Print
Hits: 400
ตอนที่แล้วจบลงตรงที่องค์ราชากาลิงคะ องค์ราชาอัฏฐกะ และองค์ราชาภีมรถ หลังจากได้ละแล้วซึ่งกามคุณทั้ง ๕ จึงได้วิงวอนให้คุรุฤาษีสรภังคะโพธิสัตว์ กระทำให้บริวารมหาชนที่ตามพระองค์มาละเสียได้ในกามคุณ
คุรุฤาษีสรภังคะโพธิสัตว์ จึงได้แสดงมธุรสคาถาภาษิตซ้ำเดิมว่า
////////////////////////////////////////////////////////
บุคคลหากฆ่าความโกธรเสียได้ ก็จักไร้ซึ่งความเศร้าโศก
บรรดาฤาษีทั้งปวงสรรเสริญการละความเหยียดหยาม การละการดูแคลน การละความลบหลู่ ว่าเป็นการละอันประเสริฐ
บุคคลที่อดทนต่อถ้อยคำของคนที่ประเสริฐต่อตนได้ เพราะยำเกรง
บุคคลผู้อดทนต่อถ้อยคำของคนที่มีคุณธรรมเสมอกันได้ ก็เพราะต้องการแบ่งปัน ต้องการมีชัยชนะต่อกัน
แต่หากบุคคลใดสามารถอดทนต่อถ้อยคำของคนที่ต่ำช้ากว่าตนได้ บุคคลผู้นั้นจึงจักได้ชื่อว่า เป็นผู้ประเสริฐ เป็นสัตบุรุษผู้เจริญ
************************************************
บุคคลที่มีชาติตระกูลเสมอกัน มีฐานะเสมอกัน มีความรู้เสมอกัน ย่อมอดทนอดกลั้นต่อคำดูหมิ่นเหยียดหยามได้ ก็เพราะต้องการเอาชนะ
บุคคลอดทนอดกลั้นต่อคำดูถูก เหยียดหยามจากผู้มีชาติตระกูลที่สูงกว่า ฐานะสูงกว่า ความรู้ที่สูงกว่า เป็นเพราะบุคคลผู้นั้นมีความเกรงกลัว ไม่กล้าตอบโต้
บุคคลที่สามารถอดทนอดกลั้นต่อกิริยา อาการถ้อยคำที่ดูหมิ่น เหยียดหยามจากผู้ที่มีคุณธรรมต่ำกว่าตนได้นั้น บุคคลนั้นนับว่าเป็นผู้ประเสริฐกว่า เป็นบัณฑิต เป็นผู้ยอดเยี่ยม
บุคคลผู้เป็นบัณฑิต เป็นปราชญ์ผู้มีธรรม ย่อมมีปกติสำเหนียก แง้มหูฟังคำตักเตือนของผู้มีธรรม มีปัญญา จึงได้รอดพ้นจากมหาวิบัติไปได้
 
องค์ราชาทัณฑกีราช ขณะที่ทรงมีชีวิตได้ทำกรรมอันเลวแก่ผู้ทรงธรรม ผู้ไม่มีจิตคิดจะเบียดเบียนแก่ผู้ที่คิดจะเบียดเบียน
บัดนี้ยังหมกไหม้อยู่ในนรกถ่านเพลิง ที่ปราศจากเปลวไฟและควัน หมกไหม้ไปพร้อมกับชาวพระนครพาราณสี และเมื่อพ้นจากนรกขุมที่ชื่อว่า กุกกุฬะ นั้นมาแล้ว ก็จักต้องไปเกิดในนรกที่มีทุ่งสุนัขใหญ่คอยวิ่งไล่กัดกินเนื้อ
 
องค์ราชาและชาวนครพาราณสี ผู้ร่วมกระทำกรรมก็จะพากันวิ่งหนีไปชั่วอายุขัยของนรกขุมที่ชื่อว่า สุนขะนรก
หลังจากพ้นจากนรกขุมนั้นแล้ว ก็จักไปบังเกิดในมหานรกที่มีภาพมายาปรากฏจริงตามที่สัตว์ตนนั้นๆ จะนึกคิดให้เป็นไปเข้ารุมทำร้ายจนสัตว์ทั้งหลายในนรกขุมนี้ทุกข์ทรมานทุรนทุรายอยู่ตลอดทั้งวันทั้งคืน ไม่จบไม่สิ้น
โดยที่สัตว์ทั้งหลายที่เกิดในนรกขุมนี้ จักมีอายุขัยที่ยืนยาวนานมากเป็นอสงขัย
เมื่อพ้นจากนรกที่ชื่อว่า มายากาล แล้วก็จักไปบังเกิดเป็นไปตามอัตภาพของเศษวิบากกรรมที่ยังหลงเหลืออยู่
 
************************************************
กาลใดที่มนุษย์ทั้งหลายไม่มีจิตเมตตา ปฏิเสธในการให้ทาน ไม่ฉลาดในการให้ทาน กาลนั้นชื่อว่าเป็นอัปมงคล เป็นกาลกิณี
กาลใดที่เทวดาและมนุษย์ไม่เกรงกลัวต่อการละเมิดศีล ไม่ละอายชั่วกลัวบาป ไม่ปฏิบัติในศีล ไม่ฉลาดในการรักษาศีล กาลนั้นชื่อว่าอัปมงคลเป็นกาลกิณี
กาลใดที่เทวดาและมนุษย์ไม่มุ่งมั่นตั้งใจทำในหน้าที่การงาน มีจิตอันสับส่าย สับสน เกียจคร้าน เซื่องซึม ท้อแท้ ลังเล มีจิตอันประกอบด้วยอารมณ์หลายชนิด ไม่มีจิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียวอย่างชาญฉลาด กาลนั้นชื่อว่าอัปมงคลเป็นกาลกิณี
และกาลใดที่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ไม่ใช้ปัญญานำพาชีวิต ปล่อยให้ชีวิตดำเนินไปด้วยการขับเคลื่อนจากความโง่เขลา จนก่อให้เกิดอกุศลกรรม กาลนั้นชื่อว่า อัปมงคลเป็นกาลกิณี
อีกทั้งกาลใดที่เทวดาและมนุษย์ไม่ระลึกรู้ถึงบุญคุณของท่านผู้มีคุณ ไม่ทดแทนสนองคุณท่าน ด้วยความชาญฉลาดกาลนั้นชื่อว่า อัปมงคลเป็นกาลกิณี
 
************************************************
ให้ทานด้วยจิตเมตตาอย่างชาญฉลาด
ประพฤติปฏิบัติ รักษาศีลอย่างฉลาด
มีจิตตั้งมั่นในอารมณ์เดียวอย่างฉลาด
ใช้ปัญญาเป็นเครื่องนำพาชีวิต
รู้จักปฏิบัติตนให้อ่อนน้อมถ่อมตน
รู้คุณท่าน และตอบแทนพระคุณอย่างมีสติปัญญา
เช่นนี้ชื่อว่า เป็นผู้มีสิริ คือ การมีชีวิตอยู่อย่างเป็นมงคล
 
************************************************
สัตบุรุษทั้งหลายกล่าวว่า ทาน, ศีล, สมาธิ, คุณธรรมความกตัญญู หาได้ประเสริฐกว่าปัญญาเป็นไม่มี ปัญญาเป็นสิ่งที่ประเสริฐสุด
************************************************
 
บุคคลไม่พึงคบคนพาลอันประกอบไปด้วยเหตุแห่งความอัปมงคล ๔ อย่าง ได้แก่
1. ชอบคิดชั่ว เห็นผิดจากทำนองคลองธรรม เช่น ละโมบอยากได้ของคนอื่น พยาบาทปองร้ายเขา
2. ชอบพูดชั่ว เช่น พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ พูดคำหยาบ
3. ชอบประพฤติชั่ว ได้แก่ ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกามคุณ
4. เห็นผิดจากทำนองคลองธรรม
 
เมื่อไม่คบคนพาลแล้วควรเลือกคบแต่ผู้เป็นบัณฑิต ผู้เป็นปราชญ์ ผู้รู้ อันมีคุณลักษณะ ๓ ประการ ดังนี้
1. มีความเห็นตรง เห็นถูกต้องตามทำนองคลองธรรม
2. พูดจริง พูดตรง พูดเพื่อจะเกื้อกูลประโยชน์ พูดด้วยจิตเมตตา พูดเพื่อให้ผู้ฟังเกิดปัญญา
3. ไม่เบียดเบียนตนและผู้อื่นด้วยการกระทำ ทั้งยังช่วยกรุณาสงเคราะห์ อนุเคราะห์ทั้งตนและคนอื่น เช่น ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกามคุณ
 
เมื่ออยู่ใกล้บัณฑิตผู้มีคุณธรรมดังกล่าวแล้ว บุคคลผู้ปรารถนาให้ปัญญาเจริญต้องประพฤติตนเป็นผู้ว่าง่าย สอนง่ายด้วยการ
๑. แสดงความเคารพ นอบน้อมต่อท่าน
๒. คอยรับใช้ เมื่อท่านมีกิจธุระใช้สอย ไหว้วาน
๓. เชื่อฟังคำสั่งสอนและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
๔. อ่อนน้อมถ่อมตนอยู่เสมอ
๕. ตั้งใจเรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ
 
เมื่อบุคคลได้พบบัณฑิต พบครูอาจารย์ผู้ทรงธรรม ทรงปัญญา สิ่งที่บุคคลควรต้องปฏิบัติ คือ การปฏิบัติตนให้อยู่ในหลักการทั้ง ๕ ประการอย่างเคร่งครัด
เหล่านี้คือวิถีแห่งปัญญาอันประเสริฐ
ยัง ยัง ไม่สิ้นกระแสเหตุแห่งวิถีปัญญา
เมื่อบุคคลเพียรพยายามกระทำตามคำอบรมสั่งสอนของครูอาจารย์ จนจบครบถ้วนตามกระบวนการของครูอาจารย์ แล้วเพียรพยายามฝึกฝน อบรมสมาธิ สติปัญญาแล้วพิจารณาถึงหลักแห่งความเป็นจริงในทุกลมหายใจ ด้วยความสำนึกระลึกรู้ถึงสภาพแห่งความจริง ทั้งที่มีอยู่ในตนและคนรอบข้าง
สรรพสิ่งรอบตัวด้วยการวางตัวเป็นกลางอย่างอิสระ เช่นนี้จึงชื่อว่าเป็นผู้มีปัญญาอย่างแท้จริง
เมื่อแตกกาย ทำลายขันธ์ลง ก็จักไปบังเกิดอยู่ในพรหมโลก เสวยสุขอย่างอิสระ
 
************************************************
บุคคลผู้ใดเมื่อปราศจากราคะ ก็ย่อมปราศจากซึ่งโทสะ
เมื่อเจริญเมตตาอันหาประมาณมิได้ ย่อมไม่ผูกพยาบาทแก่ผู้ใด
แม้จักต้องตกอยู่ในอันตรายจากบุคคล และสัตว์ผู้ผูกโกรธ
เขาก็จักไม่ถือโทษ โกรธตอบ
ผู้ไม่ผูกโกรธตอบต่อผู้โกรธ ย่อมเป็นผู้ตั้งอยู่ในการวางเฉยต่อสิ่งเร้า เครื่องล่อทั้งปวง
ครั้นเมื่อสิ้นชีพลงก็จักไปบังเกิดในพรหมโลกในที่สุด
 
////////////////////////////////////////////////////////
แม้ครั้งที่หนึ่งก็ยังมิอาจทำให้มหาชนที่ติดตามองค์ราชาทั้ง ๓ สามารถบรรลุธรรมละเสียซึ่งกามคุณ
คุรุฤาษีสรภังคะโพธิสัตว์ จึงได้แสดงธรรมภาษิตนั้นเป็นครั้งที่สอง มหาชนผู้ตั้งใจสดับฟังคำสอนของคุรุฤาษีก็ได้ละเสียซึ่งกามคุณได้เพิ่มขึ้น
คุรุฤาษีสรภังคะโพธิสัตว์ จึงได้แสดงมธุรสภาษิตขึ้นเป็นครั้งที่สาม จึงทำให้มหาชนทั้งหมดได้ละเสียซึ่งกามคุณทั้ง ๕ อันได้แก่
ความลุ่มหลงยึดติดในรูป
ความลุ่มหลงยึดติดในรส
ความลุ่มหลงยึดติดในกลิ่น
ความลุ่มหลงยึดติดในเสียง
ความลุ่มหลงยึดติดในสัมผัส
 
เมื่อมหาชนและงอค์ราชาทั้งสามพร้อมทั้งหมู่ฤาษีและเทวดาทั้งปวง ได้ฟังมธุรสภาษิตของคุรุฤาษีจบครบ ๓ ครั้ง
จึงได้พากันละเสียซึ่งกามคุณทั้ง ๕ พร้อมทั้งยังละเสียซึ่งโทสะได้อีกด้วย
เหตุที่คุรุฤาษีต้องแสดงภาษิตเดิมซ้ำกันถึง ๓ ครั้ง ก็เพราะสติปัญญาของแต่ละคนสั่งสมอบรมมาไม่เท่ากัน
บางพวกพอได้ฟังภาษิตเล็กๆ น้อยๆ ก็เก็บมาพิจารณาเพราะเป็นของชอบ ของเคยชิน ที่เคยได้ยิงได้ฟังมาแต่กาลก่อน ปางก่อน ชาติที่แล้วๆ มา
พอมาถึงชาตินี้ได้สดับฟังภาษิตนั้นๆ เพียงครั้งเดียวก็สามารถบรรลุธรรมได้
บุคคลบางพวกเคยฟังมาอยู่บ้าง แต่ไม่ได้ชอบใจ ไม่ตรงใจ ฟังโดยไม่มีกะจิตกะใจที่จะซึมซับรับรู้ ฟังตามๆ เขาไป แต่ก็ยังได้มีโอกาสรับฟังธรรมภาษิตนั้นๆ อยู่บ่อยๆ
จะด้วยเหตุที่หลีกเลี่ยงที่จะไม่รับฟังไม่ได้ หรือเพราะเกรงใจ หรืออาจถูกชักชวน แต่ก็ได้ชอบฟังแม้จำเป็น จะตั้งใจฟันบ้าง ไม่ตั้งใจฟังบ้าง แต่ก็ค่อยๆ ซึมซับ จดจำ รับฟังไป
เมื่อมาได้ยินได้ฟังธรรมภาษิตที่ตนเคยได้สดับมาแล้วในอดีต จึงได้ซึมซับรับรู้แล้วพิจารณาตามจึงสามารถบรรลุธรรมนั้นๆ ได้
บุคคลบางคนไม่เคยได้สดับธรรมภาษิตใดๆ มาเลย แต่มีแค่ศรัทธา พอได้ฟังครั้งแรกก็ยังไม่เข้าใจ
พอฟังครั้งที่สอนได้แค่จดจำ รับรู้
พอฟังครั้งที่สามจึงได้เข้าใจ ซึมซับรับรู้ อย่างแจ่มชัดแล้ว จนสามารถบรรลุธรรมนั้นๆ ได้ด้วยอำนาจแห่งศรัทธา
เหล่านี้คือมูลเหตุที่ทำให้คุรุฤาษีสรภังคะโพธิสัตว์ ต้องแสดงมธุรสคาถาภาษิตเดียวกันถึง ๓ ครั้ง ๓ ครา จนทำให้มหาชนจำนวนมหาศาลพร้อมทั้งหมู่ฤาษี และเทวดาทั้งปวง ที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่ริมฝั่งแม่น้ำโคธาวารี ได้บรรลุธรรม สามารถละเสียซึ่งกามคุณทั้ง ๕ และความโกธรได้
เมื่อ ๓ ราชาได้รัลรู้ด้วยจิตที่ปราศจากราคะว่า บัดนี้มหาชนทั้งหลายที่ติดตามพระองค์มา ต่างได้ลาภอันประเสริฐ ดุจเดียวกับพระองค์แล้ว
จึงได้กล่าวมธุรสคาถาขึ้นพร้อมกันว่า
 
ท่านคุรุฤาษีผู้ประเสริฐ สติปัญญาของพระคุณท่านกว้างใหญ่ดุจดังภาคพื้นพสุธา ข้าพเจ้าทั้งหลายขอถึงซึ่งพระคุณเจ้าเป็นสรณะ เป็นที่พึ่งพาตลอดชีวิต
คำพูด คำสอน ภาษิตใดๆ ที่พระคุณเจ้าได้กล่าวมา ปวงข้าพเจ้าทั้งหลายจักน้อมนำมาประพฤติปฏิบัติอย่างเคร่งครัด อย่างไม่ขาดหล่นเลยพระคุณเจ้าข้า
สาธุ สาธุ สาธุ เสียงตะโกนเปล่งสาธุดังกระหึ่ม สะเทือนเลือนลั่นไปทั่วภาคพื้นฟ้าดิน
 
น้ำตาแห่งความปลาบปลื้มปิติยินดี และความอิ่มอกอิ่มใจ ผ่อนคลาย เบาสบาย ที่ไม่เคยเกิดขึ้น ไม่เคยมีมาก่อน บัดนี้ได้เกิดแก่มหาชนทั้งหลายและเหล่าเทวดาแล้ว
 
สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ
 
พุทธะอิสระ