วันนี้เสนอคำว่า ตะจะปัญจะกะกัมมัฏฐาน

คำว่า ตะจะ หมายถึง หนังทั้งหลายที่ห่อหุ้มเนื้อที่อยู่ในตัวเราและตัวผู้อื่น

คำว่า ปัญจะกะกัมมัฏฐาน หมายถึง กรรมฐาน หรือที่ตั้งแห่งจิตที่มีหนังเป็นลำดับที่ ๕ ซึ่งเริ่มต้นจากผม ขนในลำตัว เล็บมือเล็บเท้า ฟันในช่องปาก และหนังที่ห่มเนื้อ

ท่านสอนว่า ให้พิจารณาสิ่งทั้ง ๕ อย่าง อันมีหนังเป็นที่สุด

ว่าเป็นปฏิกูล ไม่สะอาดโดยกำเนิด โดยที่ตั้งอยู่ โดยความเป็นภาระที่ต้องเฝ้าระวังดูแลรักษา และโดยความคร่ำคร่าเสื่อมสลาย

ขอย้ำว่า ท่านให้ใช้สติปัญญาพิจารณาตามความเป็นจริงของผม ขน เล็บ ฟัน และหนัง ไม่ใช่ท่องจำกลับไปกลับมา อย่างที่บรรดาอุปัชฌาย์สมัยนี้สั่งสอน

เพราะการท่องจำกลับไปกลับมา จักทำให้ผู้ศึกษาเข้าใจไขว้เขวไปเป็นสมถะ

ทั้งที่แท้จริงแล้ว ตะจะปัญจะกะกัมมัฏฐาน (ภาษาเขียนตามพจนานุกรมท่านให้เขียนว่า ตจปัญจกกรรมฐาน) เป็นขบวนการเจริญปัญญา เป็นวิปัสสนา

ซึ่งต้องใช้สติสัมปชัญญะพิจารณาเห็นรู้ให้เห็นชัดตามความเป็นจริง ของสิ่งทั้ง ๕ ว่าเที่ยงไหม งามไหม มีตัวตนที่แท้จริงหรือไม่

เหตุที่พระอุปัชฌาย์ต้องสอนตะจะปัญจะกะกัมมัฏฐานนี้แก่ผู้เข้ามาบวชใหม่ ก็เพื่อต้องการให้ผู้บวชได้ใช้สติปัญญาพิจารณาเรียนรู้ของจริง สิ่งที่มีอยู่จริงในตัว โดยไม่ต้องใช้มายากิเลส ตัณหาปรุงแต่งใดๆ

เมื่อเรียนรู้ซึมซับจนเข้าใจได้แจ่มชัดตามความเป็นจริง ในสิ่งห้าอย่างแจ้งชัด ก็จักคลายความกำหนัดยินดีในกามคุณทั้ง ๕ อย่าง อันมีรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสได้ในที่สุด

ศีล พรต พรหมจรรย์ของภิกษุใหม่นั้น จักได้ไม่ด่างพร้อย

เรียกว่า เมื่อมีปัญญารู้ชัดในกรรมฐานทั้ง ๕ นี้แล้ว จักป้องกันอันตรายแก่พรหมจรรย์ได้

ขอย้ำอีกครั้งว่า ตะจะปัญจะกะกัมมัฏฐานนี้ท่านมิได้มีเอาไว้ให้ท่องจำแต่มีเอาไว้ให้พิจารณา

พุทธะอิสระ