ธรรมชาติของจิต
       
       พระกับธรรมชาตินั้นเป็นของคู่กัน หลวงปู่บอกไว้ว่า เมื่อใดที่พระปฏิเสธธรรมชาติ ไปอยู่ตึกรามบ้านช่องเสียหมด ก็จะห่างไกลออกจากความดื่มด่ำแห่งความบริสุทธิ์ ความสันติสุขร่มเย็น ธรรมชาติมันทำให้เราเย็นกาย ธรรมะทำให้เราเย็นใจ ธรรมชาติเย็นแบบมีชีวิตวิญญาณ เย็นใจคือเย็นธรรมะ มีธรรมะสำหรับทำให้ใจเย็น การปฏิบัติธรรมจึงอย่าท้อแท้ อย่าท้อถอย เราต้องรู้จักสภาพธรรมชาติของจิต โดยธรรมชาติของจิตมีทั้งส่วนที่เป็นกุศลและอกุศล ในขณะที่มันเกิดในส่วนที่เป็นกุศล มันก็ทำให้เราชาญฉลาด รู้เท่าทันสภาวะอารมณ์ แล้วเราก็จะกำราบสิ่งที่เป็นอกุศลได้ แต่ถ้าเกิดจิตส่วนที่เป็นอกุศล แล้วเราจะไปกำราบ คิดจะเอาชนะ จึงต้องใช้กำลังมาก ใช้ความเพียร ใช้ขันติบารมีอย่างยิ่ง ใช้บารมีธรรมอย่างมากกับการกำราบจิตที่เป็นอกุศล ซึ่งบางครั้งจิตที่เป็นอกุศล ก็แฝงมาในรูปของมิตร ที่เราไม่คิดว่ามันเป็นศัตรู หลวงปู่ท่านจึงเขียนโศลกสอนลูกหลานไว้บทหนึ่งว่า
       
       "ลูกรัก...
       ขอเพียงชั่วชีวิตเจ้า รู้จักแยกมิตรกับศัตรูให้ออกภายในตัวเจ้า พ่อว่าเจ้าคือพระพุทธะองค์ประเสริฐองค์หนึ่ง สำคัญว่าเราแยกไม่ออกระหว่างมิตรกับศัตรูในตัวเรา"
       
       ฉะนั้นกระบวนการของจิตจึงมหัศจรรย์ พิสดาร เราจะสังเกตได้ว่า บางวันเราก็จะรู้สึกชาญฉลาด สงบ สันติ บางวันไม่ต้องทำอะไร แค่หลับตาก็เป็นสติแล้ว มีสมาธิปรากฏ บางวันนั่งหลับตา พยายามยืน เดิน นั่ง นอน ก็แล้ว มันยังไม่สงบ มันต้องหาวิธีเรื่อยไป ขอเพียงเรามีความเพียร มันก็จะข่มจิตที่เป็นอกุศลได้ แต่ถ้าไม่มีความเพียร แล้วเราเลิกไปเลย สุดท้ายเราจะพ่ายแพ้มัน อกุศลก็จะเกิดต่อๆไป ที่หลวงปู่บอกไว้ว่า มันจะทำให้อายุขัยของจิตที่เป็นอกุศลมันยาวต่อไปอีก
       
       ดังนั้น กระบวนการของจิตจึงยากต่อการที่จะไปรับรู้และตามทันมันได้ เมื่อใดที่อกุศลเกิด หากขาดความเพียร ขาดขันติ เราก็ไม่มีสิทธิ์จะเอาชนะมัน และมันจะต้องอายุยาว เกิดไปๆๆๆ จนกว่ามันจะหมด อายุขัยของอกุศล ที่เรียกว่าอกุศลกรรมแต่อดีตชาติ ที่มันอาจจะตามมา หรืออกุศลกรรมในปัจจุบัน ที่หลวงปู่บอกว่าเกิดจากเราที่ ตาเห็น หูฟัง จมูกได้กลิ่น ลิ้นรับรส กายสัมผัส แล้วไปปรุงมัน จึงกลายเป็นอกุศลเข้ามา
       
       ส่วนจิตที่เป็นกุศล ทั้งที่เป็นกุศลที่มีมาแต่อดีตชาติ หรือเป็นกุศลที่เกิดในปัจจุบันชาติ เมื่อเกิดกระบวนการของจิตมันจะทำให้เราฉลาด ทำให้เรารอบรู้เท่าทัน เราจะอ่านมันออก บอกมันได้ เข้าใจมันถูก ซึ่งบางครั้งเราจะเป็นคนฉลาด บางครั้งเราก็โง่ เหตุเพราะสภาพของจิตแต่ละดวงที่มันเกิดดับไม่เหมือนกัน พระพุทธเจ้าจึงสอนให้เราฝึกจิตเพื่อให้เป็นกุศลอยู่ตลอดเวลา หลวงปู่จึงสอนว่า หากเรามีจิตกุศลสั่งสมไว้ เกิดต่อไปจะกลายเป็นคนฉลาด ส่วนปัจจุบันก็ยิ่งทำให้มันฉลาดขึ้นโดยการฝึกปรือ เมื่อเรามาด้วยความฉลาด เราก็ควรจะทำให้ความฉลาดนั้นเจริญเติบโตอีกยาวนานสืบต่อไป วิธีทำให้เกิดจิตกุศลบ่อยๆคือ พยายามเจริญสติ
       
       ธรรมชาติของจิต จะมีสภาพรับรู้ คือ การรับรู้อารมณ์ ในขณะที่มีการรับรู้นั้น ท่านบอกว่าจะมีสัญญา(การกำหนดหมาย, ความจำได้หมายรู้ คือ หมายรู้ไว้ซึ่ง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และอารมณ์ที่เกิดกับใจ) ในการเก็บข้อมูลของการรับรู้นั้น ซึ่งสองสิ่งนี้จะเกิดพร้อมกันระหว่างสัญญากับจิต ส่วนสติเป็นสิ่งที่เกิดทีหลัง สติเป็นเรื่องที่เกิดจากกระบวนการของจิตที่เกิดขึ้นด้วยความฉลาด คนฉลาดจะมีสติ คนที่โง่มากๆจึงไม่มีสติ กระบวนการของสติจึงต้องฝึกให้เกิดขึ้นทุกขณะจิต มันจึงจะไปกำราบส่วนที่เป็นอกุศลได้
       
       ระหว่างที่ฝึกนั้นหลวงปู่จะให้กำลังใจ กระตุ้นพวกเราเสมอว่า การที่จะเอาชนะอารมณ์ความยุ่งฟุ้งซ่านหงุดหงิดรำคาญนั้น บางครั้งก็มีความเครียด ต้องรู้จักหาวิธีมาแก้ไข ถึงแม้คนอื่นเขาจะขนพอง ขนลุก เกิดปีติ แต่เราไม่เกิดอะไรท่านก็บอกว่าอย่าไปหยุดมัน เพราะขณะที่กำลังพยายามทำความเพียร อกุศลจิตอาจจะเกิดขึ้น แต่ให้พยายามต่อไป เพราะถือว่าทำดีแล้ว ดีกว่าไม่ได้ทำความเพียร แล้วไปสร้างเรื่องเลวร้ายเสียหาย เรื่องของบุญเรื่องของกุศล มันเป็นนามธรรม มันไม่ใช่เป็นเงินเป็นทอง เป็นรูปเป็นร่าง การทำบุญกุศลในพระพุทธศาสนา ต้องค่อยเป็นค่อยไป อย่าไปหักโหม
       
       การเจริญสติเป็นเรื่องเป็นราวของการมีชีวิตที่ถูกตรง และวิถีทางของมันก็คือ เราอย่าไปเครียด คร่ำเคร่ง ท่านได้บอกพวกเราว่า ขณะที่เรากำลังรู้ลมหายใจแล้วเกิดความรู้สึกว่า กระดูกเราก็อยากเห็น ลมหายใจเราก็อยากรู้ หากเกิดอารมณ์อย่างนี้ต้องเลือกเอาสักอย่างหนึ่ง คือ เมื่อกำลังเจริญกรรมฐานกองใด เช่น กำลังดูกระดูก ก็ต้องรู้สภาพสภาวธรรมของจิตว่า เมื่อดูกระดูกแล้วจิตมันตั้งมั่นได้ดี เราก็คิดว่าอยากจะทำให้จิตมันละเอียดขึ้น โดยการเจริญอานาปานสติ ก็พิจารณาว่ากระดูกกำลังจะระลึกรู้ลมหายใจ เปลี่ยนจากกระดูกมาระลึกรู้ลมหายใจ
       
       ถ้าเกิดเวทนาก็พิจารณาเวทนาในเวทนานั้นว่า เวทนามีอะไรปรากฏ นี้เรียกว่าจากกายเข้าไปสู่เวทนา ในขณะที่ดูกระดูกแล้วปรากฏว่าเวทนามันปรากฏ มันเกิดปวดตรงนั้น เจ็บตรงนี้ กระดูกชักพร่ามัว จับไม่ชัด เกิดเวทนาขึ้น ก็ไปพิจารณาเวทนาทันที "กระดูกนี้กำลังเป็นเวทนา" กระบวนการทางมายาแห่งจิต มันจึงคอยฉุดเราออกไปจากการเจริญสติ ซึ่งมันมักจะสร้างเครื่องล่อให้เราเสมอ ทั้งของชอบและของชัง
       
       เมื่อสามารถพิจารณาได้ที่เรียกว่า กุศลจิต รู้เท่าทันสภาวธรรมแห่งจิตที่ปรากฏขึ้นเฉพาะหน้า เป็นปัจจุบันธรรม เมื่อทำได้ก็ถือว่าเราสามารถจะครองสติให้อยู่ได้ในขณะนั้น โลภะ โทสะ โมหะ จะไม่อุบัติขึ้น เมื่อไม่อุบัติ เราหยุดชาติได้ตอนนั้น หยุดชราได้ตอนนั้น หยุดมรณะได้ตอนนั้น แล้วถ้าทำต่อไปเรื่อยๆมันก็จะหยุด ที่เหลือก็เป็นอายุขัยของเรา การสืบต่อในอนาคตจะไม่มี เผ่าพันธุ์ก็จะไม่สร้างสรรค์ขึ้น จะไม่มีการเกิดในโอกาสต่อไป แต่ถ้าเจริญแบบสมถะนั้นหลวงปู่แนะนำว่า ให้มีสมถะ เจริญสมถะ เข้าองค์ฌาน จนกระทั่งถึงสมาบัติแปด แล้วก็ถอยกลับจากสมาบัติแปดลงมาสู่ฌานที่สี่ สาม สอง หนึ่ง
       
       การสร้างความเพียรจึงเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับชีวิตมนุษย์ ถ้าตราบใดที่เรามีเวียนเกิดเวียนตายเวียนผูกพันกันอยู่ ไม่มีสิ้นสุด เพียงแค่เราเปลี่ยนร่างอยู่เท่านั้น เหตุผลก็เพราะความอยาก อวิชาความไม่รู้ แล้วทำให้เราเกิดความอยาก เกิดความอยากแล้วเกิดความปรุง เกิดความปรุงก็เกิดอุปาทานยึดถือ เมื่อยึดถือเราก็ตะกายเปลี่ยน ย้ายไปอยู่ตรงนี้ ย้ายไปอยู่ตรงนั้น ดังนั้น ขอเพียงมีสติรับรู้มัน ตามทันมัน มีปัญญาเข้าใจมันอย่างละเอียดถี่ถ้วน
       
        โพธิจิต
       
       พูดถึงเรื่องโพธิจิต หลวงปู่บอกว่า การที่มนุษย์เราจะรู้ตัวว่าเป็นพระโพธิสัตว์หรือมีโพธิจิตนั้น ไม่ใช่เป็นเพราะเราอยาก เห็นเขาเป็นแล้วเราต้องการเป็น เราต้องมีอตีตังสญาณว่าอดีตชาติเราสะสมโพธิญาณ โพธิจิตมาขนาดไหน แต่เราก็สามารถรับรู้ได้ เช่น ขณะที่เห็นสัตว์กำลังตกทุกข์ได้ยาก เรามีจิตใจที่เอื้อ อาทรแก่สัตว์เหล่านั้น โพธิจิตก็เกิดกับเราแล้ว แต่มันต้องมีปรากฏอยู่ทุกขณะจิต ทุกลมหายใจ เลือดเนื้อ วิญญาณ
       
       มีอยู่ครั้งหนึ่งมีภิกษุถามหลวงปู่ว่า คนทั่วไปมีสิทธิ์จะนิพพานได้มั้ย ถ้าไม่บวชเป็นพระ ท่านบอกว่า ถ้าไม่บวชเป็นพระมีสิทธิ์นิพพานได้ แต่อยู่ได้ไม่เกิน ๗ วัน เพราะศัพท์คำว่านิพพานนี่ไม่ใช่ว่า หมายถึงคนไม่มีกิเลส สภาพของคนที่ไม่มีกิเลสมันจะอยู่ในโลกไม่ได้ มันไม่มีกิจกรรมอะไรที่จะทำ เพราะอย่างพระเมื่อบวชเข้ามาแล้ว เมื่อถึงคำว่านิพพาน มันก็มีงานที่จะทำ คือปลดปล่อยช่วยเหลือสรรพสัตว์ ถ่ายทอดความรู้ สั่งสอนธรรมะ แต่มนุษย์ที่เป็นคฤหัสถ์ถ้านิพพาน ก็มีที่พักอันคับแคบ มีที่อยู่อันคับแคบ มีสังคมอันคับแคบ จะไปเดินไปสอนก็ไม่มีใครยอมรับ เพราะฉะนั้นสภาพที่เป็นที่อยู่ เมื่อเราถึงขั้นสูงสุด เบญจขันธ์ก็ต้องทำลายลง นั่นคือสภาพที่ว่า สอุปาทิเสสนิพพาน ฆราวาสเวลาทำถึงคำว่านิพพาน ส่วนใหญ่แล้วอยู่ได้ไม่เกิน ๗ วัน เพราะกิจกรรมที่ทำอยู่ข้างนอกสังคมไม่ยอมรับ สุดท้ายก็ทำลายขันธ์ตัวเอง เพราะคนที่ถึงนิพพานสามารถคุมธาตุขันธ์ได้ (นิพพาน - ภาวะแห่งนิพพาน; นิพพาน หรือนิพพานธาตุ ๒ คือ สอุปาทิเสส นิพพาน ดับกิเลสมีเบญจขันธ์เหลือ ๑ อนุปาทิเสสนิพพาน ดับกิเลสไม่มีเบญจขันธ์เหลือ ๑)
       
        ธรรมชาติของหลวงปู่
       
       ตอนเช้าๆของทุกวันที่อยู่น้ำตกลำอีซู พวกผมจะแอบไปดูหลวงปู่ เพราะว่ากลดของผมอยู่ไม่ไกลจากกุฏิท่านเท่าไหร่ โดยมีโขดหินใหญ่บังไว้เท่านั้นเอง ท่านจะออกกำลังกายโดยการรำมวยจีนที่ลานหินหน้ากุฏิ ซึ่งเท่าที่ผมดูกันนั้น ลักษณะคล้าย"มวยฝ่ามือแปดทิศ" และ "มวยไท้เก๊ก" ซึ่งหลักของวิชามวยแปดทิศนั้นเป็นการก้าวย่างไปตามทิศตำแหน่งแปดทิศ เดี๋ยวหน้า เดี๋ยวหลัง เดี๋ยววนซ้าย วนขวา ศัตรูจะถูกก่อกวนจนตาพร่าลาย ต้องหมุนตัวตามจนต้านรับไม่อยู่ นับว่าเป็นมวยที่พิสดารและร้ายกาจ ส่วนหลักของไท้เก๊กนั้นจะช้า เบา ต่อเนื่องเป็นวงจร ไหลต่อเนื่องไปดังสายน้ำ แฝงไปด้วยพลัง
       
       การที่ท่านเดินตามแบบมวยแปดทิศนี้ ผมเข้าใจว่าเป็นการฝึกการเดิน การใช้เท้า ซึ่งคล้ายกับการเดินจงกรม หรือวิชาการเดินรับรู้น้ำหนัก ที่ท่านสอนให้แก่พระวิปัสสนาจารย์ ซึ่งต้องมีมหาสติอันยิ่งในการรับรู้การเดิน และที่สำคัญเป็นการฝึกตามแบบมวยภายใน(มวยไท้เก๊ก และมวยฝ่ามือแปดทิศ) ซึ่งเป็นการฝึกเกี่ยวกับการเดินลมปราณไปในตัวด้วย การฝึกนี้มีส่วนสัมพันธ์และมีส่วนช่วยในการฝึกพื้นฐานของลมเจ็ดฐาน หรือการฝึกอานาปานสติ
       
       การที่กลุ่มของพวกผมประมาณ ๔-๕ คน แอบดูอยู่นั้น ท่านก็คงรู้ หลายวันเข้าพวกเราหามุมกันคนละมุม ยืนบ้าง นั่งบ้าง เพื่อดูกันแบบชัดๆ แต่ก็อยู่ห่างจากท่านพอสมควร เพราะว่ามีโขดหินใหญ่บังช่วงเท้าอยู่ จึงไม่เห็นเทคนิคเคล็ดลับวิธีการเดินที่ท่านฝึกประจำ พวกเราหลายคนคิดจะไปขออนุญาตให้ท่านสอนแต่ไม่กล้า ได้แต่แอบๆดู ถึงแม้เป็นการเห็นในท่วงท่ารำเพียงบางท่า ไม่ครบทั้งหมด ก็นับว่าเป็นวาสนาอย่างมากแล้ว ที่ท่านถ่ายทอดวิชาโดยทางอ้อมให้พวกเรา ท่ารำของหลวงปู่ดูอ่อนช้า เบา ไหลต่อเนื่อง สวยงามมาก ตามแบบของการรำมวย แม้เป็นการรำมวยเพียงไม่กี่ท่า ซึ่งหากใครที่พอได้ฝึกมวยมาบ้างจะรู้ได้ทันทีว่า ท่านผู้นี้เชี่ยวชาญระดับปรมาจารย์ทีเดียว ซึ่งเท่าที่ผมเคยเห็นคนรำมวยมานั้น ยังไม่เห็นใครรำได้สมบูรณ์แบบ ที่เขาใช้คำว่าเพอร์เฟก(Perfect) เท่ากับหลวงปู่เลย จึงนับว่าท่านเป็นสุดยอดในด้านนี้ทีเดียว
       
       ภายหลังจากที่ท่านอบอุ่นร่างกายและรำมวยเสร็จ ท่านจะกระโดด กระโจน ทะยานดั่งราชสีห์ ไปตามโขดหินน้อยใหญ่ แม้หินนั้นจะอยู่ไกลหรือลื่นถลาอย่างไร ท่านก็อาศัยจังหวะการสปริงตัว คล้ายกับคนที่มีวิชาตัวเบา ผมเห็นท่านฝึกกระโดด กระโจนไปมาหลายๆรอบตามโขดหินต่างๆ ดูท่านจะมีความสุขกับการกระโดด ความเป็นธรรมชาติของท่าน ณ เวลานี้ ดูแตกต่างจากที่เราเคยเห็นที่วัด หรือที่ไหน ดูท่านมีความสุขกับการกระโดดไปมา ผมจึงเข้าใจว่าทำไมท่านจึงพูดเสมอว่า ชอบที่จะอยู่คนเดียวในป่า เพราะว่าป่า ธรรมชาติ สิ่งรอบกายเหล่านี้มันให้ความสุขของชีวิตแก่ท่านได้อย่างนี้นี่เอง
       
       ในระหว่างอยู่ที่น้ำตก หลายๆวันนี้จะเห็นหลวงปู่เดินไปตามลำธารน้ำตก จากข้างล่างน้ำตกที่พระอยู่กัน จนมาถึงกุฏิท่าน เพื่อคอยดูแล คอยเตือนสติ คอยกระตุ้นด้วยความเอื้ออาทรสุดชีวิตให้พวกเราฝึกสติ โดยท่านจะตะโกน และมีพระอีกรูปหนึ่งเดินตามหลังคอยตีฝาบาตรดังๆ ว่า "ระวัง! อย่าหนีเที่ยว" หรือบางวันก็จะตะโกนว่า "ระวัง! ไฟจะไหม้ตัว" หรือ "ไฟสามกองกำลังไหม้เราอยู่"
       
       ซึ่งท่านได้อธิบายให้พวกเราฟังตอนหลังว่า ไฟสามกองที่กำลังไหม้เราอยู่นั้นก็คือ ไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะ มันกำลังเผารนเราอยู่ ขืนไปนอนแช่ไฟอยู่ ไม่มีสิทธิ์จะโผล่พ้นจากหลุมไฟ จงตื่นขึ้นมาดับเสีย เป็นคำที่ท่านเมตตาสั่งสอน เตือนสติ พวกเราอยู่เสมอ
       
       ตามรอยหลวงปู่
       
       วันสุดท้ายของการอยู่ที่น้ำตก หลวงปู่บอกว่าจะเดินทางกลับไปที่ธุดงคสถาน ภายหลังจากฉันเพลเสร็จแล้ว ให้เก็บข้าวของให้เรียบร้อย ระหว่างที่ทุกคนเก็บกลดและเตรียมของเดินทางกลับนั้น มีเรื่องเล่าว่าท่านคุยกับนกกางเขนดงอยู่เป็นเวลานาน ซึ่งเรื่องนี้เพื่อนภิกษุที่อยู่ใกล้ๆผมได้มาเล่าให้ผมฟังอีกทีว่าเห็นท่าน ยืนคุยอยู่ตั้งนานสองนาน ตอนแรกก็ไม่รู้ว่าท่านคุยกับใคร เห็นแต่ท่านกับเจ้านกที่อยู่ใกล้ๆเท่านั้น ซึ่งเจ้านกตัวนี้เวลาที่พวกเราไปเล่นน้ำตกที่ลำธารหน้ากุฏิหลวงปู่ หรือเวลาที่ท่านมาอบรมสั่งสอนตอนหัวค่ำนั้น จะเห็นมันบินวนเวียนอยู่แถวนั้นประจำ
       
       ตอนบ่ายของวันที่ ๘ พวกเราเตรียมเดินทางกลับ เมื่อทุกคนพร้อมแล้วหลวงปู่ก็เดินนำออกจากน้ำตก โดยมีกลุ่มของพวกผมเดินเป็นกลุ่มแรก และผมก็ได้เดินนำหน้ากลุ่มตามหลังหลวงปู่ นับเป็นความโชคดี เป็นวาสนาอันแท้ที่ได้เดินธุดงค์กับครูบาอาจารย์ ผมสังเกตเห็นท่านเดินไปด้วย ดูต้นไม้รอบๆข้างไปด้วย ท่านมีผ้าเช็ดหน้าสีแดงชุบน้ำมาด้วยผืนหนึ่งเท่านั้น แล้วท่านก็ชี้ให้ผมดูว่า นี่เป็นผลงานของมนุษย์ที่ไม่รักป่า เพราะต้นไม้เล็กๆก็ยังตัดเหลือแต่ตอ พอท่านเห็นต้นไม้ใหญ่ๆก็ชี้บอกว่ามันชื่ออะไร ลักษณะเป็นอย่างไร ท่านยังเปรยๆออกมาว่า พวกแก(ต้นไม้) มันโชคร้ายที่ดันออกลำต้นมาตรง สวยมาก คนเห็นก็ชอบ นี่ละหนาความสวยงามมันเป็นภัยอย่างนี้ละ พวกเจ้าน่าที่จะออกลำต้นให้มันคดๆงอๆบ้าง คนเห็นจะได้ไม่ชอบ ไม่ตัด แต่ว่าในอนาคตก็ไม่แน่เหมือนกันนะ
       
       ในระหว่างที่พวกเราเดินออกมาจากป่าน้ำตกที่ชุ่มเย็นสบาย ผ่านป่าไผ่ ป่ารกทึบ เข้าสู่ป่าโปร่ง ที่เริ่มจะมีทางรถเข้ามาถึงได้บ้าง ก็เห็นรถกระบะมีคน ๔-๕ คน พอรถเห็นขบวนพระก็หยุดและรีบล่าถอยออกไป หลวงปู่บอกว่า "ไอ้พวกกินป่า" พอผ่านป่าโปร่งเข้าสู่ป่าที่มีต้นไม้เล็ก ต้นไม้น้อย ก็ถึงลำธาร ท่านหันมาถามผมว่า ตอนมามาทางนี้หรือเปล่า ผมบอกว่าไม่ได้มาทางนี้ครับ ท่านเลยพาพวกเราลัดเลาะไปตามลำธาร เรื่อยๆลงไป เหนื่อยก็พักบ้าง แล้วเดินต่อไปจนพบไฟป่า ซึ่งแถบนั้นจะมีไฟป่ามาก แต่คงจะไม่ได้เกิดจากไฟธรรมชาติหรอก คงเกิดจากน้ำมือคนนี่เอง แม้ขณะตอนปักกลดที่น้ำตก พระบางรูปที่พักอยู่ริมเขา กลางคืนวันหนึ่งเห็นมีเสียงตะโกนร้องเรียกให้ไปช่วยกันดับไฟ เพราะกำลังไหม้เข้ามาใกล้กลดทุกที และบริเวณที่ข้างลำธารนี้ก็เช่นกัน เห็นมีไม้ตัดไว้เป็นกอง และคงมีการจุดไฟเผาป่าแถบนั้น เพราะเวลามีสัตว์ป่าลงมากินน้ำจะได้แอบดักยิงได้ง่ายขึ้น
       
       หลวงปู่เห็นไฟป่ากำลังลุกไหม้ข้างลำธาร ท่านจึงสั่งให้พวกเราช่วยกัน โดยท่านเป็นผู้นำสั่งการ บอกวิธีการให้หักกิ่งใบไม้ดิบ ตีไฟให้ดับ ประกอบกับที่ข้างลำธารมีทรายมาก พวกเราจึงช่วยกันตะกุยทรายสาดใส่ต้นไม้ที่กำลังไหม้ให้ดับไป ท่านบอกว่าเป็นการช่วยสรรพสัตว์เพื่อความร่มเย็น สงบสุข ของโลกและธรรมชาติ พวกเราจึงช่วยกันลุยจนไฟดับ
       
       เมื่อดับไฟป่าเสร็จแล้ว จึงเดินทางกันต่อข้ามลำธารมาอีกฝั่ง มาถึงกระท่อมร้างและหยุดพักใต้ร่มมะขามใหญ่ จากนั้นเดินทางต่อมาทางไร่อ้อย ตอนแรกหลวงปู่ก็เดินอย่างช้าๆไปเรื่อยๆ แล้วท่านก็เดินเร็วขึ้นๆ เดินนำลิ่วจนกระทั่งพระที่อยู่ด้านหลังเดินตามไม่ทัน ต้องวิ่งกันบ้าง เดินเร็วๆกันบ้างอย่างเต็มที่ ผมก็ไม่ท้อ ถึงของจะหนักก็ยังเดินตามไปติดๆ ท่านบอกว่าให้รีบเดิน ที่นี่เป็นที่โล่งอากาศร้อน เราไปแวะพักป่าข้างหน้าดีกว่า และทางก็เป็นดินทรายเดินได้ยากมาก ท่านถอดรองเท้าเดิน ผมรับรองเท้าจากท่านมาถือไว้ ท่านก็เดิน กระโดด กระโจน ไปตามแอ่งดิน สูงๆต่ำๆอย่างเร็วมาก คล้ายกับที่ฝึกกระโดดที่น้ำตก และรอยเท้าของท่านที่เหยียบบนพื้นดินทรายนั้น ทำให้เห็นลักษณะการเหยียบย่ำอย่างชัดเจนมาก!(วิชาเดินถ่ายเทน้ำหนักภาค ปฏิบัติของแท้)
       
       จะเห็นว่าท่านมีการถ่ายเทน้ำหนักที่ดีมากและก้าวยาว โดยสังเกตจากรอยเท้า(พระพุทธะอิสระ)ที่ปลายเท้าชี้ไปข้างหน้าเสมอ น้ำหนักที่เหยียบบนพื้นเสมอกัน ไม่เอียงข้างใดข้างหนึ่ง ลักษณะของการถ่ายเทจากส้นเท้าถึงปลายเท้าบ่งบอกได้ว่า มีการใช้ส้นเท้าเหยียบลงก่อน แล้วเดินไปข้างหน้าด้วยการสปริงที่ปลายเท้า โดยเป็นการยกส้นเท้าก่อนที่จะก้าวเดิน ซึ่งเป็นไปตามที่หลวงปู่เคยสอนที่วัดวังตะกู ตอนอบรมพระวิปัสสนาจารย์เรื่องการเดินโยกโคนน้ำหนัก แต่ผมเพิ่งจะเห็นประสิทธิภาพ วิธีการใช้ และผลจากการใช้ก็วันที่เดินตามท่านวันนี้นี่แหละ โดยผมพยายามจะเดินตามรอยเท้าของท่าน และสังเกตการก้าวเดินจากท่านอีกที แต่ก็เดินตามไม่ทันสักที
       
       เพราะว่ายิ่งเดินหลวงปู่ก็ยิ่งเดินเร็วขึ้น เหมือนดังใช้เท้าแตะพื้นนิดเดียว และลักษณะการหายใจของท่านก็เป็นจังหวะ เหงื่อไม่มีไหลออกมาเลย แต่พวกผมถึงแม้จะเป็นพระหนุ่มๆ ยังเดินตามท่านไม่ทัน บางครั้งถึงกับต้องวิ่งจึงจะตามทัน และบางพื้นที่ที่เป็นเนินสูงๆต่ำๆ ท่านก็เดินแบบปลายเท้าเฉียง ถ้าเป็นที่ทราบที่พื้นเสมอกันท่านจะเดินเท้าขนานกันไป บางครั้งก็เป็นแนวเดียวกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับพื้นที่นั้นๆ
       
       เมื่อเดินทางมาถึงป่าข้างหน้าก็หยุดพัก พวกเราเหงื่อโทรมกายกันหมด ท่านถามพระที่อ้วนๆองค์หนึ่งว่าเป็นไงบ้าง พระอ้วนก็ตอบทั้งที่หอบอยู่ว่า สบายครับ ทีนี้ละท่านดินเร็วกว่าเดิมอีก จนพวกเราก้าวตามไม่ทัน ถึงกับต้องวิ่ง ถึงจะตามทัน พอถึงที่ป่าข้างหน้าท่านก็ถามพระอ้วนว่าเป็นไงบ้าง พระอ้วนก็ตอบทั้งๆที่หอบแฮกๆว่าสบายครับอีก คราวนี้ท่านเดินเร็วกว่าเดิมมาก พวกเราต้องวิ่งถึงจะตามท่านทัน ตอนหลังท่านถามพระอ้วนว่าเป็นไง พระอ้วนก็บอกว่าไม่ไหวแล้วครับ หลวงปู่ท่านจะเดินเร็ว ก้าวยาว โดยไม่เหนื่อย แล้วก็ไม่มีเหงื่อ เวลาหยุดพักจะเห็นท่านดื่มน้ำเพียงนิดเดียว เมื่อพวกเราเดินทางจากป่าโล่ง ก็มาสู่ธุดงคสถาน โดยใช้เวลาเพียงครึ่งเดียวของวันที่เราเดินทางไป แล้วพวกเราก็แยกย้ายกันปักกลดพักผ่อน
       
       ประโยชน์จากการเดินเร็ว
       
       ตอนเย็นเมื่อมาอยู่ที่ธุดงคสถาน หลวงปู่ได้บอกให้พวกเรารู้ว่าที่ท่านพาเดินอย่างรวดเร็วมากนั้น เพื่อให้พวกเราได้ปรับตัวเข้ากับบรรยากาศข้างล่าง ข้างบน(ในป่าเขา น้ำตก)มันเย็นกว่าข้างล่าง(ธุดงคสถาน) ทำตัวให้ร้อนเสียก่อนจะถึงร้อนจริงๆ ซึ่งเรื่องนี้หลวงปู่เคยสอนเชื้อเจ้าองค์หนึ่งทางเหนือ ซึ่งเป็นโรคเส้นเลือดในหัวใจตีบ หลวงปู่ก็เลยให้เขาเดินตามท่าน แรกๆท่านก็เดินดูนก ดูไม้ ก้มเก็บหิน เงยหน้าดูกล้วยไม้ในป่า จากนั้นจึงเริ่มเดินเร็วเข้าๆ แค่เดินธรรมดาเขาก็เดินไม่ทันท่านแล้ว ดังนั้น ท่านจึงหยุดแล้วบอกว่า เดินตามให้ทัน ปรากฏว่าความร้อนที่มันเผาไหม้ในกาย ซึ่งเกิดขึ้นในขณะที่เดินเร็วนั้น มันไปทำลายก้อนเลือด ก้อนไขมันที่อยู่ตามหลอดเลือด ทำอย่างนี้อยู่หลายวันจนเขาหายจากอาการป่วยของหัวใจ
       
       การเดินเร็วๆจะช่วยการสูบฉีดของเลือดและหัวใจ แต่พวกเราเดินเร็วยิ่งเหนื่อย เหงื่อไหลเต็มไปหมด ท่านบอกว่าพวกเราเดินแบบไม่ผ่อนลมหายใจ เพราะฉะนั้นเวลาเดินต้องรู้จักกำหนดสติ ผ่อนลมหายใจ อย่าไปอั้นลมปราณเอาไว้ เพราะมันจะกลายเป็นพลังงานเผาข้างในจนร้อน เผาร้อนจนเหงื่อมันหลุดออกมา ท่านจึงบอกให้พวกเราฝึกไปเรื่อยๆ แล้วจะรู้วิธีกำหนดลม ในขณะที่ย่างก้าว ขาก็สามารถที่จะพลิกแพลง ซ้าย ขวา หน้า หลัง ได้อย่างไม่ต้องเมื่อย ไม่ต้องเหนื่อย ไม่ต้องเพลีย
       
       ก่อนจะกลับ ขณะที่หลวงปู่ออกจากุฏิ คนอื่นขนของกันไปหมดแล้ว ท่านเดินมาได้สักกอไผ่หนึ่ง นกกางเขนดงก็มาร้องทักเหมือนกับว่าพูดเป็นภาษาคน ท่านเลยหันไปคุยกับนกกางเขนดงเป็นเวลานาน ซึ่งมีภิกษุที่อยู่ใกล้ๆกลดผมเห็น

 

 กินรี
      
       วิญญาณของป่ามีความศักดิ์สิทธิ์ สิงสถิตอยู่ในทุกที่ วิญญาณธรรมชาติที่หลวงปู่พูดถึงนี้ ถ้าเราทำจิตของเราให้เข้ากับวิญญาณธรรมชาติรอบๆตัวเรา รอบๆกายเรา รอบๆที่อยู่ในสรรพสิ่งใกล้เคียงเรานี้ เราจะเป็นคนที่เข้าใจธรรมชาติ รักธรรมชาติเหมือนกับชีวิตวิญญาณของเรา ธรรมชาติมีอยู่ทุกที่ทุกสิ่ง ธรรมชาติมีเทวดา มีนางฟ้า รุกขเทวดา มีคนธรรพ์ มีกินนร กินรี
      
       เรื่องนี้หลวงปู่เล่าให้ฟังว่า ดึกๆเวลาพระจันทร์เต็มดวง พวกกินนรีจะมาอาบน้ำเล่นอยู่แถวบ่อที่พวกผมไปเล่น แต่ท่านบอกว่าพวกเราไม่เห็นมันหรอก สมัยก่อนท่านเคยเก็บขนกินนรีที่เขาทิ้งไว้มาให้พระรุ่นเก่าๆดู ๑ ขน (ขนนั้นอยู่กับสมภารองค์เก่า รายละเอียดเป็นอย่างไรไว้นำเสนอในตอนต่อไป)
      
       ท่านจึงบอกว่า อย่าไปคิดว่ารอบกายเราไม่มีใครเฝ้าดูเรา ท่านจึงบอกให้ฝึกสติ จะได้ไม่ทำผิด คิดผิด พูดผิด หากเผลอไปบ้างก็ไม่เป็นไร รู้ตัวเมื่อไรต้องเปลี่ยน ปรับปรุง แก้ไข โลกรอบกายเรามันเป็นโลกซ้อนโลก วิญญาณธรรมชาติอยู่รอบๆตัวเรา มันมาหลายรูปแบบ บางทีก็เป็นงู เป็นนก หากเราสัมผัสมันได้ จิตเราก็จะละเอียดขึ้น วิญญาณธรรมชาติมีจริง มันรักเราถ้าเรารักมัน มันจะทำร้ายเราถ้าเราทำร้ายมัน
      
       การที่ท่านทำพลีกรรมมีพิธีบวงสรวงเทวดา ก็เพราะว่าเทวดาที่เป็นบริวาร เป็นญาติ เป็นมิตร ท่านก็อยากรับรู้ด้วยญาณวิถี อยากอนุโมทนา อยากรับเครื่องบวงสรวงบูชาของชาวบ้านผู้คนทั้งหลาย ท่านไม่ได้ทำด้วยความโง่งมงาย ทำเพื่อให้เห็นว่าเทวดายังมี อย่าคิดว่าไม่มีใครเห็น จะทำผิดทำถูก อย่าคิดว่าทำได้ทั้งนั้น ยังมีคนเห็นเวลาจะทำผิดทำถูก ที่เขาไม่ปรากฏตัวให้เห็น ทำร้าย ทำลายเรา ก็เพราะกรรมใครกรรมมัน
      
       เรื่องการแผ่เมตตานั้นมีอานิสงส์มากมาย มิได้เป็นแบบไสยศาสตร์ เพราะพระพุทธเจ้าท่านสอนบทวิรูปักเขฯ บทกรณียเมตตสูตร ให้เรา โดยมีที่มาว่า ในสมัยพุทธกาล ภิกษุไปเจริญกัมมัฏฐานที่ป่าไม้สะแก ถูกรุกขเทวดาแกล้ง ภิกษุ ๓๐ รูปต้องรีบไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ทรงสอนมนต์พระปริตเรื่อง กรณียเมตตสูตร ให้เจริญ ซึ่งขณะนั้นมีท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ เฝ้าอภิบาลพระศาสนา พระพุทธเจ้าผูกขึ้นบทหนึ่ง ท้าวจตุมหาราชก็ผูกขึ้นองค์ละบท เมื่อครบแล้วก็สอนให้แก่ภิกษุที่โดนรุกขเทวดาหลอก ในบทกรณียเมตตสูตร จึงเป็นคำพูดของท้าวจตุมหาราชด้วย เพราะโลกมนุษย์ วิญญาณธรรมชาติ เป็นที่อภิบาลของท้าวจตุมหาราชทั้งสิ้น ท้าวจตุมหาราชมียศ อำนาจ เป็นผู้ดูแลรักษาโลก และชั้นกามาพจรสวรรค์ ในทิศทั้งสี่ เพราะฉะนั้นทุกอย่างอยู่ในการดูแลของท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ เวลาท้าวจตุมหาราชผูกมนต์ขึ้นมา ลูกน้องจึงไม่กล้ามาทำร้าย
      
       อีกเรื่องที่หลวงปู่เตือนก็คือ พวกเราเพิ่งออกมาจากป่า จิตยังสงบ บริสุทธิ์ เมื่อเข้ามาสู่เมืองก็ให้สำรวมระวัง สงบ อย่าปล่อยให้ตัวเองเผลอสติ ระลึกรู้ลมหายใจ รู้โครงกระดูก รู้อิริยาบถ หรือไม่ก็เดิน จงกรม ท่านมุ่งหวังให้พวกเราเป็นมนุษย์สมบูรณ์ ทำไม่ผิด พูดไม่ผิด คิดไม่ผิด มุ่งหวังให้เป็นคนฉลาด เป็นผู้รอบรู้ เข้าใจสรรพสิ่งรอบข้าง มองอะไรๆออก
      
       หากวันใด เวลาใด นาทีใด ทำแล้วไม่เจริญ ก็ต้องวิจารณ์ วิเคราะห์ดู ใช้ อตีตังสญาณ มหาสติปัฏฐานสูตร เป็นกัมมัฏฐานกลาง ทุกจริตสามารถทำได้ วิชาที่หลวงปู่ถ่ายทอดให้ วิธีที่สอนให้ มันทำได้ทุกจริต ถ้าทำแล้วไม่ดีก็แสดงว่า เรามีกรรมใหม่ หรือกรรมเก่าที่มันมาตัดรอน ต้องหาวิธีผัดผ่อน แก้ไข ไม่ให้กรรมมีอำนาจเหนือเราได้ ท่านจึงเน้นย้ำพวกเราว่าอย่าประมาท วันข้างหน้าไม่มีใครคอยเตือน ชีวิตเป็นของเรา ถ้าเราไม่ยอมรักษาก็จะกลายเป็นของคนอื่นไป โลกนี้มี ๒ สิ่งที่คอยแก่งแย่งกันและกัน คือฝ่ายดีกับฝ่ายชั่ว ยุคใดสมัยใดมารมีอำนาจ โลกก็ร้อนรน ทุรนทุราย ยุคใดสมัยใด ธรรมมีอำนาจ โลกก็จะสันติสุข สงบ ร่มเย็น เวลานี้มารมันเริ่มจะมีอำนาจ โลกและสังคมเลยดูสับสนวุ่นวาย แม้แต่ในวงการพระศาสนาก็ตาม เพราะถ้าพระสงฆ์ยังโลภในเครื่องผูกของโลก ลาภ ยศ ศักดิ์ศรี ชื่อเสียง สรรเสริญ มันก็ต้องเป็นทาสของมารไปแล้ว แม้แต่เรื่องที่เราคิดว่าเป็นมิตร บางครั้งก็กลายเป็นศัตรูเราได้
      
       เพราะฉะนั้นการที่พวกผมได้มาอยู่กับหลวงปู่ นับว่าเป็นวาสนาอย่างมาก ท่านบอกว่าท่านไม่ได้สอนผิดไปจากพุทธพจน์ ไม่ได้สอนผิดไปจากสำนึกของพุทธะ ไม่ได้สอนผิดไปจากจิตวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธะ หรือธรรมะศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธะ ท่านสอนถูกต้องตรงตามดำริแห่งพระพุทธะ อาจจะไม่เกี่ยวกับวจี อักขระ ในตำรามากนัก ค่อยๆรักษาสิ่งที่มีอยู่ในตัวของเรา วันนี้ยังมีวาสนาเจอะเจอพบพา ไม่แน่วันหน้าอาจจะไม่มีวาสนาได้พบกัน ก็จำเอาแต่สิ่งดีๆไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ชีวิตเราก็จะได้ไม่สิ้นหวัง
      
       ขั้นตอนในการเจริญสติ ฉบับรวบรัด
      
       ๑. อันดับแรก ระลึกรู้ รูปนั่ง รูปยืน รู้อิริยาบถ เป็นการระลึกรู้ภายนอก
       ๒. สำรวจตั้งแต่หัวจดปลายเท้า ค่อยๆเข้าไปจับโครงกระดูก ระลึกรู้โครงกระดูกข้างใน
       ๓. หางานให้สติเพิ่ม นึกในใจ ภาวนาในใจว่า "กระดูกกำลังหายใจ กระดูกหายใจเข้า กระดูกหายใจออก"
       ๔. เมื่อจับลมหายใจชัด ก็ไม่ต้องมีคำภาวนา รู้แต่ลมหายใจเข้ากระทบจมูก ออกกระทบจมูก
      
       ตอนเย็นวันหนึ่งหลวงปู่ได้ออกมาพูดคุย โดยก่อนหน้านี้ ท่านได้สั่งให้คนงานไปตัดมัน กล้วย เพื่อจะนำไปเลี้ยงคนที่จะมาบวชเนกขัมมะ ในวันมาฆบูชาที่จะมาถึง ท่านบอกว่าที่มาปลูกต้นไม้ในฤดูแล้ง เพราะชอบเอาชนะธรรมชาติ ฤดูฝนธรรมชาติเลี้ยงเราตลอด มันทำให้เราขี้เกียจ ไม่ขวนขวาย ไม่หาวิธีเอาตัวรอด ไม่ทำให้เราคิดจะต่อสู้ ยืนหยัด เชื่อมั่น ตอนที่ท่านสร้างวัดอ้อน้อย ก็ทำอย่างนี้ โดยมีธรรมชาติสอนเราว่าจะทำอย่างไร
      
       ที่ธุดงคสถานลำอีซูนี้ ท่านได้นำพันธุ์กล้วยหายากมาปลูกหลายพันธุ์ เช่น กล้วยทองมาเอง กล้วยหักมุก กล้วยน้ำว้า กล้วยหก กล้วยห้า กล้วยแปด กล้วยสิบสอง กล้วยยี่สิบสี่(หวี ในเครือหนึ่ง) ฯ เพื่อเป็นการอนุรักษ์พันธุ์เอาไว้ ท่านกำลังเตรียมที่จะขุดสระน้ำโดยใช้พลาสติกปูที่พื้นล่าง ซึ่งท่านก็ได้เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนที่ท่านธุดงค์ไปแถวมุกดาหาร หมู่บ้านนั้นยากจนและขาดแคลนน้ำ ท่านได้ไปตั้งวัดหนึ่งชื่อวัดนาอุดม และไปช่วยชาวบ้านขุดสระน้ำ โดยเอาถุงพลาสติกมาปะกับแผงไม้ไผ่ที่สานไว้ แล้วเอาขี้เลนมาแปะให้หนาขึ้น ซึ่งทำให้สามารถเก็บกักน้ำได้ หาพันธุ์ปลา ต้นบัว มาปล่อยมาปลูกไว้ ทำให้เกิดความเจริญแก่หมู่บ้าน ท่านให้เหตุผลว่า พระศาสนา พระธรรมจะเจริญได้เมื่อท้องมันอิ่ม จริยธรรมมันไม่เกิด และหาไม่ได้กับคนอด คนหิว ต้องให้ลดความอยาก ความหิวลงไปก่อน เราจึงจะไปค้นหาจริยธรรมจากคนพวกนี้
      
        วิริยะเจดีย์
      
       ตอนเช้าวันหนึ่ง หลวงปู่นำให้พวกเรานั่งสมาธิ โดยให้อยู่ในท่าที่พร้อมสบาย ผ่อนคลาย สะดวก รู้สภาพการนั่ง รู้รูปนั่ง ส่งความรู้สึกลึกๆลงไปดูสภาพรูปนั่งของตน หายใจเข้าลึกๆ ขณะที่ดูรูปนั่งก็หายใจออกยาวๆ ผ่อนคลาย ส่งความรู้สึกลึกๆเข้าไปในกายของตน ที่เรียกว่า กายรวมใจ รวบรวมความคิดทั้งปวงให้อยู่ภายในกาย ไม่มีความคิดเรื่องอื่น สิ่งอื่น
      
       เมื่อรู้โครงสร้างของกาย รับรู้สภาพว่ากำลังนั่ง แล้วเอาจิตไปจับที่โครงกระดูกของกาย ให้สัมพันธ์ สัมผัสได้ถึงกระดูกของกายตน ค่อยๆไล่ไปทีละจุด ตั้งแต่ศีรษะ หน้าผาก เบ้าตา สันจมูก โหนกแก้ม ริมฝีปาก คาง แล้วไล่ย้อนกลับมาทางกระดูกต้นคอ กระดูกบ่า ต้นแขน ข้อศอก ท่อนแขนด้านล่าง กระดูกมือ นิ้วมือ แล้วไล่ขึ้นมาตามมือทั้งสองข้าง(เราจะรับรู้ได้ด้วยไออุ่นมันจะตามไป) กระดูกสันหลัง ข้อที่ ๑ ถึง ข้อที่ ๑๗ แล้วมาถึงก้นกบ มองรูปกระดูกให้ชัดตั้งแต่ก้นกบจนถึงกลางกระหม่อม
      
       จากนั้นท่านจึงนำสวดคาถาเจริญพระพุทธมนต์ ว่า
      
       "ข้าแต่เทพเจ้าทั้งหลาย เทพยดาทั้งหลาย ทั่วสากลพิภพ พญายมราช เทพเจ้าผู้ปกปักษ์รักษาพระศาสนา ท่านท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ บัดนี้ข้าและลูกหลานทั้งหลายของข้า ได้ร่วมกันสร้างพระธรรมขันธ์ เพื่อบรรจุไว้ในเจดีย์ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา บูชาธรรมของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ บูชาพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ บูชาพระสงฆเจ้าทุกพระองค์ ขอการบูชาครั้งนี้ ด้วยวาสนา บารมีของลูกหลานของข้า จงเติบโต งอกงาม ไพบูลย์ เปรียบประดุจดั่งเจดีย์ที่กำลังเจริญเติบโตทุกทิวาราตรีกาล
      
       เจดีย์ครั้งนี้ ข้าขอตั้งนามให้ชื่อว่า วิริยะเจดีย์ เป็นเจดีย์ที่แสดงออกถึงความเพียร ความมานะบากบั่น ความอดทนอดกลั้น ต่อสู้ฝ่าฟัน จนกระทั่งเอาชนะอุปสรรคทั้งหลายได้
      
       ขอลูกหลานของข้าที่มีชีวิตอยู่ก็ดี กำลังเจริญเติบโตก็ดี จงมีความเจริญรุ่งเรืองในกิจกรรมการงาน มีอำนาจ ตบะ ชัยชนะ ความสำเร็จ ทรัพย์ ลาภ กำลัง และความสุข ไม่ว่าเขาจะเกิดในชาติใด ภพใด อยู่ ณ สถานที่ไหนๆ จงอย่าแคล้วคลาดในพระธรรมวินัยของพระศาสดา จงมีดวงตา ปัญญาญาณ รู้ทั่วถึงธรรมของพระพุทธเจ้า ที่พระองค์ทรงแสดงแล้ว และรู้แล้ว จงมีที่พึ่งอันประเสริฐที่สัตว์ทั้งหลายพึ่งแล้วพ้นทุกข์ได้ จนมีชัยชนะต่อหมู่มาร อริราชศัตรู และอุปกิเลสทั้งปวง เปรียบประดุจดั่งพระศาสดาที่มีชัยชนะต่ออุปกิเลสทั้งปวงแล้ว จนมีปัญญาญาณหยั่งรู้สรรพสิ่ง สรรพชีวิต และสรรพสัตว์ มีความเจริญมั่นคง มั่งคั่ง คิดและหวังสิ่งใด จงสำเร็จ สัมฤทธิผล สมความปรารถนาทุกประการเทอญ..."
       "สาธุ..."
      
       "ขออำนาจธรรมะศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธเจ้า จิตศักดิ์สิทธิ์แห่งพระศาสดาเจ้า วิญญาณศักดิ์สิทธิ์แห่งพระโพธิสัตว์เจ้า จงสถิตสถาพร อยู่ในตัวลูกหลานของข้าทุกตน ทุกคน ให้พ้นจากมลทินทั้งหลาย มีความผาสุข ความสำเร็จ มีดวงตา ปัญญาญาณ รู้ทั่วถึงธรรม ตลอดกาลนานเทอญ..."
       "สาธุ..."
      
       "ขอเหล่าเทพเจ้าทั้งหลาย ท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ เจ้าป่า เจ้าเขา รุกขเทวดา พระภูมิเจ้าที่ ผีสางนางไม้ และเปรต อสุรกายทั้งหลาย โปรดช่วยปกปักษ์ อภิบาลรักษา วิริยะเจดีย์นี้ให้เจริญรุ่งเรือง สูงเทียมฟ้า มีความงอกงามไพบูลย์ เป็นที่สืบอายุขัยพระศาสนา สืบไปในอนาคตกาล ขอพระโพธิญาณที่ข้าปรารถนาแล้ว จงสำเร็จ สัมฤทธิผล สมความปรารถนาทุกประการเทอญ..."
       "สาธุ..."
      
       จบภาคธุดงค์ .....