lp2

ตอนที่แล้วจบลงตรงพระอินทร์ลงมาตอบปัญหาแก่พระเจ้าเนมิราชที่ทรงถามว่า การบริจาคทานกับการรักษาศีลอย่างไหนมีผลมากกว่ากัน

พระอินทร์ทรงตอบว่า การรักษาศีลมีอานิสงส์มาก มีผลมากกว่าการบริจาคทาน

แล้วองค์อินทร์จึงกล่าวว่า เราจักแสดงให้พระองค์ได้เห็นว่าผลของทานมีอานิสงส์ต่ำกว่าการรักษาศีลอย่างไร

ในอดีตมีบรรดาราชาทั้งหลายบริจาคทานมามหาศาลแล้ว แต่ก็มิอาจก้าวล่วง กามาวจรภูมิได้เลย

เช่น องค์ราชาทุทีปราช ราชาสาครราช พระเจ้าเสลราช พระเจ้ามุจลินทราช เป็นต้น

แม้องค์ราชาและหมู่พราหมณ์อื่นมากมายก็มิอาจพ้นไปจากกามภพนี้ไปได้

ผู้ที่เกิดในกามาวจรภูมินี้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เปตะ เหตุเพราะอยู่ได้โดยต้องอิงอาศัยผู้อื่น ไม่เว้นแม้แต่ตัวเรา

องค์อินทราธิราชกล่าวต่อว่า

ส่วนผลของการรักษาศีลประพฤติพรหมจรรย์ย่อมมีผลมาก อานิสงส์มาก โดยยกตัวอย่างฤาษีทั้ง ๗ ตน อันได้แก่ ยามหนุฤาษี โสมยาคฤาษี มโนชวฤาษี สมุททฤาษี มาฆฤาษี ภรตฤาษี และกาลปุรักขิตฤาษี เป็นต้น

ฤาษีทั้ง ๗ ตนนี้เป็นผู้เคร่งครัดในการรักษาศีล บำเพ็ญพรต ประพฤติพรหมจรรย์ จนได้อุบัติบังเกิดในพรหมโลก เรียกว่าผู้ดำรงตนอยู่ได้ด้วยตนเอง

ต่อมาองค์อินทราธิราช จึงทรงนำเหตุการณ์ที่ทรงประสพมาด้วยพระองค์เองเล่าถวายแก่พระเจ้าเนมิราช ความว่า

ในอดีตมีแม่น้ำชื่อว่า สีทา เป็นแม่น้ำที่ลึกมาก ข้ามยาก ตั้งอยู่ด้านทิศอุดร ณ ริมฝั่งแม่น้ำมีหมู่ต้นกฤษณาใหญ่ขึ้นอยู่เป็นกลุ่มๆ ช่างร่มรื่นยิ่งนัก เป็นสถานที่เหมาะสำหรับการบำเพ็ญพรต

มีฤาษีหมื่นตนผู้เพ่งความเพียร เคร่งครัดในศีล เจริญพรหมวิหารธรรม

องค์อินทราธิราชเล่าถวายต่อพระเจ้าเนมิราชว่า

ฤาษีทั้งหมื่นตนนั้น หม่อมฉันเป็นผู้อุปัฏฐากถวายอาหาร น้ำ และผลไม้

เมื่อฤาษีเหล่านั้นได้รับการอุปถัมภ์ด้วยอาหาร ผลไม้ และน้ำแล้ว ต่างพากันแยกย้ายไปบำเพ็ญตบะ เจริญพรหมวิหารธรรม แต่เพียงผู้เดียว ไม่ข้องแวะยุ่งเกี่ยวกับหมู่คณะ จนกว่าจะได้เวลารับมูลผลาหาร

หม่อมฉันเฝ้าบูชาอุปถัมภ์อุปัฏฐากหมู่ฤษีผู้ทรงพรตอยู่เป็นนิตยกาล ฤาษีทั้งปวงเหล่านั้นล้วนสำเร็จ อภิญญา ๕ สมาบัติ ๘

บางครั้งหมู่ฤาษีเหล่านั้นก็พากันเหาะออกไปจากที่พำนัก ไปแสวงหามูลผลาหารจากเทือกป่าหิมพานมาด้วยตนเอง แม้จักมีมูลผลาหารมากมาย แต่ฤาษีผู้ฝักใฝ่ในญาณก็หาได้ถูกตัณหาครอบงำไม่

องค์อินทราธิราชทูลเล่าเรื่องถวายแด่พระเจ้าเนมิราชต่อไปว่า

อยู่มาวันหนึ่งมีดาบสตนหนึ่งเหาะไปสู่กรุงพาราณสีเพื่อบิณฑบาตขอมูลผลาหาร

ดาบสนั้นเหาะมาลงที่หน้าประตูบ้านของพราหมณ์ปุริหิต

ปุโรหิตนั้นเมื่อได้ทัศนาเห็นเดชศักดาและความสงบระงับในกามคุณของดาบาสจึงเกิดจิตเลื่อมใส

อาราธนาดาบสนั้นให้เข้ามาสู่เรือนของตน พร้อมปรนนิบัติดาบสนั้นอยู่ ๓ วัน ๓ คืน

ในระหว่างนั้นปุโรหิตได้ซักถามถึงชีวิตความเป็นอยู่ของดาบสและพวกจนรับรู้ความจริงว่า ยังมีดาบสผู้ทรงอภิญญาสมาบัติอยู่ในป่าไม้พฤกษาอีกเป็นหมื่นตน

ปุโรหิตนั้นเกิดจิตศรัทธาเลื่อมใส มีจิตโสมนัสน้อมไปในการออกบวช

จึงกล่าวแก่ดาบสนั้นว่า ขอพระผู้เป็นเจ้าโปรดกรุณาพาข้าพเจ้าไปบวชด้วยคนเถิด

ดาบสนั้นกล่าวว่า ดูก่อนปุโรหิต เราให้ท่านบวชไม่ได้เพราะเจ้าเป็นราชบุรุษ

ราชปุโรหิตจึงกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้นวันนี้ข้าพเจ้าจักไปทูลลาพระราชา

วันพรุ่งนี้ขอนิมนต์พระคุณเจ้ามายังเรือนของข้าพเจ้าอีก

ดาบสนั้นรับคำอาราธนาแล้วจึงเหาะขึ้นสู่อากาศ เดินทางกลับไปยังป่าไม้กฤษณาถิ่นที่พำนัก

ในวันนั้นปุโรหิตได้เข้าเฝ้าพระราชาเพื่อกราบทูลลาบวช

องค์ราชาจึงตรัสถามว่า ท่านอาจารย์จักบวชด้วยเหตุอันใด

ราชปุโรหิตกราบทูลว่า หม่อมฉันเห็นโทษในกาม เห็นอานิสงส์ของการถือบวช

พระราชาได้สดับดังนั้นจึงทรงอนุญาตแล้วทรงตรัสเชิญชวนว่า หากท่านอาจารย์บำเพ็ญพรตได้คุณวิเศษ กรุณากลับมาโปรดเราด้วย

ปุโรหิตนั้นเมื่อทูลลาบวชได้สำเร็จแล้วก็มีความปีติยินดี กราบทูลลากลับบ้าน เรียกบุตรภรรยาของตนมาสั่งสอน พร้อมมอบภาระการงานทรัพย์สมบัติที่ตนถืออยู่ให้แก่บุตรภรรยา แล้วจัดเตรียมบริขารสำหรับดาบส

ในวันต่อมาดาบสได้เหาะกลับมายังเรือนของปุโรหิตดังที่เคยรับปากไว้ แล้วพาตัวปุโรหิตนั้นเหาะไปยังป่าที่พำนักของดาบสทั้งหลาย โดยใช้มือจับร่างของปุโรหิตนั้นด้วยกำลังอภิญญา

เมื่อมาถึงป่าไม้กฤษณาที่พำนักของฤาษีทั้งหมื่นตน

ปุโรหิตนั้นเมื่อมองเห็นหมู่บรรดาฤาษีจำนวนมากต่างมีเดช มีตบะ จึงตื่นตาตื่นใจ เกิดจิตโสมนัสศรัทธาเลื่อมใส ขอบวชเพื่อบำเพ็ญพรต

ดาบสผู้พาเข้าหมู่จึงให้บวชพร้อมบอกกรรมฐานแล้วให้ปลีกตัวออกจากหมู่ไปบำเพ็ญเพียรทางจิต

ใช้เวลาไม่กี่วันดาบสปุโรหิตนั้นจึงบรรลุอภิญญา ๕ และสมาบัติ ๘ มีเดช มีตบะ สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้

ในเวลาต่อมาปุโรหิตดาบสหวนรำลึกถึงสัจจะที่จนได้ให้ไว้แก่องค์ราชา ต้องนำเอาความรู้ไปแสดงให้แก่องค์ราชาได้ทรงทราบ ครั้นดาบสปุโรหิตเหาะมาถึงกรุงพาราณสี จึงเข้าไปบิณฑบาตในพระราชวัง

องค์ราชาทรงทอดพระเนตรเห็นดาบสปุโรหิตแล้วจำได้จึงนิมนต์เข้าสู่พระแท่นที่ประทับ ทรงตรัสถามดาบสด้วยความดีพระทัยว่า พระคุณเจ้าท่านอาจารย์อยู่ที่ไหน อยู่กับใคร อยู่ทำอะไร ได้บรรลุธรรมอันใด สุขสบายดีอยู่หรือไม่
ดาบสปุโรหิตจึงทูลตอบคำถามอธิบายความอย่างละเอียดแก่องค์ราชา

ราชาเมื่อได้สดับจึงมีจิตโสมมนัสเลื่อมใส ประกาศปวารณาขอถวายมหาทานมูลผลาหารอันปราณีตแก่ดาบสทั้งหมื่นตน

ดาบสปุโรหิตทูลว่า ฤาษีเหล่านั้นไม่ยินดีในรสของอาหาร ไม่ยินดีในหมู่คณะ ไม่ติดในตระกูลคฤหัสถ์ ไม่ยินดีในลาภสักการะ อาตมาไม่อาจนำฤาษีเหล่านั้นมารับโภชนาหารอันปราณีตจากมหาบพิตร

องค์ราชาจึงตรัสรบเร้าว่าข้าแต่ท่านดาบสอาจารย์ จักทำอุบายอย่างไรจึงจักให้ดาบสเหล่านั้นดื่มกินน้ำและมูลผลาหารของโยมได้ ขอท่านอาจารย์ช่วยหาอุบายวิธี

ดาบสปุโรหิตจึงทูลว่า ถ้าพระองค์ประสงค์จักถวายมหาทานแก่หมู่ฤาษีทั้งหมื่นตนนั้นจริงๆ
จงเสด็จออกจากพระนครไปประทับอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำสีทาป่าไม้กฤษณา อันเป็นถิ่นที่อยู่ของบรรดาหมู่ฤาษีเหล่านั้น

แล้วให้พนักงานช่วยกันประกอบอาหารเพื่อถวายมหาทานอันยิ่งใหญ่ครั้งนี้

องค์ราชาทรงสดับอุบายวิธีของดาบสอาจารย์เช่นนี้จึงยินดียิ่งนัก มีรับสั่งให้ราชบุรุษจัดเตรียมจตุรงค์พลเสนา ไพร่พลเสบียงกรังให้พรั่งพร้อม วันพรุ่งนี้เราและดาบสอาจารย์จักออกเดินทางไปยังแม่น้ำสีทานที เพื่อไปพักแรมทำอาหารถวายแด่หมู่ฤาษีทั้งหมื่นตน

ส่วนวันนี้นิมนต์ดาบสอาจารย์พำนักค้างคืนอยู่ในพระราชนิเวศก่อน

เพื่อรุ่งเช้าหลังจากฉันมูลผลาหารนิมนต์นำทาง โยมและเหล่าเสนาจาตุรงค์ออกเดินทางไปสู่ที่ตั้งแม่น้ำสีทานทีสืบไป

ขอพักเอาไว้แค่นี้ก่อนนะจ๊ะ เพราะดึกมากแล้ว ง่วงนอน ๕ ทุ่มกว่าแล้ว (๑๔ เมษายน ๒๕๕๙)

โอกาสหน้าจักเขียนมาให้อ่านกันอีก

พุทธะอิสระ