปจนครบทุกรูปทั้งหมด โดยเริ่มตั้งแต่วันนี้ เป็นต้นไปเพื่อไปสังเกตการณ์และศึกษาการแสดงธรรมของหลวงปู่ จะได้นำมาประยุกต์ใช้กับตัวเอง ในการแสดงธรรมในอนาคต และครั้งนี้หลวงปู่ท่านได้กำหนดให้ผมเป็นผู้ติดตามท่านไปแสดงธรรมใน วันนี้ด้วย ผมก็งงเพราะเพิ่งพบกับท่านเมื่อครู่นี้เอง ท่านก็ไม่ได้ว่าอะไรสักคำ ระหว่างที่ผมปรึกษา กับหลวงพี่บ๊วยว่าจะทำอย่างไรดี จะสึกก่อนแล้วค่อยไปหรือไปแล้วค่อยกลับมาสึก ก็มีเณรมาบอกผมว่า หลวงปู่ท่านให้ผมเลื่อนไปสึกวันรุ่งขึ้น ผมก็เลยได้มีโอกาสติดตามหลวงปู่ไปแสดงธรรม
      
       ระหว่างที่นั่งในรถกับหลวงปู่ ผมก็รู้สึกเกร็งๆ ง่วงก็ง่วงแต่ก็ไม่กล้าหลับ (กลัวโดนดุ) จึงพยายาม ใช้ศิลปะการหายใจที่หลวงปู่เคยสอน กลั้นหายใจแล้วกลั้นหายใจอีก (เพราะแอร์ในรถเย็นสบาย ดีเหลือเกิน) พอกำลังเคลิ้มๆ ใกล้จะหลับ ก็ได้ยินเสียงหลวงปู่คุยกับคนขับรถแทรกขึ้นมาทุกครั้ง เหมือนกับท่านจงใจจะปลุกผมทางอ้อม เพราะท่านเคยพูดให้ฟังว่าท่านไม่เคยนอนกลางวัน เวลาที่นั่งรถท่านก็ไม่เคยนั่งหลับ เพราะการนอนหลับเป็นการขาดสติ ท่านจึงนอนน้อยแต่ทำงานมาก
      
       เมื่อไปถึงตึกซีพีผู้ที่มาให้การต้อนรับหลวงปู่แสดงสีหน้าแปลกใจที่ มีผมมาด้วย คงเพราะเวลาที่หลวงปู่แสดงธรรมท่านไม่เคยมีผู้ติดตามกระมัง ประกอบกับวันนั้นหลวงปู่ท่าน ไปสายกว่ากำหนดตั้งเกือบชั่วโมงเพราะเข้าใจผิดเรื่องเวลา ทุกคนดูรีบร้อนไปหมด เขาจัดให้ผมนั่งข้างๆ เวทีใกล้ๆ หลวงปู่ ผมก็นั่งตัวตรงแข็งทื่อตลอดเวลาที่ท่านแสดงธรรม ที่ไม่กล้ากระดุกกระดิกก็เพราะผมนั่ง อยู่หน้าเวที ขืนยุกยิกใครเห็นเข้าจะว่าลูกศิษย์หลวงปู่ไม่สำรวมเอาเสียเลย...
      
       ตอนขากลับรู้สึกเกร็งน้อยลงมาหน่อย ท่านก็พูดกับผมว่า "ใครเป็นคนให้ท่านมา ท่านบ๊วยเหรอ รู้ไหมที่ผมให้ติดตามมา เพราะอยากให้ดูลีลาการแสดงธรรมของผม อีกหน่อยจะได้แสดงธรรมเองได้ แต่ท่านจะสึกพรุ่งนี้แล้วนี่" แล้วท่านก็ไม่ได้พูดอะไรต่อ ระหว่างนั้นผมก็นึกอยู่ในใจว่า ท่านเป็นคนเลือกผมไปเองนี่นา แล้วทำไมท่านพูดอย่างนี้ล่ะ พอกลับมาคิดอีกทีก็เลยสงสัยว่า หลวงปู่ท่านคงไม่อยากให้ผมสึกกระมัง (ไม่รู้เข้าข้างตัวเองไปหรือเปล่าแต่ผมก็สึกออกมาแล้วล่ะ)
      
       ผมรู้สึกประทับใจมากจริงๆ ที่ได้มีโอกาสเป็นผู้ติดตามหลวงปู่ไปแสดงธรรม ได้เห็นการ ทำงานของหลวงปู่อย่างใกล้ชิด ถ้าผมรีบสึกไปตั้งแต่หมดโครงการคงไม่มีโอกาสอย่างนี้แน่ๆ
      
       ความประทับใจจากการที่ได้บวช
      
       จากที่ได้บวชเป็นเวลาเกือบ ๙๐ วัน สำหรับผมแล้วถือว่าทะลุเป้า เพราะอยู่นานกว่าเป้าหมาย ที่ได้ตั้งไว้หลายวันทีเดียว (ตอนแรกคิดว่า ๗๓ วันนานเกินไป แต่เอาเข้าจริงกลับอยู่ต่อจนถึงปลาย เดือนกุมภาพันธ์) การบวชครั้งนี้ผมก็ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ต่างๆ มากมาย ซึ่งมีหลายประสบการณ์ ที่ผมประทับใจมากและคงยังประทับใจไปชั่วชีวิต
      
       เกริกกฤษณ์ ศรีไพพรรณ