วันแสดงธรรมต้นเดือนที่วัดมีผู้ถามว่า

การเจริญวิปัสสนาที่เริ่มต้นด้วยการทำสมาธิ จนเกิดองค์ฌาณและเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เช่นนี้ถือได้ว่า เป็นการเจริญวิปัสสนาที่ถูกหรือไม่

จำได้ว่า ฉันตอบไปว่า มีใครเป็นผู้เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั้นเป็นวิปัสสนึก

“เพราะยังมีตัวกู เป็นผู้เห็นอยู่”

ด้วยเหตุสองประการนี้

วันนี้จึงขอหยิบยกเอาอันตรายของวิปัสสนา ซึ่งท่านผู้รู้ท่านทั้งหลายเรียกว่า วิปัสสนูปกิเลส มาเล่าสู่กันฟัง

คำว่า วิปัสสนูปกิเลส แปลว่า กิเลสในวิปัสสนา หรือกิเลสแห่งวิปัสสนาหรือหมายความว่า สภาวะที่น่าชื่นชม แต่แท้จริงแล้วกลับเป็นโทษเป็นภัยของการหลุดพ้นมี ๑๐ อย่างคือ

๑. ผู้เจริญวิปัสสนาแล้วปรากฏเป็นนิมิตแสงสว่าง นั้นเรียกว่ากิเลสในวิปัสสนา

๒. ผู้เจริญวิปัสสนาแล้วบังเกิดปิติความอิ่มใจ นั้นจัดเป็นความหลงทางเป็นอันตรายต่อวิปัสสนา

๓. ผู้เจริญวิปัสสนาแล้วบังเกิดความรู้สารพัดเรื่อง นั้นก็จัดว่าเป็นความหลงผิด

๔. ผู้เจริญวิปัสสนาแล้วบังเกิดความสงบระงับกายใจ นั้นเรียกว่าความมัวเมา จักทำให้ไม่พัฒนา

๕. ผู้เจริญวิปัสสนาแล้วบังเกิดความสุขกายสุขใจ นั้นแสดงว่าเรากำลังเสพอารมณ์ที่เป็นศัตรูแก่ปัญญารู้แจ้ง

๖. ผู้เจริญวิปัสสนาแล้วบังเกิดความเสื่อมใส ศรัทธา น้อมใจเชื่อ นั้นแสดงว่าเรากำลังหมดปัญญา

๗. ผู้เจริญวิปัสสนาแล้วคิดเห็นว่า สิ่งที่ทำที่รู้อยู่นี้น่าจะเพียงพอแล้ว นั้นแสดงว่ากำลังเกียจคร้านเช่นนี้จักไม่อาจลุถึงความรู้แจ้งเห็นแจ้งได้เลย

๘. ผู้เจริญวิปัสสนาแล้วเอาแต่ยึดถืออยู่ในสติแจ่มชัด โดยขาดสัมปชัญญะคือปัญญาใคร่ครวญนั้น เท่ากับจมอยู่ในปลักเลน

๙. ผู้เจริญวิปัสสนาแล้วจิตยังวางเฉย มีแต่อุเบกขารมณ์ โดยไม่ใช้ปัญญา ไม่พัฒนาไม่มีปัญญาพิจารณาอริยสัจ แตะไตรลักษณ์นั่นเท่ากับนอนอยู่เฉยๆ

๑๐. ผู้เจริญวิปัสสนาแล้วยังมีความพึงพอใจ นั้นแสดงว่ากำลังเป็นวิปัสสนึกแล้วแหละ

อันตรายหรือวิปัสสนาทั้ง ๑๐ อย่างเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้มุ่งหวังความเจริญในวิถีแห่งวิปัสสนา พึงสำรวมสังวรระวัง อย่าให้ได้เกิดเป็นอันขาดทีเดียว

ไม่เช่นนั้นจักกลายเป็นวิปัสสนาวิปลาสไป

พุทธะอิสระ