วันนี้เสนอคำว่า ปาราชิก

คำว่า ปาราชิก เป็นชื่อของอาบัติอย่างหนักที่แก้ไขไม่ได้ ใช้ปรับอาบัติแก่ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้เท่านั้น

ซึ่งแปลว่า ผู้พ่าย หมายถึงภิกษุผู้ต้องอาบัติปาราชิกแล้ว จักพ่ายแพ้ต่อมรรคผล นิพพาน และคุณอันยิ่งแห่งพรหมจรรย์นี้

ท่านเปรียบภิกษุผู้ต้องอาบัติปาราชิก เหมือนกับต้นตาลยอดด้วน หรือ ต้นมะพร้าวที่ยอดและไส้ขาด รอวันตาย มิอาจเจริญเติบโตขยายพันธุ์ใดๆ ได้เลยในชาตินี้

มูลเหตุให้ภิกษุต้องอาบัติปาราชิกแล้วแก้ไขมิได้เลยมี ๔ อย่างคือ

๑. เสพเมถุน

๒. ลักของเขา

๓. ฆ่าสัตว์ในปาราชิกนี้ หมายเอาการฆ่ามนุษย์

๔. อวดอุตริมนุสธรรม ซึ่งเป็นธรรมอันยิ่งกว่าธรรมทั้งปวงที่ไม่มีในตนเอง อวดเพื่อต้องการให้ผู้ฟังหลงเชื่อ

ปาราชิกทั้ง ๔ สิกขาบทหรือสี่ข้อนี้ ต้องประกอบไปด้วยสจิตตกะ คือ มีเจตนาที่จักกระทำ จะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม

หากมีเจตนาเสพเมถุน หรือลักทรัพย์ หรือฆ่ามนุษย์ หรืออวดอุตริ ล้วนต้องอาบัติปาราชิก สิกขาบทใดสิกขาบทหนึ่ง แล้วต้องขาดจากความเป็นพระภิกษุทั้งนั้น

มีผู้ถามว่า กรณีทุจริตเงินทอนวัดก็ดี ทุจริตเงินอุดหนุนการศึกษาของคณะสงฆ์ก็ดี และทุจริตเงินงบประมาณสารพัดโครงการที่มีภิกษุเข้าไปพัวพันเกี่ยวข้องด้วยก็ดี

การที่ท่าน ผอ.สำนักพุทธ ปรับอาบัติปาราชิกแก่กรรมการมหาเถรสมาคมทั้ง ๓ คน

เช่นนี้จะถูกผิดอย่างไร

หากจะว่ากันตามหลักพระธรรมวินัยแล้ว ฆราวาสไม่สามารถปรับอาบัติปาราชิกแก่ภิกษุใดได้ แม้จักเป็นผู้รู้ธรรมรู้วินัยก็ตาม

แต่ฆราวาสสามารถทำการโจทหรือโพนทะนา ประกาศ ประจาน บอกกล่าว แจ้งความ แก่คณะสงฆ์ว่าภิกษุรูปใดต้องอาบัติปาราชิก ด้วยมูลความผิดตรงกับสิกขาบทหรือข้อใด

เมื่อพระภิกษุรูปใดทราบเรื่องแล้วต้องนำข้อกล่าวหาของฆราวาสผู้นั้นไปแจ้งแก่ประธานสงฆ์ หรือคณะสงฆ์ให้ได้ทราบ เพื่อทำการไต่สวน

แต่หากพระภิกษุผู้ได้รับทราบการกล่าวหา ซึ่งอาจจะเป็นประธานสงฆ์ก็ดี คณะสงฆ์ก็ดี รู้เรื่องแล้ว กลับนิ่งเฉยไม่ทำการไต่สวน

องค์พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปรับอาบัติปาจิตตีย์ แก่ภิกษุผู้ปกปิดอาบัติชั่วหยาบของภิกษุอื่น

เมื่อคณะสงฆ์หรือประธานสงฆ์ ทำการตรวจสอบทั้งฝ่ายผู้โจทและภิกษุผู้ถูกโจทแล้ว เห็นว่าผิดจริงก็จักปรับอาบัติปาราชิกแก่ภิกษุนั้น

ในกรณีนี้ใช้เฉพาะภิกษุหน้าด้าน ไม่ยอมรับผิด จึงต้องเปิดศาลสงฆ์ไต่สวนและปรับอาบัติ

ซึ่งว่ากันตามความจริงแล้ว จะเป็นอาบัติปาราชิกหรือไม่นั้น มิใช่ที่ขบวนการไต่สวน แต่อาบัติปาราชิกเกิดขึ้นทันทีในขณะที่ภิกษุนั้นทำเหตุแห่งอาบัติปาราชิก ให้เกิดขึ้นจนเป็นผลสำเร็จเมื่อใด เมื่อนั้นก็ต้องอาบัติปาราชิกทันที โดยมิต้องมีใครโจทหรือรอผลไต่สวนด้วยซ้ำ

แต่ที่ต้องเข้าสู่กระบวนการไต่สวน ก็เพราะภิกษุผู้ต้องอาบัติปาราชิก ผู้นั้นไม่มีความละอาย เป็นผู้เก้อยาก ขาดความรับผิดชอบ ไม่แยกแยะดีชั่ว จึงต้องมีขบวนการไต่สวนเอาไว้ขจัดพวกอลัชชีหน้าด้าน อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี่ล่ะ

มีผู้ถามต่อว่า กรณีลักทรัพย์ของกรรมการมหาเถรสมาคมและภิกษุผู้เกี่ยวข้องนี้

หากว่ากันตามหลักพระธรรมวินัยแล้ว มูลค่าของทรัพย์ที่ลัก จักมูลค่าเท่าไรจึงจะต้องอาบัติปาราชิก

ตอบว่าการลักทรัพย์ที่กำหนดตามหลักพระธรรมวินัย ทรัพย์นั้นต้องมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า ๕ มาสก ต้องอาบัติปาราชิก

ซึ่งท่านก็แยกชนิดของทรัพย์ที่ลักเอาไว้ ๒ ชนิดคือ

สังหาริมทรัพย์ ทรัพย์ที่เคลื่อนที่ได้

อสังหาริมทรัพย์ ทรัพย์ที่เคลื่อนที่ไม่ได้

การลักทรัพย์ที่เคลื่อนที่ได้มีมูลค่าเกิน ๕ มาสกหรือเท่ากับราคาปัจจุบัน ๓๐๐ บาท ทำให้พ้นจากพื้นแค่เส้นผมรอดได้ ด้วยเจตนาที่จะลัก เช่นนี้ต้องอาบัติปาราชิกแล้ว โดยมิต้องให้ใครมาโจท

ส่วนการลักทรัพย์ที่เคลื่อนที่ไม่ได้จะสำเร็จประโยชน์แก่ผู้ลักก็ต่อเมื่อ ทำให้เสียสิทธิ์ของผู้เป็นเจ้าของทรัพย์เดิม หรือทำให้เจ้าของทรัพย์เดิมทอดอาลัยสละสิทธิ์ เช่น ที่ดิน บ้าน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง เป็นต้น

อีกทั้งท่านยังแจกแจงอาการลัก ที่เป็นเหตุให้ต้องอาบัติปาราชิกขาดจากความเป็นภิกษุเอาไว้ถึง ๑๓ อย่าง เรียกว่า อวหาร คือ

๑. ลัก ได้แก่อาการถือเอาทรัพย์ที่เคลื่อนจากฐานได้ ด้วยไถยจิต (จิตคิดจะลัก) อันเป็นอาการแห่งขโมย

๒. ชิงหรือวิ่งราว ได้แก่อาการที่ชิงเอาทรัพย์ที่เขาถืออยู่ ด้วยอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง

๓. ลักต้อน ได้แก่อาการที่ขับต้อนหรือจูงปศุสัตว์ หรือสัตว์พาหนะไป

๔. แย่ง ได้แก่อาการที่เข้าแย่งเอาของซึ่งคนถือทำตก

๕. ลักสับ ได้แก่สับสลากชื่อตนกับชื่อผู้อื่นในกองของด้วยหมายจะเอาสลากที่มีราคา

การถือเอาทรัพย์เป็นอสังหาริมทรัพย์ กำหนดว่าถึงที่สุดด้วยขาดกรรมสิทธิ์แห่งเจ้าของดังนี้

๖. ตู่ ได้แก่อาการกล่าวตู่ เพื่อจะเอาที่ดินเป็นของตัว แม้เจ้าของจะขอคืนก็ไม่ยอม

๗. ฉ้อ ได้แก่อาการที่รับของฝากแล้วเอาเสีย

๘. ยักยอก ได้แก่อาการที่ภิกษุผู้เป็นภัณฑาคาริก มีหน้าที่รักษาเรือนคลังนำเอาสิ่งของที่รักษานั้นไปจากเขตที่ตนมีกรรมสิทธิ์รักษาด้วยไถยจิต

๙. ตระบัด ได้แก่อาการที่นำของต้องเสียภาษี จะผ่านด่านที่เก็บภาษีซ่อนของเหล่านั้นเสีย

๑๐. ปล้น ได้แก่อาการชักชวนกันไปทำโจรกรรม ลงมือบ้าง มิได้ลงมือบ้าง ต้องอาบัติถึงที่สุดด้วยกันทั้งนั้น

๑๑. หลอกลวง ได้แก่อาการที่ทำปลอม เช่น ทำธนบัตรปลอม เป็นต้น ต้องอาบัติด้วยทำสำเร็จ

๑๒. กดขี่หรือกรรโชก ได้แก่อาการที่ใช้อำนาจข่มเหงเอาทรัพย์ของผู้อื่นดังราชบุตรเก็บค่าอากรเกินพิกัด อาบัติถึงที่สุดในขณะได้ของมา

๑๓. ลักซ่อน ได้แก่อาการที่เห็นของเขาทำตก แล้วเอาของมีใบไม้เป็นต้น ปกปิดเสีย อาบัติถึงที่สุดขณะทำสำเร็จ

ในกรณีคดีทุจริตเงินทอนวัดก็ดี ทุจริตเงินอุดหนุนการศึกษาของพระภิกษุก็ดี หรือทุจริตเงินอุดหนุนพระธรรมทูตก็ดี เข้าข่ายอวหารข้อที่ ๘ ว่าด้วยการยักยอก

ทีนี้ท่านทั้งหลาย คงพอจะเข้าใจมูลเหตุของอาบัติปาราชิกในข้อหาลักทรัพย์กันพอสมควรแล้ว

ต่อไปเราท่านทั้งหลาย ก็มาคอยลุ้น คอยเชียร์ท่าน ผอ.สำนักพุทธ ว่าจะสามารถลากไส้เน่าในองค์กรปกครองสงฆ์มากำจัดได้หรือไม่

เพราะยังมีเงินอุดหนุนพระธรรมทูต

เงินอุดหนุนโครงการบ้านศีลห้า

เงินอุดหนุนการจัดกิจกรรมพิเศษในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา

และเงินอุดหนุนมหาลัยสงฆ์ ทั้งสองแห่งที่หายไปและถูกนำไปใช้ผิดประเภท

ซึ่งก็รอ ผอ.สำนักพุทธ ปปป. นปช. คสช. เข้าไปตรวจสอบว่าเงินมันรั่วไหลหายไปไหน

พุทธะอิสระ

กราบขอขมาหลวงปู่ด้วยความเคารพ ที่ได้ตัดข้อความที่มีการเอ่ยนามถึงบุคคลออกไป
Web Master วัดอ้อน้อย