เปิดประตูสู่วิถีทางแห่งพุทธธรรม
       
       มีนักศึกษาปริยัติท่านหนึ่ง ถือหนังสือซึ่งเป็นตำราของนักธรรม ชั้นตรี มาถามหลวงปู่ว่า
       นักศึกษา : หลวงปู่ครับ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
       
       ย่อลง ในศีล สมาธิ ปัญญา ได้หรือไม่
       หลวงปู่ : อยากรู้หรือ
       นักศึกษา : อยากรู้ครับ
       หลวงปู่ : ถ้าอยากรู้ก็เปิดหนังสือที่อยู่ในมือคุณดูเองสิ
       
       ความหมาย
       
       ๑. หากต้องการเพียงคำตอบ เพื่อที่จะตอบคำถามนี้ออกมาเป็นคำพูดหรือคำเขียนแล้ว ตำราที่อยู่ในมือของนักศึกษาปริยัติธรรมท่านนี้ก็น่าจะเพียงพอ
       
       ๒. แต่หลวงปู่กำลังชี้ชวนให้นักศึกษาหันกลับมาค้นหาคำตอบแก่ตนเองในหนทางอื่น ด้วยคำพูดที่ดูเหมือนกับปราศจากเยื่อใยไมตรี
       
       ๓. คำตอบในหนทางอื่นนั้นคืออะไร ก็ต้องย้อนกลับมาที่ตัวนักศึกษาเองว่า ต้องการคำตอบจากสิ่งใด จากใคร หรือจากอะไรจากตำราหรือจากผู้ร่วมสนทนา
       
       ๔. หากต้องการคำตอบจากตำรา ก็เปิดหาจากตำราเท่านั้นจบ แต่ถ้าต้องการคำตอบจากหลวงปู่ ก็คงต้องตอบด้วยกรรมวิธีของท่าน โดยการชี้ตรงไปที่หัวใจ หาใช่การเปิดดูจากตำราไม่
       
       รวมความแล้วถ้าคิดจะเป็นนักเรียนธรรม เพื่อเป็นผู้มีธรรม หาใช่การเปิดตำราท่องจำแล้วไปสอบเป็นนักธรรมตรี โท เอก แล้วประกาศว่าตนเป็นผู้มีธรรมะไม่ หากแต่เป็นการฝึกกาย ใจ จากประสบการณ์จริง
       
       ทุกคนรู้ว่ายาฆ่าแมลงกินแล้วถึงตาย คือเป็นการรู้จากคำบอกเล่า หรือจากฉลากข้างขวดบอกว่าเป็นยาอันตรายเท่านั้น แต่จะมีสักกี่คนที่เคยกินจริงและเป็นผู้รู้จริงว่าอานุภาพของมันเป็นอันตราย หรือมีรสชาติและทุกข์ทรมานเพียงไร
       
       ธรรมะก็เช่นกัน ใครจะมีได้ ย่อมเกิดจากการฝึกจริง หาใช่การท่องจำตำราหรืออ่านพระไตรปิฎกไม่ หากเราต้องการเป็นผู้รู้จริงในสิ่งที่เป็นเรื่องจริง จึงต้องอาศัยครูผู้มีใจอารี
       
       กติกาแบบธรรมชาติ
       
       ลูกรัก
       เวลาใดที่เจ้าต้องการจะชำระล้างร่างกาย เวลานั้นเจ้าจะต้องชำระล้างร่างกายด้วยใจที่จดจ่อ
       
       ในขณะนั้น เจ้าก็ควรพิจารณาด้วยว่า สิ่งเหล่านี้เป็นภาระที่เจ้าจะต้องทำมันอย่างไม่มีวันหยุด ถ้าตราบใดที่เจ้ายังไม่สามารถถ่องแท้ต่อตัวเจ้าเองและธรรมชาติ
       
       ลูกรัก
       จงใช้ชีวิต วิญญาณด้วยความประหยัดต่อสิ่งของ
       เครื่องใช้ทุกสรรพสิ่ง และเต็มเปี่ยมไปด้วยประโยชน์
       
       เมื่อถึงเวลากิน จงกินให้อิ่ม
       เมื่อถึงเวลาทำ จงทำทุกอย่างให้เต็มที่
       เมื่อถึงเวลานอน จงนอนให้เต็มที่
       และเมื่อเวลา "ตื่น" จงตื่นและตื่นจริงๆ
       
       ความหมาย
       
       จงอย่ามองข้ามและไม่ใส่ใจต่อกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ ว่าไม่สำคัญ จงทำมันอย่างชนิดที่เรียกว่า มันเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตเลยทีเดียว ในทุกกิจกรรม ซึ่งเป็นโอกาสให้เราได้ฝึกตัวเองตลอดเวลา
       
       จงจัดระเบียบของกาย เช่น กินให้เป็นเวลา นอนให้เป็นเวลา และกิจกรรมต่างๆ อย่างเป็นระบบ
       
       และเมื่อกายเกิดความเคยชิน เราก็จะหิวเฉพาะเมื่อถึงเวลากิน เราก็จะง่วงเมื่อถึงเวลานอนเท่านั้นเป็นอัตโนมัติหากทุกอย่างเป็นไปตาม ระเบียบเช่นนี้ เราจะทำทุกกิจกรรมได้อย่างไม่สับสน จนใจของเราก็จะค่อยๆ เป็นระบบ โดยที่เราไม่รู้สึกยากลำบาก
       
       สิ่งที่ตรงกันข้าม
       
       เมื่อเจ้า
       ปฏิเสธสิ่งที่ชังก็ไม่ได้
       ยอมรับสิ่งที่ชอบก็คงไม่ใช่
       แต่ที่แน่ๆ
       เจ้าจะต้องคลุกคลีอยู่กับ
       ทั้งสิ่งที่ชอบและของที่ชัง
       อย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง
       ในเมื่อเป็นเช่นนี้
       ทำไมเจ้าไม่หาประโยชน์จากสองสิ่งนั้นเล่า
       
       ความหมาย
       
       ชั่วชีวิตของทุกคน
       คงไม่มีใคร มีความสุขได้ตลอด
       คงไม่มีใคร มีความทุกข์ได้ตลอดเวลา
       คงไม่มีใคร พบกับของชอบใจตลอด
       คงไม่มีใคร พบแต่ของชังได้ตลอดเช่นกัน
       นั่นคือความเป็นจริงหรือใครจะปฏิเสธ
       
       แล้วเราจะเสียเวลากับการสร้างความรู้สึกที่ยกสิ่งหนึ่งและเหยียบสิ่ง หนึ่ง จนกลายเป็นอารมณ์ที่นิยม ยอมรับ ปฏิเสธชอบ ชัง รังเกียจ อยู่ทำไม ทำไมไม่หาประโยชน์จากทั้งสองสิ่งนั้นเล่า สำหรับคนฉลาดและมีปัญญา แม้น้ำครำก็สามารถนำมากลั่นเป็นน้ำดี มีประโยชน์ได้
       
       กิจกรรมทางศาสนา
       
       รื้อขยะเก่า
       ไม่เพิ่มขยะใหม่ลงไป
       ทำของดีที่มีอยู่แล้วให้ผ่องใส
       จบกิจพระศาสนา
       
       ความหมาย
       
       เป็นบทสรุปที่เข้าใจง่าย ทั้งยังมีความหมายครอบคลุมถึงภารกิจแห่งคุณงามความดีทั้งปวง
       
       ปัญหาอยู่ที่ว่า อะไรล่ะคือ ขยะถ้าจะมองว่าเป็นคำศัพท์พื้นๆ ที่เคยได้ยินกัน คงหมายถึง อะไรๆ ก็ตามที่คนไม่ต้องการเป็นของเสีย เป็นของเหม็น เป็นของที่ไม่มีคุณค่าราคาจึงต้องรื้อมันเอาไปทิ้งและทำลาย
       
       หากจะมองในแง่ของภาษาธรรม คำว่า ขยะตัวนี้ มีความหมายลึกซึ้งยิ่งนัก เพราะหาใช่เป็นของเสีย ของเหม็นของไม่มีคุณค่า ราคา อย่างที่เข้าใจอย่างเดียวไม่ มันอาจหมายรวมถึง ของไม่เสีย ของไม่เหม็น หรือเป็นของที่มีค่าราคาหากแต่มันได้มามีอิทธิพลทำให้เราตกเป็นทาส และมันก็กำลังทำหน้าที่เป็นนายอยู่เหนือกายและใจของเรา ถึงขนาดที่เราเองก็ยังไม่กล้าพอที่จะกำจัดมัน
       
       เมื่อเราเข้าใจความหมายของคำว่าขยะดีแล้ว ก็ต้องมาสำรวจ ตรวจตราตนเองว่า มีอะไรบ้างที่เป็นขยะแล้วค่อยๆ ศึกษาถึงวิธีรื้อมันทิ้ง ตลอดจนวิธีการไม่เพิ่มมันลงไปอีก
       
       ต้องอาศัยพลังแห่งความกล้า พลังแห่งความศรัทธาของเรา และความสามารถของครูผู้มีใจอารี
       
       เท่านั้นแหละ ของดีที่มีอยู่ในตัวเรา ก็จะเปล่งประกายฉายแววความสดใส ที่ถูกปิดบังซ่อนเร้นด้วยขยะทั้งปวงมาเป็นเวลานานนับกัปกัลป์
       
       พินิจตนเอง-พิชิตสรรพสิ่ง
       
       พ่อขอเตือนเจ้าด้วยใจที่เอื้ออาทรว่า
       คราใดที่เจ้ารู้สึก
       เหนื่อยหน่าย เป็นทุกข์ เดือดร้อน ไม่สบาย
       เจ้าควรกลับมาสู่บ้านของเจ้า
       แล้วปิดประตูหน้าต่าง
       พักผ่อนด้วยความสงบ โปร่ง เบา สบาย
       จนแน่ใจว่า
       เจ้ามีพลังมากพอที่จะยืนยงคงอยู่
       ต่อสู้ฟันฝ่าต่อคลื่นลม และพายุ
       กับทั้งสรรพศัตรูต่างๆ ที่รอคอยเจ้าอยู่นอกบ้าน
       อย่างเป็นผู้ชนะ
       เจ้าก็จงเปิดประตูหน้าต่างออกไปหามัน
       อย่างชื่นบาน โปร่งเบา สบาย และอาจหาญเถิด
       
       ความหมาย
       
       ถ้าจะเปรียบบ้าน คือ ตัวเรา ประตูหน้าต่างก็เปรียบดัง ทวาร ทั้ง ๖ นั่นคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ชั่วชีวิตเราเคยหัดทดลองปิดทวารเหล่านี้บ้างหรือไม่ ทุกวันเรามีแต่จะเปิดประตู หน้าต่าง ต้อนรับสรรพสิ่งเข้ามาอย่างมากมาย ทั้งๆ ที่ตัวเองยังไม่รู้จักวิธีป้องกัน หรือแยกแยะว่าอะไรคือศัตรูหรือมิตรเลย
       
       ในความเป็นจริงแล้ว สรรพสิ่งเหล่านั้นหาใช่เป็นศัตรูที่แท้ไม่ แต่ความปรุงแต่งของเราเองต่างหากที่เราสรรสร้างมันขึ้นมาจนเป็นผล ให้เรารู้สึกเหนื่อยหน่าย เป็นทุกข์และสิ้นหวัง
       
       เป็นเพราะเราอ่อนแอเกินไป ถ้าเรายังปล่อยให้ประตูหน้าต่างเปิดอยู่อย่างนั้น ไม่นานชีวิตของเราคงตกเป็นทาสของสรรพสิ่งทั้งหลายเป็นแน่
       
       ถ้าเรารู้ว่าเราอ่อนแอ ก็ลองหันมาปิดประตู ปิดหน้าต่างของเราซะก่อน เพื่อสะสมพลังด้วยการศึกษาถึงที่มาของศัตรูร้าย
       
       เมื่อนั้นเราคงรู้จักวิธีที่จะกำจัดมัน และเมื่อเราเข้มแข็งพอ ถึงแม้จะมีประตูหน้าต่างสักกี่บาน เราก็สามารถเปิดมันออกได้หมด เราก็จะออกจากประตูได้อย่างเป็นผู้ชนะ ชนะตัวเองไงล่ะ
       
       สำรวจภายใน
       
       ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใด
       ถ้าเจ้าส่งความรู้สึกลึก... ลึก
       ลงไปสำรวจตรวจดูภายในกาย
       ให้เข้าที่ เข้าทาง
       นั่นแหละ คือ
       ผู้เจริญญาณ
       
       ความหมาย
       
       ถ้าต้องการฝึกสมาธิ เราไม่จำเป็นต้องฝึกสมาธิให้เป็นผู้เจริญญาณ ด้วยการนั่งพับเพียบ ขัดสมาธิ อย่างเป็นวิธีการ
       
       หากแต่รู้จักส่งความรู้สึกให้สำแดงอยู่กับตัวเราเองในทุกอิริยาบถ ทุกกิจกรรมการงาน ในทุกเวลานาทีหรือทุกขณะจิต
       
       เราจะทำด้วยความรู้สึกอย่างชนิดที่ว่าการกระทำนั้นมันเป็นสิ่งที่ สำคัญยิ่งต่อชีวิตของเราในขณะนั้นเลยทีเดียว และนั่นก็คือ การฝึกกายให้รวมกับใจ
       
       เมื่อใดที่สองสิ่งนี้รวมกันได้อย่างสนิทแนบแน่นเช่นนี้ เราก็จะเป็นหนึ่งในผู้เจริญญาณนั่นเอง
       
       อุบัติการณ์แห่งตนเองและสรรพสิ่ง
       
       เมื่อไม่รู้จักตนเอง
       ทุกสรรพสิ่งย่อมเกิด
       เมื่อใดรู้จักตนเอง
       ทุกสรรพสิ่งย่อมไม่มี
       
       ความหมาย
       
       หากเราผูกใจไว้กับสรรพสิ่งนอกกาย
       แน่นอนว่าสรรพสิ่งเหล่านั้น
       ย่อมส่งผลต่อความรู้สึกของเรา
       เมื่อใดเราผูกใจของเราไว้กับตัวเรา กายเรา
       ถึงแม้สรรพสิ่งทั้งหลายจะยังคงอยู่
       แต่มันก็หาได้มีอิทธิพลเหนือตัวเราไม่
       
       มายาจิต
       
       ลูกรัก
       เจ้าจักรู้หรือไม่หนอว่า
       สรรพมารทั้งหลาย
       สรรพกิเลสทั้งปวง
       สรรพทุกข์ทั้งสิ้นนั้น
       มันเป็นเพียงปรากฏการณ์
       ของมายาจิตชนิดหนึ่งๆ เท่านั้น
       
       ความหมาย
       
       ความทุกข์ระทม ความทุรนทุราย ความผิดหวัง ความเสียใจ ตลอดจนสรรพทุกข์ทั้งปวง ที่เราบอกว่ากำลังเผชิญอยู่นั้นสรรพสิ่งที่ล้อมรอบตัวเราอยู่ไม่
       
       ไม่มีใครจะมามีอำนาจเหนือตัวเราได้เลย ถ้าเราไม่อนุญาต ไม่มีใครจะมามีอิทธิพลบีบคั้นเราให้ระทมทุกข์ได้หรอก
       
       แต่ตัวเราเองต่างหากที่มีจิตอันอ่อนไหว มีจิตใจที่ไม่แข็งแกร่ง ก็เลยไปตีความให้ค่าราคากับมัน เพราะไม่เคยศึกษาถึงขั้นตอนแห่งวงจรการก่อตัวของสิ่งเลวร้ายอันนี้ (เพราะมันเกิดขึ้นเร็วมาก)
       
       และเมื่อใดที่เราเข้าใจถึงขั้นตอนของมัน จนรู้เท่าทันเมื่อนั้นเราจะสามารถปิดประตู ไม่อนุญาตให้ความทุกข์เหล่านั้น เข้ามากล้ำกรายได้เลย
       
       ความอ่อนน้อมถ่อมตน
       
       เจ้าจักสำคัญข้อความโบราณนี้เป็นไฉน
       รวงข้าวยิ่งสุกก็ยิ่งโน้มลงดิน
       ความอ่อนน้อมถ่อมตน คือ
       รากเหง้าของกุศลธรรมทั้งมวล
       
       ความหมาย
       
       ประดุจดั่งคนที่มีความรู้และสติปัญญา ยิ่งมีมากเท่าใดก็ยิ่งไม่แสดง และยิ่งมีความถ่อมตนมากเท่านั้น
       
       แต่สำหรับผู้ที่ยังรู้น้อย ความสามารถน้อย เจ้าคุณธรรมตัวนี้จึงมีความสำคัญและจำเป็นมากที่จะเป็นพื้นฐานเริ่มต้นในอัน จะนำพาเราไปพบกับปราชญ์ จนถึงที่สุดของความเป็นผู้รู้
       
       เมื่อเราได้ชื่อว่าเป็นผู้รู้แล้ว เจ้าคุณธรรมตัวนี้ก็ยังคงอยู่จึงมีผู้กล่าวว่า ความอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นจุดเริ่มต้นและจุดสุดท้ายแห่งการเรียนรู้ในศาสนธรรมนี้

       มิตร-ศัตรู
       
       ลูกรัก
       ถ้าเจ้าต้องการศึกษาพุทธธรรม
       สิ่งที่ลูกต้องเพียรกระทำก่อน
       เป็นเบื้องต้น คือ
       ลูกต้องแยกให้ออกอย่างถ่องแท้
       ว่า อะไรคือศัตรู อะไรคือมิตร
       ที่ติดสนิทอยู่ในตัวเจ้า
       และคราใด
       ที่ลูกสามารถแยกมิตร แยกศัตรู ได้ทุกขณะจิต
       พ่อว่าเจ้าไม่จำเป็นต้องคิดถึงพุทธธรรม
       เพราะเจ้าก็คือ พุทธะองค์หนึ่งเหมือนกัน
       
       ความหมาย
       
       "ความเคยชิน" เป็นตัวการสำคัญ เป็นเกราะกำบังให้กับศัตรูที่แฝงมาในคราบของมหามิตร จนเราแยกไม่ออกบอกไม่ได้ว่ามันคืออะไร และปล่อยให้มันมากัดกินจนหัวใจเรากร่อนเรายอมรับและเป็นทาสมันโดยไม่รู้ตัว หากไม่รู้จักวิธีการที่จะแยกแยะแล้วอีกนานเท่าใดเราจะเป็นนายมันได้
       
       แน่นอนว่า แต่ละคนมีสิ่งที่ชอบ มีของที่รัก ตลอดจนพฤติกรรมที่ทำแตกต่างกัน เราเคยถามตัวเองบ้างไหมว่า สิ่งเหล่านั้นถ้ามันมาจากเราไป เราจะขาดมันได้ไหม เราจะอาลัยอาวรณ์ขนาดไหน ลอบตอบคำถามให้กับตัวเองด้วยความเป็นธรรมและไม่ หลอกตัวเองซิ ถ้าเรายังตอบไม่ได้ หรือไม่กล้าตอบหรือยิ่งกว่านั้นคือ ยอมรับว่าขาดมันไม่ได้ แสดงว่าชีวิตเรากำลังเดินไปสู่อันตราย เพราะเรากำลังสนิทชิดเชื้ออยู่กับศัตรูที่แฝงมาในคราบของมหามิตรทีเดียว
       
       หน้าที่ของเราคือ ต้องแยกให้ออกว่าอะไรคือศัตรู อะไรคือมิตร แล้วรีบกำจัด
       
       ปัญหาก็คือ เราไม่รู้ว่าจะแยกอย่างไร เลยไม่รู้ว่าจะกำจัดมันอย่างไร... ใครรู้ช่วยบอกที
       
       และเมื่อนั้นหากเราได้แยกแยะทุกวัน ทุกชั่วโมง ทุกนาที และทุกขณะจิต เราก็จะพบความเป็นไท หรือเป็นพุทธะองค์หนึ่งด้วยเหมือนกัน
       
       การปล่อยวาง
       
       ภิกษุรูปหนึ่งกล่าวว่า :
       จงปล่อยธรรมชาติให้เป็นธรรมชาติอย่างที่เขามี เขาเป็น
       หลวงปู่กล่าวว่า :
       ถ้ามีเรื่องยึด มันก็ต้องมีเรื่องปล่อย
       
       ความหมาย
       
       การจะปลดปล่อยอะไรๆ ให้ได้จริงนั้น หาใช่การรายงานด้วยคำพูดไม่ เพราะนั่นคือ การแกล้งปล่อย ทำเป็นปล่อย ดูเหมือนจะปล่อย แสดงว่ายังมีการยึดถือ จึงต้องมีการปล่อย
       
       แต่การปล่อยที่แท้จริงนั้น คือ การปลดเอง ปล่อยเอง วางเอง เพียงแต่เราไม่ยึด เรื่องปล่อยก็คงไม่มี นั่นแหละคือการปล่อยที่แท้
       
       การพ้นทุกข์
       
       ลูกรัก
       ถ้าเจ้าต้องการพ้นทุกข์
       ศีลธรรมไม่ทำให้คนพ้นทุกข์
       เพียงแต่ใจไม่ปรุงแต่ง
       ประตูของ
       ธรรมชาติ จักรวาล และนิพพาน
       ก็จะเปิดรับ
       
       ความหมาย
       
       เราควรกลับมาสังเกตตัวเองอย่างพินิจพิจารณา อย่างละเอียดลออละเมียดละไม ดูสักหน่อยเป็นไร ก็จะรู้ได้ว่าขั้นตอนของกระบวนการเกิดความทุกข์นั้นเป็นอย่างไร
       
       ...สรรพสิ่งเกิดขึ้น
       ...ใจเราปรุงแต่ง
       ...เกิดความรู้สึกสุข ทุกข์
       
       เมื่อเข้าใจลึกซึ้งด้วยหัวใจที่รู้จริงๆ แล้วถ้าไม่อยากเป็นทุกข์อีกต่อไป ก็ต้องตัดขั้นตอนแห่งการปรุงแต่งให้ได้
       
       เท่านั้นแหละประตูแห่งอิสรภาพก็จะเปิดรับ โดยที่เราไม่ต้องคำนึงถึงคำว่า ศีลธรรม เลย
       
       เล่นกับความคิด
       
       จงคิด..................
       เจ้าจะได้ไม่ต้องคิด
       เพราะเจ้าไม่คิด
       เรื่องคิดจึงมีมากมาย
       
       ความหมาย
       
       เมื่อใดที่เราต้องการความสำเร็จ อีกทั้งระวังระไวมิให้เกิดปัญหาในกิจกรรมใดๆ กิจกรรมนั้นจึงต้องควบคู่อยู่กับความคิด เป็นความพินิจ พิเคราะห์ พิจารณา และใคร่ครวญอย่างยิ่ง ซึ่งเป็น "ตัวสติ"
       
       แต่ถ้าเมื่อใดที่เรากระทำกิจกรรมใดอย่างชนิดที่ขาดการพินิจพิจารณา ใคร่ครวญแล้ว บทสรุปก็คือ ปัญหาย่อมเกิดขึ้น เมื่อปัญหาเกิดขึ้นแล้ว เราคงจะพูดกับตัวเองว่า "ช่างไม่คุ้มค่าเลยกับการที่ทำอะไรๆ โดยปราศจากการใคร่ครวญ"
       
       จึงทำให้ต้องใช้ความคิดอย่างมากมายในการแก้ปัญหา นั่นแหละนะ "เพราะไม่คิดนี่เอง...จึงทำให้กลายเป็นปัญหาก่อเป็นเรื่องให้ต้องคิดได้มาก มาย"
       
       ดวงจันทร์กับกระจกเงา
       
       เจ้าเคยชมจันทร์ ในกระจกเงาบ้างไหม
       เจ้าเคยเด็ดดอกไม้ ในอากาศบ้างหรือเปล่า
       
       ความหมาย
       
       ดวงจันทร์ในวันเพ็ญ ที่ขึ้นตระหง่านอยู่บนท้องฟ้านั้น แสงของมันช่างเหลืองเรืองรองผ่องอำไพ ยากที่ผู้ใดพบเห็นจะปฏิเสธความสวยงามของมัน
       
       ในอีกมุมหนึ่งมีเด็กน้อยน่ารัก กำลังชี้ให้น้องของเธอดูดวงจันทร์ที่สะท้อนอยู่ในน้ำ แถมยังจ้องดูกระทงของเธอกำลังลอยหายเข้าไปอยู่ในดวงจันทร์อย่างระทึกใจ สำหรับเด็กแล้วคงจะไม่ปฏิเสธความสวยงามนั้น หรือแม้ผู้ใหญ่เองก็ยังอดตื่นเต้นตามด้วยไม่ได้
       
       โอ้...หนอ ทำไมเจ้า "ความสวยงาม" จึงมีอิทธิพลต่อมนุษย์ได้เช่นนี้ ทั้งๆ ที่บางครั้งเจ้าเองก็ยังเป็นเพียงของเทียม หาใช่เป็นดวงจันทร์แท้ๆ ไม่
       
       แล้วไอ้เจ้า "ความสวยงาม" นี้ มันเกิดขึ้นมาจากอะไรล่ะ
       
       ก็มโนภาพที่เราสร้างขึ้นยังไงล่ะ หรือจะเรียกเป็นภาษาธรรม คือ การปรุงแต่ง และนี่คงจะเป็นจุดเริ่มต้นของการสะสมขยะขึ้นในตัวเรากระมัง
       
       เมื่อใดที่เรามีศักยภาพพอที่จะตัดหรือหยุดสร้างมโนภาพตรงนี้ได้ ทั้งพระจันทร์และดอกไม้ก็ดำรงสภาพของมันอยู่อย่างนั้น มันคงไม่มีอิทธิพลที่จะทำให้ใครมายอมรับ หรือปฏิเสธ ในความสวยงามหรืออัปลักษณ์นั้นได้เป็นแน่แท้ เช่นนี้ต้องเรียกว่า มองของจริงเป็นเท็จ ที่เท็จเป็นจริง
       
       ความเป็นจริงของจิต
       
       ไฟที่แท้จริงนั้น
       ไม่มีสี ไม่มีควัน ไม่มีกลิ่น ไม่มีแสง
       เหตุที่เกิดสี ควัน กลิ่น แสง
       เพราะสรรพสิ่งปรุงแต่งมันขึ้น
       เปรียบกับดวงจิต
       ย่อมไร้รูป ไร้ลักษณ์ ไร้ร่องรอย
       ที่มีรูป ลักษณ์ ร่องรอย นั้น
       เพราะเหตุว่าสรรพสิ่งปรุงแต่ง
       
       ความหมาย
       
       เวลาที่มีใครมาชี้หน้าด่าทอหรือตำหนิเรา แน่นอนสำหรับปุถุชนแล้วย่อมจะต้องโกรธในฉับพลันทันใด เป็นเรื่องที่ใครๆ ก็มองมันเป็นปกติธรรมดา
       
       แต่ถ้าคนด่ากับคนถูกด่าอยู่ห่างๆ กันสักหน่อย พอที่จะไม่ได้ยินเสียงกัน คนด่าก็ยังเป็นคนเดิม ทำการด่าด้วยประโยคเดิมๆ คนถูกด่าก็คนเดิม จะเห็นว่าคนถูกด่ากลับไม่รู้สึกโกรธ ถามเจ้าตัว บอกว่าไม่ได้ยิน ไม่รู้เรื่อง ก็เลยไม่โกรธ
       
       จึงเป็นเรื่องน่าคิด ที่เหตุการณ์เกิดขึ้นในลักษณะเดียวกัน แต่ความรู้สึกของคนถูกด่าใน ๒ เหตุการณ์ไม่เหมือนกัน
       
       เลยทำให้มองเห็นถึงที่มาที่ไปของไอ้เจ้าตัวโกรธตัวนี้ว่ามันมาจากไหน
       
       ความจริงเสียงด่านั้นไม่ได้มีอานุภาพใดๆ ที่จะทำให้เราต้องดีดดิ้น ทุรนทุรายได้เลย แต่เป็นเพราะสมองของเราที่ยังขาดการพัฒนารายงานให้เรารู้ว่า นั่นคือคำดูถูก นั่นคือคำหยาบคาย และ นั่นคือคำที่ชาวบ้านให้คุณค่า ตีราคาว่าเป็นคำด่า จนทำให้เราต้อง โกรธ
       
       หากเราไม่ได้ยิน สมองก็ไม่รายงาน เราก็ไม่เห็นโกรธ
       
       ทีนี้จะทำยังไงดีล่ะ ที่จะทำให้สมองหยุดรายงานในลักษณะแบบนั้น ทั้งๆ ที่ตัวเองกำลังได้ยินเสียงผู้คนตำหนิและด่าทออยู่ในขณะนั้น
       
       "ก็หยุดปรุงแต่งมันซะสิ"
       
       ประตูที่ไร้ประตู
       
       ลูกรัก
       เจ้าจะเข้าใจประโยคที่ว่า
       ประตูที่ไร้ประตู อย่างไร
       แต่สำหรับพ่อนั้น เข้าใจว่า
       เพียงแต่
       เจ้าเดินเข้าไปด้วยกายและใจ
       ถ้าทุกสิ่งสมบูรณ์เช่นนี้
       พ่อว่า
       เจ้าไม่จำเป็นต้องมีประตู
       เจ้าก็จะเดินเข้าไปได้อย่างองอาจ
       
       ความหมาย
       
       หากเราต้องการระเบียบที่เคร่งครัด ข้อกำหนด และวิธีการอันมาก เพียงเพื่อนำตัวเราให้เข้าไปนั่งอยู่ในบ้านได้ ถึงขนาดต้องตั้งเป็นกฎตายตัวว่า เจ้าจะต้องเดินเข้าทางประตูเท่านั้น
       
       หากจะเปรียบการเข้าบ้าน คือ การลุถึงความเป็นพุทธะแล้ว หาใช่จะต้องมีกฎกติกามารยาทใดๆ ไม่ มันไม่มีขั้นตอนใดตายตัว มันไม่มีข้อกำหนดใดให้ทำอย่างใด แต่เป็นการพลิกผันตามสถานการณ์ ตามแต่บุคคล เวลา และสถานที่ ขอเพียงเราทำทุกอย่างด้วยหัวใจเท่านั้น ก็ไม่จำเป็นต้องมีประตู แค่ช่องทางสุนัข ผ่านเราก็สามารถเข้าไปนั่งอยู่ในบ้านได้อย่างอิสระสบายใจ
       
       ความจริงแห่งสรรพสิ่ง
       
       ถ้าเจ้ารู้ว่า สรรพสิ่ง สรรพชีวิต
       เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เป็นปกติ
       ด้วยหัวใจที่รู้จริงๆ แล้ว
       พ่อว่าเจ้าคงจะไม่กล้าบ้าไปด่า
       ยอมรับ หรือปฏิเสธในอะไรๆ เป็นแน่
       
       ความหมาย
       
       เป็นเพราะเราไม่รู้จักตัวเอง นั่นคือ การที่เอาใจไปผูกกับอะไรๆ ต่างๆ นอกกาย จนทำให้เราเกิดความรู้สึกนิยม ยอมรับ ปฏิเสธ สิ่งใดชอบก็ว่าดี สิ่งใดชังก็ขว้างทิ้ง เหล่านี้คือ การสะสม ขยะทั้งสิ้น ถ้ายิ่งมีขยะมากเท่าใด ก็จะยิ่งเผยความสกปรกออกมาเป็นมลภาวะให้ชาวบ้านได้เห็นหรือเดือดร้อนเท่า นั้น
       
       ถ้าไม่ต้องการจะเป็นเช่นนี้ เราต้องกลับมาเรียนรู้ตัวเอง ด้วยการศึกษาที่มาที่ไปแห่งสรรพสิ่งทั้งปวง จนตอบตัวเองได้ว่า สิ่งที่เรารู้นั้น.........เรารู้จริง
       
       สมาธิจิต
       
       ภิกษุรูปหนึ่งกล่าวว่า :
       จงทำจิตให้นิ่งเหมือนน้ำที่ปราศจากลม
       หลวงปู่กล่าวว่า :
       ถ้าน้ำนิ่งแล้วมันจะละลายสารได้อย่างไร
       
       ความหมาย
       
       ถ้าคำกล่าวของภิกษุหมายถึง การที่จะทำชีวิตให้ประเสริฐด้วยการฝึกกายและจิตให้อยู่นิ่งๆ โดยไม่ต้องทำอะไร ก็อาจเป็นความ คับแคบ และยังไม่รู้จักที่จะใช้อานุภาพของจิตก่อให้เกิดประโยชน์
       
       เพราะทุกชีวิตเกิดมาต้องทำประโยชน์ นั่นคือต้องกอปรไปด้วยการเคลื่อนไหวในการทำกิจกรรมการงาน ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุดในอันจะเสริมสร้างพลังกาย พลังใจ และนำพลังเหล่านั้นมาใช้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมโลก และนั่นก็จะเป็นการสร้างประโยชน์ ให้ตนเองโดยอัตโนมัติ
       
       การปฏิบัติธรรม
       
       ภิกษุรูปหนึ่งกล่าวว่า :
       การปฏิบัติ คือ การไม่ปฏิบัติอะไร
       หลวงปู่กล่าวว่า :
       ถ้าไม่ปฏิบัติแล้วจะปฏิบัติทำไม
       
       ความหมาย
       
       ช่างเป็นเรื่องน่าเสียดายแทนตัวผู้พูดประโยคนี้ ที่เกิดมาแล้วน่าที่จะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ได้ตามกำลังความสามารถที่ตนมี
       
       ซึ่งทุกคนที่เกิดมานั้นถือว่ามีลมหายใจ มีพลัง เมื่อมีพลังก็ต้องมีการงาน เพื่อสร้างประโยชน์สั่งสมบุญบารมี ขอเพียงแต่ทำมันด้วยกายและใจ จงผูกใจกับกายให้ทำการงาน แต่อย่าผูกใจไว้ กับผลของงาน
       
       จิตกับวัตถุ
       
       ภิกษุรูปหนึ่งกล่าวว่า :
       อย่าเอาอะไรตั้งไว้ในจิต
       อย่าเอาจิตตั้งไว้ในอะไร..อะไร
       หลวงปู่กล่าวว่า :
       ถ้ามีจิตแล้วจะปฏิเสธที่ตั้งได้อย่างไร
       
       ความหมาย
       
       คำพูดในประโยคแรก คือ การสำแดงตัวตนแห่งจิต ผสมผสานกับคำเตือนว่า ห้ามนำอะไรไว้ในจิต และห้ามนำจิตตั้งไว้ในอะไร
       
       ส่วนประโยคหลังเป็นคำกล่าวกระตุ้นให้ได้รู้ว่า ตราบใดที่ยัง มีการสำแดงตัวตนแห่งจิตเช่นนี้ จะปฏิเสธไม่ให้มันมีที่ตั้งนั้น ย่อม เป็นไปไม่ได้
       
       จึงเป็นการบอกให้เข้าใจถึงสภาวะแห่งจิตที่แท้แล้วว่า มันไม่ได้มีตัวตน เมื่อมันไม่มีตัวตนเช่นนี้ จึงไม่มีความจำเป็นใดอีกที่จะต้องเตือนว่า อย่าได้เอาอะไรตั้งไว้ในจิตอีกต่อไป

       ครูและศิษย์
       
       ลูกรัก
       ครูที่ดีไม่ต้องการศิษย์
       ควรจะเป็นศิษย์ที่ดีต่างหากที่ต้องการครู
       ควรจะมีการทดสอบกำลังใจและความอดทน
       เพียรพยายามดูกันหน่อย ก่อนจะเรียนรู้
       
       ลูกรัก
       เมื่อครูที่ดีมีศิษย์แล้ว
       ทุกอย่างจะต้องเป็นเส้นตรง
       จะคดโค้งเปรอะเปื้อนบิดเบือนไม่ได้
       มันจะเป็นผลให้ศิษย์ที่ดี ได้ดีจริงๆ
       ควรขยำขยี้ทุกกรรมวิธีจนกว่าศิษย์จะได้ดี
       
       ลูกรัก
       ศิษย์ที่ดีจงสำนึกไว้เถอะว่า
       ระเบียบปฏิบัติอันเคร่งครัด เข้มงวด
       หยุมหยิม ยุบยิบ เล็กน้อยนั้น
       มันสามารถปลุกให้ท่านตื่นอยู่เสมอ
       ถ้าหากปฏิบัติด้วยใจ
       
       ความหมาย
       
       อ่านข้อความนี้แล้ว ให้นึกย้อนไปถึงหนังจีนกำลังภายในหลายเรื่อง ที่ลูกศิษย์จะมาขอฝึกวิทยายุทธจากครู แต่กว่าจะได้เป็นศิษย์ก็แสนยากเย็น หาใช่ว่าครูใจร้าย แต่มันเป็นขั้นตอนหนึ่งในกระบวนการแห่งการเรียนรู้ ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด และจะทำให้เขาง่ายต่อการฝึกทุกอย่าง ก็อยู่ที่ตัวศิษย์เองว่า พร้อมแค่ไหน
       
       ชีวิตกับความคาดหวัง
       
       ลูกรัก
       ผู้คนทั้งหลายที่มีชีวิตวันนี้
       ก็เพื่อจะรอให้ถึงวันพรุ่งนี้
       เพื่อให้ได้ในสิ่งที่คาดหวัง
       แต่สำหรับพ่อมีชีวิตอยู่วันนี้
       มิใช่เพื่อรอให้ถึงวันพรุ่งนี้
       ชั่วชีวิตของพ่อ
       ไม่เคยมีวันข้างหน้าเลย
       
       ความหมาย
       
       เหตุเพราะไม่มีประโยชน์อันใดที่จะมัวรีรอให้พบกับสิ่งที่คาดหวังในอนาคต
       
       ขอเพียงแต่เราทำสิ่งที่ดีที่สุดในปัจจุบันขณะนี้ ซึ่งมันก็จะกลายเป็นอดีตที่ดีที่สุด และแน่นอนก็ต้องเป็นอนาคตที่ดีที่สุดด้วย โดยไม่ต้องทำนายเลย
       
       ต้นไม้ที่ยืนต้นตาย
       
       จะมีสักกี่คนที่มีชีวิตอยู่ได้
       อย่างไม่มีความหวัง
       ใครรู้ช่วยบอกทีว่า
       เหตุใด ทำไม
       ต้นไม้จึงยืนตาย
       
       ความหมาย
       
       ผู้คนส่วนใหญ่กระทำสิ่งใดๆ ก็เพื่อรอความหวังในอนาคตที่ตนต้องการ ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าจะมีชีวิตอยู่ทันเพื่อพบกับความสมหวังนั้นหรือไม่
       
       แต่ถ้าเราชิงที่จะตายซะก่อน คือตายจากความคาดหวัง ซึ่งเปรียบดังน้ำหล่อเลี้ยงต้นไม้นั้น และแน่นอนต้นไม้จึงยืนตาย หากเราทำได้ดังนี้ ความเป็นไทคงเกิดขึ้นกับเราเป็นแน่แท้
       
       เป้าหมาย
       
       ลูกรัก
       บางทีพ่อก็ให้คำตอบแก่ตัวเองไม่ได้ว่า
       พ่อมีชีวิตอยู่เพื่ออะไร........
       
       ความหมาย
       
       เมื่อใดที่เราค้นพบและรู้จักหน้าตาของตนเองที่แท้จริงแล้ว
       หัวใจของเราก็จะเต็มเปี่ยมไปด้วย ทรัพย์
       หัวใจของเราก็จะเต็มเปี่ยมไปด้วย ความมีอำนาจ
       หัวใจของเราก็จะเต็มเปี่ยมไปด้วย บารมี
       หัวใจของเราก็จะเต็มเปี่ยมไปด้วย สิ่งต่างๆ ที่ผู้คนทั้งหลายกล่าวขานว่ามีค่า
       
       และด้วยหัวใจที่รู้จริงๆ ในความรู้สึกว่า "มีค่า" นั้น มันเป็นเพียงมายาแห่งจิต เป็นความปรุงแต่งของเราเองทั้งสิ้น
       
       เมื่อเข้าใจเช่นนี้แล้ว เราจึงเป็นผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยสิ่งมีค่าเหล่านั้น เราจึงเป็นสุขยิ่งกว่ามหาเศรษฐี เราจึงเป็นผู้มีอำนาจยิ่งกว่าผู้สูงศักดิ์ทั้งหลาย ในขณะที่ผู้อื่นอยู่เพื่อรอสิ่งที่ตัวเองคาดหวัง เพราะยังเป็นผู้ไม่อิ่ม ไม่เต็ม ไม่พอ
       
       ความศักดิ์สิทธิ์
       
       ลูกรัก
       ความเห็นของพ่อมีว่า
       ถ้าความศักดิ์สิทธิ์ของ
       ดิน น้ำ ลม ไฟ และฟ้า
       มีอยู่จริง
       พ่อก็คิดว่า
       นกที่บินอยู่บนท้องฟ้า
       ปลาที่อยู่ในน้ำ
       สัตว์ที่อยู่ในดิน
       มันคงจะไม่ลำบากเพียงนี้เป็นแน่
       
       ความหมาย
       
       ทุกวันนี้ผู้คนทั้งหลายพากันพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่นอกกาย
       
       จนลืมนึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ในกายตน ซึ่งรอวันเปล่งประกายให้เจ้าของได้ชื่นชม
       
       เป็นเพราะเราอ่อนแอเกินไป ถึงได้ยอมรับสิ่งต่างๆ ภายนอกให้มามีอำนาจเหนือตนเรื่อยมา
       
       จึงเป็นบทพิสูจน์ได้อย่างหนึ่งว่าตราบใดที่เรายังทำตนให้เป็น ที่ยอมรับแห่งตนไม่ได้ หรือยังไหว้ตัวเองไม่ได้ ก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เราเองต้องเป็นทาสต่อการยอมรับสิ่งต่างๆ เหล่านั้นชั่วชีวิต
       
       ความลับของถ้ำ
       
       ครั้งมีพุทธศาสนิกชนกลุ่มหนึ่งพากันมากราบหลวงปู่
       หลวงปู่ : พวกมึงมาทำไม
       : มากราบหลวงปู่ครับ
       หลวงปู่ : ทำไมต้องกราบด้วย
       : เพื่อศึกษาธรรมะครับ
       ......เข้าไปอยู่ในถ้ำ
       
       ความหมาย
       
       สำหรับหลวงปู่แล้ว ท่านจะเตือนสติเสมอเมื่อมีโอกาส ดังเช่นคำพูดในประโยคนี้ ย่อมต้องมีความหมายแน่
       
       ...การที่เราเชื่อถือและศรัทธาในสิ่งที่เราคิดว่าสูงสุดสำหรับชีวิต ถ้าสิ่งนั้นยังเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่นอกกายเรา พระบรมศาสดาก็ไม่ทรงสรรเสริญบุคคลนั้นเท่ากับผู้ค้นพบสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ อยู่ในกายตน
       
       หลวงปู่จึงได้กระตุ้นเตือนด้วยคำพูดเปรียบเปรย ด้วยการให้ลองกลับเข้าไปสำรวจดูความสงบ ความร่มเย็น และธรรมชาติอันสวยงามภายในถ้ำ หรือก็คือให้กลับไปค้นหาธรรมชาติอันบริสุทธิ์แห่งพุทธะในกายตน
       
       เมื่อถึงเวลานั้น เราก็คงจะกราบตัวเองได้ด้วยความรู้สึกที่เหมือนกับที่กราบหลวงปู่เป็นแน่.....สาธุ

       เมฆหมอกและสายน้ำ
       
       ลูกรัก
       เจ้าต้องทำชีวิต
       ให้เหมือนกับ
       เมฆหมอกที่กำลังเคลื่อนตัว
       หรือสายน้ำที่กำลังไหลริน
       
       ความหมาย
       
       มนุษย์เป็นสัตว์สังคมโดยธรรมชาติ จึงมิอาจอยู่ในลักษณะโดดเดี่ยวโดยที่ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งอื่นๆ ได้
       
       การกระทำของเราย่อมส่งผลกระทบต่อบุคคลอื่น หรือสิ่งอื่นของบุคคลอื่นอยู่เสมอ
       
       ดังนั้น การเข้าใจถึงความเป็นอยู่อย่างสอดคล้อง ผสานสัมพันธ์กันในสังคมจึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยการรู้จักพลิกผันตามสถานการณ์ เวลา และสถานที่อย่างไมีมีกฎเกณฑ์ตายตัวและอย่างเป็นธรรมชาติ
       
       รวมความแล้ว สรุปเป็นคำที่ง่ายๆ ก็คือ "เวลานี้ในขณะนี้ เราจะทำยังไงให้มันดีที่สุด เหมาะสมที่สุด ได้ประโยชน์มากที่สุด" โดยปราศจากความคิดหรือเรื่องราวต่างๆ ทุกชนิดที่จะเป็นอุปสรรคต่อการกระทำนั้น
       
       ความคิดและการกระทำ
       
       มีตาหลานคู่หนึ่งพายเรือไปกลางทะเล
       ตาก็ชี้ให้หลานดูว่า มีรูรั่วหนึ่งรู น้ำเข้าแล้ว
       หลานก็บอกว่าไม่เป็นไร แล้วก็พายต่อไป
       
       ครั้งที่สอง ตาก็ชี้ให้หลานดูอีกว่า เรือรั่วอีกแล้ว
       หลานก็บอกว่าไม่เป็นไร
       
       ครั้งที่สาม สี่ ห้า หก ผ่านไป
       ในที่สุด น้ำทะเลก็เข้ามา
       ครั้นลำเรือยากแก่การแก้ไข
       เรือก็ล่ม จมทั้งหลานและตา
       
       ความหมาย
       
       ถ้าหากเราจะเปรียบนิทานเรื่องนี้กับการดำเนินชีวิต
       ตา เปรียบกับ ปัญญาหรือการวิเคราะห์พิจารณา
       หลาน เปรียบกับ พละกำลังของการกระทำ
       เรือ เปรียบกับ การดำเนินชีวิต
       ทะเล เปรียบกับ อุปสรรค
       จุดจบของนิทานเรื่องนี้คือ ทั้งตาและหลานจมน้ำทั้งคู่
       เหตุเพราะการรีรอเพิกเฉยต่อสิ่งที่เป็นโทษ
       และพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ จนไม่รู้ว่ากำจัดที่ตรงไหน
       
       การตื่นขึ้นของพลังชีวิต
       
       การจะทำจิตให้ละเอียด
       กายจะต้องละเอียดก่อน
       การจะทำกายให้ละเอียด
       ต้องทำประสาทสัมผัสให้ละเอียดก่อน
       
       ความหมาย
       
       เมื่อใดที่ประสาทสัมผัสไม่ละเอียด
       เวลาฟัง ก็จะไม่ได้ยินเสียง
       เวลามอง ก็จะไม่เห็น
       เวลากิน ก็จะไม่รู้รส
       เวลาดม ก็จะไม่ได้กลิ่น
       เวลาสัมผัส ก็จะไม่รู้สึก
       เวลาอ่านหนังสือ ก็ไม่รู้เรื่อง
       เป็นเพราะเราสัมผัสมันแต่กาย หาได้เอาใจใส่
       หรือให้ความสำคัญต่อการกระทำนั้นไม่
       ทีนี้เราคงจะรู้แล้วนะว่า อะไรคือที่มาของคำว่า สมาธิ
       
       ไขปริศนาสู่วิชชานิรรูป
       
       จงนึกถึงความอัศจรรย์ของ สภาวะที่ปราศจาความคิด
       และติดตามร่องรอยของมันเข้าไปจนถึง
       แสงสว่างแห่งจิตอันไม่มีที่สิ้นสุด
       ขณะที่ความคิดหยุดลงแฃะกลับสู่ ต้นตอของมัน
       ธรรมชาติแท้และปรากฏการณ์จะ คงอยู่ตลอดไป
       ความจริงและเหตุการณ์ต่างๆ ไม่ถูกแบ่งแยก
       ณ ที่นั้นเป็นที่อยู่ของใคร..ใคร
       
       ความหมาย
       
       เป็นวิธีศึกษาการเข้าใจจิตเดิมแท้แห่งตนเอง วิธีการคือ
       
       ๑. "จงนึกถึง.......สภาวะที่ปราศจากความคิด"
       
       คำว่า "จงนึกถึง...." นั้น คือ การมีสติ
       
       จะมีสติอยู่กับอะไร หากเรากำลังอ่านหนังสือสอบ ก็จะเป็นความหมายของ
       
       จงมีสติ....อยู่กับสภาวะขณะนั้น คือ การอ่านหนังสือ
       
       แต่เรากำลังจะฝึกวิชชานิรรูป
       
       จึงต้องแทนสภาวะของการอ่านหนังสือด้วย.....สภาวะที่ปราศจากความคิด นั่นก็คือ
       
       "จงนึกถึง (การมีสติ) ........ สภาวะที่ปราศจากความคิด"
       
       ๒. ติดตามร่องรอยของมันเข้าไป ก็คือ การทรงสมาธิ เพื่อให้เข้าถึงสภาวะที่ปราศจากความคิดจริงๆ
       
       ๓. ขณะที่ความคิดหยุดลง และกลับสู่ต้นตอของมัน นั่นก็คือสัญญาดับ หรือไม่มีการปรุงแต่งใดๆ จิตเดิมแท้ของเราก็จะสุกใสได้ฉายแววออกมา
       
       ๔. ธรรมชาติและปรากฏการณ์จะคงอยู่ตลอดไป นั่นคือสรรพสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นมาก็ยังอยู่ของมันอย่างนั้น
       
       ๕. ความจริงและเหตุการณ์ต่างๆ ไม่ถูกแบ่งแยก
       
       เป็นความรู้สึกของผู้เป็นเจ้าของจิตดวงนี้ ที่จะไม่มีการแบ่งแยกตีค่าราคาของสรรพสิ่งต่างๆ ว่า ดี ชั่ว เลว หยาบ จนเกิดเป็นความพอใจไม่พอใจ หรือชอบ ชัง
       
       ๖. และเมื่อนั้น ตัวเราเองก็จะรู้ว่า ที่อยู่ที่แท้จริงของเรานั้นอยู่ที่ตรงไหน และที่นั้นเองคือ ที่อยู่ของทุกๆ คน
       
       ความงดงามของอิสรภาพ
       
       ทำใจให้สอดคล้องผสมผสาน
       เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ
       และจงแสดงความเป็นอิสระ
       ต่อธรรมชาติ
       หรือ ปล่อย ว่าง ละ เว้น
       ไม่มีรูปร่าง ไม่มีตัวตน
       ย่อมไม่มีการแสดงออก
       
       ความหมาย
       
       การพยายามนำตัวเองเข้าไปกลมกลืนกับธรรมชาติ คือวิธีการหนึ่งของการเรียนรู้ความจริงเพราะธรรมชาตินั้นมันคือ เรื่องจริง เราจึงมีโอกาสได้ศึกษาความจริงจากธรรมชาติ
       
       และเมื่อเราจดจ่ออยู่กับธรรมชาติด้วยแล้ว แสดงว่าขณะนั้นเรากำลังฝึกหรือกำลังมีสมาธิอยู่กับความจริง
       
       และเมื่อถึงเวลาหนึ่ง เราก็คงสามารถปล่อยวางอะไรๆ ในตัวเราเองได้ เพราะธรรมชาติได้ให้ความจริงแก่เราอย่างหนึ่งว่า ไม่มีอะไรคงที่ เที่ยงแท้ แน่นอน แม้แต่ตัวเราเอง
       
       สมาธิแบบธรรมชาติ
       
       ไม่ถูกอารมณ์ดึงดูด
       ไม่มีความคิดแตกแยก
       มีตัวรู้บรรลุความเป็นไท
       
       ความหมาย
       
       ด้วยจิตใจที่อยู่เหนือสรรพสิ่งทั้งมวล จึงไม่มีสิ่งใดที่จะมามีอิทธิพลฉุดกระชากให้เป็นไปตามที่มันต้องการ
       
       เราจึงต้องหมั่นถามตัวเองว่า กิจกรรมทุกอย่างที่กำลังทำอยู่นั้น เราทำมันด้วยหัวใจหรือไม่ หรือทำมันด้วยกายและใจหรือไม่ หรือ ถูกบังคับให้ทำ หรือแกล้งทำตัวให้ถูกบังคับให้ทำ เพราะเราเองก็ชอบด้วย หรือถูกชี้นำให้ทำ แต่หลอกตัวเองว่าไม่มีอะไรมาบังคับ คำตอบเหล่านี้อยู่ในหัวใจเราอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น.....อะไรล่ะที่เราต้องการ
       .............ความเป็นไทหรือความเป็นทาส.............
       
       เคล็ดวิชาขันธมาร
       
       เบื้องต้น........
       จง ทำใจให้เหมือนกับดาบที่อยู่ในฝัก
       จง ลับดาบให้คมกริบ
       จง ถือดาบนั้นกวัดไกว่ไปมา
       วิธีปฏิบัติ
       ขั้นที่ห้า ใช้ดาบนั้นทำลายศัตรู
       เมื่อศัตรูหมดไป
       ความเป็นไทก็เกิดขึ้น
       
       ความหมาย
       
       ดาบเมื่ออยู่ในฝัก เราไม่ชัก
       ก็ไม่มีใครรู้ว่ายาวหรือสั้น คมหรือทื่อ
       จึงไม่ต้องแสดง อวดอ้าง ในภูมิความรู้
       แต่จงหมั่นลับดาบให้คมอยู่เสมอ
       คือ หมั่นฝึกปรือตัวเองจากประสบการณ์จริง
       แล้วใช้ดาบอันคมกริบนั้นทำลายศัตรูในตัวของเราเอง
       ซึ่งก็คือ อารมณ์ที่จรมาจรไปให้หมดสิ้น
       แล้วตัวเราเองก็จะเป็นอิสระ
       โดยไม่ต้องนำดาบนั้นออกจากฝัก
       เพื่อแสดงอวดอ้างให้ใครรู้
       
       ธรรมชาติของจักรวาลและจิต
       
       สิ่งเดียวแยกเป็นหลายสิ่ง
       หลายสิ่งรวมเป็นหนึ่งสิ่ง
       ทำหนึ่งเดียวให้แยกเป็นหลายสิ่ง
       ทำหลายสิ่งให้รวมเป็นสิ่งเดียว
       
       ความหมาย
       
       ๑. ธรรมชาติของจิตไม่เคยอยู่นิ่ง มันจึงมีที่อยู่ ที่ไปได้ทุกเวลานาที เปรียบดังน้ำต้นสายที่กระจายออกไปหลายๆ ท่อ คงไหล ไปได้อย่างอ่อนแรง
       
       ๒. จึงต้องฝึกที่จะรวมจิตให้ได้อยู่ในที่เดียว เปรียบดังการรวมท่อน้ำหลายท่อให้เป็นหนึ่งเดียว น้ำจึงแรงและมีพลัง
       
       เมื่อนั้นพลังแห่งจิตจะแสดงอานุภาพออกมา ให้เราได้นำไปใช้ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้กับสังคม โลก และจักรวาล

       ความซาบซึ้งในบทกวี
       
       ลูกรัก
       คราหนึ่ง ขณะที่พ่อพักอยู่ที่ถ้ำรังเสือ มีนักศึกษาธรรมสามท่านกำลังท่องบทกวีไฮกุ อยู่ว่า
       
       คนแรกท่องว่า
       สายลมเย็นพัดผ่าน
       เสียงกระซิบแผ่วในดงสน
       อบอวลในอากาศ
       
       คนที่สองท่องว่า
       ทุกสิ่งถูกพัดหาย
       แม้กระทั่งข้าและหมูป่า
       จากลมฤดูหนาว
       
       คนที่สามท่องว่า
       ผีเสื้อน้อยสองตัว
       พากันเริงรำในอากาศ
       จนเป็นสีขาวคู่
       พ่อจึงหยิบแก้วที่มีน้ำโยนลงพื้น แล้วร้องบอกว่า
       ล่องลอย
       หลุกหลิก
       ลิงลม
       .......เพ้อฝัน
       เจ้าจักเพ้อฝันกันอีกนานไหมนี่
       
       ความหมาย
       
       เข้าใจว่าในหัวใจของผู้ประพันธ์บทกวีบทนี้ คงต้องการสื่ออะไรที่มีความหมายเป็นแน่
       
       แต่สำหรับผู้อ่าน คือ นักศึกษาธรรมทั้งสาม อาจจะมีความรู้สึกอ่อนไหวไปกับตัวอักษรในกวีบทนี้ จนกลายเป็นความเพลิดเพลิน หลงใหล
       
       จึงเป็นโอกาสของครูผู้มีใจอารีที่จะต้องปลุก กระตุ้นเตือนบุคคลเหล่านั้น ให้ตื่นขึ้นด้วยคำพูดอันตรงไปที่แต่ละใจของนักธรรมทั้งสาม คือ ล่องลอย หลุกหลิก และเหมือนลิงลม ก่อนที่จะกลายเป็นความเพ้อฝันไปมากกว่านี้
       
       ความว่างในใจ
       
       จงอย่าทำใจให้ว่าง
       แต่จงมีความว่าง
       ให้เกิดขึ้นในใจ
       
       ความหมาย (๑)
       
       การทำใจ..........ให้ว่าง
       ประโยคนี้ถ้าอ่านอย่างไม่พิเคราะห์แล้ว
       ดูจะมีความหมายดีที่ใครๆ ก็นิยมเอามาพูดกัน
       เพราะคำว่า "การทำใจ...." นั้น เป็นการสร้างรูปลักษณ์ของใจ
       โดยการก่อให้มันมีรูป มีร่างขึ้นมา
       แล้วจึงตั้งชื่อเรียกขานมันว่า "ใจ"
       ซึ่งในความเป็นจริง
       ตัวเราเองก็ยังไม่สามารถกำหนดขอบเขต รูปลักษณ์
       หรือความสิ้นสุดของใจได้
       ดังนั้น "การทำใจ......ให้ว่าง" รวมความแล้วก็คือ
       การสร้างรูปร่างของใจขึ้นมา แล้วนำมารวมกับคำว่า "ว่าง"
       กลายเป็นประโยคที่ว่า "ทำใจ....ให้ว่าง"
       อันนี้จึงมิใช่หนทางที่เราควรปฏิบัติ
       เพียงแต่เรารู้จักมีความว่างให้เกิดขึ้นในใจ
       สะสมไปทีละเล็กละน้อยจนเต็มเปี่ยม
       นั่นคือหน้าที่ เท่านั้นพอ
       โดยที่เราไม่ต้องสนใจว่ารูปลักษณ์ รูปร่าง หรือลักษณะ
       ของสิ่งที่เราเรียกขานว่า "ใจ" นั้นจะเป็นอย่างไร
       ให้สมกับคำที่ว่า "จงมีความว่างให้เกิดขึ้นในใจ"
       
       ความหมาย (๒)
       
       การทำใจ ต้องทำใจ พยายามทำใจ กำลังทำใจ ผมหรือฉันทำใจได้แล้ว คำพูดเหล่านี้ ที่พรั่งพรูออกมาจากปาก เมื่อมนุษย์ ผู้ทนทุกข์ระทม จมอยู่ในความหลงงมงาย เป็นคำพูดที่เขา กำลังสารภาพ ต่อเราว่า เขาได้ยอมรับความเจ็บปวด ชอกช้ำระกำใจ ซึมเศร้า โศกาอาดูร ระทมทุกข์ เดือดร้อนความรู้สึก ที่พรั่งพรูออกมากับคำพูดว่า ผมหรือฉันทำใจได้แล้ว แสดงว่าเค้าได้ผ่านอาการเจ็บปวดทรมาน มาอย่างหนัก จนหาทางออกในการพยายามทำใจ ซึ่งมันต่างจาก ผู้ที่ไม่มีใจ (มิใช่หมายถึงความไม่มีน้ำใจ) ที่รองรับอารมณ์ปรุงแต่ง ที่เกิดจากตาเห็นรู้ หูฟังเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นรับรส กายถูกต้องสัมผัส ใจมิได้รับอารมณ์ สภาว ธรรมต่างๆ ที่เกิด จึงไม่มีอำนาจควบคุมจิตวิญญาณ เมื่อจิตวิญญาณไม่ตกเป็นทาสของอารมณ์ และไม่ปรากฏอารมณ์ ปราศจากอารมณ์ เช่นนี้จึงควรเรียกขานว่า ความว่างมีอยู่ในใจ โดยมิต้องคอยทำใจให้ว่าง
       
       ศรัทธา
       
       ความศรัทธา
       มิได้ยังให้เห็นความจริง
       แต่ความจริงในสิ่งที่มี
       มันสิงอยู่ในศรัทธา
       
       ความหมาย (๑)
       
       การที่เราบอกกับตัวเอง หรือแสดงให้ใครๆ ได้รู้ว่า เรามีศรัทธา ต่อสิ่งนั้นสิ่งนี้
       
       อย่าได้ด่วนตัดสินใจว่า นั่นคือสิ่งที่เรียกว่า เป็นความศรัทธา
       
       เราอาจกำลังถูกหลอกอยู่ก็ได้ หรือสิ่งนั้นอาจจะไม่ได้ตั้งใจหลอกลวง เพียงแต่รู้ไม่จริง หรือรู้นิดเดียวขยายความเป็นกิโล แล้วเราก็เชื่อในความคิดหรือทฤษฎีนั้น ผลสุดท้ายก็พากันลงเหว
       
       ดังนั้น คำว่า ศรัทธา ในกรณีนี้ เราจะเรียกขานและเขียนด้วยคำว่า ศรัทธา มิได้ แต่ควรจะเรียกว่าเป็น "ความเชื่อ ความงมงาย และความหลง" ถึงจะถูก เพราะสิ่งที่เราเชื่ออยู่นั้น มิได้เป็นความจริง มิได้เป็นเรื่องจริง หรืออาจจะเป็นเรื่องจริงที่หาประโยชน์อันใดได้ไม่ มีแต่จะทำให้เกิดโทษ
       
       ทีนี้ถ้าเราประสงค์จะรู้เรื่องจริงที่มีประโยชน์ ต้องการจะศึกษาจากผู้ที่รู้จริงในสิ่งที่เป็นเรื่องจริง หรือเรียนรู้อะไรๆ จากใครๆ แล้วละก็ อันดับแรกก็ต้องมีความเชื่อมั่นหรือรู้จักแบ่งใจส่วนหนึ่งให้สิ่งนั้นก่อน จะทำให้ง่ายต่อการเรียนรู้
       
       และเมื่อใดที่เราสรุปให้กับตัวเองได้ว่า สิ่งที่เรียนรู้นั้นเป็นความจริง เป็นเรื่องจริง จนทำให้เราอยู่กับความจริงได้อย่างฉลาด ครานั้นเราก็จะให้คำตอบแก่ตัวเองได้ว่า อันความจริงนั้นมันสิงอยู่ในความเชื่อมั่นที่เรามี ซึ่งเราก็จะสามารถสรุป และเรียกขานเจ้าความเชื่อมั่นนั้นว่าเป็น "ความศรัทธา"
       
       ความหมาย (๒)
       
       คำว่าความศรัทธา มิได้ยังให้เห็นความจริง นั่นคือ ศรัทธาที่ ไร้ปัญญา ศรัทธาที่ขาดปัญญา ศรัทธาที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา เช่นนี้ท่านไม่เรียกว่า ศรัทธา ท่านเรียกว่าความเชื่อเฉยๆ
       
       ที่ว่าความจริงในสิ่งที่มี มันสิงอยู่ในศรัทธา หมายถึงรู้เห็นตามสภาพ สภาวะของสรรพสิ่ง สรรพชีวิต สรรพวัตถุ ตามความเป็นจริงแท้ จึงเกิดความเชื่อ ยอมรับตามนั้น เช่นนี้ถือว่าศรัทธาหรือเชื่อต่อสัจธรรมที่เป็นจริง
       
       น้ำชาในถ้วย
       
       เจ้าแน่ใจแล้วหรือว่า
       น้ำชาเมื่อไม่มีอยู่ในถ้วย
       ถ้วยนั้น จักไม่ปรากฏ คราบ สี และกลิ่น
       
       ความหมาย (๑)
       
       เราแน่ใจแล้วหรือว่า
       สิ่งที่มองเห็นว่าขาวนั้น ขาวจริง
       สิ่งที่มองเห็นว่าสะอาดนั้น สะอาดจริง
       สิ่งที่มองเห็นว่าบริสุทธิ์นั้น บริสุทธิ์จริง
       ดังนั้น ข้อจำกัดแห่งการตัดสิน จึงอยู่ที่ตัวของเราเองว่า
       เราสะอาดแค่ไหน เราเนียนแค่ไหน และเรารู้จักตัวเอง
       ขนาดไหน
       การวิจารณ์หรือตัดสินอะไร จึงต้องเข้าถึงหัวใจของสิ่งนั้นก่อน
       ฉะนั้น น้ำชาที่เราเห็นว่าไม่อยู่ในถ้วยแล้ว
       อย่าคิดว่าถ้วยว่างใบนั้นมันจะหมดแล้วซึ่งคราบ สี และกลิ่น
       
       ความหมาย (๒)
       
       ที่ว่า เจ้าแน่ใจแล้วหรือว่า น้ำชาเมื่อไม่มีอยู่ในถ้วย ถ้วยนั้นจักไม่ปรากฏ คราบ สี และกลิ่น
       
       เพื่อจะบอกให้ ผู้รู้ดี รู้จำ คนเก่ง คนฉลาด คนมีเกียรติ คมมีลาภ คนมีอำนาจ คนดี และคนอวดดี ให้ได้รู้ว่า สิ่งที่ท่านมีดีได้นั้นน่ะมันของจริงหรือของเก๊ ของแท้หรือของปลอม รู้จริง หรือรู้จำ
       
       เมื่อรู้จักตั้งคำถาม ถามตัวเองอยู่นี้ ชีวิตที่มีจะไม่เป็นอยู่อย่างไม่ประมาท ไม่ชะล่าใจ ไม่ยโส เย่อหยิ่ง ไม่ถือตัว ทรนง พร้อมกับไม่คุยโวโอ้อวด แถมยังกลับขยันขันแข็ง ไม่เกียจคร้าน กระตือรือร้นงาน ขวนขวายที่จะประกอบคุณงามความดี ทำชีวิต จิตวิญญาณนี้ให้มีสาระ มิใช่เป็นอยู่อย่างไร้สาระ แล้วก็ทรนงหลงผิด คิดว่าตนดีมีสาระ